xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไขปริศนา “บินอ้อมโลก” รับคนไทยในอิสราเอล “นายกฯนิด” ต้องเร่งฟื้นสัมพันธ์ “ซาอุดิอาระเบีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็น “ดรามา” ที่ “ร้อนระอุ” เลยทีเดียวสำหรับกรณีที่ต้อง “บินอ้อมโลก” เพื่อไปรับคนไทยในอิสราเอล ด้วยไม่เข้าใจถึงเหตุและผลว่า ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งสามารถ “บินตรง” ได้ มีระยะทางสั้นกว่าและใช้เวลาเร็วกว่า จน “น่าแปลกใจ” ในความแตกต่าง กระทั่งเป็น “ปริศนา” ที่จำต้องหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้น

ต้นสายปลายเหตุของดรามาครั้งนี้ เริ่มต้นจากการที่เครื่อง A340-500 ใช้เวลาร่วม 12 ชั่วโมง 30 นาที บินจากไทยไปถึงอิสราเอล จากเส้นทางปกติใช้เวลาจริงประมาณ 8-9 ชั่วโมง เพื่อไปรับคนไทยซึ่งตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิสงคราม ถือเป็นเส้นทางการบินที่อ้อม โดยกองทัพอากาศแจ้งว่าที่ต้องบินอ้อมเพราะมีบางประเทศไม่อนุญาตให้ผ่านน่านฟ้า

thaiarmedforce.com วิเคราะห์ต้นสายปลายเหตุเอาไว้ว่า แม้ A340-500 จะเป็นเครื่องบินโดยสารแท้ ๆ ไม่สามารถติดอาวุธหรืออะไรได้ แต่ในเมื่อเจ้าของเป็นกองทัพอากาศ ก็ถือเป็นเครื่องบินของรัฐ และเป็นเครื่องบินทางทหาร ดังนั้นขั้นตอนการขออนุญาตจะต่างกันออกไป

รอบที่แล้วที่รัฐบาลไทยส่งเครื่องบินไปรับคนไทยที่มาจากซูดานและมาพักที่ซาอุดิอาระเบียนั้น ก็ใช้เส้นทางบินปกติ นั่นคือ A340-500 บินเลี้ยวซ้ายผ่านอินเดีย เข้าสู่ตะวันออกกลางและลงจอดที่ซาอุดิอาระเบีย ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร

แต่รอบนี้สิ่งที่แตกต่างกันก็คือจุดหมายปลายทางของไทยคืออิสราเอล ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาทางการทูตกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางประเทศ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประเทศไหน) ไม่อนุญาตให้ไทยบินผ่าน แม้ไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับประเทศรายทาง และไทยก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ โดยเฉพาะไทยให้การรับรองทั้งประเทศอิสราเอลและประเทศปาเลสไตน์ด้วยซ้ำ

เพียงแต่ถ้ามองเชิงเปรียบเทียบ เกาหลีใต้ซึ่งส่งทั้งเครื่องบินของสายการบินและเครื่องบินของกองทัพไปรับชาวเกาหลีที่อิสราเอล ก็สามารถใช้เส้นทางบินปกติของเกาหลีใต้ นั่นคือบินลงมาทางใต้แล้วเลี้ยวขวาตัดผ่านประเทศไทยไปอินเดีย เข้าสู่ตะวันออกกลางและลงจอดที่อิสราเอล ซึ่งก็ทำให้น่าแปลกใจว่า ทำไมเครื่องบินทหารของเกาหลีใต้ถึงบินเส้นทางปกติได้ แต่ไทยต้องอ้อมเอา และทั้งที่เกาหลีใต้ใช้เครื่องบินทางทหารแท้ ๆ คือ A330 MRTT ด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถบินเข้าออกอิสราเอลผ่านตะวันออกกลางได้ แต่ไทยที่ใช้เครื่องบินโดยสารทำไม่ได้

และในขณะที่สายการบินของอิสราเอลอย่าง El Al ที่บินมาไทย ก็ยังสามารถใช้เส้นทางการบินที่เกือบปกติได้ อาจจะต้องหลบบางประเทศบ้าง แต่ไม่ต้องอ้อมขึ้นเหนือไปแบบไทย ทั้งที่ El Al บินมาไทยเพื่อนำคนอิสราเอลกลับไปร่วมกองทัพอิสราเอลรบกับฮามาสด้วยซ้ำ หรือแม้แต่สายการบิน Fly Dubai ที่มาส่งคนไทยในวันนี้ ก็บินเส้นทางปกติเช่นกัน เลยกลายเป็นว่า A340-500 ของกองทัพอากาศไทยกลายเป็นเที่ยวบินหนึ่งในไม่กี่เที่ยวที่ต้องบินอ้อม

“ย้ำอีกครั้งว่าเราไม่อยากจะมาพูดแบบนี้เพื่อหาคนผิดหรืออะไร เพราะเราก็เชื่อว่าแม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่ทุกคนในกระทรวงการต่างประเทศ ก็พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่จบสถานการณ์นี้ เราอาจจะต้องมาดูและเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ว่า เราติดขัดตรงไหนถึงประสานได้ค่อนข้างล่าช้า และประสานแล้วก็ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร แต่ประเทศอื่นสามารถประสานงานได้ราบรื่นกว่าและสะดวกกว่า ดังนั้นเราต้องปรับตรงไหนในเชิงการทูตหรือการบริหารงาน หรือในเชิงจุดยืนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ต้องทำ การทำ After action review นั้นมีความจำเป็นมาก เพราะอย่างที่บอกไปคือเรามั่นใจว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ต้องอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลหรือประเทศอื่น ๆ ดังนั้นถ้าเราสามารถมีแผนการล่วงหน้าคร่าว ๆ มีการซักซ้อม มีการวิเคราะห์ออกแบบก่อนล่วงหน้า ไม่ต้องมาประสานหน้างานหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกครั้ง นอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่เหนื่อยและเครียดเกินไปแล้ว ยังทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย” thaiarmedforce.com วิเคราะห์เอาไว้

ขณะที่ “นางสาวกาญจนา ภัทรโชค” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจงเหตุผลที่มีการบินอ้อมบางประเทศในการไปรับคนไทยในอิสราเอล ว่าที่ต้องบินอ้อมบางประเทศเพราะอยากจะขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าบางประเทศที่แน่นอนว่าสามารถบินผ่านได้เท่านั้น ซึ่งประเทศที่ไม่ได้บินผ่านเป็นประเทศที่มีการประเมินว่าอาจจะไม่ได้รับอนุญาตหรืออาจจะได้รับอนุญาตล่าช้า จึงยอมที่จะบินอ้อมมาต่างประเทศและเสียเวลาเพิ่ม 3 ถึง 4 ชั่วโมงดีกว่า

สอดรับกับสิ่งที่ “พลอากาศเอกพันธุ์ภักดี พัฒนกุล” ผู้บัญชาการทหารอากาศ เปิดเผยว่า บางประเทศไม่ยอมให้บินผ่าน จึงจำเป็นต้องบินอ้อมหรือบินในเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะการปฏิบัติภารกิจต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ /ทรัพยากรของเรา และประชาชนที่จะไปอพยพกลับมา

อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วก็พบคำตอบว่า “บางประเทศ” ที่ส่งผลทำให้ต้องบินอ้อมก็คือ “ซาอุดิอาระเบีย” ที่ไม่อนุญาตให้เครื่องบินทหารของกองทัพอากาศบินผ่าน จึงจำเป็นต้องอ้อมไป 10 ประเทศที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์มิเนีย ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับซาอุดิอาระเบีย รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีการเจรจาข้อตกลงเรื่องการบินเอาไว้เช่นกัน แต่เป็นการบินพาณิชย์ โดยการบินไทยตกลงกับซาอุฯ แล้ว แต่กรณีเช่าเหมาลำ ที่มีปลายทางอิสราเอลต้องขอใหม่เป็นคราว ๆ ไป

Booking.com ระบุว่า มี 10 สายการบินพาณิชย์ที่บินจากอิสราเอลไปไทย เช่น การบินไทย อมิเรตส์แอร์ไลน์ แอร์อินเดีย คาร์เธ่ย์แปซิฟิก กัลฟ์แอร์ ฟลายดูไบ เป็นต้น เส้นทางที่ได้รับความนิยมที่สุดคือบินจากสนามบินเบนกูเรียน ในเทลอาวีฟ ไปสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉลี่ยเที่ยวบินนี้ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง 42 นาทีต่อเที่ยว และมีราคา 65,096 บาท หากซื้อแบบไปกลับ

ทางด้าน “นายปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขยายความเพิ่มเติมว่า “การบินผ่านน่านฟ้าเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน ก็มีความแตกต่างกัน เช่น สายการบินของกองทัพอากาศ ก็จะต้องบินอ้อมไปบ้าง แต่หากเป็นสายการบินพาณิชย์ที่อยู่ในพื้นที่ก็จะสามารถบินตรงได้เลย ส่วนเครื่องบินที่บินจากประเทศไทยไปถ้าเราไม่เคยบินผ่านมาก่อน ก็ต้องไปทำข้อตกลงกันใหม่”

ความจริงเรื่องนี้จะหยิบยกมาโจมตี “รัฐบาลเศรษฐา” ก็คงไม่ถูกต้องนัก ด้วยปัญหาดังกล่าวมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ซึ่งเรื่องนี้ “นายกฯ เศรษฐา” ก็รับทราบถึงปัญหา โดยได้รีโพสต์ทวิตเตอร์หรือ X ของนางสาวรัชดา ธนาดิเรก ที่บอกว่า “ลุงตู่ปูทางไว้ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ การช่วยเหลือคนไทยกลับบ้านจากอิสราเอลต้องใช้ความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศสำคัญที่จะมีบทบาทในการช่วยคลี่คลาย และนายกรัฐมนตรีจะได้เข้าพบมกุฎราชกุมารฯ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศอ่าวในวันศุกร์นี้ (20ตุลาคม)” ว่า “ถูกต้องครับ ขอบคุณครับ” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความ “ใจกว้าง” ของ “นายกฯ นิด”

ขณะเดียวกัน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย โพสต์ข้อความใน “X” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า “Prime Minister of #Thailand: I will have the opportunity to meet Prince #Mohammed Bin Salman on the sidelines of the ASEAN-Gulf Summit next Friday, and I will ask him to help evacuate the Thais from the escalation zone in #Gaza and its surroundings”

แปลได้ใจความว่า “นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย : ฉันจะมีโอกาสเข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมา นอกรอบในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อ่าวไทย ในวันศุกร์หน้า และฉันจะขอให้พระองค์ช่วยอพยพคนไทยออกจากเขตทวีความรุนแรงในพื้นที่ฉนวนกาซาและบริเวณโดยรอบ”

ในโพสต์ดังกล่าว มีคนไทยเข้าไปคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นมากมาย ส่วนใหญ่แสดงความขอบคุณ และขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพที่เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร โพสต์นั้น เป็นภาพเมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศ ซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ และเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565

นับเป็นสัญญาณดีในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลออกจากเขตสู้รบ ซึ่งอกสั่นขวัญแขวนลุ้นระทึกทุกลมหายใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น