คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
เบลเยี่ยมแยกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์เป็นเอกราชในปี ค.ศ. 1830 และเลือกที่จะปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยประเทศที่อยู่ติดกับเบลเยี่ยมขณะนั้น คือ ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ก็ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
และจากการที่เบลเยี่ยมไม่เคยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ของตัวเองมาก่อน ดังนั้น สภาแห่งชาติของเบลเยี่ยมจึงต้องลงมติเลือกบุคคลที่จะมาเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศ ซึ่งสภาแห่งชาติได้ลงมติเลือก เจ้าชายเลโอพ็อลท์ เคลเม็นท์แห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา(Leopold of Saxe-Coburg and Gotha) และประกาศแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1831 ในพระนาม พระเจ้าเลโอพ็อลท์ที่หนึ่ง (Leopold I) แห่งราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์ค ซึ่งมีการสืบราชสันตติวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันโดยมีการแก้ไขคือ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 และยังได้รับอิทธิพลจากหลักการการปกครองของอังกฤษด้วย ที่ไม่เรียกว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่อังกฤษปกครองด้วยรัฐธรรมนูญตามจารีตประเพณี
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงที่มาและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสามฉบับไปแล้ว ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้เขียนข้ามไปคือ จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ยังได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ฉบับ ค.ศ. 1814 ด้วย
จะสังเกตได้ว่า สาเหตุที่เบลเยี่ยมได้รับอิทธิพลเรื่องรัฐธรรมนูญจากฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์เป็นเพราะเบลเยี่ยมอยู่ติดกับฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ อีกทั้งยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์มาก่อนด้วย และหลังจากที่สภาแห่งชาติเบลเยี่ยมลงมติให้เบลเยี่ยมปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ขณะนั้นก็ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาก่อนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในการร่างรัฐธรรมนูญให้ประเทศปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยมจะไม่เหลียวดูรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ มิพักต้องพูดถึงอังกฤษที่เป็นต้นแบบของระบอบการปกครองดังกล่าวนี้
คราวนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เพื่อจะช่วยให้เข้าใจรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831
การที่เนเธอร์แลนด์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ถือว่ามีความสำคัญ เพราะทำให้เนเธอร์แลนด์เข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก และเนเธอร์แลนด์ก็ใช้ระบอบดังกล่าวนี้ปกครองมาจนปัจจุบัน
ผู้เขียนขอกล่าวถึงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 และรูปแบบการปกครองก่อนหน้านั้น โดยเริ่มจากปี ค.ศ. 1579 ที่เนเธอร์แลนด์มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้เนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐ หรือที่เรียกว่า “Confederal Dutch Republic” หรือสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์
คำสองคำที่ควรทำความเข้าใจคือ confederal และ republic
คำว่า confederal หรือ confederation ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “สมาพันธรัฐ” นั้น หมายถึงรูปแบบของรัฐแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวเข้าด้วยกันของรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง (sovereign states) โดยมีเป้าหมายร่วมกัน และเป้าหมายร่วมกันที่ว่านี้คือ เพี่อสามารถมีการกระทำทางการเมืองต่างๆ ร่วมกันได้ การเข้ามารวมตัวกันของรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจอธิปไตยนี้เกิดขึ้นจากการยินยอตกลงทำสนธิสัญญาร่วมกัน เป้าหมายของสมาพันธรัฐคือ การเข้ามาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสำคัญๆ เช่น ด้านความมั่นคง-การป้องกันภัยที่เกิดจากข้าศึกศัตรูร่วมกัน ซึ่งย่อมต้องเชื่อมโยงกับการมีนโยบายต่างประเทศร่วมกัน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจการค้า
ในกรณีของสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์ รัฐต่างๆ ที่เข้ามาร่วมกันทำสนธิสัญญาเป็นสมาพันธรัฐมีทั้งสิ้น 7 รัฐ ได้แก่ โกรนินเกน (Groningen) ฟรีเซีย (Frisia) โอเฟอไรส์เซิล (Overijssel) เกลเดอร์ส (Guelders) อือเตร็คต์ (Utrecht) ฮอลแลนด์ (Holland) และเซลันด์ (Zeeland)
และสนธิสัญญานี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ “สหภาพอือเตร็คต์” (The Union of Utrecht) ที่มีการลงนามร่วมกันในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1579 โดยภัยที่รัฐทั้งเจ็ดนี้มีร่วมกันคือ สเปน
แม้ว่ารัฐแต่ละรัฐที่เข้ามารวมกันเป็นสมาพันธรัฐจะมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องภายในของรัฐ ขณะเดียวกัน สมาพันธรัฐก็จะมีรัฐบาลกลางด้วย ที่ประสานงานเชื่อมโยงการปกครองระหว่างรัฐต่างๆ
ส่วน republic หรือที่แปลว่า สาธารณรัฐ ความหมายพื้นฐานเบื้องต้นคือ รูปแบบการปกครองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ (ขณะเดียวกัน ขอกล่าวไว้ด้วยว่า ความหมายของ republic ในบางช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ยุโรป หมายถึงการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ แต่พระมหากษัตริย์ต้องแชร์อำนาจกับสภาและประชาชน หรือที่เรียกว่า การปกครองแบบผสม “mixed government”)
สมาพันธรัฐอาจจะมีการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่มีก็ได้ ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นแบบของเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1579 ที่เรียกว่า สมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์ส่วน สหพันธรัฐ หรือ federation/federal state จะต่างจากสมาพันธรัฐ (confederal state) ที่ระดับของอำนาจในการปกครองตัวเองของรัฐต่างๆที่มารวมตัวกัน ในกรณีของสมาพันธรัฐ รัฐต่างๆจะมีอำนาจอิสระสูงกว่ารัฐที่มารวมกันเป็นสหพันธรัฐ รัฐที่มารวมกันเป็นสหพันธรัฐจะมีอำนาจในการปกครองตัวเองเพียงบางส่วนเท่านั้น
หากพิจารณาในบริบทของยุโรป จะพบว่า ถ้าไม่นับสาธารณรัฐโรมันซึ่งอยู่ในยุคโบราณ สมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์ถือเป็นสาธารณรัฐแรกๆ ของยุโรป นอกจากสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์แล้ว ยังมีบรดานครรัฐ-สาธารณรัฐต่างๆ ของอิตาลี (the Italian city-republic) ที่ปกครองในลักษณะของสาธารณรัฐมาก่อนสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์ แต่อยู่ในลักษณะของรัฐหรือนครขนาดเล็กๆ เช่น เวนิส, ปิซ่า, เจนัว ฯ การที่อิตาลีมีนครรัฐ-สาธารณรัฐต่างๆ เป็นผลพวงที่ตกทอดมาจากอิทธิพลของสาธารณรัฐโรมัน
นอกจากนครรัฐ-สาธารณรัฐอิตาลีแล้ว รัฐที่เข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐก่อนสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์ ได้แก่ โปแลนด์และลิธัวเนีย ที่เป็นสาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1569 ก่อนหน้าการเกิดสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์เพียง 10 ปี กล่าวได้ว่า สาธารณรัฐดัทช์ถือเป็นรัฐยุโรปสมัยใหม่ (นับตั้งแต่หลังยุคกลางเป็นต้นไป) ที่เข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐเป็นลำดับที่สาม
สมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐดัทช์นับว่าเป็นรัฐที่ให้เสรีภาพแก่พลเมืองมาก โดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพในความเชื่อและการนับถือศาสนา ซึ่งถูกกำหนดไว้ในสนธิสัญญาที่กระทำร่วมกันในการสถาปนาสมาพันธรัฐ
เนเธอร์แลนด์ดำรงความเป็นสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐมาตั้งแต่ ค.ศ. 1579 จนถึงปี ค.ศ. 1795 จึงได้เปลี่ยนเป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) การเปลี่ยนเป็นรัฐเดี่ยวของเนเธอร์แลนด์มีสาเหตุมาจากการรุกรานของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1794 และการปฏิวัติบาตาเวีย (the Batavian Revolution) ซึ่งจะได้กล่าวต่อในตอนหน้า