xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใบสั่งค้างจ่าย (ยัง) ไม่ต้องจ่ายนะจ๊ะ! คำสั่งศาลฯ ขัดใจ ตร. ถูกใจ ปชช.?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นประเด็นร้อนสร้างความฮือฮาโดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนน กรณี “ศาลปกครองกลาง” เพิกถอน “ประกาศตำรวจ เรื่องกำหนดแบบใบสั่งและค่าปรับใบสั่งจราจร พ.ศ.2563” พิพากษาเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลฯ มี “คำสั่ง เพิกถอน ใบสั่ง - ค่าปรับจราจร ให้มีผลย้อนหลังนับแต่ ก.ค. 2563”

ทั้งนี้ สืบเนื่องมากจากศาลปกครองกลางเผยแพร่คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นคดีที่ นางสุภา โชติงาม (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยผู้ฟ้องคดี ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ 1. เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และ 2.ทุเลาการบังคับตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้รับพิจารณาคดีและพิเคราะห์แล้ว มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษามีความเห็นแย้งของตุลาการหนึ่งท่านที่ระบุว่า กฎดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย โดยสรุปเหตุผลว่า การไม่ระบุข้อความให้โต้แย้งได้ ไม่ใช่การตัดสิทธิ์โต้แย้งของผู้รับใบสั่ง เนื่องจากหากพ้นกำหนดแล้วผู้รับใบสั่งยังไม่ไปชำระ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการฟ้องคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้รับใบสั่งมีสิทธิ์โต้แย้งได้เมื่อคดีมาสู่ศาล จึงมิใช่การตัดสิทธิ์

ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เนื่องจากกฎหมายระบุให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษา หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ดำเนินการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าว ถือว่าคดีสิ้นสุด ต้องบังคับตามที่ศาลปกครองกลางพิพากษา

 ประเด็นสำคัญ คือ เมื่อคำพิพากษามีผลย้อนหลังอาจตีความได้ว่า “ใบสั่งทั้งหมดที่ออกมาแล้วถือว่าเป็นโมฆะ” คือ ไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้น ผู้รับใบสั่งที่จ่ายค่าปรับไปแล้วควรจะต้องได้รับค่าปรับคืนมา จึงเป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องพิจารณาหาทางออกให้เหมาะสม 
กลายเป็นประเด็นเผือกร้อนทันที โดยทาง  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ เนื้อหาว่าด้วยการกำหนดแนวทางปฏิบัติงานจราจรในการออกใบสั่ง การใช้หลักเกณฑ์จำนวนเงินค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ และใช้งานระบบ PTM (Police Ticket Management) เพื่อให้การปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกิดความชัดเจน ดังนี้

1. ในกรณีที่ได้มีการออกใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรไปแล้ว หากผู้รับใบสั่งปฏิเสธหรือมีข้อโต้แย้งใดๆ ให้พนักงานสอบสวนรับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน จนปราศจากข้อสงสัย แล้วใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการกำหนดค่าปรับ ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด และเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย

2. ในกรณีที่พบการกระทำความผิด ก่อนการออกใบสั่งทุกครั้ง ให้เจ้าพนักงานจราจรใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และให้สิทธิในการโต้แย้งได้ตามกฎหมาย โดยระมัดระวังมิให้มีการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย และจะต้องไม่กระทบสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

3. ให้ผู้บังคับบัญชาในสายงานจราจร ชี้แจงทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติโดยใกล้ชิด
รวมทั้งได้ลงนามคำสั่งวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาระสำคัญอ้างอิงถึงคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนประกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังกล่าว ระบุความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการดำเนินการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าว จึงให้ทุกหน่วยปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม จนกว่าจะมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มข้น มีการสังคายนากฎหมายจรจรใหม่ “พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565” รวมทั้ง การผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ....” โดยยกเหตุผลว่าปัจจุบันสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรในแต่ละปีมีจำนวนมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ขาดความรู้ความเข้าใจและวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและผลกระทบถึงความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลทั่วไป

อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามกฎหมายน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลงโทษปรับตามกฎหมาย แต่ไม่ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรในกรณีผู้รับใบสั่งได้โต้แย้งข้อกล่าวหา หรือเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จึงต้องใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ทำให้มีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลานาน

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอฯ

โดยเฉพาะเรื่องความพยายามแก้ปัญหาค้างจ่ายค่าปรับจราจรของประชาชน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่องช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานไปยังกรมการขนส่งทางบกดำเนินการเสริมสร้างวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุ กรณีผู้ขับขี่ที่มีใบสั่งจราจรค้างจ่าย

โดยหากค้างชำระค่าปรับจราจร เมื่อไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ทางกรมการขนส่งทางบก นายทะเบียนรถยนต์จะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีหรือป้ายภาษีตัวจริงให้ จะได้เพียงหลักฐานชั่วคราวใช้แทนได้ 30 วันเท่านั้น ยกเว้นจะจ่ายค่าปรับตามใบสั่งจราจรที่ค้างอยู่ทั้งหมดกับนายทะเบียนจึงจะได้รับป้ายภาษีตัวจริง ทั้งนี้ผู้ขับขี่ที่ไม่มีป้ายภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 1 คะแนน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีการยกระดับบทลงโทษด้านจราจร พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เพื่อสร้างวินัยและอุบัติเหตุบนท้องถนน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้ง “แผนกคดีจราจร” รองรับการบังคับใช้ “ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ....” ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญคือการเปลี่ยนจากให้ “ตำรวจ” ออกใบสั่งเป็นส่งตัวขึ้น “ศาล” ในบางกรณี เช่น ขับรถเร็ว, ฝ่าไฟแดง ฯลฯ

โดยพุ่งเป้าสางปัญหาค้างจ่ายค่าปรับจราจรที่ล้นทะลัก เฉลี่ยในแต่ละปีมีการออกใบสั่งมากกกว่า 10 ล้านใบ แต่มีผู้จ่ายค่าปรับเพียง 10% เท่านั้น ส่วนความผิดที่ฝ่าฝืนมากที่สุด อันดับ 1 ขับรถเร็ว อันดับ 2 ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนนำมาซึ่งความสูญเสียร้ายแรง โดยในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนมากจบชีวิตลง

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ เป็นภาพสะท้อนการคุมวินัยการขับขี่ให้เข้มข้นทันยุคสมัยมากขึ้น แต่ในอีกมิติหนึ่งเพิ่มโทษรุนแรงทั้งปรับและจำคุกในฐานกระทำผิดกฎจราจร ก็เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในสังคมอยู่มิใช่น้อยว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหารายได้ใหม่

 สุดท้ายยังคงต้องรอความชัดเจนสำหรับกรณี คำสั่งศาลฯ เพิกถอน ใบสั่ง - ค่าปรับจราจร ให้มีผลย้อนหลังนับแต่ ก.ค. 2563 ต้องจ่ายหรือไม่? อย่างไร? แต่ที่แน่ๆ ปัญหาค้างชำระค่าปรับจราจรนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในแต่ละปีมีใบสั่งค้างชำระตกค้างเป็นจำนวนมาก 


กำลังโหลดความคิดเห็น