"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ยุโรปก่อนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15 ผู้คนเชื่อว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมืองมาจากการประทานของพระเจ้า ราชาผู้ครองอาณาจักรได้รับอำนาจจากโองการสวรรค์ หรือที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่า “ลัทธิเทวสิทธิ์” ร่องรอยการท้าทายอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์เริ่มขึ้นในนครรัฐของอิตาลีโดยเฉพาะเมืองฟลอเรนซ์ ดังปรากฏในงานเขียนเรื่อง “เจ้าผู้ปกครอง” ของมาคิอาเวลลี ใน ค.ศ. 1513 จากนั้นอีกศตวรรษต่อมาในปี 1651 โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาชาวอังกฤษ ได้ใช้ปากกาอันคมกริบตัดโองการสวรรค์จนขาดสะบั้นในงานนิพนธ์เรื่อง “เลอไวอะธัน” (Leviathan) อำนาจได้หลุดลอยจากสวรรค์ลงมาสู่ผืนพิภพ ตกอยู่ในมือของมนุษย์ผู้ทำสัญญาร่วมกัน ที่รู้จักกันในนาม “สัญญาประชาคม”
ฮอบส์ชี้ว่าอำนาจเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตทางการเมือง เขาให้คำจำกัดความอำนาจว่าเป็น วิธีการปัจจุบันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พึงปรารถนา (การบรรลุเป้าหมาย)ในอนาคต การที่ฮอบส์เน้นย้ำถึงอำนาจในฐานะเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น เน้นย้ำถึงธรรมชาติของอำนาจในฐานะที่เป็นเครื่องมือ อำนาจสำหรับฮอบส์ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง หากแต่เป็นเครื่องมือที่แต่ละบุคคลใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์และบรรลุผลตามที่ต้องการ บุคคลแสวงหาอำนาจในการปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเอง ตลอดจนแสวงหาทรัพยากรและควบคุมผู้อื่น
ฮอบส์จำแนกแหล่งที่มาของอำนาจของมนุษย์ออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ อำนาจตามธรรมชาติ ( natural power) และ อำนาจเชิงเครื่องมือ (instrumental power)
อำนาจตามธรรมชาติ หมายถึง ความสามารถโดยธรรมชาติของแต่ละบุคคล เช่น ความแข็งแกร่งทางกายภาพ สติปัญญา และความสามารถพิเศษ ในขณะที่อำนาจเชิงเครื่องมือ หมายถึง อำนาจที่ได้มาจากแหล่งภายนอก เช่น ความมั่งคั่ง สถานะทางสังคม และตำแหน่งทางการเมือง อำนาจเชิงเครื่องมือจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมทรัพยากรที่ผู้อื่นปรารถนา เช่น เงิน ที่ดิน อาวุธ หรือได้รับจากการแข่งขัน ความยินยอม และการสืบทอด
ฮอบส์เชื่อว่าอำนาจตามธรรมชาติเป็นแหล่งอำนาจขั้นพื้นฐานมากกว่าอำนาจเชิงเครื่องมือ เนื่องจากเป็นรากฐานของอำนาจรูปแบบอื่นทั้งหมด ความมั่งคั่งและสถานะทางสังคมของบุคคลสามารถทำให้พวกเขามีอำนาจเหนือผู้อื่น แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถตามธรรมชาติของบุคคลนั้นในการได้มาซึ่งและรักษาสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ และฮอบส์ยังเชื่ออีกว่า อำนาจเชิงเครื่องมือมีความไม่แน่นอน เพราะสามารถถูกช่วงชิงหรือเสื่อมสลายไปได้ง่าย บุคคลอาจสูญเสียความมั่งคั่งหรือสถานะทางสังคมเนื่องจากประสบเคราะห์ร้าย ภัยจากสงคราม หรือภัยพิบัติในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเอง
ความน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องอำนาจของฮอบส์คือ การสร้างแนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปัตย์ (sovereign) ขึ้นมา เขากล่าวว่าอำนาจสูงสุดมาจากการทำสัญญาร่วมกันของผู้คนในสังคม โดยบุคคลทุกคนในสังคมจะโอนสิทธิแห่งอำนาจในการปกครองตนเองให้แก่บุคคลอื่นหรือที่ประชุมของกลุ่มบุคคล เพื่อให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นใช้อำนาจสูงสุดหรืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในนามของประชาชน
ฮอบส์ได้สาธยายความเชื่อมโยงเชิงตรรกะเกี่ยวกับกับกระบวนการสร้างอำนาจสูงสุดได้อย่างน่าสนใจยิ่งนัก
ฮอบส์เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนถูกขับเคลื่อนโดยการแสวงหาอำนาจ เพราะมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวและก้าวร้าวโดยธรรมชาติ ในสภาวะของธรรมชาติ ปราศจากพันธสัญญาเชิงบวกใด ๆ ไม่มีมนุษย์คนใดถูกผูกมัดที่จะยอมรับเงื่อนไขแห่งสันติภาพ เพราะไม่มีเงื่อนไขใดที่ผูกพันกับสันติภาพโดยธรรมชาติ
ฮอบส์เชื่อว่าสภาวะของธรรมชาติหรือสภาพของมนุษยชาติก่อนการสถาปนารัฐ เป็นสภาวะของ "สงครามระหว่างมนุษย์กับทุกคน" เนื่องจากมนุษย์แข่งขันกันเพื่อทรัพยากรและอำนาจอย่างต่อเนื่อง ในสภาวะของธรรมชาติ ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ และทุกคนมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามต้องการ สิ่งนี้นำไปสู่ชีวิตที่ "โดดเดี่ยว ยากจน น่ารังเกียจ โหดเหี้ยม และสั้น"
เพื่อที่จะหลีกหนีจากสภาวะแห่งธรรมชาติ ฮอบส์ให้เหตุผลว่า ผู้คนต้องทำสัญญาประชาคม นี่เป็นข้อตกลงที่จะสละสิทธิส่วนบุคคลและยอมจำนนต่ออำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครอง ผู้ปกครองสูงสุดจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการออกและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้นอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์จึงมาจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชน มิได้มาจากการมอบของพระเจ้าดังที่เคยเชื่อกันในยุคสมัยนั้น และมิได้มาจากการใช้กำลังอาวุธบีบบังคับ แม้จะเป็นความจริงว่า หลายประเทศตั้งแต่ยุคที่ฮอบส์มีชีวิตอยู่จวบจนมาถึงปัจจุบัน การครอบครองอำนาจรัฐมาจากการใช้กำลังอาวุธช่วงชิงจากประชาชน และการอ้างสิทธิ์ในการสืบทอดจากบรรพบุรุษ
บริบททางการเมืองของสหราชอาณาจักรในยุคที่ฮอบส์เขียนหนังสือเรื่อง เลอไวอะธัน เป็นยุคสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมกับฝ่ายรัฐสภา งานเขียนของฮอบส์สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มอำนาจทั้งสองฝ่าย สำหรับฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่พอใจ เพราะฮอบส์ได้ทำลายความเชื่อเกี่ยวกับลัทธิเทวสิทธิ์ ซึ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของฝ่ายกษัตริย์นิยมในการอ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเพื่อปกครองประเทศ ทั้งที่โดยส่วนตัวฮอบส์เชื่อว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสันติภาพ เขาให้เหตุผลว่าผู้ปกครองคนเดียวมีแนวโน้มที่จะเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพมากกว่าคณะผู้ปกครอง และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะทุจริต ขณะที่ ฝ่ายรัฐสภา แม้ว่าชื่นชอบกับการทำลายลัทธิเทวสิทธิ์ของฮอบส์ แต่ก็ขุ่นใจกับการที่ฮอบส์สนับสนุนการมอบอำนาจสูงสุดให้แก่บุคคลเดียว แทนที่จะสนับสนุนการมอบอำนาจสูงสุดให้แก่คณะบุคคล
เราสามารถสรุปลักษณะของอำนาจตามแนวคิดของฮอบส์ได้ดังนี้
1. อำนาจเป็นของมนุษย์ทุกคน (universal power) ฮอบส์เชื่อว่า โดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนมีอำนาจในตนเอง หรืออำนาจเป็นสิ่งสากลของมนุษย์นั่นเอง อำนาจไม่ได้เป็นของพระเจ้า บุคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่อย่างใด การที่บุคคล กลุ่ม องค์กร หรือสถาบันใด มีอำนาจเหนือกว่าบุคคลอื่นได้นั้นเป็นเพราะประชาชนยินยอมมอบอำนาจแก่พวกเขา เพื่อนำไปใช้ในนามของประชาชนนั่นเอง
2. อำนาจมีลักษณะรวมศูนย์ (centrality) ฮอบส์เชื่อว่า สังคมควรมีอำนาจศูนย์กลางหรือรัฐที่เข้มแข็ง โดยอำนาจสูงสุดของรัฐจะอยู่ในมือของผู้ปกครองเพียงคนเดียว หรือคณะผู้ปกครองก็ได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การตัดสินใจและบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. อำนาจมีลักษณะครอบงำ (dominance) ฮอบส์มองว่า อำนาจรัฐเป็นการครอบงำและการควบคุมเหนือผู้อื่น (power over) ทั้งทางการเมืองและทางกายภาพ เพื่อการรักษาระเบียบสังคมและป้องกันความวุ่นวาย ในแง่นี้มาฐานคิดที่ว่า ประชาชนต้องการความสงบปลอดภัยในการดำรงชีวิตของตนเอง จึงยอมตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ
4. อำนาจมีลักษณะเป็นการเครื่องมือ (instrumentality) หรือวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยสนองผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ของผู้ครอบครอง อำนาจจะถูกใช้อย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการ และเพื่อจัดการบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุเป้าประสงค์ของผู้ครอบครองอำนาจ
5. อำนาจมีมิติของการบังคับขู่เข็ญ (coercive) ซึ่งมีนัยว่า การใช้อำนาจให้เกิดประสิทธิผลจำเป็นต้องได้รับหนุนหลังด้วยกำลัง การบังคับ และการลงโทษ ฮอบส์ให้เหตุผลว่าหากปราศจากความกลัวการลงโทษ แต่ละบุคคลจะยอมแพ้ต่อความปรารถนาอันเห็นแก่ตัว ส่งผลให้สังคมตกไปสู่ "สภาวะแห่งธรรมชาติ" ที่มีลักษณะพิเศษคือความขัดแย้งและความรุนแรง
6. อำนาจพยายามรักษาความยั่งยืนของตนเอง (self-perpetuating) ด้วยการสร้างความมั่นคง แข็งแกร่ง และคงอยู่อย่างยืนยาว ผู้ที่ครอบครองอำนาจ ซึ่งได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล จะพยายามทุกวิธีทางในการธำรงอำนาจให้มั่นคง และขยายเครือข่ายอำนาจออกไปทั้งในระดับกว้างและลึก โดยผ่านการสร้างพันธมิตร การควบคุมทรัพยากร และการบิดเบือนข้อมูล
แนวคิดอำนาจของฮอบส์มีอิทธิพลสูงในการพัฒนาปรัชญาการเมือง ทฤษฎีสัญญาประชาคมของเขาเป็นหนึ่งในแนวคิดทางการเมืองที่สำคัญของตะวันตก อย่างไรก็ตาม มุมมองของเขาเกี่ยวกับอำนาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามองโลกในแง่ร้ายและเสียดสีมากเกินไป โดยเฉพาะมุมมองเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มืดมนเกินไป และประเมินความสามารถในการร่วมมือและการเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นต่ำเกินไป
จุดอ่อนของแนวคิดอำนาจของฮอบส์อีกอย่างคือ การนิยามอำนาจที่เรียบง่ายเกินไป โดยมองอำนาจในฐานะที่เป็นวิธีการเพื่อบรรลุความปรารถนาของตน ซึ่งทำให้มองข้ามรูปลักษณ์อื่น ๆ ของอำนาจ อันได้แก่ มิติเชิงสัมพันธ์ วาทกรรม สัญลักษณ์ และวัฒนธรรม และการวิเคราะห์ที่เน้นพลวัตอำนาจภายในรัฐเป็นหลัก แต่ละเลยความสำคัญของอำนาจในสถาบันทางสังคมอื่น ๆ เช่น สถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริง อำนาจไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังแทรกซึมอยู่ในมิติต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลและชุมชนในรูปแบบที่หลากหลาย
ในท้ายนี้ แนวคิดอำนาจของฮอบส์ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมในยุคสมัยนั้นอย่างถึงรากถึงโคน เขาช่วงชิงอำนาจจากมือของพระเจ้ามาให้มนุษย์ สร้างอำนาจอธิปไตยของรัฐที่มาจากสัญญาประชาคม มองอำนาจในฐานะวิถีทางที่มีเหตุผลในการแสวงหาผลประโยชน์และสร้างผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาแก่ผู้ครอบครอง รวมทั้งการมองว่า อำนาจพยายามรักษาความยั่งยืนของตนเองให้ยาวนานที่สุด แนวคิดเหล่านี้แม้จะเสนอมายาวนานแล้ว แต่ก็ยังคงใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจพลวัตของอำนาจในยุคปัจจุบันได้ไม่น้อยทีเดียว