ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นผลสำรวจที่ทำให้สังคมไทยและคนไทยต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองกันอีกครั้ง เมื่อ “กรมอนามัย” เปิดเผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยพบว่า คนกรุงเทพฯ มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง 79%” วิถีชีวิตประจำวันนั่งนาน “ติดที่-ติดโต๊ะ-ติดจอ” ทั้งนั่งเรียนและนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมฯ และหน้าจอมือถือ แม้บางส่วนออกกำลังกาย แต่ก็เกิดภาวะ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle)”
และแน่นอนว่า วิถีชีวิตดังกล่าวเป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนองค์การอนามัยโลกออกมาเตือนให้ประชากรโลกขยับร่างกายให้มากขึ้น
ข้อมูลจาก WHO Thailand เปิดเผยว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ noncommunicable diseases (NCDs) คร่าชีวิตประชาชนกว่า 1,000 คนต่อวัน หรือ 4 แสนคนต่อปี โดย NCDs ประกอบด้วย 4 โรคหลัก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งเกิดภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) และเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และ มะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยกว่าครึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจาก NCDs เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ช่วงตั้งแต่อายุ 30 - 70 ปี
นอกจากนั้น โรค NCDs ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้ง เป็นภัยคุกคามความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งปัจจุบันงบประมาณกว่าครึ่งหมดไปกับการรักษา NCDs
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งอันเป็นสาเหตุก่อเกิดโรคในกลุ่ม NCDs อาจซ้ำเติมเพิ่มภาระระบบสาธารณสุขของไทย พิจารณาจากงบประมาณสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปีๆ
นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบและความสัมพันธ์ของการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งนาน) ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร” จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,137 คน พบว่า คนกรุงเทพมหานครมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 83 % แต่ยังพบมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 79 % ซึ่งหมายถึงแม้จะออกกำลังกายเป็นประจำ หากในวิถีชีวิตประจำวันไม่ขยับหรือนั่งนาน ก็ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยพฤติกรรมเนือยนิ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าจำนวนประชาชนทั้งประเทศ
“สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเร่งรีบในวิถีชีวิต การนั่งทำงานประจำ และการใช้อุปกรณ์จอ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ แทบเล็บ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงเป็นประจำส่งจะผลเสียต่อสุขภาพประชาชน อาทิ การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำสำหรับการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ คือ การขยับร่างกายระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ นั่งให้น้อยที่สุดในแต่ละวันเท่าที่สามารถทำได้
โดยกรมอนามัยได้มีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนทุกกลุ่มวัยในรูปแบบต่างๆ พร้อมและได้จัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573
นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่ากรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเขตเมือง รวมทั้ง จัดกิจกรรมเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งทั้งในเวลาทำงานและเวลาว่าง หยุดหรือลดการใช้จอเป็นระยะๆ
เช่น การใช้โปรแกรมเตือนเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขยับร่างกายและมีกิจกรรมทางกายด้วยการออกแบบเมืองให้ประชาชนเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านค้า หรือสวนสาธารณะได้สะดวกมากขึ้นด้วยการเดิน เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน
โดยยึดหลักการจากองค์การอนามัยโลก คือทุกการขยับนับหมด (every move counts) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี
นอกจากนี้ งานวิจัย “การแทรกกิจกรรมทางกายระหว่างการนั่งเนือยนิ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และการตอบสนองของเมตาบอลิซึมหลังอาหารในผู้ชายเชื้อชาติจีนที่มีภาวะอ้วนลงพุง” โดย **ดร.วริศ วงศ์พิพิธ** อาจารย์ประจำสาขาสุขศึกษาและพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยให้เห็นว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะเป็นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases; NCDs) ที่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับความหมายของพฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นพฤติกรรมการนั่งเอนหลัง หรือนอนในขณะที่ตื่นนอนแล้ว หรือภาวะที่ต้นขาอยู่ขนานกับพื้นในขณะที่ตื่นนอน เช่น เวลานั่งทำงาน นั่งเรียนในห้องเรียน ซึ่งร่างกายจะใช้พลังงานค่อนข้างต่ำคือน้อยกว่า 1.5 METs (หน่วยวัดพลังงาน) ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการนั่งระยะเวลานานเพียงใดถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่งานวิจัยเชิงการทดลองมีแนวโน้มที่จะให้คำแนะนำว่าไม่ควรนั่งนานต่อเนื่องมากกว่า 30 – 60 นาที เพื่อสุขภาพที่ดี
ทั้งนี้ พฤติกรรมเนือยนิ่งสามารถมีได้ทั้งคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำและคนที่ขาดกิจกรรมทางกาย แต่คนที่ขาดกิจกรรมทางกายจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงที่สุด
ดังนั้น ระหว่างวันหลังจากมีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่อง 30 นาที ควรแทรกกิจกรรมทางกายเข้ามา เช่น ยืน เขย่งขา ย่อตัวๆ อยู่ที่โต๊ะทำงาน โต๊ะเรียน หรือเดินเบาๆ เดินเร็วเพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ มีการบีบและคลายตัว เพียงประมาณ 1.5 - 3 นาทีเท่านั้น ซึ่งไม่ทำให้เสียเวลางานหรือหลุดจากโฟกัสของงานเลยและยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของคนไทย โดย 1 ใน 3 เรื่องที่ให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมให้คนไทยมี Health Active Lifestyle ผนวกแนวคิดขององค์การอนามัยโลกที่ได้ขับเคลื่อน Global Action on Physical Activity การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย
อีกประเด็นที่น่าจับตา การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการรองรับของระบบสาธารณสุข ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยกำลังประสบปัญหา “แก่ก่อนรวย – ป่วยก่อนตาย” คนไทยมีช่วงชีวิตยาวนานขึ้น แต่ช่วงสุขภาพที่ดีนั้นไม่ได้ยาวนาน ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจับจ่ายใช้สอยและรักษาสุขภาพ อ้างอิงตามสถิติ มีผู้สูงวัยเพียง 1.5% ที่มีแหล่งรายได้หลักจากดอกเบี้ยหรือเงินออม ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ มีแหล่งรายได้หลักจากบุตรธิดา และมีแหล่งรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุบ้าง
ความมั่นคงทางการเงินจึงเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐต้องสร้างกลไกรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้ง การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดภาระระบบสาธารณสุขในอนาคต โดยหัวใจสำคัญคือการภูมิคุ้มกันให้กับทุกช่วงชีวิต
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าพบปัญหาไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่คนไทยส่วนใหญ่ ยังคงประสบปัญหา “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยก่อนตาย” กล่าวคือ ช่วงชีวิตยาวนานขึ้นแต่ช่วงสุขภาพที่ดีไม่ยาวนานตาม และขาดความมั่นคงทางการเงิน คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจับจ่ายใช้สอยและรักษาสุขภาพ เป็นปัญหาทางสังคมที่กำลังกระทบเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ขับเคลื่อนระบบสุขภาพรองรับสังคมสูงอายุ เพื่อให้ประชาชนทุกวัยมีความพร้อมด้านสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชากรผู้สูงอายุที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น คงต้องติดตามกันว่านโยบายด้านสุขภาพของ สธ. ภายใต้การกุมบังเหียนของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ.” จะวางรากฐานระบบสาธารณสุขไทยให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ อย่างไร
และจะสร้างเสริมระบบสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาวะกายและจิตใจที่ดีได้เป็นรูปธรรมเพียงใด