xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บิ๊กอีเวนท์งานหนังสือ 1.5 หมื่นล้าน สนพ. คอลแลบ “อินฟูฯ - เพจดัง” เสิร์ฟหนังสือ “ทัชใจ – ฮีลใจ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลาดหนังสือเล่มเร่งเครื่องเต็บสูบ สำนักพิมพ์ต่างๆ วางหมากรุกตลาดนักอ่าน ซึ่งหนึ่งในหมวดหนังสือครองใจนักอ่านวัยรุ่นวัยทำงาน ต้องยกให้หนังสือประเภท  “ทัชใจ-ฮีลใจ”  ว่าด้วยเรื่องความรู้สึกภายในใจจิตใจ ความสัมพันธ์อันเปราะบาง จนเกิดเป็นปรากฎการณ์เจาะฐานแฟนคลับดึง  อินฟลูเอนเซอร์-แอดมินเพจดัง ที่มียอดผู้ติดตามสูงๆ ซึ่งนับเป็นครีเอเตอร์ผู้สร้างคอนเทนต์  “โดนจิต-โดนใจ”  ไปถึงขั้น  “เจ็บจี๊ด”  มีฐานแฟนๆ ผู้ติดตามกันเป็นจำนวนมากหลักแสนฟอลโลเวอร์ขึ้นไป ทำให้สำนักพิมพ์เดินเกมรุกคว้าตัวพวกเขามาร่วมงานเป็นนักเขียนออกผลงานหนังสือใหม่

เป็นปรากฎการณ์ที่ได้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากพุ่งทะยานสู่  “หนังสือขายดี”  มีกระแสตอบรับดีแทบทั้งสิ้น อาทิ ผลงานหนังสือจากเจ้าของเพจ  “คิดมาก”  ผู้ติดตาม 1.5 ล้าน คน,  “บ้านข้างๆ” ผู้ติดตาม 9 แสน,  1991”  ผู้ติดตาม 8.9 แสน เป็นต้น ซึ่งสำนักพิมพ์ที่นำกลยุทธ์นี้มามารุกตลาดนักอ่านรุ่นใหม่ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ สำนักพิมพ์สปริงบุ๊คส์ (Springbooks) ในเครืออมรินทร์

ล่าสุด ดึงตัวอาร์ทติสตัวมัมที่กำลังมาแรงแห่งยุค  “Teayii” หรือ เตยยี่ - ประภัสสร กาญจนสูตร ศิลปินหญิงที่ใช้ตัวหนังสือเป็นศิลปะในสื่อสารความรู้สึก ศิลปินที่ให้กำลังใจผู้คนผ่านถ้อยคำ  “ฮีลใจ”  กับผลงานหนังสือชื่อยาวเล่มแรก เรื่อง  จุดเริ่มต้นที่ไร้เส้นชัยของนักเดินทางไกลที่อยากเอาใจกลับมาเป็นของตัวเอง”

เรียกว่านับเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของศิลปินที่ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่นักเขียน ทั้งๆ ที่เขียนถ้อยคำอยู่ทุกๆ วัน เพียงมีความเชื่อว่าอยากสื่อสารงานศิลปะเป็นตัวหนังสือ จนในที่สุดก็ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มแรก

โดยคอนเสปนักเดินทางของโลกใบนี้ เป็นการสำรวจว่าเดินทางไปไหนมาบ้างทางความรู้สึก ผ่านฤดูกาลของหัวใจซีซั่นไหนมาบ้าง แต่ละซีซั่นเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ต้องบอก HOW TO MOVE ON แต่บอก HOW TO EXPORT เป็นการ EXPORT ความรู้สึกตัวเอง
การใช้ถ้อยคำเป็นศิลปะในสื่อสารความรู้สึกของเธอทำได้อย่างทรงพลัง งานของ “เตยยี่” สื่อสารไปถึงผู้คนในยุคสมัยนี้ที่กำลังเผชิญกับความกดดัน ความตึงเครียด และภาวะซึมเศร้า สร้างความเข้าใจยอมรับสู่การโอบกอดทุกความรู้สึกของตัวเอง

สำหรับเตยยี่ มีฐานแฟนคลับมีผู้ติดตามแอคเคาท์ในโซเซียลฯ หลักแสนฟอล การก้าวเข้าสู่บทบาทนักเขียนนับเป็นพื้นที่ใหม่ๆ เป็นประสบการณ์ใหม่ ซึ่งในส่วนของฟีดแบคเธอบอกว่าไม่กล้าคาดหวัง แต่คิดว่าขอเพียงตัวหนังสือของเธอช่วยใครสักคนบนโลกนี้เพียงพอแล้ว “วันนี้ใครได้หยิบหนังสือเล่มนี้ ขอให้เค้าเจอพื้นที่ปลอดภัย”

แต่เชื่อได้ว่าฐานแฟนๆ ของอาร์ตติสสาวจะให้การสนับสนุนหนังสือเล่มแรกของเธออย่างล้นหลามเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีผลงานเล่มใหม่จาก เพจดัง  “1991”  (ผู้ติดตาม 8.9 คน) กับผลงานเรื่อง “ขอแค่โอบกอดตัวเองไว้ ในวันที่โลกใจร้าย”  ซึ่งออกหนังสือกับสปริงบุ๊คส์มาแล้ว 5 เล่ม

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนทางสำนักพิมพ์ติดต่อไปยัง  “พิม - พิมพรรณ มีชัยศรี”  นักเขียน เจ้าของเพจ 1991 ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าจุดขายของเพจ 1991 น่าจะเป็นเพจสายเศร้า สายดราม่า ที่หยิบเรื่องราวเรียลๆ ในชีวิตของตัวเอง และคนรอบข้างมาเขียน มีทั้งความเรียง และเรื่องสั้น

พิมเล่าว่าผลงานหนังสือของ 1991 เนื้อหามีทั้งเขียนตามสไตล์ของตัวเอง หรือคิดเรื่องขึ้นเอง และก็มีเขียนอิงตามความสนใจของตลาดด้วย เพจ 1991 คอนเทนต์ที่เขียนจะเน้นแนวความรัก ความสัมพันธ์เป็นหลัก ก็จะดูว่าในช่วงนั้นคนอินกับอะไร หรือส่วนใหญ่กำลังเจอกับความสัมพันธ์แบบไหนก็จะหยิบเรื่องนั้นๆ มาเขียนสะท้อนความสัมพันธ์ของคนยุคใหม่

สำหรับ 1991 จากบทบาท “แอดมิน” สู่ “นักเขียน” ไม่ได้แตกต่างกันมาก

“เพราะการโพสต์ข้อความลงในเพจ มันก็เหมือนกับการเขียนไดอารีส่วนตัวอยู่แล้ว จริงๆ แล้วการทำเพจก็รู้สึกชิลกว่าการเขียนหนังสือด้วยค่ะ ส่วนความกดดันในฐานะแอดมินเพจ กับนักเขียน สิ่งที่ไม่ต่างกันคือการทำให้คนยังติดตามเพจ ติดตามผลงานเขียนของเราอยู่เสมอค่ะ อย่างการโพสต์บ่อยๆ สื่อสารกับคนอ่านบ่อยๆ และเขียนสิ่งที่คนอ่านจะชอบค่ะ”

สำหรับผลงานเล่มใหม่ “ขอแค่โอบกอดตัวเองไว้ ในวันที่โลกใจร้าย”  ของ  1991 โดยสำนักพิมพ์สปริงบุ๊คส์ เนื้อหาการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากเล่มเดิมๆ ของ 1991 โดยเล่มนี้จะหยิบเอาเรื่องราวรอบตัว หรือสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวันมาเขียน

“เหมือนเขียนไดอารี่ที่คนอ่านสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในชีวิตเขาได้เหมือนกัน เนื้อหาไม่ได้พูดถึงความรักความสัมพันธ์ทั้งหมด แต่จะมีพาร์ทของการมูฟออน เยียวยาจิตใจตัวเองด้วย เรามองว่าพอเราโตขึ้น เราก็อยากเขียนอะไรที่โตขึ้น และเราก็คิดว่าคนที่เติบโตมาพร้อมๆ กับเพจ 1991 น่าจะมีมุมมองความรักและการใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจมากขึ้นด้วยเหมือนกันค่ะ” พิมพรรณ มีชัยศรี นักเขียน เจ้าของเพจ 1991 เปิดเผย

มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงการตลาด  ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์  อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิเคราะห์ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ให้มาอ่านหนังสือเล่มมากขึ้น ต้องยอมรับในด้านพฤติกรรมการอ่านอาจจะกระจุกตัวอยู่ในบางเจนเนอเรชั่น ถ้าเราต้องการฐานผู้อ่านใหม่ๆ อาจจะต้องสำรวจตรวจสอบว่าผู้คนหรือคนที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่มีใครบ้าง และดึงคนกลุ่มนั้นมาเป็นนักเขียน

โดยหลักการง่ายๆ คือ เมื่อเราติดตามหรือชื่นชอบในความสามารถหรือถูกจริตกับแอดมินเพจ หรือ content creator คนใด ก็จะนำไปสู่การสนับสนุนหรือติดตามผลงานทุกแง่มุมของเค้า หลักการเหมือนกับแบรนด์ต่างๆ ที่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์เพราะมีฐานแฟนคลับ ผู้ติดตาม เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ทำอะไรกับแบรนด์ ผู้ติดตามก็จะให้ความสนใจหรือสนับสนุนนั่นเอง

นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างสำนักพิมพ์กับ Content Creator หรือ Collaboration ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย (Win-win Situation) โดยสำนักพิมพ์อาจจะได้ยอดขายหนังสือเล่มเพิ่มขึ้นจากผลงานของ content creator หรือแอดมินเพจนั้น เมื่อหนังสือเล่มถูกตีพิมพ์เรียบร้อยก็ย่อมมีการโปรโมตในช่องทางของแอดมินเพจหรือ Content Creator นั้นๆด้วยและนำมาซึ่งยอดขายที่มาจากผู้ติดตามนั่นเอง ในขณะเดียวกันตัว Content Creator เองก็ได้โอกาสในการเผยแพร่ผลงานและนำมาซึ่งผู้ติดตามรายใหม่ในตลาดหนังสือเล่ม อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพในอีกมิติของ Content Creator นั้นๆ

รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดสู่โอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด การเพิ่มตลาดของหนังสือเล่มที่อาจจะมองว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง ในอนาคตสำนักพิมพ์หนังสือเล่มอาจจะเพิ่มฐานลูกค้าผู้อ่านรายใหม่ เช่น อาจจะขยายไปสู่กลุ่มดารานักแสดง กลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มซีรี่วายที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นในการเขียนหนังสือ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ สำนักพิมพ์อาจมีการจัดทำเป็นซีรี่ย์ของหนังสือเล่ม

วันนี้นอกเหนือจากนักเขียนที่มีประสบการณ์มายาวนานแล้ว สำนักพิมพ์อาจจะต้องควานหานักเขียนหน้าใหม่ Content Creator ที่อาจจะต้องการรวบรวมผลงานให้เป็นหนังสือ โดยดูจากฐานผู้ติดตาม ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน เจเนอเรชั่นใหม่ๆก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าหนังสือเล่มจะอยู่ต่อไป ต้องจับความสนใจของผู้อ่านเจนเนอเรชั่นใหม่ให้ได้

อย่างไรก็ดี การจะทำให้ผู้ประกอบการสำนักพิมพ์และธุรกิจหนังสือเล่มอยู่ต่อในระยะยาวได้ ต้องใช้องค์ประกอบของกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ

ผศ.เสริมยศ วิเคราะห์ว่าผลิตภัณฑ์ต้อง WOW ในที่นี้ก็คือ “หนังสือ” สำนักพิมพ์ก็ต้องพิจารณาว่าหนังสือที่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เราจะโฟกัสคือแนวใด ในยุคนี้ผู้คนอาจจะมีความ Sensitive มากขึ้น หนังสือแนวฮีลใจ ให้กำลังใจ การปลอบโยน หรือแนวการดำรงชีวิตภายในสภาพการณ์ที่หนักหนาสาหัส ก็น่าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น

“นักเขียน” ต้องมีแบรนดิ้งที่ชัด ในแวดวงของงานเขียนย่อมมีนักเขียนหน้าเก่าที่คร่ำหวอดในวงการที่มีลายเซ็นต์เป็นของตนเองและอาจจะมีฐานผู้อ่านที่มีอายุ ถ้าจะสร้างนักเขียนหน้าใหม่แบบฉับไว นักเขียนคนนั้นอาจจะต้องมีต้นทุนพื้นฐานมาระดับหนึ่งนั่นคือ การมีคาแรคเตอร์หรือมี personal branding ที่ชัดเจน เพื่อที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไปได้ไว ไปได้เร็วขึ้น เช่น การใช้ content creator ที่มีฐานแฟนคลับเยอะ มาถ่ายทอดชีวิต ประสบการณ์ในรูปแบบงานเขียน หรือ content creator ที่มีสไตล์การทำ content ในรูปแบบงานเขียนในออนไลน์แต่แปรรูปมาเป็นหนังสือเล่ม

และ “สไตล์” หรือแนวผลงานของสำนักพิมพ์ เมื่อนักเขียนต้องมีความเป็นแบรนด์แล้ว ตัวสำนักพิมพ์ก็ต้องสร้างแบรนด์ที่ชัดว่า สำนักพิมพ์นี้จะโดดเด่น/เชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องอะไร สำนักพิมพ์ของเราเป็นอาณาจักรของงานเขียนแบบใด การปักหมุดเช่นนี้มันจะทำให้เราต่อยอดและนำมาซึ่งโอกาสในระยะยาว

สำหรับอุตสาหกรรมหนังสือเล่มของไทยมีมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ภายใต้การขับเคลื่อนของ “สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)” ทำให้เกิดอีเวนท์งานหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักอ่านสำหรับอีเวนท์ใหญ่งานหนังสือประจำปี เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมากับ “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51” มีผู้เข้าร่วมงานมากว่า 1.1 ล้านคน กวาดยอดขาย 351 ล้านบาท สะท้อนให้การอ่าน “หนังสือเล่ม” ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านชาวไทย

และเข้าสู่ปลายปีกับอีเวนท์ใหญ่ “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28” หรือ Book Expo Thailand 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 23 ต.ค. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมจำนวนมากจนทาง PUBAT ต้องจัดสรรบูธใหม่ๆ เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เข้าร่วมอีเวนท์ใหญ่ ซึ่งจากกระแสการตอบรับของผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ต่างๆ นี้ เป็นสัญญาณบวกในเชิงธุรกิจ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหนังสือฟื้นตัวแล้ว

 นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์  นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ ไทย (PUBAT) เปิดเผยว่าการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เป็นวาระสำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือ หลังเผชิญดิสรัปมาตลอด รวมทั้งวิกฤติหนักจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจซบเซาต่อเนื่อง ก่อนเริ่มปรับตัวหันไปทำกลยุทธ์การตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ การขายผ่าน e-book จนธุรกิจเดินหน้าต่อได้ เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายธุรกิจกลับมาแข็งแรงมากขึ้นจากการผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยการกลับมาจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ จะเป็นกิจกรรมหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท ให้กับมาคึกคักอีกครั้ง

โดยมีสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม รวมทั้ง สำนักพิมพ์เปิดใหม่ จำนวนกว่า 340 สำนักพิมพ์ ภายในงานมีหนังสือหลากหลายประเภทกว่า 1 ล้านเล่ม

 นับเป็นสัญญาณบวกปลุกสัญญาณชีพอุตสาหกรรมหนังสือเล่ม 



กำลังโหลดความคิดเห็น