xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด โจทย์หินที่ยากฝ่าด่าน จับตาทำเพื่อ “เกษตรกร” หรือเปิดช่อง “รัฐ-ทุน” เข้ายึดครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.4-01 ให้กับเกษตรกร จ.นครสวรรค์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  คิดการใหญ่โตมิใช่น้อยสำหรับการผลักดันเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด ซึ่ง “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พกพาความมั่นใจเต็มร้อยถึงกับลั่นจะเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้เกษตรกรถือครอง ส.ป.ก. 4-01 ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน 36 ล้านไร่ 

ฟังกระแสสังคมในเวลานี้ แม้จะมีเสียงสนับสนุนล้นหลามเพราะอย่างที่รู้กันว่าที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 มีข้อจำกัดมากมายในการเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรนำไปต่อยอดพัฒนาพื้นที่และการขอสินเชื่อ ไม่นับว่าพื้นที่บางแห่งไม่ได้มีความเหมาะสมสำหรับการทำเกษตร

แต่การจะเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดมักจะตกม้าตายเมื่อมีเสียงคัดค้านที่ว่าระวังที่ดินจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนและจะมีการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมไปทำอย่างอื่น โดยข้อกังวลที่ตามมาก็คือเมื่อ  “อำนาจรัฐ” ผนึก “อำนาจทุน” เข้ายึดครองเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ จะยิ่งเพิ่มการผูกขาดความมั่งคั่ง สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งตอนนี้ก็ได้ชื่อว่าเหลื่อมล้ำติดเบอร์ต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะอย่างไร ณ เวลานี้ “ผู้กองธรรมนัส” โยนลูกให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) รับนโยบายไปปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ตามวาระการปรับเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ทั้งการใช้ประโยชน์และการยกระดับให้เป็นโฉนด ซึ่งอยู่ในความมุ่งหมายของ “ผู้กองมนัส” มาตั้งแต่เมื่อคราวที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ แล้ว

การกลับมาคุมกระทรวงเกษตรฯ คราวนี้ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวชัดเจนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในการประชุมมอบนโยบายสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายที่จะเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะนำร่องแจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. ให้กับเกษตรกรภายในเดือนธันวาคม 2566 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชน ซึ่งจะเริ่มในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน จากนั้นจะขยายให้ครบในพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ เรื่องนี้ได้หารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเบื้องต้นนายกรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการแล้ว

ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า สำหรับผู้ถือครอง ส.ป.ก. 4 - 01 อย่างถูกต้องจะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนด อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 36 ล้านไร่ ในมือเกษตรกรประมาณ 3 ล้านราย โดยเงื่อนไขจะสามารถถือครองไม่เกิน 50 ไร่ต่อราย โดยผู้ที่ถือครองต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรเท่านั้น สามารถจำหน่าย จ่ายโอนได้ จะส่งผลให้เกษตรกรมีเงินลงทุน มีรายได้มากขึ้น ซึ่งแผนดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีเป้าหมายการขยายรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ภายใน 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้

“ส.ป.ก. อยู่ระหว่างกำหนดกรอบการเปลี่ยนเป็นโฉนด ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ แต่ต้องมีความรอบคอบและมีรายละเอียดที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นหลัก ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะสร้างมูลค่าให้กับที่ดินในเขต ส.ป.ก. มากขึ้น” ร.อ.ธรรมนัส กล่าวด้วยความมั่นใจ

ทางด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ขานรับนโยบาย โดยจัดประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขการถือครองสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. 2564

สำหรับข้อเสนอเบื้องต้น ส.ป.ก.จะมีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องในการแจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจากจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางก่อน และจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ข้อกำหนดการถือครองสิทธิ์ในเบื้องต้น ผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายให้กับเอกชนได้ แต่จะต้องใช้ที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมเท่านั้น และสามารถถือครองโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. ได้สูงสุดไม่เกิน 50 ไร่ต่อคน เงื่อนไขดังกล่าว เลขาฯ ส.ป.ก. นำเสนอต่อที่ประชุม คปก. ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธาน วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า ที่ผ่านมาการถือครองที่ดินส.ป.ก. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันเงินกู้ได้ ยกเว้นกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ก็ให้สินเชื่อได้เพียง 50% ของราคาประเมิน เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. จึงมีข้อจำกัดในการลงทุน ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการเกษตรลดลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ ส.ป.ก. ยังมีสิทธิที่การเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับผู้ถือครองโฉนดที่ดินของกระทรวงมหาดไทย

“การขยายระเบียบเพื่อให้ครอบคลุมการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดนั้นไม่ได้ยุ่งยาก หาก คปก. เห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณา ....” นายวิณะโรจน์ กล่าว

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ขณะมอบเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ณ จังหวัดตาก
และในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นประธาน ได้มีมติสำคัญ 3 เรื่องคือ

1. เห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ อาทิ 1) การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 2) สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด 3) ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด 4) สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) 5) ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ ทั้งนี้ ส.ป.ก. จะเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างๆ เอง

2. เห็นชอบ “โครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” วงเงิน 22.5 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ป.ก. นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก จำนวน 171,434 ราย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตามมติ คปก. ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่เห็นชอบให้ขยายระยเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566

3. เห็นชอบ “โครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้เงินกู้กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี” ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2554 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้ 1) เงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท 2) สถานะเป็นลูกหนี้ปกติ 3) สามารถขอผ่อนผันการชำระเงินต้นรายงวดและงดเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินรายงวดที่ครบกำหนดชำระ โดยระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 หลังจากครบระยะแรกจะมีการประเมินผลเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและดำเนินการระยะ 2 และ 3 ต่อไป โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขโครงการนี้ จำนวน 17,806 ราย คิดเป็นต้นเงินที่พักชำระหนี้รวม 630 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ยที่งดเว้นรวมปีละ 25.2 ล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขสามารถยื่นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ ส.ป.ก.จังหวัดทุกจังหวัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมหลักใหญ่ใจความที่ว่า การเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนด และสามารถจำหน่าย จ่ายโอนได้นั้น ยังติดขัดในข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 ว่าด้วยที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ประเด็นสำคัญข้างต้น นักข่าวจึงตั้งคำถามกับ ร.อ.ธรรมนัส ว่าการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ก่อนหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ตอบอย่างมั่นใจว่า กระทรวงเกษตรฯ สามารถออก  “กฎกระทรวง”  เปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินได้เลย

คำถามต่อมาก็คือว่า “กฎกระทรวง” ที่ “ผู้กองธรรมนัส” ว่านั้น ไม่ได้ใหญ่กว่า “พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 โดยเฉพาะบทบัญญัติมาตรา 39 ที่เขียนล็อกไว้ชัดเจน การที่ ส.ป.ก.มุดช่องนำที่ดิน ส.ป.ก. มาออกโฉนด สามารถจำหน่าย จ่ายโอนได้นั้น ทำได้จริงหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยังคลุมเครือและต้องการคำอธิบายความให้ชัดเจนต่อสังคม

 อย่างไรก็ดี การออก “กฎกระทรวงฯ” ที่ “ผู้กองธรรมนัส” อ้างถึงนั้น ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เพิ่งมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... พร้อมทั้งขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ก่อนให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย ไปประกอบการพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไป

เรียกว่าการออกกฎกระทรวงมารองรับดังที่ “ผู้กองธรรมนัส” ว่าไว้ ยังเพิ่งตั้งไข่ ต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน 


แต่อีกประเด็นที่น่าหวั่นใจและกลายเป็นอีกด่านหินที่ต้องฟันฝ่าคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่านายทุนจะแห่เข้ากว้านซื้อที่ดินหากแปลง ส.ป.ก. เป็นโฉนด แม้จะกำหนดว่าเอกชนผู้ซื้อที่ดิน ส.ป.ก.จะต้องเป็นเกษตรกรและใช้ที่ดินทำเกษตรกรรม สามารถซื้อได้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อราย ก็ตาม เพราะกลเม็ดซิกแซกให้นอมินีถือครองที่ดินแทนก็เห็นกันอยู่ทั่วไป

เสียงสะท้อนจาก  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-Move) ยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนด เนื่องจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรในอดีตขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญสู่เกษตรกรรายย่อยและรักษาให้อยู่กับเกษตรกรตลอดไป โดยมิให้นำไปเป็นสินค้าในระบบตลาดอันเป็นที่มาของปัญหาที่ดินหลุดไปอยู่ในมือนายทุนดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

เช่นเดียวกันกับอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่เคยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดและสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เพราะจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผิดหลักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร สร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองในระยะยาว ทั้งมิติความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพและความสมดุล ก่อให้เกิดปัญหาเก็งกำไร

นอกจากนั้น การเปลี่ยนพื้นที่ ส.ป.ก.เพื่อการเกษตรเป็นพื้นที่สร้างโรงงาน รีสอร์ท หรือพัฒนาหากำไรอื่น ๆ อาจทำให้ผู้มีอำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบจากที่ดิน ส.ป.ก. 35 ล้านไร่ และจะทำให้อำนาจทุนขนาดใหญ่บวกอำนาจรัฐเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัดสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างใหญ่หลวง การเพิ่มมูลค่าที่ดิน สปก. ควรทำให้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้นอกเหนือจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

การผลักดันเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด ซึ่งนำทีมโดย “ผู้กองธรรมนัส” ที่ดูเหมือนจะฉลุยด้วยดีอาจมีเหตุสะดุดไม่ถึงฝั่งฝัน ดูเรื่องการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทเป็นตัวอย่างเพราะแรกเริ่มเหมือนจะไปด้วยดีแต่กลับมีเสียงคัดค้านดังขึ้นเรื่อยๆ

 อย่างไรก็ดี การเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด เพื่อให้เกษตรกรมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นหลักการที่คณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย โดยนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการฯ เห็นด้วย และเห็นว่าต้องแก้ไขกฎหมายเดิม โดยผลักดันร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. .... เพื่อเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดโดยเร็วที่สุด 

ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรฯ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กฎหมายเดิมคือ พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีข้อจำกัดในการแบ่งแยกและโอนสิทธิยกเว้นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทายาท ไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันหรือขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นทุนหรือพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดหาที่ดิน กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การโอนสิทธิในที่ดิน และมาตรการป้องกันการครอบครองที่ดินในเขต ส.ป.ก.โดยมิชอบ

ขณะเดียวกัน ทาง ส.ป.ก. เอง ก็ผลักดันให้แก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 รับทราบร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. ... โดยเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เพื่อให้ ส.ป.ก. มีกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม สามารถป้องกันการบุกรุกที่ดินรัฐเพิ่มเติม กระจายการถือครอง สามารถบริหารจัดการที่ดินภาครัฐให้มีความเหมาะสม การเข้าถึงทรัพยากรและการเพิ่มมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้ประชาชน

ในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าที่ประชุม คปก. ครานั้น เลขาฯ ส.ป.ก.ยอมรับว่า ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ได้มาส่วนหนึ่งไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร แต่ไม่สามารถทำประโยชน์อย่างอื่นได้ และยังมีข้อจำกัดในการแบ่งแยกและโอนสิทธิตามกฎหมายเดิม ขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องปรับปรุงกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุที่ว่า พื้นที่ ส.ป.ก. บางส่วนที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตร หรือทำเลเหมาะสำหรับทำกิจการอื่นมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะกลายเป็นที่ตั้งบ้านพักตากอากาศ โรงแรม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ และอะไรต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการทำเกษตรกรรม ยิ่งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร การเขียนกฎหมายล็อกไว้ว่าที่ดิน ส.ป.ก. ต้องทำเกษตรกรรมเท่านั้น จึงเป็นการตัดโอกาสทำมาหากิน อีกทั้งเกษตรกรสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทั้งอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว

ในแง่ของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ที่หลากหลายขึ้นตามสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ก่อนหน้านี้ ทาง “ผู้กองธรรมนัส” สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามประกาศ คปก. เรื่องรายการกิจอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารายการกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. นั้นมีหลากหลายกิจการมากเกินไป ทั้งโรงงาน กิจการร้านค้า ปั้มน้ำมัน ตลาดกลางชุมชน กิจการจำหน่ายรถยนต์และเครื่องจักรกลการเกษตร ฯลฯ

ครั้งนั้น ร.อ.ธรรมนัส โต้ว่า ประเด็นสำคัญคือพี่น้องเกษตรกรผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ควรได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลาดมีความสำคัญยิ่งกว่าอื่นใด กิจการอื่นที่สนับสนุนอาชีพเกษตรกรรมจึงสำคัญไม่น้อยกว่าการผลิต พวกเขาต้องการโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จึงต้องออกประกาศมารองรับ และชี้ชัดลงไปเลยตรงไหนทำได้หรือไม่ ไม่ต้องไปอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะเป็นช่องทางการทุจริต

 “โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกจะสามารถแจกให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 อย่างแน่นอน หลังจากนั้นเมื่อครบระยะเวลา 1 ปี ส.ป.ก.จังหวัดทุกจังหวัดจะเริ่มทยอยออกโฉนดให้กับพี่น้องเกษตรกรในทุกจังหวัดและคาดว่าจะออกโฉนดได้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี”นั่นคือคำกล่าวของร.อ.ธรรมนัสซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่า ของขวัญปีใหม่ 2567 จาก “ผู้กองธรรมนัส” แปลง ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด จะเป็นจริงหรือจั่วลม ด้วยการขยับจะทำอะไรกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ไม่ใช่เรื่องง่าย เสียงเชียร์ก็มาก เสียงค้านก็มีไม่น้อย 


กำลังโหลดความคิดเห็น