xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้เงาจีน (19)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 (ภาพ ซินหัว)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 บ้านเมืองปักกิ่ง 

จากการที่ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) จนถึงราชวงศ์ชิง (1644-1911) นั้น ทำให้ปักกิ่งได้สั่งสมวัตถุธรรมต่างๆ เอาไว้มากมาย และที่ว่ามากมายนี้ยังมินับที่ได้ถูกทำลายไปในระหว่างนั้นอีกไม่รู้เท่าไหร่ โดยเฉพาะจากภัยสงครามทั้งภายในและภายนอก

ถ้าว่ากันเฉพาะสิ่งปลูกสร้างแล้ว วังต้องห้ามนับเป็นตัวอย่างที่ดี

 วังต้องห้ามเป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจีน วังนี้สร้างในสมัยหมิงและอยู่เรื่อยมาตลอดสมัยชิง ระหว่างนี้มีการขยายต่อเติมอยู่บ้างในบางช่วง แต่ก็มีที่ถูกไฟไหม้ไปบางส่วนแล้วก็สร้างขึ้นใหม่อยู่เหมือนกัน แล้วก็อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ 

เวลาที่พูดถึงวังต้องห้ามนั้น โดยมากแล้วเรามักเพ่งไปที่ตัวพระราชวังโดยตรง จากนั้นก็ชื่นชมกับความโอ่อ่าอลังการและความวิจิตรงดงามของวัง ซึ่งก็งดงามจริงๆ ในแบบเฉพาะของจีน

ครั้งหนึ่งผมได้ต้อนรับเพื่อนชาวจีนคนหนึ่งที่มาราชการในไทย เพื่อนคนนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดพระแก้วของไทยในวันหนึ่ง หลังไปเยี่ยมชมเสร็จเราก็นัดเจอกันของเย็นวันนั้น ผมถามเขาว่า วัดพระแก้วหรือพระบรมมหาราชวังของไทยเป็นอย่างไรบ้าง

 เขากล่าวชื่นชมความงดงามของวัดพระแก้วและบอกว่าประทับใจมาก ผมก็พูดกับเขาแบบถ่อมตัวว่า จีนก็มีวังต้องห้ามที่งดงามอลังการเหมือนกัน เขาตอบว่า จริง, แต่งดงามไปคนละแบบ เขาว่า ของไทยมีความละเอียดและอ่อนช้อย ซึ่งเขาหมายถึงงานแกะสลักที่ปรากฏอยู่ในแต่ละส่วนของวัดและวัง 

ฟังที่เพื่อนคนจีนพูดแล้วผมก็เห็นว่าจริง ความหมายของเขาก็คือ  สวยคนละแบบ 

ที่ผมบอกว่า เวลาพูดถึงวังต้องห้ามแล้วเรามักเพ่งไปที่ตัวพระราชวังนั้น ผมหมายความว่า ถ้าจะเข้าใจวังต้องห้ามจริงๆ แล้วก็ควรที่จะดูออกนอกตัวพระราชวังไปด้วย ซึ่งก็คือ สิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกตัวพระราชวังออกไปด้วย โดยเฉพาะประตูเมืองและกำแพงเมือง

ใครที่เคยไปปักกิ่งตรงบริเวณรอบๆ กับด้านหน้าวังต้องห้ามแล้วจะพบว่า บริเวณดังกล่าวจะมีกำแพงเมืองโบราณปรากฏอยู่บางส่วน และมีประตูเมืองที่งดงามตั้งตระหง่านอยู่ด้วย ดูแล้วก็อาจชื่นชมจีนที่ดูแลรักษาโบราณสถานเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

แต่จริงๆ แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะที่เห็นอยู่นั้นได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร โดยส่วนที่เป็นกำแพงเมืองบางส่วนแทนที่จะล้อมรอบให้สมกับที่เป็นกำแพงนั้น ก็เพราะมันได้ถูกทำลายไปเป็นส่วนมากแล้ว ส่วนประตูเมืองที่ตั้งเด่นเป็นสง่าก็เพิ่งสร้างขึ้นใหม่จากร่อยรอยเดิมเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง

เพื่อนชาวจีนเล่าว่า การทำลายดังกล่าวเกิดขึ้นโดยฝีมือของ  พวกเรดการ์ด 
กล่าวคือ ตอนที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1966 นั้น พวกเรดการ์ดที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติวัฒนธรรมได้รับคำนี้นำว่า เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยมอย่างแท้จริง เราจะต้องทำลายสิ่งเก่าลงไปก่อนจึงจะสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาได้

 การทำลายสิ่งเก่านี้เรียกว่า วิพากษ์สี่เก่า (พ่อซื่อจิ้ว, 破四旧) อันหมายถึง การวิพากษ์ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า และนิสัยเก่า ที่เคยเป็นที่เชื่อและยึดถือกันมาช้านาน 

 ฉะนั้น กำแพงเมืองและประตูเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเก่าจึงต้องถูกทำลายไปด้วย คิดได้ดังว่าแล้วพวกเรดการ์ดก็ระดมสรรพกำลังเข้าทุบทำลายกำแพงและประตูเมืองจนสิ้นซาก  

ถึงตรงนี้ผมก็ต้องบอกด้วยว่า การทำลายกำแพงเมืองและประตูเมืองนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ หาใช่ปักกิ่งที่เดียวไม่

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า จีนตั้งแต่โบราณกาลมานั้น แทบทุกเมืองจะมีกำแพงเมืองและประตูเมืองตั้งไว้ทั้งสิ้น กำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้จึงมีมาช้านานแล้ว ดังนั้น กำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้ก็ย่อมชำรุดทรุดโทรมลงไปบ้างตามกาลเวลา แล้วถูกซ่อม บูรณะ หรือสร้างขึ้นใหม่ตามแต่สภาพ

ตราบจนในยุคคอมมิวนิสต์ กำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้จึงยังคงตั้งอยู่เรื่อยมา และตอนที่ตั้งอยู่นั้นเราไม่รู้ว่า กลุ่มผู้นำจีนคิดเห็นอย่างไรกับกำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้ แต่เดาว่าไม่น่าคิดมากจนถึงกับจะต้องทุบทำลาย

 แต่พอมาถึงตอนที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมา การที่จะสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาโดยต้องทำลายสิ่งเก่าก่อนนั้น พวกเรดการ์ดก็ต้องมองหาสิ่งเก่าที่ว่าในฐานะ “เหยื่อ” ที่เป็นรูปธรรมให้ได้เสียก่อน จึงจะทำลายได้ และกำแพงเมืองกับประตูเมืองจึงเป็น “เหยื่อ” รายแรกๆ ของพวกเรดการ์ด 

เพราะมันตั้งโดดเด่นเป็นสง่าเสียขนาดนั้น จึงไม่ต้องไปเสียเวลาหาให้ยาก ยิ่งใกล้มือใกล้ตีนด้วยแล้วก็ยิ่งทำลายได้ง่าย ว่าแล้วทั้งกำแพงเมืองและประตูเมืองก็ถูกทำลายลงไป แต่ที่เราเห็นกำแพงเมืองเหลืออยู่นั้น ว่ากันว่า ได้ซ่อมและสร้างจากส่วนที่เหลือของซากเดิม และได้กลายเป็นหลักหมายว่านี่คือที่ตั้งกำแพงเมืองมาก่อน

ส่วนประตูเมืองถูกทำลายไม่มีเหลือ ดังนั้น หลังจากที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปนับแต่ปี 1979 ไปแล้วจึงได้มีการสร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่บนที่ตั้งเดิม ว่ากันว่า ประตูเมืองเดิมที่ถูกทำลายไปนั้นไม่ได้งดงามดังประตูเมืองที่สร้างใหม่ และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่มีหลักฐานภาพถ่ายเก่าที่ให้รายละเอียดได้

มีก็แต่ภาพเก่าที่ถ่ายจากระยะไกล ซึ่งเห็นได้แค่โครงสร้างเท่านั้น

พูดถึงตรงนี้ก็คิดถึงประตูเมืองในเมืองคุนหมิงของมณฑลอวิ๋นหนัน ซึ่งก็สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อนคนจีนบอกว่า ประตูเมืองนี้มีภาพถ่ายเก่าที่ถ่ายในระยะใกล้ แต่ไม่ใกล้มาก จึงยังพอที่จะสร้างให้ใกล้เคียงของเดิมอยู่บ้าง ส่วนกำแพงเมืองนั้นได้ถูกทุบทำลายไม่เหลือซากดังเมืองส่วนใหญ่ของจีนเวลานั้น

ผมเคยเห็นภาพการทุบทำลายกำแพงเมืองในยุคนั้นภาพหนึ่ง ภาพที่ว่าถ่ายในระยะไกล และทำให้เห็นว่า กำแพงเมืองนั้นสูงใหญ่เอาการสมกับที่เป็นปราการในการป้องกันภัยความมั่นคง เห็นภาพนี้ก็ให้คิดถึงกำแพงเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บางส่วน

ผมคิดเอาเองว่า กำแพงเมืองของกรุงเทพฯ น่าจะสูงใหญ่ไม่แพ้ของจีน แต่ที่เราเห็นว่าไม่สูงใหญ่นั้นมาจากการสร้างเมืองให้เติบโตจากหลายสิบปีที่ผ่านมา ตอนนั้นไทยยังไม่ได้คิดถึงความสำคัญในแง่โบราณสถานของกำแพงเมือง พอมาคิดถึงอีกที กำแพงเมืองก็เหลือเท่าที่เห็น

หากกำแพงเมืองกรุงเทพฯ ใหญ่แบบเท่าที่เห็นแล้ว ข้าศึกที่ไหนก็ไม่กลัวหรอก เพราะกระโดดผลุงเดียวก็ขึ้นมาบนกำแพงได้แล้ว

พูดถึงเรื่องกำแพงเมืองกับประตูเมืองของปักกิ่ง ในฐานะส่วนหน้าก่อนที่จะถึงวังต้องห้ามแล้วก็อาจมีคำถามว่า อ้าว....ในเมื่อกำแพงเมืองกับประตูเมืองที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นสิ่งเก่าได้มากเท่ากับวังต้องห้าม แล้วทำไมวังต้องห้ามไม่ถูกทำลายด้วยล่ะ?

 จริงๆ แล้ววังต้องห้ามเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของพวกเรดการ์ดเลยทีเดียว แต่ที่ไม่ถูกทำลายก็เพราะโจวเอินไหล (1898-1976) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีสั่งการให้ทหารจากกองทัพปลดแอกมาเฝ้ารักษาเอาไว้ วังต้องห้ามจึงรอดจากการบุกเข้าทุบหรือเผาทำลายจากพวกเรดการ์ดมาได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น