xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กทิน” แขวนดีลเรือดำน้ำ เติมเงินซื้อ “ฟริเกต” เล่นท่ายาก สร้างปัญหาใหม่ ใครได้ใครเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เอาเป็นว่านาทีนี้ “บิ๊กทิน” นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับกองทัพเรือ มีความชัดเจนว่าจะแขวนดีลซื้อเรือดำน้ำจีนตามแผนการเดิมเอาไว้ก่อน เพราะเจอทางตันดันต่อไปไม่ได้แล้ว แม้ว่าล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเจอกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้คุยเรื่องนี้กันแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายลงได้ 
ทางกองทัพเรือ ซึ่งสาละวนแก้ไขเรื่องนี้มาหลายปี เจาะทางออกใหม่ด้วยข้อเสนอเจรจาแก้สัญญาเปลี่ยนจากเรือดำน้ำมาเป็นการซื้อเรือฟริเกต ซึ่งทางเลือกนี้ต้องเติมเม็ดเงินเพิ่มและอาจซื้อในราคาแพงกว่าประเทศอื่น ๆ กลายมาเป็นคำถามจากสังคมว่าจะผูกปมเงื่อนแบบเล่นท่ายากให้ซับซ้อนไปทำไม เหตุไฉนถึงไม่ยกเลิกสัญญา เพราะว่าต้นตอของปัญหามาจากฝ่ายจีนซึ่งจัดหาเครื่องยนต์ให้ไม่ได้ตามเงื่อนไข เบื้องหน้าเบื้องหลังดีลแลกเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตคราวนี้ ใครได้ ใครเสีย ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จริงหรือ?

ต้องไม่ลืมด้วยว่า เมื่อเดือนกันยายน 2566 ซึ่งผ่านมาเดือนกว่าๆ นี่เอง “บิ๊กทิน” ยังเพิ่งบอกต้องดูว่าเรือดำน้ำมีความจำเป็นแค่ไหน หรือมีอย่างอื่นทดแทนได้ อาจจะแก้สัญญากับจีน เปลี่ยนสัญญาจากเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำหรือนำเข้าปุ๋ยจากจีน เทียบราคากับเรือดำน้ำราคาหมื่นกว่าล้าน ได้ปุ๋ยเท่าไหร่ เกษตรกรจะได้ปุ๋ยฟรี เท่าที่รับฟังแล้วกองทัพเรือไม่ได้ติดใจแล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ และสังคมน่าจะยอมรับได้ พร้อมเตรียมการหารือกับนายกรัฐมนตรี 
 
ความคิดเอาเรือดำน้ำแลกเรือผิวน้ำหรือไม่ก็แลกปุ๋ยแจกฟรีให้เกษตรกร เป็นออปชั่นที่ “บิ๊กทิน” โยนหินถามทาง ฟังกระแสสังคมว่าหากคิดจะเล่นแร่แปรธาตุ ปรับเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำจะมีเสียงตอบรับเช่นใด ซึ่งจะว่าไปออปชั่นของ “บิ๊กทิน” ดังกล่าว ไม่หลงเหลือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์โครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำ ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักหน่วง

ทบทวนความจำกันสักเล็กน้อย ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เคยบู๊แหลกกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยเรียกร้องให้รับผิดชอบ “ค่าโง่” และขอให้ยกเลิกสัญญาเสียดีกว่า

ตัดฉากย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล  นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร  ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ถึงเรื่องราคาซื้อเรือดำน้ำ โดยต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมารับผิดชอบการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย มูลค่า 44,222 ล้านบาท ทั้ง 9 โครงการ ประกอบด้วย เรือดำน้ำลำแรกมูลค่า 12,500 ล้านบาท ที่เกิดปัญหาไม่มีเครื่องยนต์และหยุดต่อเรือ แสดงให้เห็นว่าตอนซื้อไม่มีความรอบคอบระมัดระวัง เพียงแค่ต้องการจะใช้แค่งบประมาณเท่านั้น

ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่เป็นส่วนสนับสนุนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ของกองทัพเรือ ที่จ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น ถึง 21,722 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้เรือดำน้ำ ซึ่งถือเป็นค่าโง่ เพราะทำให้สูญสิ้นงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์ จึงต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง

นายยุทธพงศ์ ยังพูดดังฟังชัดว่า ในสัญญาเปิดช่องให้สามารถยกเลิกได้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ

 แต่ ณ เวลานี้ นายสุทิน กลับยืนยันว่า การคิดขอเงินคืนในส่วนที่จ่ายไปแล้วหรือยกเลิกสัญญาจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนและความร่วมมือด้านอื่น ๆ ก็ต้องคิดให้คุ้ม อย่างที่เราไปเยือนจีนครั้งที่ผ่านมา เราขอความร่วมมือกับจีนได้เยอะ ได้อะไรมาเยอะแยะ หากเราจะต้องไปหักกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจจะทำให้เสียประโยชน์ด้านอื่น

พูดง่ายๆ คือ ไม่กล้าหัก หรือกล้าหือใดๆ ทั้งสิ้น และแม้แต่การแลกรับเป็นเรือฟริเกตแทน ก็อาจจะได้ “ราคาพิเศษ” คือแพงเป็นพิเศษ ก็เป็นได้ 
ในการให้สัมภาษณ์ของนายสุทิน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น สรุปรวมความได้ว่า ข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำเป็นสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี ท้ายสัญญาเขียนไว้ว่า ถ้าฝ่ายใดไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลงก็ให้มีการเจรจากัน สามารถยืดหยุ่นได้ ฉะนั้นเมื่อจีนไม่สามารถทำได้ตามข้อตกลงก็เจรจากันก่อน

 รือดำน้ำ S26T

 รูปร่างหน้าตาของ เรือฟริเกตจากจีน
สำหรับราคาเรือฟริเกตของจีน อยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนที่ตั้งงบไว้ที่ราคา 17,000 ล้านบาทนั้น เป็นการตั้งจากปีงบประมาณ 2567 เป็นการตั้งเผื่อไว้สำหรับเรือฟริเกตของยุโรปซึ่งกองทัพเรือยังไม่รู้ว่าจะเอาจากประเทศไหน โดยมีกรอบเวลาเร่งเจรจากับจีนให้จบภายในเดือนพฤศจิกายน 2566

เบื้องต้นตัวเลขราคาเรือฟริเกต จึงอยู่ที่ 14,000 - 17,000 ล้านบาท อีกทั้งโครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำ ก็ไม่ได้ล้มเลิก แค่ชะลอออกไปเท่านั้น ตามที่นายสุทิน ให้สัมภาษณ์หลังมาตรวจเยี่ยมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ว่า เมื่อแก้ปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำไม่เป็นผล ทางกองทัพเรือก็เสนอแนวทางเปลี่ยนไม่เอาเรือดำน้ำ แต่ขอเป็นเรือฟริเกต 3 ระบบ สามารถต่อสู้ทางอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ ถ้าไม่ได้เรือฟริเกตก็ขอเป็นเรือตรวจการณ์ระยะไกลแทน ซึ่งรัฐบาลเลือกแนวทางเรือฟริเกต ราคาสูงกว่าเรือดำน้ำ 1,000 ล้านบาท โดยโยกงบการสร้างอู่เรือดำน้ำ ระยะที่ 3 ซึ่งยังไม่ได้ทำสัญญามาโป๊ะ

 ส่วนโครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำ นายสุทิน ยืนยันว่า ไม่ยกเลิก ไม่พับ ไม่ระงับ โดยให้ชะลอระยะหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เสร็จเมื่อได้เรือฟริเกตลำใหม่มาเติมรวมกับที่มีอยู่ ส่วนเรือดำน้ำก็เดินหน้าต่อไป วันใดที่ประเทศมีความพร้อมก็ทำเรื่องนี้ต่อ 

เมื่อถามย้ำว่า เราเลิกสัญญากับจีนหรือไม่ นายสุทิน ตอบว่า ไม่ใช่การยกเลิกสัญญาแต่เป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ก็คือให้ระงับเรื่องเรือดำน้ำ แล้วมาเขียนข้อตกลงขึ้นใหม่ว่าจะเอาเรือฟริเกต ส่วนเรือดำน้ำครึ่งลำที่ต่อไปแล้ว เป็นความรับผิดชอบที่จีนจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ส่วนเงินที่ไทยจ่ายไปแล้ว เราเสนอว่าขอให้เป็นเคลมเป็นค่าเรือฟรีเกต ราว 7 พันล้านบาท เมื่อหักลบกับที่ยังไม่ได้จ่าย อีก 6,000 ล้านบาท อาจจะต้องเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนราคารวมของเรือฟริเกตลำใหม่นี้ ทางจีนยังไม่ได้พูดเรื่องราคา แต่จากการศึกษาอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท

นายสุทิน ยอมรับว่า ประธานาธิบดีจีนและนายกฯ จีนตกลงในหลักการนี้ เป็นการหาทางออกร่วมกัน

เมื่อถามย้ำ โอกาสที่กองทัพเรือ จะมีเรือดำน้ำแทบจะไม่มี ใช่หรือไม่ นายสุทิน ตอบว่า มีแต่เป็นระยะต่อไป เพราะเรายังไม่ได้ระงับ แต่สำหรับลำนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก ส่วนเรือดำน้ำลำใหม่จะเป็นของจีนเหมือนเดิมหรือเป็นของประเทศอื่นนั้นยังไม่มีความชัดเจน

“ชะลอโครงการไปก่อนแต่ไม่ใช่ระงับ และให้กองทัพเรือศึกษาเรื่องนี้ต่อไปว่าจะเอาของประเทศใด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว

 สรุปคือ เรือดำน้ำก็ยังจะเอา แต่ไม่รู้จะชะลอออกไปนานแค่ไหน และยังไม่ชัดจะเป็นของจีนหรือไม่ และยังไม่ชัดเช่นกันว่าจะเปิดประมูลใหม่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ จะเปลี่ยนมาเอาเรือฟริเกต โดยเคลมจากเงินที่จ่ายค่าเรือดำน้ำไปแล้วและบวกเพิ่ม โดยราคารวมของเรือฟริเกต อยู่ระหว่าง 14,000 -17,000 บาท 

ทางด้าน พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)  ซึ่งเข้าพบนายสุทิน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อรายงานข้อมูลประกอบแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน โดยเปลี่ยนมาเป็นการซื้อเรือฟริเกตแทน ระบุว่า การเจรจาต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ตอนนี้กองทัพเรือรับฟังทุกความคิดเห็น ข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ในทุกเรื่องทั้งราคาและอื่น ๆ เราจะนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ขอให้ไว้ใจว่าจะไม่ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์

เมื่อกองทัพเรือขอให้ไว้วางใจ ก็ต้องยินดีให้มีการตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล ในฐานประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ ผบ.ทร. มาชี้แจงเรื่องการกู้เรือหลวงสุโขทัย และการจัดซื้อเรือดำน้ำ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 กองทัพเรือจะอ้างเรื่องความมั่นคงแล้วไม่เปิดเผยรายละเอียดปัญหาไม่ได้ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชนที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว ประชาชนต้องการรู้ว่าโครงการที่เกี่ยวกับค่าจอด การฝึกอบรม โรงเก็บทุ่นระเบิดสนับสนุน โรงเก็บตอปิโด ที่ตั้งงบฯไว้ 11,000 ล้านบาท มีการเบิกใช้ไปแล้วเท่าไหร่

นอกจากนี้ ยังมีหลายคำถามต่อกองทัพเรือในหลายประเด็น เช่น สหภาพยุโรป (อียู) มีข้อตกลงห้ามส่งยุทโธปกรณ์ ให้กับประเทศจีน ก่อนลงนามปี 2560 มีการทำหนังสือขอการยืนยันจากประเทศจีน (CSOC) ว่ามีปัญหาหรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่าไหร่ มองว่าไม่ใช่แค่ 7,000 ล้านบาท และในรายละเอียดสัญญาขอคืนเงินได้หรือไม่ อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า สเปคเรือฟริเกตมีหลายรุ่น ดาต้าลิ้งค์กับฟริเกตลำอื่น ๆ มีอุปสรรคหรือไม่

 ขณะที่เว็บไซต์ด้านความมั่นคงและการทหาร thaiarmedforce.com (TAF) โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนดีลเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตว่าเละเทะมาก เพราะจะสร้างปัญหาใหม่ให้กองทัพเรือและประชาชนผู้เสียภาษีรับกรรมแทน ข้อตกลงที่ลงนามกันนี้เรือดำน้ำมีเครื่องยนต์เยอรมนี ที่ผ่านมาจัดหาไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของไทย และไม่ใช่ความผิดของกองทัพเรือ แต่เป็นความผิดของซัพพลายเออร์ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งเวลาปกติใครทำมาค้าขายกับราชการถ้าผิดสัญญาแบบนี้ ต้องรับผิดชอบ เช่น ยกเลิกสัญญาหรือมีค่าปรับ อาจจะต้องมีการชดเชยต่าง ๆ

แต่กรณีนี้ นอกจากเราจะไม่ปรับจีน ไม่เรียกร้องการชดเชย เรายังจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อของที่แพงกว่าเดิมคือเรือฟริเกต เพราะเรือดำน้ำ ราคา 1.35 หมื่นล้านบาท แต่เรือฟริเกต ราคาที่กลาโหมศึกษามา อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท มีส่วนต่างอยู่หลายพันล้าน ถ้าจะบอกว่าเกรงใจจีน อยากรักษาความสัมพันธ์ มันมีทางเลือกอื่นที่จะดำเนินการได้ ไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ว่าจะเพิ่มเงินอุ้มซัพพลายเออร์หรือเอาใจจีนแบบนี้ ซึ่งไม่น่าใช่ทางออกที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

TAF ตั้งกลุ่มมา 14 ปี ยืนยันมาตลอดว่าสำหรับประเทศไทย เรือดำน้ำมีความจำเป็น เพราะนอกจากเราจะเป็นประเทศแทบจะสุดท้ายที่ไม่มีเรือดำน้ำใช้งานแล้ว เรือดำน้ำยังปิดจุดอ่อนที่สำคัญของกองทัพเรือไทยได้หลายอย่าง เป็นอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ และสามารถใช้ในการป้องปรามได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาเรือดำน้ำอะไรก็ได้มาใช้ เพราะเรือดำน้ำที่ดีควรจะเป็นเรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับไทย ไม่ได้แพงจนใช้ไม่ไหว แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่น่าเชื่อถือ พร้อมกับต้องมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมของไทย เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร การร่วมลงทุน เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเรือดำน้ำ S26T มีปัญหาด้านความเชื่อมั่นจากประชาชนในประเด็นเครื่องยนต์ ก็ควรยกเลิกเรือดำน้ำ S26T จะขอเงินคืนหรือขอคืนเป็นของที่เคยใช้อยู่แล้วในราคา 7 พันล้านก็ได้ เพื่อจำกัดความเสียหายไว้เท่านี้ และเปิดประมูลใหม่ ออกแบบ TOR ให้เหมาะสมกับไทย ได้เรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพ ราคาเหมาะสม และมีข้อตกลงที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย

ไม่ใช่ว่าเรือดำน้ำมีปัญหา เลยขอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต แล้วบอกว่าใช้แทนกันได้เพราะรบได้สามมิติ แถมยังเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตที่ทุกระบบแตกต่างจากระบบที่กองทัพเรือไทยมีอยู่ เข้ากันไม่ได้ ฝึกใหม่ ซื้ออะไหล่ใหม่ ซื้ออาวุธใหม่หมด แถมราคาก็ไม่ได้ถูก เพราะราคาพอ ๆ หรือแพงกว่าเรือฟริเกตที่ติดระบบอาวุธของตะวันตกด้วยซ้ำ แล้วก็ปล่อยให้กองทัพเรือไทยมีปัญหาช่องว่างในการปฏิบัติงาน เพราะไม่มีเรือดำน้ำเหมือนเดิม

“จริง ๆ ปัญหาเรือดำน้ำนี้มันแก้ง่าย ย้ำอีกครั้งว่าก็ยกเลิกสัญญาหรือจะเรียกข้อตกลงอะไรก็แล้วแต่ แล้วขอเงินคืน หรือขอคืนเป็นของ แล้วเปิดประมูลใหม่ ไม่เห็นต้องเล่นท่ายาก เล่นแร่แปรธาตุ หรือไอเดียบรรเจิด เอาเงินภาษีประชาชนถมเพิ่มเพื่ออุ้มซัพพลายเออร์ต่างชาติเพราะกลัวเขาจะโกรธแต่ไม่กลัวประชาชนด่าแบบนี้ ทำอย่างกับไทยเป็นเมืองขึ้น พอทำแบบนี้ ยิ่งทำ ยิ่งเละ ยิ่งพัง แก้ปัญหาเดิมโดยสร้างปัญหาใหม่ .....”

 นอกจากนั้น ยังตั้งข้อสังเกตว่า การยกเลิกเรือดำน้ำ แล้วเติมเงินเพิ่มซื้อเรือฟริเกตจีน ถือเป็นดีลมหัศจรรย์ที่ยอดเยี่ยมของจีน ดีลนี้มีแต่คุ้มและคุ้มสำหรับจีน ส่วนไทยคุ้มหรือไม่ไปคิดกันเอาเอง  

ขณะเดียวกัน ถ้ามาดูมุมมองทางเทคนิค ตอนนี้กองทัพเรือไทยมีปัญหาการจัดการกองเรือ ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า กองทัพเรือจัดหาเรือ “มั่ว” มานาน นั่นถือถ้านับเฉพาะเรือรบหลัก กองทัพเรือมีเรือที่หน้าตาแตกต่างกัน ระบบอาวุธแตกต่างกัน ระบบอิเล็กทรอนิกส์แตกต่างกันมากกว่า 10 แบบ นั่นทำให้กองทัพเรือประสบปัญหาทั้งในการซ่อมบำรุงที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูง การฝึกที่ไม่สามารถสลับคนกันไปมาได้เพราะใช้งานอุปกรณ์เรือข้างเคียงไม่เป็นเนื่องจากมันคนละรุ่น ความหลากหลายของระบบอาวุธที่ทำให้กองทัพเรือต้องมีจรวดมีกระสุนแตกต่างกันมากมาย นอกจากจะสลับกันไม่ได้ ก็ทำให้แต่ละแบบมีจำนวนน้อยเพราะต้องสต็อกของทุกแบบ

เรือฟริเกตที่กองทัพเรือเสนอซื้อนั้น จริง ๆ แล้วมันคือโครงการต่อเนื่องจากเรือหลวงภูมิพลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติไว้ 2 ลำ แต่จัดหามาก่อน 1 ลำ โดยหลักการที่ถูกต้องและเหมาะสม กองทัพเรือควรจะจัดหาเรือภูมิพลลำที่ 2 เพื่อให้อย่างน้อยมีเรือเหมือนกันสองลำ จะทำอะไร จะสต็อกอะไหล่ จะซ่อมบำรุง จะฝึก ก็จะได้มีเรือทดแทนกันได้อย่างน้อยก็สองลำ

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตจีน หรือแม้แต่เรือฟริเกตรัสเซีย เรือฟริเกตอังกฤษ เรือฟริเกตเยอรมัน เรือฟริเกตฝรั่งเศส หรือเรือฟริเกตอเมริกัน มันจะยิ่งเพิ่มความ “มั่ว” ให้กับกองทัพเรือมากขึ้นไปอีก

 เรือฟริเกตจีนใช้ระบบที่เข้ากันไม่ได้กับกองทัพเรือไทย แน่นอนว่าไทยมีเรือจีนใช้หลายลำ แต่เป็นเรือจีนในยุคก่อน ไม่ใช่เรือในยุคปัจจุบัน ระบบต่าง ๆ เปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้นนี่คือเรือแบบใหม่ที่เข้ากันไม่ได้กับระบบของไทย ซึ่งถ้าซื้อมาใช้ ก็ต้องเพิ่มการสต็อกอะไหล่ การฝึก อาวุธ กระสุนเข้าไปอีก

นี่มันคือการแก้ปัญหาความมั่วของโครงการหนึ่ง ด้วยการไปทำให้อีกโครงการหนึ่งมั่วแทน  

ข้อสำคัญคือก่อนที่จะมาเป็นเรือหลวงภูมิพล ซึ่งใช้แบบเรือจากประเทศเกาหลี เรือฟริเกตจีนเคยเข้ามาแข่งแล้ว และก็แพ้ไป แม้จะใช้มุกเหมือนกับเรือดำน้ำในรอบนี้คือ ให้เรือถึง 3 ลำ แถมเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีก นั่นหมายถึงเรือฟริเกตแบบนี้ กองทัพเรือก็เคยประเมินค่าและก็คิดว่าเรือเกาหลีดีกว่า เลยไปซื้อเรือเกาหลี ดังนั้นถ้าลำที่สองจะมาซื้อเรือจีน ก็ต้องถามว่า แล้วเหตุผลที่กองทัพเรือบอกว่าเรือของจีนด้อยกว่าเรือเกาหลีในตอนนั้น กองทัพเรือยอมรับได้อย่างไรในตอนนี้

อีกอย่าง กองทัพเรือมีแผนที่จะต่อเรือฟริเกตลำที่สองในไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือของไทย แต่พอไปซื้อเรือจีนในลักษณะนี้ คาดว่าก็ต้องต่อในจีน แบบนี้เหมือนรัฐบาลไทยออกดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจให้จีน 1 หมื่นล้าน

ถ้าจะไม่ต่อเรือฟริเกตเกาหลีต่อ เพราะบอกว่าไม่ประทับใจเรือหลวงภูมิ ก็ควรจัดประมูลให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้แต่ละบริษัทแต่ละประเทศมายื่นแข่งขันกันเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่นี่คือยกให้จีนไปเลย ไม่ต้องแข่งกับใคร เติมเงินให้อีกด้วย จ่ายแพงกว่าเดิม

เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนที่กองทัพอากาศ ไม่เปิดให้ใครแข่งขัน อยากได้ F-35 ก็ไปขอเขาซื้อเลย ไม่มีการแข่งขันยื่นข้อเสนอ จะได้ข้อเสนอที่ดีที่สุดมันก็ไม่ใช่ แล้วคนขายเขาก็ไม่สนใจ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เป็นการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบควบคุมการสื่อสารทางยุทธวิธีกับเรือดำน้ำ มูลค่างาน 230 ล้านบาท คาดว่าจะมีประกาศจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ คาดว่าระบบสื่อสารนี้จะเป็นระบบเฉพาะตัวของเรือดำน้ำ S26T ทั้ง ๆ ที่ โครงการจัดซื้อซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนแผนโดยชะลอออกไปโดยไม่มีกำหนด

 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ก็ว่าได้ แต่พอเหลาลงไปกลับกลายเป็นเรือฟริเกตแทน โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ครม.อนุมัติหลักการให้จัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ กองทัพเรือสำรวจอู่ต่อเรือดำน้ำชั้นนำของโลก พบว่ามี 6 แห่ง แต่จีนมีข้อเสนอดีที่สุด

ต่อมา วันที่ 18 เมษายน 2560 ครม. พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำรวม 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี จากนั้นมีการลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ลำแรกจีนจะส่งมอบให้ไทยปี 2566

จากนั้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ครม. พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กองทัพเรือของบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 แต่ครั้นเกิดวิกฤตโควิด – 19 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลขอให้แต่ละหน่วยงานโอนงบประมาณปี 2563 เพื่อแก้ปัญหาโควิด ทางกองทัพเรือได้คืนงบจัดซื้อเรือดำน้ำ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 กองทัพเรือเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 งบปี 2565 มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้าน

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนกระทรวงกลาโหม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอถอนวาระการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม

28 กุมภาพันธ์ 2565 โฆษกกองทัพเรือ ยอมรับมีการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเรือดำน้ำที่เยอรมนีเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเยอรมนีไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน จากนั้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 กองทัพเรือ ยืดเวลาพิจารณาสเปกเครื่องยนต์เรือดำน้ำของจีนใหม่ เพื่อความเหมาะสมและมีความใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ของเยอรมนี

และท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำและปรับเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกตกับจีนแทน ซึ่งกองทัพเรือมีแผนการจัดซื้อเรือฟริเกตลำใหม่อยู่แล้วในปี 2567

 เรือดำน้ำที่ลูกประดู่รอคอยมายาวนานคล้ายเจออาถรรพ์ให้มีเหตุมีอันเป็นไป ทั้ง ๆ ที่ยุคทหารเป็นใหญ่คับแผ่นเกือบร่วมสิบปี สั่งซื้อแล้ว จ่ายเงินแล้ว ก็ยังคว้าน้ำเหลว 


กำลังโหลดความคิดเห็น