xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิภาวะของนายกฯ เศรษฐา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผลจากการที่เครื่องบินของไทยต้องบินอ้อมเพื่อไปรับคนไทยที่อิสราเอลนั้น เกิดจากความปากแจ๋วของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ยังเป็นที่กล่าวขาน แต่ชาติอื่นอย่างเกาหลีใต้กลับสามารถบินตรงผ่านประเทศในตะวันออกกลางได้ก็น่าจะเป็นการตอกย้ำได้ว่า น่าจะมาจากผลพวงดังกล่าว

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการไปเยือนซาอุดีอาระเบียที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีได้รื้อฟื้นสัมพันธ์เอาไว้ นายกฯ เศรษฐาจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ก็คงจะต้องรอดูต่อไป เพราะไทยยังต้องบินไปรับคนไทยที่อิสราเอลอีกหลายเที่ยว

การพลาดพลั้งปากของเศรษฐาเที่ยวนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไม่รู้ตัวว่าวันนี้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ไม่ใช่นักธุรกิจอสังหาฯ ที่จะโพสต์แสดงความเห็นอะไรผ่านโซเชียลมีเดียก็ได้อีกต่อไปแล้ว ที่สำคัญสะท้อนว่า เศรษฐาไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเลย แต่ความไม่รู้ก็ไม่ได้ผิดอะไรมากหรอก เพียงแต่ต้องตระหนักให้ได้ว่าตัวเองมีสถานะเป็นอะไร และควรจะมีวุฒิภาวะอย่างไรหรืออะไรควรต้องปรึกษาผู้รู้ก่อนแสดงความเห็น วันนี้ไม่ใช่นายเศรษฐาที่จะแสดงความเห็นอย่างไรก็ได้อีกแล้ว

เรื่องวุฒิภาวะของเศรษฐาที่มีคนพูดกันมากก็คือการแต่งตัว แม้การแต่งกายแบบไหนจะเป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน จะใส่เสื้อสีอะไร ถุงเท้า หรือเนกไทสีอะไรก็ไม่ใช่ความผิดอย่างฉกาจฉกรรจ์หรอก แต่การเข้าสังคมระดับผู้นำประเทศนั้นก็ต้องระงับความชอบส่วนตัวเพื่อแต่งตัวให้เหมาะสมกับแต่ละงานด้วย ดังนั้นใครเตือนเศรษฐาได้เรื่องนี้ก็ช่วยเตือนเถอะ หากใครไม่กล้าเตือนก็ฝากคุณผู้หญิงที่บ้านเศรษฐานั่นแหละช่วยเป็นธุระเพื่อเห็นแก่หน้าตาของประเทศ

อย่าหาว่า ผมมาติติงเรื่องหยุมหยิมไม่เป็นสาระกับนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้เลย รสนิยมใครรสนิยมมันก็จริง แต่คิดว่ารสนิยมที่มีมาตรฐานมันก็ต้องมีเหมือนกัน

จริงๆ ก็มีคนเล่าให้ผมฟังเหมือนกันเรื่องวุฒิภาวะในสนามบอลของเศรษฐาจากคนที่เคยปะทะแข้งด้วยว่า เป็นคนเตะไม่เลี้ยง แต่ผมก็ไม่ถือเป็นสาระเอาความ เพราะในสนามฟุตบอลมันก็มีเกมกติกาของมันอยู่ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องในสนามไปมีใบเหลืองใบแดงตามระดับลิมิตของมัน

แต่วันก่อนที่เศรษฐาไปพูดกับชาวบ้านที่จังหวัดพิษณุโลกเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาทนั้น ผมว่ามันเกินลิมิตของคนเป็นนายกรัฐมนตรีไป เศรษฐาบอกว่า “หากท่านเห็นตรงกันกับผมและชอบโครงการนี้อยู่ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้”

ไม่ทราบว่าท่านหมายถึงใครที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผล เพราะคนที่ค้านเรื่องนี้นั้นเป็นอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ รองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอีกเป็นร้อยคนที่เขาเตือนว่า จะได้ไม่คุ้มเสียนั้น เขาแสดงเหตุผลในการคัดค้านออกมาชัดเจน แล้วเขาแสดงความเห็นจากความรู้และหลักวิชาการที่เขาร่ำเรียนมา การไปพูดอย่างนั้นกับชาวบ้านจึงไม่สมควรยิ่ง แน่นอนล่ะเอาเงินไปให้คนละ 1 หมื่น เสียงส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่การไปปลุกปั่นเพื่อให้คนที่อยากได้มาปะทะกับคนที่เขาแสดงความเห็นตามหลักวิชาการนั้นเป็นเรื่องไม่ควรทำ แม้ว่าจะมาแก้ตัวทีหลังว่าไม่ได้ปลุกระดมก็ฟังไม่ขึ้นหรอก เจตนาในใจที่พูดต่อหน้าประชาชนแบบนั้นมันฟ้องอยู่ดีว่ามีเป้าหมายอย่างไร

นี่ไม่ใช่เรื่องของคนเท่ากันชาวบ้าน 1 เสียง นักวิชาการก็ 1 เสียงแล้วใช้เสียงส่วนใหญ่มาตัดสินอย่างที่เศรษฐายกมา เพราะคนเรามีความรู้ไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถตัดสินว่าคนเท่ากันในเชิงนี้ได้ถ้ารัฐบาลเห็นว่าความคิดของนักวิชการเหล่านั้นไม่ถูกต้องก็ควรจะชี้แจงด้วยเหตุและผลไม่ใช่การปลุกระดมให้ชาวบ้านลุกฮือ

สิ่งที่น่าห่วงอีกอย่างก็คือเศรษฐาเข้าใจการตื่นตัวของโลกต่อสภาวะภูมิอากาศแค่ไหน และเข้าใจไหมว่าทุกประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายใดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

ไม่กี่วันก่อนเราคงได้ยินเศรษฐาพูดว่า “ตอนนี้ญี่ปุ่นกังวลว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีอาจทำให้เขาเสียเปรียบผมจะไปญี่ปุ่นเดือนธ.ค.นี้ผมยืนยันบีโอไอว่ารัฐบาลไม่ลืมพระคุณญี่ปุ่นที่ช่วยเรามาหลายสิบปีไทยเคยเป็นดีทรอยต์ของเอเชียแม้ไทยสนับสนุนรถยนต์อีวีแต่ก็มีรถยนต์สันดาปเยอะยังต้องมีต่อไป 10-15 ปีเพราะมีซัปพลายเชนเยอะมากหากหายไปคนไทยในอุตสาหกรรมนี้จะเดือดร้อน”

เศรษฐาไม่รู้เลยหรือว่า หลายประเทศทั่วโลกเขาคุยกันว่า มีเป้าหมายว่าจะบรรลุเป้าให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ “net zero” ภายในปี 2050 เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อนและบรรลุเป้าหมายได้ ต้องไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้เพิ่มขึ้นไปในชั้นบรรยากาศอีกโดยทำได้ทั้งลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือชดเชยด้วยการกำจัดก๊าซดังกล่าวเท่ากับจำนวนที่ปล่อยออกไป

ปี 2050 นับจากนี้ก็เหลือเวลาอีก 26 ปีเอง อาจจะบอกว่าไทยเราสัญญาว่า จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 ยังเหลือเวลาอีกหลายปี แต่ต้องไม่ลืมว่า ไทยเราต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ในปี 2050 แต่ความเป็นกลางทางคาร์บอนก็ต้องค่อยๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงมา แล้วต้องใช้การปลูกป่าทดแทน การจัดเก็บคาร์บอน หรือซื้อคาร์บอนเครดิตซึ่งเราควรต้องเริ่มต้นเพื่อเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันนี้

แต่เศรษฐากลับบอกว่าจะสนับสนุนรถสันดาปไปอีก 15 ปีคือจากวันนี้ถึงปี 2039 เพราะเป็นหนี้ญี่ปุ่นถึงตอนนั้นเราก็เหลือเวลาอีก 11 ปีก็จะถึงปี 2050 แล้วมันจะทันกับสถานการณ์หรือ

แล้วเรื่องการเข้ามาลงทุนในไทยของญี่ปุ่น แม้จะก่อให้เกิดผลดีต่อไทยทั้งเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นเขาได้จากไทยไปก็เกินคุ้มแล้วไม่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศแล้วได้มือเปล่ากลับไปเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องหนี้สินที่จะต้องติดค้างกันไม่ใช่หรือ

การมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายในทางปฏิบัติที่ชัดเจนออกกฎหมายกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญต่อภาคธุรกิจและประชาชนรวมถึงสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ประกาศออกมาสวนโลกว่าจะสนับสนุนรถสันดาปไปอีก 10-15 ปี

ก็น่าเห็นใจนะครับว่า เศรษฐาเป็นนายกฯ มือใหม่ แถมยังเป็นนักการเมืองมือใหม่ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพราะบารมีของทักษิณ ถึงวันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีอำนาจเต็มตัวสักแค่ไหน

ใครใกล้ชิดช่วยส่งเสียงเตือนท่านนายกฯ กันหน่อยให้ระมัดระวังวุฒิภาวะและการแสดงออกให้มากไว้ แม้จะยากเพราะดูท่านจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงก็ตาม
 
 ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น