xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คดีหลอกขายของออนไลน์พุ่ง “เด็ก-เยาวชน” ตกเป็นเป้า เสี่ยง! เครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไม่ใช่เหยื่อรายแรก และอาจยังไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้าย กรณีเด็กนักเรียนสาววัย 19 ปี ฆ่าตัวตายทิ้งจดหมายลาปมเครียดกดดัน โดนหลอกโอนเงินผ่อนชำระมือถือไอโฟน ผ่านช่องทางออนไลน์ สูญเงินเกือบ 20,000 บาท ฉายภาพซ้ำความรุนแรงของอาญกรรมไซเบอร์ กับบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐของไทยกำลังทำงานไล่หลัง ซึ่งที่ผ่านมาในสังคมไทยเคยเกิดเหตุ เด็ก-เยาวชน จบชีวิตตัวเองเพราะถูกหลอกในรูปแบบเดียวกันมาแล้ว 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุเด็กนักเรียนหญิง วัย 19 ปี ชั้น ม. 6 ทิ้งจดหมายลาตาย ก่อนผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านพัก ในพื้นที่ จ. นครศรีธรรมราช หลังจากติดต่อซื้อโทรศัพท์มือถือไอโฟน 13 ผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ชื่อ hannah shop mobile ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ช่องทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีการจ่ายเงินผ่านระบบผ่อนจ่ายกับทางร้าน และโอนเงินผ่อนชำระไปแล้วเป็นเงินเกือบ 20,000 บาท ก่อนจะรู้ตัวว่าเป็นแก๊งมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน จนเกิดความเครียด กระทั่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

ความคืบหน้าทางคดี “ตำรวจไซเบอร์” ตั้งวอร์รูมเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผบช.สอท. เปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการ บช.สอท.ได้ข้อมูลเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เบื้องต้นพบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการเปิดบัญชีม้า จำนวน 4 ราย รวมไปถึงติดตามตัวเจ้าของเพจ hannah shop mobile ที่เปิดขายโทรศัพท์มาดำเนินคดี ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการหลอกลวงทั้งขบวนต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมายถูกลงโทษทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม กรณีหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือไอโฟน เป็นสินค้าที่เด็กและเยาวชนให้ความสนใจสูง ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดนหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะรูปแบบผ่อนชำระสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินอ้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีเดียวกันตกเป็นข่าวดังทำให้เด็กเลือกจบชีวิตตัวเองมาแล้ว

ในประเด็นนี้ “ตำรวจไซเบอร์” พยายามสื่อสารไปยังผู้เสียหายกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ อาจจะเกิดความเครียด ความเสียใจ แล้วไม่มีทางออก อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจใดๆ ให้ติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือ ได้แก่ โทร.1212 OCC ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในสังกัดดีอีเอส เพจอาสาจับตาออนไลน์ facebook.com/DESMonitor แจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ www. thaipoliceonline.com สายด่วน บช.สอท. 1441.

ทั้งนี้ ระบบรับแจ้งความออนไลน์ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com เป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งความได้รวดเร็วขึ้น โดยผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา อีกทั้ง เจ้าหน้าที่เองก็จะได้รับประโยชน์กรณีผู้ต้องหากระทำความผิดหลายท้องที่ เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงคดี มีข้อมูลที่สามารถขอศาลออกหมายจับได้ง่ายขึ้น และสามารถร้องขอให้ธนาคารระงับธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เงินของผู้เสียหายถูกโอนไปยังเครือข่ายของ

 ที่ผ่านาสถิติแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www.thaipoliceonline.com ระหว่าง 1 มีนาคม 2565- 30 กันยายน 2566 มีจำนวน 365,547 เรื่อง แบ่งเป็นคดีออนไลน์ จำนวน 336,896 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 45,738,507,864 บาท ส่วนผลการอายัดบัญชีสามารถอายัดได้ 167,347 บัญชี ยอดเงิน 11,251,930,652 บาท 

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด ดังนี้ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 1,952,445,391 บาท 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน มูลค่าความเสียหาย 5,425,376,535 บาท 3. หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 1,667,282,574 บาท 4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 13,952,456,410 บาท 5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 5,449,237,515 บาท

6. หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 424,280,075 บาท 7. หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล มูลค่าความเสียหาย 809,110,450 บาท 8. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 67,363,563 บาท 9. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบ มูลค่าความเสียหาย 960,152,219 บาท 10. กระทำต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 896,493,347 บาท 11. หลอกให้ลงทุนตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 656,216,834 บาท 12. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 933,398,624 บาท 13. หลอกเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 2,539,522,907 บาท และ 14. เข้ารหัสข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น มูลค่าความเสียหาย 65,053,657 บาท

ขณะที่  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เปิดเผยถึงแนวทางการรับมือสถานการณ์อาชญากรรมออนไลน์ ดังนี้ 1. การตั้ง Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงิน และภัยออนไลน์ ที่ทําให้ประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจํานวนมาก และมีมูลค่า ความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรง ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ปัจจุบันมีการแอบอ้าง โลโก้หน่วยงานรัฐ ปลอมแปลงเว็บไซต์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (SMS /Call Center) เป็นต้น

2. การนำเอาเทคโนโลยี Data Analytics และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ในประเด็นต่างๆ ให้มีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้แชร์ข่าวปลอม เป็นลักษณะ AFNC AI เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ Link ข่าวผ่านเว็บไซต์ AFNC ได้ ว่า ตรง/ไม่ตรง ซึ่งตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ใน 4 ปี ระบบสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้เลย ว่าที่ส่งมานั้น ตรงกับฐานข้อมูลอยู่กี่เปอร์เซนต์ เช่น จาก Link ที่ส่งมาตรงกับฐานข้อมูลข่าวปลอม 70% โดยแสดงผลแบบ Highlight ว่า Wording ส่วนไหนบ้างที่ตรง ส่วนไหนที่ไม่ตรง และจะ เรียกว่าเป็น AFNC Search AI ที่สามารถให้ข้อมูลได้เลยเมื่อ Search หาข่าวที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลออกมาเป็นข้อมูลเนื้อความได้เลย

และ 3. การสร้าง Cyber Vaccine สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มถูกหลอกลวงสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ เร่งสร้างความตระหนักรู้ รู้เท่าทัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ หากมีกิจกรรมให้ความรู้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเป็นผู้ที่ช่วยในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จต่างๆ แก่คนรอบตัว คนในชุมชนตนเอง และช่วย สร้างวัฒนธรรมการรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณก่อนจะเผยแพร่หรือส่งต่อ ในอินเทอร์เน็ต สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอมและการเผยแพร่ ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป จึงมุ่งหน้าเร่งเครื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ไม่หลงเชื่อข่าวปลอม ข่าวลวง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ได้

สุดท้าย ประเด็นการสร้าง Cyber Vaccine ในสังคมไทย นับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างองค์ความรู้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ประชาชน เสมือนเป็นวัคซีนป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ อาจป้องกันไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยๆ ก็รู้สึกยั้งคิดเพราะมีการย้ำเตือนผ่านหูผ่านตามาบ้าง

โดยเฉพาะกรณีกลุ่มเสี่ยงเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นผู้เสียหายโดนหลอกซื้อสินค้าออนไลน์สูญเงินเป็นจำนวนมาก จนเกิดอาการเครียดอย่างรุนแรงนำไปสู่โศกนาฎกรรมเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยต้องหันกลับมาทบทวนและแก้ไขอย่างจริงจัง

 สถานการณ์อาชญกรรมไซเบอร์นับเป็นโจทย์ข้อใหญ่ท้าทายรัฐบาล 


กำลังโหลดความคิดเห็น