xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จัดระเบียบตู้ฝากเงินสด CDM สกัดฟอกเงิน คุมอาชญากรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  11 พ.ย. 2566 ดีเดย์! ยืนยันตัวตนของผู้ฝากเงินสดผ่านเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ หรือ CDM (Cash Deposit Machine)กรณี ฝากไม่เกิน 30,000 บาทต่อครั้ง ให้ใส่เลขบัตรประชาชน เบอร์โทร รหัส OTP และกรณี ฝากสูงสุด 100,000 บาทต่อครั้ง ต้องใช้บัตร ATM บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ร่วมกับรหัส PIN เพื่อให้ตรวจสอบ “ต้นทาง – ปลายทาง” ยกระดับความปลอดภัยธุรกรรมทางการเงิน ตั้งเป้าป้องกันการฟอกเงิน-การหลอกลวง 

หลังจากเป็นประเด็นดรามาร้อนแรง ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนด “เงื่อนไขเดิม” ว่าด้วยการฝากเงินสดผ่านเครื่อง CDM (เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ) ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตทุกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มภาระให้ประชาชน แม้โดยเจตนาเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และป้องกันการฟอกเงินตามกฎเกณฑ์หน่วยงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จนมีการทบทวนเงื่อนไขขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป

ขณะเดียวกัน  นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อธิบายว่าการที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งออกประกาศให้มีการยืนยันตัวตนผู้ฝากเงินสดผ่านเครื่อง CDM โดยใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต เพื่อใช้ในการฝากเงินผ่านตู้ทุกครั้งนั้น ธปท. เข้าใจในส่วนของผลกระทบและพิจารณาแนวทางอื่นๆ มารองรับ

ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันพิจารณาได้ข้อสรุป วิธีการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้บริการ และไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น การแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ

1.ผู้ฝากเงินใส่หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และรหัส OTP (One-Time Password) ที่ได้รับ โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 30,000 บาท ต่อครั้ง(รวมค่าธรรมเนียม)

2.ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของตน ร่วมกับรหัสส่วนตัว (PIN) โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 100,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)

ดีเดย์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยในระยะต่อไปจะประเมินผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ดี นโยบายการฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ (CDM) เป็นการยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และป้องกันการฟอกเงินตามกฎเกณฑ์หน่วยงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยที่ผ่านมาวิธีการฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ (CDM) เป็นช่องทางของการฟอกเงินที่ได้จากการก่ออาชญากรรม ยาเสพติด และการพนัน รวมถึงการหลอกลวงทางการเงิน และสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อส่งผ่านไปยังผู้กระทำผิด ซึ่งวิธีการฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ (CDM) เป็นช่องโหว่ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงิน และไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และประเทศชาติจำนวนมาก

เป็นที่มาของแนวทางยืนยันตัวตนก่อนฝากเงินสดผ่านตู้ CDM ก่อนการทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อสามารถตรวจสอบได้ทั้งต้นทางและปลายทาง เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรม และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน

สำหรับการฟอกเงิน (Money Laundering) คือการทำเงินสกปรกให้สะอาด การฟอกเงินเป็นวิธีการหรือกระบวนที่ทำให้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเปลี่ยนสภาพไปในรูปแบบต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ทำให้ยากแก่การตรวจสอบและติดตามร่องรอยทางการเงิน และเพื่อนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนำกลับมาใช้เป็นต้นทุนในองค์กรอาชญากรรม

เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศตระหนักและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบกรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

สำหรับประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายหลักเพื่อบังคับใช้กับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินและดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดมูลฐานโดยมาตรการที่สำคัญคือ มาตรการป้องกันโดยการกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน และมาตรการดำเนินการกับทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการฟอกเงินในปัจจุบันมีรูปแบบหลากหลายวิธี ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เรียกว่ามีความซับซ้อนยากต่อการตรวจสอบและติดตามร่องรอยทางการเงิน อีกทั้งเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ

 ผศ.ดร.สุพัตรา แผนวิชิต  อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่าการฟอกเงินคือการนำเงินที่ผิดกฎหมายมาผ่านกระบวนการแปรสภาพทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ เป็นต้น โดยกระบวนการฟอกเงินจะมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงิน เพื่อซุกซ่อนทรัพย์สิน ปกปิดความเป็นเจ้าของที่แท้จริง ปกปิดแหล่งที่มาที่ผิดกฎหมาย และเป็นกระบวนการที่ทำให้ดูเสมือนว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะดำเนินการผ่าน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย

 1. การนำทรัพย์เข้าสู่ระบบ เป็นกระบวนการขั้นแรกในวงจรการซักฟอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด โดยมีการจัดการเงินสดจำนวนมหาศาลที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย โดยเคลื่อนเงินสดจากสถานที่สามารถถูกตรวจสอบได้ เพื่อจะหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าพนักงาน และจะเปลี่ยนสถานะจากเงินเป็นทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์ เช่น การนำเงินสดฝากเข้าธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยอาจผสมกันกับเงินหรือผลกำไรที่ได้จากธุรกิจถูกกฎหมาย การนำเงินสดออกนอกประเทศ การใช้เงินสดซื้อสินค้าที่มีราคาสูง ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจ หรือในบางกรณีตามที่สังคมจะได้ยินข่าวว่ามีคนที่เกี่ยวข้องกับเงินดังกล่าว เอาเงินสดไปซุกซ่อนไว้ในบ้าน หรือแอบซ่อนใส่ตู้เซฟ สำหรับวิธีการเอาเงินสดเก็บไว้ในบ้านคือการฟอกเงินประเภทหนึ่งแม้ว่าจะไม่ได้แปรสภาพจากเงินตัวเดิมก็ตาม

 2. การทับซ้อนธุรกรรม เป็นขั้นตอนที่อาชญากรพยายามที่จะซ่อนเร้นหรือเปลี่ยนแปลงที่มาของความเป็นเจ้าของเงินสกปรก จะกระทำโดยการคิดขั้นตอนที่ซับซ้อนในการกระทำธุรกรรมทางการเงิน โดยที่จะหลบเลี่ยงการตรวจสอบและไม่ถูกบ่งชี้ตัวบุคคล เพื่อที่จะตัดความสัมพันธ์ของเงินสกปรกจากแหล่งที่มาอันผิดกฎหมาย โดยเจตนาทำธุรกรรมที่ซับซ้อนเพื่อมิให้ถูกตรวจสอบที่มาและเจ้าของเงิน วิธีการเช่น การโอนเงินไปบริษัทในต่างประเทศ หรือบริษัทบังหน้าที่ก่อตั้งอย่างถูกกฎหมายแต่ก่อตั้งมาจากทุนที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย การนำทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่นำเงินสกปรกไปซื้อมาขายเลหลังหรือขายต่ออีกทอดหรือหลายๆ ทอด เช่น นำเงินที่ผิดกฎหมายไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ นำเงินไปซื้อทองคำ จากนั้นนำทองคำไปขาย เมื่อขายทองคำเสร็จนำเงินไปซื้อรถหรู ซื้อรถหรูเสร็จ นำไปซื้อหุ้นในตลาดหรือทำอย่างอื่นต่อ เพื่อให้มีความซับซ้อนในการทำธุรกรรมหลายๆ ชั้น เพื่อจะทำให้การติดตามเส้นทางการเงินได้ลำบาก

 และ 3. การปนทรัพย์  เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ เป็นขั้นตอนที่เงินถูกทำให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างถูกกฎหมาย รวมไปถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้จากการกระทำความผิดก็เข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมายด้วย เช่น การโอนเงินผ่านระบบที่ซับซ้อน (ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ) ซึ่งทำให้การแกะรอยทางการเงินไม่สามารถกระทำได้ หรือกระทำได้อย่างยากยิ่ง การแสดงรายได้ที่ถูกฎหมาย ซึ่งมาจากการขายธุรกิจ หรือสินทรัพย์ของธุรกิจที่ใช้เงินสกปรกซื้อ

อย่างไรก็ตาม การฟอกเงินผ่านสถาบันการเงิน หรือทำธุรกรรมต่างๆ ระบบของหน่วยงานรัฐจะสามารถเชื่อมโยง สามารถตรวจสอบและดำเนินคดีได้ แต่สิ่งที่ตรวจสอบยากจะเกี่ยวข้องกับการใช้บัญชีม้า การโอนเงินใต้ดิน การแลกเปลี่ยนเงิน และเงินดิจิทัลทั้งหลาย ซึ่งทาง ปปง. และหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้มีการแก้กฎหมายที่จะสามารถดำเนินคดีต่อคนที่เกี่ยวข้องได้

 ทั้งนี้ ธนาคารนับเป็นปราการด่านแรกในการนำเงินเข้าระบบ จึงมีการวางหลักเกณฑ์เพื่ออุดช่องโหว่ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น นำสู่ข้อบังคับการยืนยันตัวตนของผู้ฝากเงินสดผ่านเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) 


กำลังโหลดความคิดเห็น