xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทยติด TOP 10 เสี่ยงภัยพิบัติสูง โลกรวน! เดือด(ร้อน)ป่วนทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ NASA
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change มากที่สุด เสี่ยงสูงเผชิญสภาพอากาศสุดขั้ว “น้ำท่วม - ภัยแล้ง” ส่งผลกระทบหลายมิติทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นความท้าทายของ “นายกฯ นิด” รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องตอบโจทย์ปัญหายุคโลกเดือด 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกตระหนักการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์ในหลายมิติ เกิดภาวะโลกรวน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบทำให้รวนไปถึงทุกๆ ด้าน ซึ่งเทียบเคียงในรอบ 20 ปีที่ผ่าน ปัจจุบันความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติธรรมชาติที่ส่งผลต่อชีวิตและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รายงานดัชนี Global Climate Risk โดย Germanwatch เปิดเผยว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งกลุ่มคนยากจนได้รับความเสียหายมากกว่าประชากรกลุ่มรายได้อื่นๆ

 ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อธิบายสถานการณ์ Climate Change ว่า ในปัจจุบันอุณหภูมิประเทศไทยเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกภูมิภาค แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน โดยภาพรวม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศา หากพิจารณาในแง่ของการขยับขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยถือว่าเยอะพอสมควร

สถานการณ์ฝนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาฝนมีความแปรปรวนมากขึ้น จำนวนวันที่ฝนตกต่อเนื่องกันหลายวันน้อยลง สะท้อนว่าไทยมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อฝนตกลงแต่ละครั้งในปริมาณมาก ให้เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ในส่วนของพายุถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจำนวนพายุที่เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่พายุแต่ละลูกที่เข้ามาเป็นพายุที่รุนแรงระดับตั้งแต่พายุดีเปรสชันขึ้นไป ซึ่งส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเสี่ยงสูงต่อปัญหาน้ำท่วมฉับพลันด้วย สรุปว่าภาพรวมของสภาพภูมิอากาศในห้วงเวลาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยร้อนขึ้น ร้อนนาน อีกทั้งมีความเสี่ยงทีจะได้รับผลกระทบสองเด้งทั้งจากภัยแล้งและภัยน้ำท่วม

ความแปรปรวนทางสภาพอากาศปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้เศรษฐกิจสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในประเทศไทยมีงานศึกษาผลกระทบใน 2 ระดับ คือ หนึ่งในระดับมหภาค ที่ดูผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย เช่น GDP การจ้างงาน เงินเฟ้อ ฯลฯ และสองในระดับรายสาขา เช่น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาขาเกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น ในส่วนของผลกระทบในระดับมหภาคนั้น

อ้างอิงงานศึกษาของ  พิม มโนพิโมกษ์ และคณะ (2565) ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติ (Climate shocks) ต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย ผลการศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติสามารถทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการผลิตหลักของประเทศหดตัวประมาณ 0.7% สำหรับทุกภาคการผลิต โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเมื่อเกิด climate shock แล้ว ผลผลิตจะหดตัวทันที 0.75% ในขณะที่ภาคการผลิตอื่น ๆ จะทยอยได้รับผลกระทบและหดตัวสูงสุดที่ 0.6% หลังจากผ่านไปแล้วถึง 2–3 ไตรมาส

ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างสูงจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ ดังนั้น เมื่อเจาะลึกลงไปดูในภาคเกษตรกรรม พบว่างานศึกษาของ Attavanich (2017) ซึ่งติดตามผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรของไทย ตั้งแต่ปี 2554 และมองไปในอนาคตจนถึงปี 2588 ในภาพรวม ผลกระทบหรือความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรของไทย อยู่ที่ประมาณ 6.1 แสนล้านบาทถึง 2.85 ล้านล้านบาท

เมื่อคิดเป็นรายปีจะอยู่ที่ปีละ 1.7 หมื่นล้านบาทไปจนถึง 8.3 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่เกิดผลกระทบกับภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรงมาก เพราะภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่พึ่งพาดินฟ้าอากาศในการผลิตค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช ทำปศุสัตว์ และทำประมง ดังนั้น สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมจึงสร้างผลกระทบต่อการทำการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนี้ งานศึกษาของ Attavanich (2017) พบว่าภาคเกษตรในแต่ภูมิภาคของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ไม่เท่ากัน บางภูมิภาคจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก นอกจากความเสียหายที่มีต่อแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันแล้ว ยังพบว่า พืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดได้รับผลกระทบจาก Climate Change ไม่เท่ากันด้วยเช่นกัน หากพิจารณาพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดหลัก คือ ข้าว อ้อย มันสัมปะหลัง และข้าวโพด จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้ผลผลิตข้าวหดตัวประมาณ 10-13% ซึ่งขึ้นอยู่กับแบบจำลองที่ใช้ ส่วนผลผลิตอ้อยหดตัวตั้งแต่ 24-34 % เป็นต้น

แม้สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรทางธรรมชาติ ทว่า มีผลการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นช่วงประจวบเหมาะกับการที่หลายประเทศเริ่มที่จะนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตมากขึ้นโดยเฉพาะพวกเชื้อเพลิงฟอสซิล อนุมานเป็นนัยๆ ว่าเป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่มีการผลิตโดยใช้พวกเชื้อเพลิงเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานที่ไม่สะอาดเป็นตัวที่เร่ง ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมที่เพิ่มขึ้นเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่าแสนล้านต่อปีตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2562 หรือเฉลี่ยประมาณ 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท) โดยผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เผยให้เห็นว่าเกิดค่าเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงถึงปีละ 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดย 63% เกิดจากการสูญเสียชีวิตของมนุษย์ ส่วนที่เหลือเกิดจากการทำลายทรัพย์สินและทรัพย์สินอื่นๆ

โดยปี 2551 มีการสูญเสียมากที่สุด รองลงมาคือ ปี 2546 และ 2553 ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง ไม่ว่าจะเป็น พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มพม่าในปี 2551 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 80,000 ราย หรือในปี 2546 เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงทั่วทวีปยุโรปคร่าชีวิตผู้คนไป 70,000 ราย และในปี 2553 เกิดคลื่นความร้อนในรัสเซีย และความแห้งแล้งในโซมาเลีย 

ขณะเดียวกัน อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น โดยในปี 2566 มีการบันทึกสถิติว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลชัดเจนก่อให้เกิดภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมาย อาทิ ไฟป่าที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่เมืองเมาวี รัฐฮาวาย และทั่วยุโรปเผชิญอุณหภูมิที่ร้อนจัดและน้ำท่วมที่รุนแรง

น้ำท่วมและภัยแล้งคือปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องประสบมากขึ้นในอนาคต

ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบเต็มๆ จาก Climate Change
กล่าวสำหรับ  “ปรากฎการณ์เอลนีโญ” หรือ “ภาวะภัยแล้ง”  ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า แนวโน้มประเทศไทน 5 ปีข้างหน้า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเผชิญกับความผันผวนของปริมาณน้ำ ที่มีโอกาสจะแล้งต่อเนื่องและเกิดภัยแล้งหนักในปี 2568 ก่อนที่จะสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติและน้ำมากอีกครั้งในปี 2569 และ 2570 ซึ่ง หากมีการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานนาปีเฉลี่ย 6.4 ล้านไร่ และนาปรังเฉลี่ย 3.1 ล้านไร่ คาดการณ์ว่าจะเหลือปริมาณน้ำใช้การรวม 4 เขื่อนในต้นฤดูแล้ง 1 พ.ย. เพียงร้อยละ 32

สำหรับปี 2566 เมื่อเทียบกับน้ำปีที่แล้ว ฝนจะน้อยกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 35 ในขณะที่ฤดูฝนปีหน้า 2567 มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ โดยความผันผวนของปริมาณน้ำจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2568 ซึ่งจะเป็นปีที่ไทยจะประสบปัญหาน้ำแล้งหนักมาก มีปริมาณคาดการณ์ 833 มม. ซึ่งอาจเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558 ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติถึงน้ำมากอีกครั้งในปี 2569-2570

ผลการศึกษาข้างต้น สะท้อนเห็นค่าเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูง แม้การประเมินความเสียหายจะดูมีมูลค่าสูงหลักหมื่นล้านบาทต่อวัน แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการประเมินต้นทุนที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำเกินไป เนื่องจากยังไม่มีการนำปัจจัยอื่นๆ เช่น ผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่เกิดจากผู้คน หรือการสูญเสียการเข้าถึงการศึกษาและงานหากสถานที่ทำงานได้รับความเสียหาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์เปลี่ยนแปรทางสภาพอากาศเป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลทั่วโลกเห็นพ้องร่วมมือกันในข้อตกลงว่าด้วยความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดขึ้นในการประชุม COP21 ที่ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศสุดขั้ว ภายใต้การขับเคลื่อนของ “รัฐบาล นายกฯ นิด” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาลมิติด้านสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงน้อยกว่านโยบายด้านอื่นๆ

คำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อช่วงกลายเดือน ก.ย. 2566 วิเคราะห์ถึงปัญหาและความท้าทายทั้งหมด 12 ด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวโกงกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ หนึ่งของนโยบายด้านเศรษฐกิจระบุว่า การผลิตและใช้ พลังงานสะอาด และ พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยแนวทางจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ด้วย “อุตสาหกรรมสีเขียว” เช่นเดียวกับในด้านการสร้างผลิตภาพของภาคการเกษตร มีการบูรณาการองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการ บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน และส่งเสริมแนวทางสร้างรายได้จากผืนดินและสิ่งแวดล้อม จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพยายามดันนโยบาย Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อสร้างบทบาทไทยบนเวทีการค้าโลกมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่จะมีผลโดยตรงต่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ

 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยและสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้รัฐบาลสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทยได้ประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30 % จากปีฐานภายในปี 2573 ตามประกาศการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NDC) และที่การประชุม COP26 ในปี 2564 โดยเป้าหมายสำคัญสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

โดยปี 2565 มีการบรรจุแผนนี้ในยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (LT-LEDS) NDC ฉบับใหม่มีการประกาศเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 40 % ภายในปี 2573

รวมทั้งทำคลอดกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกฎหมาย ระบุมาตรการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม และกลไกสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จาก LT-LEDS จะมีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อช่วยจัดสรรทรัพยากร สนับสนุนโครงการที่ช่วยลดผลกระทบและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสนับสนุนการทาวิจัย

ขณะที่มิติเศรษฐกิจประสานความรวมมือโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อ ความยั่งยืนในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่ยั่งยืน
 
 นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐบาลต้องชัดเจนตอบโจทย์ปัญหายุคโลกเดือด รวมทั้ง การรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่จะสร้างความเสียหายอย่างเลี่ยงไม่ได้ในวงกว้าง  



กำลังโหลดความคิดเห็น