xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชะตาแรงงานไทยกลางไฟสงครามยิว จะกลับก็ไม่ได้ จะอยู่ต่อไปก็สุดเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แรงงานไทยในอิสราเอลชุดแรก 15 คน เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้สถานการณ์อันเลวร้ายจากไฟสงครามจะปะทุ และคุกรุ่นอยู่เรื่อยมา อีกทั้งสภาพการทำงานที่หนัก ที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ มีรายงานการเสียชีวิตที่ไม่ทราบสาเหตุหรือ “ไหลตาย” อยู่บ่อยครั้ง แต่ประเทศอิสราเอล ก็ยังเป็นประเทศเป้าหมายอันดับสองรองจากไต้หวันที่แรงงานไทยมุ่งไปแสวงโชคบนความเสี่ยงมาหลายทศวรรษ ด้วยว่าค่าจ้างจูงใจมากกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว

ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot, Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับฉนวนกาซา ประมาณ 5,000 คน โดยพื้นที่สู้รบทางตอนใต้ของอิสราเอล เป็นพื้นที่ที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุดกว่า 12,000 คน รองลงมาอยู่ในภาคกลางมีกว่า 5,800 คน และภาคเหนือ กว่า 3,800 คน นอกนั้นเป็นการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ใน 12 เมืองของอิสราเอล โดยแรงงานไทยในระบบที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง มีจำนวนมากกว่า 25,800 คน ร้อยละ 95 เป็นเกษตรกร ซึ่งรายได้ของแรงงานแต่ละพื้นที่ไม่ได้แตกต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่่เสี่ยงไม่เท่ากัน โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 55,000 - 60,000 บาท

รายได้ที่ถือว่ามากกว่าถึง 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับการทำงานในประเทศไทย เป็นแรงจูงใจอันดับหนึ่งสำหรับแรงงานไทย ขณะที่อิสราเอล มีความต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะงานหนักที่ชาวอิสราเอลปฏิเสธการทำงาน ไม่ต่างจากประเทศไทยที่ต้องการแรงงานต่างชาติชาวเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เข้ามาทำงานที่เรียกว่า “3D” หรือ Dangerous–Dirty–Difficult คือ เสี่ยง สกปรก แสนลำบาก

ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ระบุว่า อิสราเอลต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติใน 4 ประเภทกิจการ คือ ภาคงานเกษตร, ภาคการก่อสร้าง, ภาคงานบริการ (ดูแลคนชราและผู้พิการ) และภาคอุตสาหกรรมบริการและร้านอาหาร โดยในภาคเกษตรจ้างแรงงานไทยมากที่สุดกว่าร้อยละ 95 ส่วนภาคบริการ ร้านอาหาร มีคนไทยที่เป็น Chef และ Cook มากที่สุดถึงร้อยละ 95 ภาคก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวโรมาเนีย จีน และตุรกี และงานดูแลคนชราและผู้พิการจ้างชาวฟิลิปปินส์ ร้อยละ 95 โดยมีกรอบเวลาจ้างงานรวม 5 ปี โดยให้วีซ่าปีต่อปี ยกเว้นงานดูแลผู้ชราและพิการที่ทำเกิน 5 ปีจนกว่าผู้ว่าจ้างจะเสียชีวิต

แม้ว่าการทำงานที่อิสราเอล จะได้รับค่าจ้างสูงแต่ค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางไปทำงานก็ไม่น้อย ข้อมูลของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อจัดหางาน” ณ วันที่ 20 กันยายน 2565 ระบุค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอล ประมาณ 71,020 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) เช่น ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าเครื่องบิน (ขาไป) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายหลังเดินทางไปถึงอิสราเอล ที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานในรัฐอิสราเอล และค่าธรรมเนียมตามโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล ประมาณ 40,000 บาท ตามกฎหมายของอิสราเอล นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดซึ่งผู้รับสมัครทำงานจะจ่าย เช่น ค่าเดินทางจากภูมิลำเนาของผู้สมัครมา กรุงเทพฯ ค่าอาหาร และค่าที่พักใน กรุงเทพฯ รวมไปถึงค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับไทย ส่วนเงินค่าจ้างที่ได้รับ ยังถูกหักค่าภาษี ค่าประกันสังคม ค่าประกันสุขภาพ ฯลฯ

ค่าตอบแทนที่สูง จูงใจให้คนไทยอยากไปทำงาน แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อจะงานทำก็สูงไม่น้อยเช่นกัน บางคนก็ต้องกู้หนี้ยืมสินส่งตัวเองไปหางานทำเพื่อแสวงหารายได้ที่ดีกว่าอยู่เมืองไทย ดังนั้น แม้ไฟสงครามอิสราเอล–ฮามาส จะลุกโชน แต่หลายคนก็ยังลังเลและเสี่ยงที่จะอยู่ต่อ เพราะไม่แน่ใจว่าหากกลับมาเมืองไทย จะผิดสัญญาจ้างหรือไม่

ข้อกังวลของแรงงานในเรื่องนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เตรียมหารือกับอิสราเอล ขอให้ผ่อนปรนกรณีแรงงานไทยจะเดินทางกลับโดยที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญาจ้างให้สามารถกลับไปทำงานได้อีก โดยงดเว้นเก็บค่าใช้จ่ายแรกเข้าใหม่ ขณะเดียวกันได้ระงับการส่งแรงงานล็อตใหม่ไปทำงาน จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าการสู้รบสงบแล้ว ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาพื้นที่ในการส่งแรงงานไทยไปทำงาน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของการเกิดการสู้รบเป็นสำคัญ

หนึ่งในแรงงานไทยซึ่งไปทำงานที่อิสรเอล และเลือกที่จะอยู่ต่อแม้จะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างยิ่งก็คือ นายสุดใจ คงบรรจบ บ้านเลขที่ 60 หมู่ 2 ต.สำราญ ไปทำงานเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเคฟา อิสเอลฟ์ ซึ่งไม่ประสงค์เดินทางกลับ เพราะเพิ่งทำงานได้ 5 เดือน เขาอยู่ห่างจากฉนวนกาซาประมาณ 15 กิโลเมตร จึงมั่นใจว่าจะไม่ได้รับอันตรายจากการสู้รบ แต่ทุกครั้งที่มองขึ้นไปบนท้องฟ้าและเห็นวิถียิงระเบิดของกลุ่มฮามาสก็อดที่จะหวาดกลัวไม่ได้ “งานก็ต้องทำ ระเบิดก็จะลงหัว”

นายสุดใจ บอกว่า มีโอกาสก็จะติดต่อเพื่อนแรงงานไทยในพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุด้วยความเป็นห่วง และไลฟ์สดกับเพื่อนแรงงานไทยที่อยู่ในหลุมหลบภัย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการช่วยเหลือ เพราะเหตุการณ์รุนแรงและน่ากลัวมาก

กลุ่มของนายสุดใจ ถือว่ายังโชคดี แต่แรงงานไทยที่สังเวยชีวิต 2 รายหลังสุด เพิ่มเติมจาก 18 รายก่อนหน้านั้น เป็นชาวอุดรธานีและศรีสะเกษ ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกระเบิดขณะออกไปเก็บแตงกวาญี่ปุ่นหรือซุกีนี่กับเพื่อนอีกคน หลังแคมป์คนงานตามคำสั่งของนายจ้างทั้งที่มีสถานการณ์สู้รบรุนแรง สะท้อนสภาพการทำงานของแรงงานไทยในอิสรเอลได้เป็นอย่างดีว่า “ยิว” ขนาดไหน ไม่ว่าจะเสี่ยงแค่ไหน งานก็ยังต้องทำ หากโชคดีคือยังมีชีวิตรอด หากโชคร้ายก็จบชีวิต ทิ้งความเศร้าโศกและหนี้สินพะรุงพะรังไว้ให้คนทางบ้าน

ทางเลือกสำหรับแรงงานไทยที่ไป “ขุดทอง” ยังอิสรเอลมีไม่มากนัก ดังกรณีนายพงษ์พัฒน์ สุชาติ แรงงานชาวศรีสะเกษ ที่เสียชีวิตจากแรงระเบิดขณะออกไปเก็บแตงกวาญี่ปุ่น แต่นายสุรัตน์ พี่ชายนายพงษ์พัฒน์ ซึ่งทำงานอยู่ที่อิสราเอลด้วยเช่นกัน ยืนยันยังไม่กลับเมืองไทย คงต้องทำงานและรอดูสถานการณ์ไปก่อน

ความโกลาหลจากสงคราม ไม่เพียงมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกจับเป็นตัวประกัน ยังมีบางส่วนที่ติดต่อไม่ได้อีก 300 กว่าคน โดยมีรายงานว่า ชาวนครพนมที่ไปทำงานอยู่อิสราเอลกว่า 2 พันคน มีหลายร้อยคนที่ทำงานอยู่ในเขตชายแดนพื้นที่สงครามและบางส่วนขาดการติดต่อ ญาติไม่ทราบข่าวคราวกว่า 330 คน ในจำนวนนั้นมีญาติของนางเนตรนภา โฮมสร อายุ 38 ปี ชาวบ้านหนองเดิ่นพัฒนา ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม ที่น้องชาย 3 คนไปทำงานในอิสราเอล คือ นายเศรษฐา อายุ 36 ปี นายเจษฐา อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นฝาแฝด และนายอนุวัต อายุ 32 ปี โดยนายอนุวัตเพิ่งไปทำงานได้แค่ 3 เดือน ยังมีภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่อิสรเอลนับแสนบาท

ไฟสงครามที่คุกรุ่นและพร้อมปะทุทุกเมื่อเป็นความเสี่ยงภัยอันร้ายแรง แต่ขณะเดียวกัน สภาพการทำงานของแรงงานไทยที่อิสรเอลก็เป็นปัญหาทำให้มีแรงงานเสียชีวิตมาแล้วนับร้อย

รายงานสำนักข่าวบีบีซี เผยข้อมูลจากฝ่ายแรงงาน สถานทูตไทยในอิสราเอล ว่าตั้งแต่ปี 2555 – 2561 มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปแล้ว 172 คน สาเหตุจากความเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตาย และส่วนมากถูกระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า “ไม่ทราบสาเหตุ” และหากดูข้อมูลย้อนหลังไปอีก จากรายงานของทางการอิสราเอลระหว่างปี 2551 – 2556 พบแรงงานไทยเสียชีวิต 122 คน ในจำนวนนี้ 43 คน เสียชีวิตจากการหยุดหายใจฉับพลัน (ไหลตาย) ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า น่าจะมีสาเหตุจากทำงานหนักและที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ

จากการศึกษาล่าสุดปี 2564 โดย Kav LaOved (องค์กรช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอิสราเอล) และแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนอิสราเอล เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรของอิสราเอล “A Land Devouring its Workers: Neglect and Violations of Migrant Agricultural Workers’ Right to Health in Israel” พบว่า แรงงานภาคเกษตรทำงานหนักมากในสภาพอากาศร้อนจัด บางครั้งแรงงานจะได้รับอันตราย และพักอาศัยในที่พักที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

ผลการศึกษายังพบอีกว่า มีแรงงานถึงร้อยละ 90 ต้องทำงานเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ แต่มีเพียงราว 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันขั้นพื้นฐานจากนายจ้าง ทำให้มีแรงงานถึงร้อยละ 93 ประสบปัญหาทางสุขภาพอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับงานที่ทำ แรงงานครึ่งหนึ่งต้องทนทำงานต่อในวันที่ตนเองเจ็บป่วย และร้อยละ 70 ไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ตนเองขอลาป่วย

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงกรณี ที่นายจ้างสั่งให้แรงงานออกไปทำงานในทุ่งโล่งหรือในฟาร์มอยู่บ่อยครั้งในช่วงสงคราม แม้จะอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงถูกโจมตีด้วยจรวด แม้จะมีคำสั่งห้ามจากทางการอิสราเอลแล้วก็ตาม รายงานฉบับนี้จึงขอเรียกร้องให้สร้างสถานที่หลบภัยสำหรับแรงงานทั้งหมดในบริเวณใกล้เขตสู้รบอีกด้วย ตลอดจนแนะจัดให้มีระบบการติดตามและเยียวยาสุขภาพของแรงงานอย่างครอบคลุม กำหนดบทลงโทษนายจ้างที่ละเมิดสิทธิ รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตในการจ้างแรงงานต่างชาติ เพื่อลดปัญหาการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานไทย

ถึงจะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมแรงงานไทยถึงยังออกไปแสวงโชคที่อิสราเอล ท่ามกลางไฟสงครามที่ไม่มีวันมอดดับในเร็ววัน


กำลังโหลดความคิดเห็น