xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมืองหลวงปักกิ่งกับวังต้องห้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ประตูทางเข้าพระราชวังต้องห้าม (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)
ใต้เงาจีน (20)
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ผมอยากให้เราช่วยนึกภาพหรือจินตนาการว่า ถ้าหากเรากวาดเอาสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ซึ่งรวมถนนหนทางที่สร้างแบบสมัยใหม่แล้ว ภาพที่เรานึกได้ก็จะเป็นภาพปักกิ่งในยุคเก่าอย่างแท้จริง ถ้าเป็นเช่นนั้นภาพปักกิ่งที่เรานึกเห็นจะมีกำแพงเมืองและประตูเมืองตั้งอยู่อย่างโดดเด่น

ถัดจากประตูก็จะเห็นสะพานข้ามคูเมืองที่ทำด้วยหินอ่อน เมื่อเดินข้ามสะพานนี้ไปแล้วก็จะเห็นกำแพงสีแดงของวังต้องห้าม กำแพงนี้จะทอดยาวและโอบล้อมวังต้องห้ามเอาไว้ โดยตรงกึ่งกลางกำแพงจะมีพลับพลาสูงตระหง่านตั้งอยู่ และใต้พลับพลาลงมาจะเป็นประตูทางเข้าวัง

 ประตูทางเข้าวังหลวงนี้สูงใหญ่เอาการ ถ้าเปรียบเทียบกับประตูของพระบรมมหาราชวังของเราก็จะใหญ่กว่าเล็กน้อย ประตูนี้ทาสีแดงเหมือนกำแพง แต่ที่พิเศษคือ บานประตูทั้งสองข้างจะมีหมุดสีทองฝังอยู่ด้วย หมุดนี้ถูกฝังอยู่เต็มบานประตูเป็นแถวๆ แถวละเก้าหมุด

โดยจีนถือว่า เลขเก้าเป็นเลขสูงสุดเพื่อแสดงถึงฐานะของจักรพรรดิที่อยู่สูงสุด ภายใต้ฐานคิดเรื่อง “โอรสแห่งสวรรค์”  

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่พึงทำความเข้าใจต่อไปก็คือ ในเมื่อวังต้องห้ามเป็นที่สิงสถิตของผู้ที่เป็นโอรสแห่งสวรรค์แล้ว ในด้านหนึ่งก็แสดงว่า ปักกิ่งย่อมต้องเป็นเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เพราะฉะนั้นแล้วการเลือกเอาปักกิ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นที่ตั้งของวังหลวงนั้น ย่อมต้องมีที่มาที่ไปและความเชื่อรองรับการเป็นเมืองหลวงของปักกิ่งไปด้วย

เนื่องจากปักกิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันคือปักกิ่งที่เป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ชิง (1644-1911) และหลังจากชิงล่มสลาย ฐานะเมืองหลวงของปักกิ่งก็หลุดลอยไปมาไม่แน่นอน ผมจึงเห็นว่า การทำความเข้าใจปักกิ่งในฐานะเมืองหลวงจึงควรเริ่มจากสมัยหมิง

ว่าเหตุใดหมิงจึงเลือกเอาปักกิ่งเป็นเมืองหลวง และเมื่อเลือกแล้วหมิงได้ทำอะไรไปบ้าง ก่อนที่ปักกิ่งจะมีกำแพงเมือง ประตูเมือง และวังต้องห้าม
 เรื่องของเรื่องเริ่มจากความคิดของจักรพรรดิหย่งเล่อ (1360-1424) แห่งราชวงศ์หมิง ทรงมีดำริที่จะให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง เหตุผลแรกที่ทรงคิดที่จะให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงก็คือ พระองค์ทรงเคยเป็นผู้ปกครองเมืองนี้มาก่อนที่จะเป็นจักรพรรดิ 
กล่าวอีกอย่างคือ หย่งเล่อทรงคุ้นเคยกับเมืองนี้มาก่อน ซึ่งในเวลานั้นเมืองนี้คือรัฐเอียน และชื่อเอียนนี้ก็เป็นชื่อดั้งเดิมของปักกิ่งมาอย่างยาวนานนับพันปี จนคำคำนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของปักกิ่งไปแล้วก็ว่าได้
เช่น เป็นชื่อเบียร์ที่มีชื่อเสียงของจีนอย่างเบียร์เอียนจิง (นครเอียน) เป็นต้น
 เหตุผลต่อมาที่หย่งเล่อให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงคือ เป็นเพราะพระองค์ต้องการใช้เมืองหลวงแห่งนี้ตั้งรับการรุกรานของมองโกล อันเป็นชนชาติที่ตั้งราชวงศ์หยวน (1271-1368) และถูกโค่นล้มลงไปจนเป็นที่มาของราชวงศ์หมิง โดยหลังจากที่ถูกโค่นล้มแล้วก็ยังมีกองกำลังเหลืออยู่ กองกำลังนี้จะก่อกวนจีนอยู่ตรงชายแดน เพื่อหวังจะกู้คืนหยวนให้ได้ 
ความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงนี้หย่งเล่อทรงปรึกษากับเหล่าเสนามาตย์มาแล้ว มิได้ย้ายตามแต่ใจของพระองค์ไม่
 เมื่อเลือกปักกิ่งเป็นเมืองหลวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเรียกเมืองหลวงแห่งนี้ว่า เป่ยจิง (ปักกิ่ง)  
แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า ปักกิ่งเป็นเมืองที่มีประชากรเบาบาง เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ผ่านศึกสงครามมายาวนาน หากเป็นเมืองหลวงแล้วย่อมมิอาจเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดังเมืองหลวงทั้งหลายพึงเป็น
ปัญหานี้หย่งเล่อทรงแก้โดยให้เกณฑ์นักโทษที่ต้องโทษเนรเทศหรือโทษอื่นที่เบาลงมา มาเป็นแรงงานในการหักร้างถางพงเพื่อบุกเบิกปักกิ่งเป็นเมืองหลวง และให้ย้ายเศรษฐีจากกว่าสิบจังหวัดและเก้ามณฑลให้มาอยู่ที่เมืองนี้ เพื่อให้เศรษฐีเหล่านี้ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เจริญ
นอกจากนี้ ก็ยังให้ลดจำนวนข้าราชการลงเป็นเวลาห้าปี ให้อพยพราษฎรจากเมืองอื่นนับหมื่นครัวเรือน และคนเร่ร่อนจากที่ต่างๆ กว่าแสนครัวเรือนให้มาอาศัยในบริเวณเมืองปักกิ่งนี้ด้วย จากนั้นจึงมอบเครื่องมือการเกษตรและเมล็ดพันธุ์ให้แก่ราษฎรเหล่านี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ให้ทำการเกษตร ส่วนช่างฝีมือหรือช่างหัตถกรรมจำนวนมากที่ย้ายมาเมืองนี้ก็จะให้สิทธิพิเศษต่างๆ

จักรพรรดิหย่งเล่อ
จากนโยบายนี้พอเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ประชากรในปักกิ่งก็เพิ่มจำนวนขึ้น เศรษฐกิจก็เจริญเติบโตขึ้นไปด้วย

เมื่อแก้ปัญหาประชากรที่เป็นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว งานในลำดับถัดมาก็คือ การวางผังเมืองและโครงสร้างต่างๆ งานในส่วนนี้รวมไปถึงคูเมือง กำแพงเมือง และวังหลวง โดยวังหลวงจะสร้างอยู่บนฐานรากเดิมของต้าตู อันเป็นชื่อเดิมของปักกิ่งในสมัยหยวน

ผังเมืองและโครงสร้างเมืองหลวงจึงแบ่งเป็นสี่ส่วนคือ กำแพงวัง กำแพงเมือง เมืองภายใน และเมืองภายนอก จากนั้นจึงให้ขยายเมืองรอบนอกให้กว้างขึ้น

ถัดจากงานผังเมืองและโครงสร้างแล้วก็เป็นงานขนส่งเสบียงอาหารที่จะหล่อเลี้ยงเมือง และกองกำลังรักษาเมืองจำนวนมาก การขนส่งเสบียงอาหารทำได้ก็แต่ทางน้ำเท่านั้น ด้วยทางบกเป็นเส้นทางวิบากและต้องใช้งบประมาณสูง

และด้วยการขนส่งทางน้ำก็ได้ทำให้แหล่งอาหารจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ถูกส่งมายังเมืองหลวง งานในส่วนนี้จึงอยู่ตรงการขุดลอกคูคลองต่างๆ เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จในเวลาต่อมา

 ส่วนวังหลวงก็สร้างขึ้นใหม่มีชื่อว่า นครต้องห้าม (จื่อจิ้นเฉิง, Forbidden City) 

 โดยคำว่า จื่อ แปลว่า สีม่วง สีนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของดาวเหนือ และดาวเหนือก็ถูกอุปมาดุจดังจักรพรรดิผู้ปกครองโลกในฐานะโอรสแห่งสวรรค์ และรักษาความสมดุลของพิภพและจักรวาลให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ 

ฐานะเช่นนี้ของจักรพรรดิจึงสูงส่งเกินเอื้อมของสามัญชนคนธรรมดา อันสะท้อนถึงนัยต้องห้ามสำหรับสามัญชนคนธรรมดา ชื่อของวังหลวงนี้จึงแปลว่า นครม่วงต้องห้าม หรือถ้าจะแปลให้ดูขลังก็ใช้คำไวพจน์ของสีม่วงในว่า อินทนิล

ก็จะแปลชื่อวังนี้ได้ว่า นครต้องห้ามอินทนิล  

 วังนี้มีความยาวจากเหนือถึงใต้ 960 เมตร จากตะวันออกถึงตะวันตก 720 เมตร มีเนื้อที่ราว 300,000 ตารางเมตร ถือเป็นวังที่มีความอลังการและวิจิตรพิสดาร ทั้งรูปแบบและที่ตั้งของวังนี้ก็เป็นไปตามหลัก เฟิงสุ่ย (ฮวงจุ้ย) อันเป็นศาสตร์โบราณของจีน 

 แต่ปัจจุบันวังหลวงแห่งนี้ถูกเรียกกันว่า กู้กง ซึ่งหมายถึง วังโบราณ (Former Palace) 



กำลังโหลดความคิดเห็น