ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ปักกิ่งกับศูนย์กลางของจีนตอนเหนือ
ปักกิ่งถือเป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่ของจีน และเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นเมืองหลวงเสียอีก ดังนั้น การที่จีนเป็นมหาอำนาจในปัจจุบันโดยมีปักกิ่งเป็นเมืองหลวง ผู้คนทั่วไปจึงรู้จักปักกิ่งในฐานะที่ว่า และหากอยากจะรู้จักมากกว่านั้นก็คงหาข้อมูลไม่ยาก
และก็เพราะเหตุที่ว่า ผมจะไม่ขอเล่าถึงภูมิหลังของปักกิ่งให้มากความ ด้วยว่าหากจะเล่ากันจริงแล้วก็คงเขียนหนังสือได้หนึ่งเล่มเขื่องเลยทีเดียว แต่จะกล่าวถึงในบางแง่มุมที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ซึ่งก็คือแง่มุมในทางภูมิศาสตร์
แง่มุมที่ว่านี้ผมหมายถึง แง่มุมที่เอาปักกิ่งเป็นศูนย์กลางในการอธิบาย แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางที่เป็นเมืองหลวง แต่เป็นศูนย์กลางของจีนตอนเหนือ และเมื่อพูดถึงจีนตอนเหนือแล้วก็แสดงว่าต้องมีจีนตอนใต้ควบคู่กันไปด้วย
คำถามที่ตามมาจึงคือ แล้วที่เขาแบ่งจีนเป็นจีนตอนเหนือกับจีนตอนใต้นั้น เขาใช้เกณฑ์อะไรมาแบ่ง? และการแบ่งนั้นมีความสำคัญอย่างไร?
เส้นแบ่งจีนตอนเหนือกับจีนตอนใต้ที่สำคัญคือ แม่น้ำฮว๋ายที่ไหลจากทางตะวันตกไปตะวันออกกับแนวเทือกเขาฉินหลิ่งที่อยู่ทางตะวันตก เส้นแบ่งนี้ยังผลให้อากาศทางตอนเหนือกับตอนใต้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
โดยทางตอนเหนือที่เป็นที่ราบภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือที่เป็นดินเหลือง (loess) นั้น จะมีฝนตกที่เบาบางมาก คือมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 400-800 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น แต่มีแม่น้ำเหลืองเป็นตัวหล่อเลี้ยงที่สำคัญ
ส่วนพื้นที่ด้านล่างของเส้นแบ่งที่ว่ากับพื้นที่ที่อยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซี) ในที่ราบซื่อชวนหรือที่ราบเสฉวน (Sichuan Basin) กลับมีฤดูฝนที่ฝนตกหนักและยาวนาน โดยมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 800-1,500 มิลลิเมตรต่อปี
ความแตกต่างเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันไปด้วย นั่นคือ จีนทางตอนใต้จะอุดมสมบูรณ์มากกว่าตอนเหนือจากปริมาณน้ำฝนที่ต่อปีที่สูงกว่าเท่าตัว
ด้วยเหตุนี้ จีนในอดีตซึ่งมีภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจก็ดี หรือการที่จีนตอนเหนือกับตอนใต้มีความอุดมสมบูรณ์ต่างกันอย่างมากก็ดี ได้ทำให้จีนตั้งแต่โบราณจำต้องคิดค้นวิธีการจัดการภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และที่คิดค้นขึ้นมานี้ก็ย่อมมีความแตกต่างกันระหว่างทางตอนเหนือกับทางตอนใต้
โดยวิธีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้กับทางตอนเหนือก็คือที่เรียกว่า ระบบนาสลับ (Alternating fields system) วิธีการคือ เกษตรกรจะไถดินให้กว้างและลึกราว 0.23 เมตรในพื้นที่ 1 หมู่ที่เวลานั้น 1 หมู่จะมีความกว้างและยาวประมาณ 331 เมตร
จากนั้นก็จะหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่องที่ไถไว้ (ไม่ได้หยอดลงบนสันดิน) ต่อเนื่องกันไปจนแล้วเสร็จ พอถึงช่วงที่กำจัดวัชพืช หน้าดินบนสันจะร่วงลงสู่ร่องทีละเล็กทีละน้อย และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปในการกำจัดวัชพืชแต่ละครั้ง จนเวลาผ่านไปสันกับร่องก็จะมีดินที่เสมอกัน
จากเหตุนี้ เมล็ดพืชที่เริ่มแตกหน่อหลังจากที่มีการหยอดเพื่อปลูกก็จะมีรากฝังลึกมากขึ้น และรากที่ลึกลงนี้ก็จะช่วยให้ต้นที่โตขึ้นเรื่อยๆ สามารถต้านแรงลมและความแห้งแล้งเอาไว้ได้ พอถึงฤดูกาลหน้าในปีต่อไป วิธีนี้ก็จะถูกนำมาใช้ด้วยการพลิกสลับการไถร่องดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า ระบบนาสลับดังกล่าวมาเป็นภูมิปัญญาใหม่ในการเกษตร ด้วยเป็นวิธีที่ไม่เพียงช่วยในการรักษาความชื้นให้กับดินในขณะที่มีฝนน้อยเท่านั้น หากยังประหยัดเวลา แรงงาน และเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าก่อนหน้านี้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
ทีนี้เรามาดูในส่วนของจีนตอนใต้บ้าง จีนตอนใต้จะมีศูนย์กลางอยู่ตรงตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำหยังจื่อ อันเป็นบริเวณที่ราบซื่อชวนที่การเกษตรได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุครัฐศึก (จั้นกว๋อ, Warring State era, ประมาณ ก.ค.ศ.475-221) มาก่อนแล้ว
นอกจากนี้ ศูนย์กลางดังกล่าวก็ยังอยู่ตลอดแนวแม่น้ำไข่มุก (จูเจียง) ที่อยู่ทางภาคใต้อีกด้วย ซึ่งเคยได้รับการพัฒนาในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) แต่ไม่มีหลักฐานที่ชี้ถึงรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึกหรือหลักฐานอื่นใดที่พบในหลุมฝังศพ
แต่หลักฐานที่มีในยุคต้นราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.202-ค.ศ.220) ก็ทำให้รู้ว่า การเกษตรตลอดแนวแม่น้ำหยังจื่อนั้นล้าหลังกว่าทางตอนเหนืออยู่มาก
หลักฐานที่ว่าปรากฏใน ฮั่นซู (พงศาวดารฮั่น) เรียกวิธีปลูกข้าวในบริเวณนี้ว่า “เตรียมดินด้วยไฟ พรวนดินด้วยน้ำ” (ฮว่อเกิงสุ่ยโน่ว, plowing with fire and weeding with water) วิธีนี้เป็นไปโดยเผาหน้าดินเพื่อกำจัดวัชพืชก่อน จากนั้นก็รดน้ำลงหน้าดินแล้วหว่านเมล็ดลงไป
วิธีนี้ถูกอธิบายว่า รากจะปลอดภัยจากวัชพืชแล้วหน่ออ่อนจะงอกขึ้นมา จนเมื่อต้นสูงขึ้นราว 16-18 เซนติเมตร วัชพืชก็จะถูกถอนเพื่อกำจัดแล้วก็รดน้ำอีกครั้ง วัชพืชจะเหี่ยวแห้งและต้นข้าวก็จะเติบโต
จากวิธีที่ว่านี้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วก็เห็นได้ว่า วิธีที่ใช้ในจีนตอนเหนือก้าวหน้ากว่ามาก แต่ก็ด้วยวิธีที่ดู “ล้าหลัง” กว่าของจีนตอนใต้นี้ก็เห็นได้เช่นกันว่าถูกรองรับด้วยฝนที่มีปริมาณมากกว่า และยังเป็นวิธีที่ใช้กันแม้ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่เข้ามาช่วยภาคเกษตรแล้วไม่น้อยก็คือ ภูมิปัญญานวัตกรรม
โดยในยุคนี้ได้มีโรงหล่อเอกชนที่ผลิตเครื่องมือการเกษตรอยู่ทั่วประเทศจีนแล้ว สิ่งที่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปกว่าเดิมคือ คันไถเหล็ก ที่จีนใช้มาตั้งแต่ราว ก.ค.ศ.600
คันไถเหล็กในยุคนี้สามารถปรับระดับความลึกได้ดีกว่าก่อนหน้านี้ และในราว ก.ค.ศ.200 จีนยังได้ประดิษฐ์ พัดลมฝัดเมล็ดแบบหมุน อีกด้วย
วิธีการทำงานคือ เมล็ดธัญพืชจะถูกเทลงในกรวยแล้วไปออกที่ด้านล่าง และในขณะที่เมล็ดกำลังไหลลงไปก็จะถูกกระแสลมจากพัดลมที่ใช้มือหมุนพัดไปอย่างต่อเนื่อง เปลือกของเมล็ดจึงถูกพัดพ้นออกจากเมล็ด เครื่องมือนี้จึงใช้ได้ดีกว่าการโยนเมล็ดขึ้นไปในอากาศแล้วให้ลมพัดแรงพัดเปลือกออกไป
นอกจากนี้ เครื่องหยอดเมล็ดแบบหลายท่อก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ตัวเครื่องจะถูกลากตามหลังม้า วัว หรือล่อ ระหว่างนั้นเครื่องก็จะหยอดเมล็ดลงดินในอัตราที่ควบคุมได้เป็นแถวตรง เครื่องชนิดนี้จึงดีกว่าการหว่านเมล็ดด้วยมือที่สร้างความสูญเปล่าของเมล็ดโดยใช่เหตุ
เหตุฉะนั้น ไม่ว่าวิธีจะเป็นอย่างไร การมีเครื่องมือที่ว่าย่อมส่งเสริมให้ผลผลิตในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อมีมากขึ้นก็ย่อมทำให้ผลผลิตมากขึ้นตามไปด้วย
ที่เล่ามานี้หากนำมาเชื่อมโยงกับปักกิ่งที่อยู่ทางจีนตอนเหนือก็จะเห็นได้ว่า การเป็นเมืองหลวงที่ไม่ธรรมดาไม่เฉพาะศูนย์กลางอำนาจรัฐเท่านั้น หากยังไม่ธรรมดาในทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นอีกด้วย