xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน มหาราชาปาละปุตตระเทวะ อวสานพันธมิตรราชวงศ์สัญชัย-ไศเลนทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

มหาราชาปาละปุตระเทวะหรือพาลบุตร (ประมาณพ.ศ.1375-1395 ที่มะธะรัม และ พ.ศ.1395-14? ที่จัมบิ) เป็นพระองค์โอรสองค์เล็กของมหาราชาสมรตุงคะ พระราชมารดาคือเทวีตาราพระราชธิดาของราชาธรรมเสตุ พระองค์จึงเป็นหลานปู่ของมหาราชาธรณินทราชาและหลานตาของราชาธรรมเสตุ พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชาแห่งศรีวิชัยจากราชวงศ์ไศเลนทร์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เมื่อมหาราชาสมรตุงคะสิ้นพระชนม์พระองค์จึงถูกเจ้าเมืองต่าง ๆ ในเกาะชวาตอนกลางท้าทายพระราชอำนาจอยู่เสมอ พระองค์อาจจะเสด็จไปๆมา ๆ ระหว่างปาเล็มบังและมะธะรัมเช่นเดียวพระราชบิดา จากจารึกวันนัว เต็งกะที่ 3 (พ.ศ.1451) ราไคกะรุงแห่งราชวงศ์สัญชัย (พ.ศ.1372-1390) ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ที่มะธะรัมต่อจากดยาท์ กุลา (26 กรกฎาคม 1370-1372) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1372 ไปจนถึงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.1390

ซึ่งราไคกะรุงนั้นเป็นพระบิดาของราไคปิกะตันพระสวามีของพระนางประโมทวรรธนีซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของพระองค์ ราไคกะรุงปกครองมะธะรัมจนถึง พ.ศ.1390 เมื่อสละบัลลังก์มะธะรัมให้ราไคปิกะตัน ราไคกะรุงได้ออกบวชและมีพระนามว่า “จาปะตะปาน” และหายสาบสูญไปในปีพ.ศ.1393 ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่การเมืองในเกาะชวาสงบตามความเชื่อเดิมของนักประวัติศาสตร์ที่ว่า ราชวงศ์ไศเลนทร์และราชวงศ์สัญชัยที่เป็นเพื่อนบ้านกันอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มหาราชาสมรตุงคะให้ราไคกะรุงเป็นผู้สำเร็จราชการของพระองค์ก่อนที่ในปี พ.ศ.1376 ราไคกะรุงส่งมอบตำแหน่งนี้ให้พระนางประโมทวรรธนีจนกระทั่งปี พ.ศ.1395 ความสัมพันธ์ได้เสื่อมทรามลงไปเมื่อราไคปิกะตันพระสวามีของพระนางประโมทวรรธนีซึ่งเป็นชาวชวาต้องการแยกอาณาจักรมะธะรัมออกจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยซึ่งเป็นของชาวมลายู หลังจากปัญหาการค้าในกวางตุ้งระหว่าง พ.ศ.1363-1383 ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิถังซ้วนจงถึงถังเหวินจงได้สงบลง

ในปี พ.ศ.1395 ราไคปิกะตันซึ่งเป็นชาวชวาต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยของชาวมลายูและได้สร้างอิทธิพลเหนือเจ้าเมืองต่าง ๆ ในเกาะชวาตอนกลางเนื่องจากไม่ต้องการแบ่งรายได้จากการค้ากับจีนกับเมืองอื่น ๆ ในแหลมมลายูและเกาะสุมาตรา เมื่อข่าวการก่อกบฏแพร่หลาย พระองค์จึงต้องทำสงครามกับราไคปิกะตัน ณ ที่ราบสูงระตูบากา ซึ่งอยู่ถัดลงมาทางใต้ของโบราณสถานปรัมบานัน ราไคปิกะตันทรงสร้างศิวลึงค์และจารึกศิวะคฤหะในปรัมบานันเมื่อปี พ.ศ.1399 เพื่อประกาศชัยชนะในสงครามปี พ.ศ.1395 ในจารึกมีข้อความว่าพระเจ้าวาลบุตร (พาลบุตร) ทรงทำสงครามพ่ายแพ้ต่อชตินอิงครัต (ราไคปิกะตัน) ณ ที่ราบสูงระตูบากา พระองค์จึงทรงถอยทัพไปตั้งมั่นอยู่ในป้อมที่ก่อด้วยหินเป็นที่มั่นสุดท้าย ณ ที่นั้นพระองค์ทรงถูกโจมตีและพ่ายแพ้อีก

แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าราไคปิกะตันรบชนะราไควะแลง บู กุมภโยนี ไม่ว่าอย่างไรก็ตามหลังจากนั้นราไคปิกะตันจึงเข้ายึดอำนาจที่มะธะรัมและราชวงศ์สัญชัยได้ก่อตั้งอาณาจักรมะธะรัมปกครองเกาะชวาจนสมาพันธรัฐศรีวิชัยบุกเข้ามาทำลายในสมัยพระเจ้าศรีวิชัยะ นะโมทตุงคะเมื่อปีพ.ศ.1472 เนื่องจากมหาราชาพาลบุตรยังทรงพระเยาว์อ่อนประสบการณ์จึงพ่ายแพ้แล้วเสด็จหนีกลับไปเกาะสุมาตราในปีพ.ศ.1395 อันเป็นบ้านเกิดของพระราชมารดาจึงถือว่าสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์ไศเลนทร์และสมาพันธรัฐศรีวิชัยในเกาะชวา เนื่องจากเมืองจัมบิได้ส่งทูตไปจีนเองโดยไม่ขึ้นกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยในปี พ.ศ.1395 สมัยจักรพรรดิถังซวนจง (พ.ศ.1389-1402) และ พ.ศ.1414 สมัยจักรพรรดิถังอี้จง (พ.ศ.1402-1416) มหาราชาพาลบุตรอาจจะเสด็จหนีจากมะธะรัมไปจัมบิมากกว่าปาเล็มบัง ซูซูกิเชื่อว่าจากปีพ.ศ.1285-พ.ศ.1503 นั้นราชวงศ์ไศเลนทร์ส่งทูตไปจีนในนามของกา-ลิง (诃陵เหอ-หลิง) แต่เมื่อราไคปิกะตันขับไล่ราชวงศ์ไศเลนทร์ออกไปจากเกาะชวาแล้วคณะทูตจากศรีวิชัยในนามกา-ลิง ชุดสุดท้ายควรอยู่ในปี พ.ศ.1376 ในสมัยจักรพรรดิถังเหวินจง (พ.ศ.1369-1383) หลังจากนั้นควรจะเป็นราไคปิกะตันที่ส่งทูตไปจีนในนามกา-ลิง

ในช่วงนี้นักภูมิศาสตร์ชาวเปอร์เซียชื่ออิบึน ฆอร์ดาดเบห์ (พ.ศ.1363-1455) ซึ่งเป็นคนแรกที่กล่าวถึงซาบากประมาณปี พ.ศ.1387 ถึง พ.ศ.1391 ในหนังสือชื่อ อัล-คิตาป อัล-มาซาลิค วัล มามาลิค (หนังสือถนนและอาณาจักรต่างๆ) เขียนถึงความมีอำนาจยิ่งใหญ่และร่ำรวยของมหาราชแห่งซาบากในสมัยนั้นไว้ว่า“มหาราช แห่งซาบากเป็นเจ้าของหมู่เกาะทั้งมวลในทะเลจีนใต้ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากดินแดนเหล่านี้มีพระราชาเป็นผู้ปกครองแต่ขึ้นอยู่กับมหาราชอาณาจักรของท่านมหาราชมีพลเมืองและทหารมากมายเหลือจะพรรณนาถ้าหากเราจะเดินเรือให้เร็วที่สุด ไปให้ทั่วทุกเกาะที่มีพลเมืองอยู่แล้วแม้เดินทางอยู่ถึง 2 ปี ก็ยังไม่ทั่วดินแดนสินค้าสำคัญในเขตของมหาราชมีเครื่องหอมสารพัดอย่าง เช่น พิมเสน กานพลู ไม้หอมจันทน์ อบเชย ฝาง และของอื่นๆ” และกล่าวว่า “ซาบากและกาลัชบาร์ (เคดาห์) เป็นอาณาจักรเดียวกันกับบารุสบนเกาะสุมาตรา เป็นศูนย์กลางการค้ากานพลู ไม้จันทน์ ลูกจัน นกแก้วของประเทศนี้สามารถพูดภาษาอาหรับ เปอร์เซีย อินเดียและกรีกได้”

ในหนังสือ “ถนนและอาณาจักรต่างๆ” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.1389-1390 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.1428และในปี พ.ศ.1395 พ่อค้าชาวเปอร์เซียชื่อสุไลมาน อัล-ทาจีร์ ได้เดินทางเข้ามายังสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้เขียนบันทึกไว้ว่ามหาราชาทรงควบคุมการค้าการบูรที่บารุสในสุมาตราทรงปกครองกาลัชบาร์ (เคดาห์) ในตอนเหนือและร่ำรวยที่สุด พระองค์ทรงโยนก้อนทองคำลงในอ่าวเล็ก ๆ ใกล้กับพระราชวังแล้วตรัสว่า “จงดูสมบัติของข้า” พระราชาทรงทำเช่นนี้เป็นกิจวัตรราวกับว่าพระองค์เป็นหนี้แก่มหาสมุทรอย่างมากมายเช่นเดียวกับเจ้าเมืองเวนิสเคยแต่งงานกับพระสมุทร แต่ถึงอย่างนั้นมหาราชแห่งซาบากก็มีอำนาจทางทะเลยิ่งกว่าเวนิสมากมายเพราะประเทศซาบากตั้งอยู่บนเส้นทาง 3 สายที่จะไปสู่ตะวันออก คือ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดาและทางบกผ่านคอคอดกระ มหาราชแห่งซาบากสามารถเรียกเก็บภาษีผ่านทางจากพ่อค้าได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวการแก้แค้นจากผู้ใดตราบเท่าที่ชวายังเป็นมิตรกันอยู่โดยอาบู ซัยยัด อัล-ซิราฟี่ระบุหลังจากได้อ่านบันทึกนี้ปีพ.ศ.1459 บอกว่าซาบากคือศรีวิชัยจามปากับกัมพูชาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางทะเลดูเหมือนว่าพระองค์มิได้ส่งคณะทูตเชิญเครื่องราชบรรณาการไปยังประเทศจีนเลย

รูป 1. ซากมหาวิทยาลัยนาลันทาที่มีจารึกล่าวถึงมหาราชาพาลบุตรมาสร้างวิหารเอาไว้ที่นี่ ภาพถ่ายโดย ผู้เขียน
หลังจากปี พ.ศ.1367 ก็ไม่มีจารึกใดในเกาะชวากล่าวถึงราชวงศ์ไศเลนทร์อีกจนกระทั่งมีจารึกนาลันทา พ.ศ.1403 หรือ พ.ศ.1413 กล่าวว่าในปีที่ 39 แห่งรัชสมัยพระเจ้าเทวะปาละแห่งอาณาจักรปาละบริเวณอ่าวเบงกอลได้ทรงมีพระราชานุญาติให้มหาราชาพาลบุตรกษัตริย์แห่งสุวรรณทวีป (สุมาตรา) ผู้เป็นพระโอรสของกษัตริย์แห่งชวาภูมิ (สมรกวีระหรือสมรตุงคะ) กับเจ้าหญิงตาราพระราชธิดาของราชาธรรมเสตุสามารถบริจาคเงินสร้างวิหารพุทธศาสนาที่นาลันทาในเขตอาณาจักรปาละเพื่อเป็นที่พำนักแด่พุทธศาสนิกชนที่มาแสวงบุญที่พุทธคยาหรือมาพำนักศึกษาพระธรรมวินัยที่มหาวิทยาลัยนาลันทาโดยในจารึกนึ้กล่าวว่าพระองค์ซึ่งเป็นมหาราชาแห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยเป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์แห่งเกาะชวาและรัชทายาทอันชอบธรรมของราชวงศ์ไศเลนทร์ เพราะพระองค์เป็นหลานปู่ของมหาราชาธรณินทราชาและหลานตาของราชาธรรมเสตุ


เอกสารอ้างอิง

ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์. พ.ศ.2523. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

Cœdès, Georges. 1968. The Indianized States of Southeast Asia. Edited by Walter F. Vella. Translated by Susan Brown Cowing. Honolulu, Hawaii: University of Hawaii Press.

Ibn Yazid Sirafi, Abu Zayd Hasan, and Sulayman al-Tajir2010 (1718). Ancienne Relations de Indes et de la Chine de deux voyaguers Mahometans qui y allerent dans le le neuvième siècle de notre ere (Akhbār al-Şin wa’l-Hind). Translated by Renaudot Abbé Eusebius. Paris: Kissinger Legacy.

Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient, BEFEO 102: 45-95.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Zakharov, Anton O. 2012. The Shailendra Reconsidered. Singapore: ISEAS.



กำลังโหลดความคิดเห็น