xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

BANGKOK DANGEROUS มือปืนวัย 14 กับปัญหา “พ่อแม่รังแกฉัน” และ “Blank Gun” ที่ซื้อง่ายขายคล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับกรณี “เด็กอายุ 14 ปี” ก่อเหตุใช้อาวุธปืนสังหารผู้คนกลางห้างสยามพารากอนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 รายเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 รายและหญิงชาวเมียนมาร์ 1 ราย

โศกนาฏกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “มูลเหตุจูงใจนการฆ่า” ว่าเป็นเพราะผลของการ “เล่นเกม” ที่ใช้ความรุนแรง หรือเป็นเพราะปัญหา “สุขภาพจิต” ตลอดยังนำไปสู่ข้อสงสัยว่า ทำไมมือสังหารเยาวชนรายนี้ถึงสามารถครอบครองอาวุธปืนได้ และในการตรวจค้นบ้านพักของเขายังเจอะเจอปืนบีบีกัน ล้อหุ่นสงคราม แบบ M4 กระสุนปืน M16 กระสุนปืนลูกซอง และกระสุนปืนขนาด 9 มม. เพิ่มเติมจำนวนหนึ่งอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อมูลว่า เขาเคยไปซ้อมยิงปืนในสนามยิงปืนแห่งหนึ่งอีกต่างหาก

ที่หดหู่ไม่แพ้กันคือ ผู้ปกครองของผู้ก่อเหตุอ้างไม่รู้ว่าของกลางทั้งหมดบุตรชายนำมาจากที่ใด เนื่องจากตามปกติบุตรชายพักอาศัยหลับนอนอยู่ที่บ้านพักอีกแห่งหนึ่งย่านสาทร แต่ก็มีข้อโต้แย้งตามมาอีกเช่นกันว่า ไม่ได้สนใจที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของบุตรชายบ้างหรือกระนั้นหรือ ทั้งๆ ที่ทั้งสองคือพ่อกับแม่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นครูบาอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป

ทั้งหลายทั้งปวง สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัวที่ทำให้บุตรชายตกอยู่ในภสาพ “ปัญหาพ่อแม่รังแกฉัน” สถานการณ์ผู้ป่วยด้านจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธที่หาง่ายในบ้านนี้เมืองนี้ รวมทั้งปืนอย่าง Blank Gun” ที่ซื้อง่ายขายคล่อง แต่สามารถนำไปดัดแปลงสังหารผู้คนได้


 นักฆ่าเยาวชนกับกฎหมายที่สังคมเห็นว่ามีปัญหา 

ประเด็นใหญ่ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็น “ลำดับแรก” ก็คือ ความเป็นเยาวชนที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในเรื่องของการได้รับยกเว้นโทษ ซึ่งหลายประเทศได้มีการแก้ไขด้วยเห็นว่า ตัวเลขการกระทำผิดของเยาวชนมีมากขึ้น เช่น จีน ที่เวลานี้กำหนดอายุสูงสุดเอาไว้ที่ 12 ปี รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับอาการทางจิตที่มีส่วนสำคัญทางคดี กระทั่งนำไปสู่ข้อถกเถียงในเรื่องกฎหมาย จนเกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้ลงโทษพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย

ทั้งนี้ สถิติจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนระบุว่า ในปี 2564 สถานพินิจดูแลคดีเด็กและเยาวชนจำนวน 14,593 คดี ซึ่งเกือบ 50% เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขณะที่ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอยู่ที่ราวๆ 10%

สำหรับคดีนี้ ในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหากับเยาวชนรายดังกล่าวทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้, ก่อนพยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงอยู่ระหว่างสอบสวนว่าผู้ปกครองจะเข้าข่ายมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ด้วยหรือไม่

กรณีการดำเนินคดีเด็กและเยาวชน “นายสรวิศ ลิมปรังษี” โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเยาวชนแล้ว จะต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการจับกุมเด็กหรือเยาวชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งเรียกว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบการจับ และศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะควบคุมตัว หรือส่งไปสถานที่ใด หรือจะให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร โดยจะพิจารณาพฤติกรรมของเยาวชนจากรายงานการจับกุมของพนักงานสอบที่นำส่งมาให้ศาลพิจารณา เช่น ศาลจะดูว่าเด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน สภาพทางจิตใจ การรักษาพยาบาลทางจิต การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างไร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องใส่ไว้ในรายงานให้ศาลพิจารณา

“การตรวจสอบการจับพนักงานสอบสวนจะต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย และศาลอาจจะไต่สวนพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมถึงข้อมูลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนใส่มาในรายงานการจับกุม จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนว่า จะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว หรือจะควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ก่อเหตุหรือไม่”

ส่วนกรณีของเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิตนั้น หากศาลเห็นว่าถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้ ก็จะให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองดูแล และอาจวางมาตรการต่างๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่เด็กดูแลไม่ได้ ก็อาจจะให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็ก ดูแลแทน หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร เช่น สถานดูแลทางจิตเวช แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่า รุนแรงขนาดไหน และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้

สำหรับด้านคดีความ ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าเด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี ได้รับการยกเว้นโทษ ไม่นำโทษจำคุกมาใช้กับเด็กและเยาวชน แต่ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการ หรือวางข้อกำหนดให้พ่อแม่ควบคุมดูแลเด็ก ไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หรืออาจส่งตัวไปสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามพฤติการณ์ของเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 คดี มีเด็กทำผิดกฎหมาย 10 คน ศาลอาจจะใช้มาตรการที่ต่างกันไปของทั้ง 10 คน

กระนั้นก็ดี ในส่วนของพ่อแม่เด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่อาจจะต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ได้ว่า ใช้ความระมัดระวังในการดูแลแล้ว

ด้าน “นายวีรศักดิ์ โชติวานิช” อุปนายกและรองโฆษกสภาทนายความฯ ได้แสดงความเห็นกรณีเหตุยิงกราดว่า คดีนี้ผู้กระทำยังเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ซึ่งตาม ป.อาญามาตรา74 ระบุว่า การกระทำที่กฎหมายบัญญัติ ว่าการลงมือกระทำผิดอาญาโดยเด็กอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี นั้น เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และศาลมีอำนาจไม่ส่งตัวเด็กไปควบคุมที่สถานพินิจ แต่จะกำหนดเงื่อนไขตาม มาตรา 56 ให้ผู้ปกครองปฏิบัติคือในวรรคสามบอกว่า ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้ผู้ปกครองศาลอาจกำหนดให้ตั้งเจ้าพนักงานคุมประพฤติควบคุมติดตามดูพฤติการณ์เด็กก็ได้ แต่ถ้าศาลจะไม่ใช้วิธีนี้ก็ส่งตัวเข้าสถานพินิจไป

สำหรับบทสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว “มือปืนวัย 14” ไปแสดงตัวต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเห็นควรส่งตัวไปควบคุมไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และให้สถานพินิจฯ ดำเนินการตรวจสอบสภาพจิตใจของผู้ต้องหา ให้ออกหมายควบคุมเว้นแต่มีประกัน อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวไม่ปรากฏว่า มีผู้ปกครองมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเยาวชนแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวเด็กชายอายุ 14 ปี ไปยังสถานพินิจฯ ตามคำสั่งศาล

ส่วนเรื่องว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำผิดของเยาวชนหรือไม่ เท่าที่สดับตรับฟัง คงต้องใช้เวลาถกเถียงกันอีกนาน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ พ่อแม่ใส่ใจในตัวลูกมากน้อยเพียงใด เพราะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบมือถือของเด็กที่ก่อเหตุ พบแชทข้อความที่มีพูดคุยถึงผลการเรียนที่ตกลง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่มีคะแนนไม่ถึงเป้า โดยมีการกำชับให้ปรับปรุงตัว และอ่านหนังสือ ก่อนเด็กที่ก่อเหตุจะส่งข้อความกลับไป เป็นภาพที่อยู่ภายในสนามยิงปืนแห่งหนึ่ง แล้วพิมพ์ตอบกลับสั้นๆ ว่า “ผมจะไปที่นี่” ซึ่งเป็นสถานที่ยิงปืนที่มักจะไปเป็นประจำ

นอกจากนั้น เมื่อผู้ก่อเหตุถูกตักเตือนเรื่องผลการเรียน ก็มักจะส่งคลิปยิงปืนของตัวเองไปให้ตลอด ที่ผ่านมาผู้ปกครองรับทราบดีว่า ลูกชายมีพฤติกรรมชอบยิงปืนมาก และมักจะไปสนามยิงปืนกับเพื่อนเป็นประจำ


 ไทย : เมืองแห่งอาวุธปืน
กับปัญหา Blank Gun เกลื่อนเมือง 

ประเด็นถัดมาคือเรื่องปืนที่ใช้ก่อเหตุ ทางเจ้าหน้าตรวจพบว่า เป็นปืน Blank Gun ที่หาซื้อได้ง่าย โดยเด็กนำมาดัดแปลงให้สามารถใช้กับเครื่องกระสุนจริง ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่อีกหนึ่งปัญหาของสังคมไทย ณ เวลานี้

“แบลงค์กัน”(Blank Guns) หรือ “แบลงค์ฟายลิ่งกัน” (Blank Firing Guns) คือปืนจำลอง หรือโมเดลปืนที่จำลองรูปแบบและหลักการทำงานมาจากปืนจริง แต่ไม่สามารถขับเครื่องกระสุน หรือเม็ดกระสุนใดๆ ออกมาจากลำกล้องได้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปลักษณ์ภายนอกและหลักการทำงานเหมือนของจริงเกือบ 100% เป็นอุปกรณ์จำลองที่ถูกพัฒนามาจากบีบีกัน

ทั้งนี้ ในขบวนการออกแบบและผลิตปืนแบลงค์กัน จะป้องกันให้ปืนไม่สามารถใช้กระสุนของจริงได้ และมีระบบป้องการการดัดแปลง กล่าวคือ โครงสร้างภายในต่างจากปืนจริง ไม่สามารถที่จะทำการดัดแปลงได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งโดยหลักการทั่วไปของแบลงค์กันนั้น สามารถบรรจุกระสุนได้ (แต่ต้องเป็นกระสุนที่ผลิตมาเพื่อใช้งานกับแบลงค์กันเท่านั้น) เมื่อทำการเหนี่ยวไก ที่ปลายกระบอกจะมีไฟแล่บออกมาจากปากกระบอก (Front Firing) มีเสียงยิงที่เหมือนกับของจริง มีการคัดปลอกกระสุนออกมาเหมือนของจริง แต่ไม่มีกระสุนหรืออะไรวิ่งออกมาจากปลายกระบอก

กระนั้นก็ดี ด้วยความที่เป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนนั้น เวลาจะใช้ก็จะมีกฎหมายบังคับอยู่ด้วย เช่น ไม่สามารถพกพาไปโดยเปิดเผย หรือทำให้ผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นได้ เพราะอาจจะมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นตกใจ และการนำพาไปยังสถานที่ต่างๆ ก็ควรจะเก็บไว้ในกล่องให้เรียบร้อย อย่าพกเหน็บเอวเด็ดขาด


ที่สำคัญคือ “แบลงค์กัน” ไม่ใช่อาวุธปืน จึงไม่ต้องขออนุญาต แต่เวลาที่ซื้อจำเป็นจะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนกับร้านค้าไว้ด้วย เพื่อที่ทางร้านจะได้นำไปลงบันทึกว่ารายการนี้เป็นของผู้ใด

ทว่า ในปัจจุบันได้มีการนำเอาโคลงปืน “แบลงค์กัน” ไปดัดแปลงเพื่อใช่กระสุนจริงยิงได้ และมีขายตามเพจในโลกโซเชียลอย่างกว้างขว้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายร้ายแรง โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยออกปราบปรามจับกุมได้บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ดี ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่การตีความทางกฎหมายที่ไม่ตรงกันของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะระหว่าง “กรมการปกครอง” กับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายหน่วยงานที่ทดสอบปืนชนิดนี้แล้วว่าถ้ากระสุนเข้าจุดสำคัญของร่างกายมีขีดความสามารถทำอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งเคยออกมาให้ข้อมูลในการตีความว่าเป็นอาวุธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองได้โต้แย้งว่าไม่ใช่อาวุธและยืนยันว่าเป็นแค่สิ่งเทียมอาวุธปืน ทำให้ปืนแบลงก์ กันมีผู้นำเข้าและมีการโพสต์ขายกันเกลื่อนในช่องทางออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม จึงทำให้ซื้อหาเพื่อนำมาใช้ได้อย่างง่าย ก่อนนำมาดัดแปลงลำกล้องและชุดลั่นไกสามารถใส่กระสุนจริงได้ จนนำมาสู่การก่อเหตุรุนแรงด้วยปืนชนิดนี้

นอกจากนี้ ก็เคยมีคำสั่งชี้ขาด “ไม่ฟ้องและยกฟ้องคดีเกี่ยวกับการมีปืนแบลงค์กันไว้ในครอบครอง”โดยได้อธิบายลักษณะของปืนแบลงค์กัน ว่า เป็นปืนเสียงเปล่า มีรูปร่างเป็นอาวุธปืนที่จำลองรูปแบบ และหลักการทำงานมาจากปืนจริงเท่านั้น แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนกระสุนปืนจริงออกมาจากลำกล้องได้ มีแสงไฟและเสียงออกจากปลายกระบอกปืน ลำกล้องภายในมีแกนขวางลำกล้อง เพื่อป้องกัน การดัดแปลงอาวุธปืน ช่องใส่กระสุนปืนไม่สามารถขับเคลื่อนเครื่องกระสุนปืน หรือเม็ดกระสุนใดๆ ออกมาจากลำกล้องได้”

“พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร
” อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด แสดงทัศนะถึงเรื่องแบลงค์กันเอาไว้ว่า ขณะนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เพราะสามารถหาซื้อได้ขาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่สำคัญคือเป็นปืนที่ดัดแปลงง่ายมากด้วยการ “เปลี่ยนลำกล้อง” โดยใช้เงินไม่มากนัก ก็สามารถใช้ลูก .38 และลูก 9 มม. หรือสามารถดัดแปลงเป็นปืนกลได้ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายโดยด่วน เช่น ระงับการนำเข้า เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาพอตำรวจจับมาส่งอัยการ ก็สั่งไม่ฟ้อง
ทั้งนี้ พล.ต.ท.เรวัชยังชี้ให้เห็นถึงอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ การที่มือปืนเยาวชนรายนี้สามารถซื้อ “กระสุนจริง” จำนวน 50 นัดออกมาจาก “สนามยิงปืน” ได้อย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ระบบมีความหละหลวมและไม่ได้มีการตรวจสอบให้รอบคอบ

“ถ้าผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมจะไปดำเนินคดีกับสนามนี้ทันที พร้อมเสนอกระทรวงมหาดไทยให้ปิดสนามยิงปืนนี้”พล.ต.ท.เรวัชให้ความเห็น

และในเวลาต่อมาก็ชัดแจ้งว่า สนามที่เยาวชนรายนี้เข้าไปฝึกซ้อมก็คือ “สนามยิงปืนหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.โดยเจ้าหน้าที่สนามเข้าใจว่าเป็นนักท่องเที่ยวมาซ้อมยิงปืนทั่วไปเพราะพูดภาษาอังกฤษ และวันดังกล่าวได้เลือกใช้ปืนกล็อก ขนาด 9 มม. ซึ่งขณะที่มีการซ้อมก็จะมีผู้ฝึกสอนดูแลอย่างใกล้ชิด

คำถามมีอยู่ว่า สนามเข้มงวดกับการเข้าใช้เพียงไร เพราะข้อมูลที่ออกมาแสดงว่า หละหลวมมาก เนื่องจากการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการประเมินแค่ภาพทางจิตใจและส่วนสูง ลักษณะทางกายภาพภายนอกเท่านั้น เพราะโดยปกติในสนามยิงปืนจะไม่อนุญาตให้เยาวชนเข้าไปใช้ได้เว้นแต่มี “ผู้ปกครอง” เป็นผู้พาไป

ด้าน “พล.ต.ท.วิชัย สังข์ประไพ” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้แบลงค์กันสามารถหาซื้อได้ง่าย ในโลกออนไลน์มีการสอนการใช้ รวมทั้งการดัดแปลงอย่างเสร็จสรรพ โดยคดีดังกล่าวถือเป็นคดีแรกในประเทศไทยที่เด็กอายุขนาดนี้เป็นผู้ก่อเหตุ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ก่อนไปก่อเหตุ เด็กคนนี้มีการฝึกการใช้อาวุธปืนพอสมควร และมีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นจากข้อความที่มีการสื่อสารระหว่างเพื่อนและเครื่องแต่งกายที่ใช้ในวันก่อเหตุ


ก่อนหน้านี้ ในเดือนกรกฎาคมของปีที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ได้เปิดยุทธการ CyberCop cracked down on Online Scammers ตรวจยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือการตรวจยึดแบลงก์ กันได้กว่า 2,000 กระบอก กระสุนปืนกว่าแสนนัด หลังพบการซื้อขายออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์และส่งสินค้าผ่านเอกชน โดยการแถลงข่าวครั้งนั้น กองพิสูจน์หลักฐานออกมายืนยันว่าปืนแบลงก์กันหากนำมาดัดแปลงให้ขับกระสุนออกได้ ก็มีสภาพเทียบเท่าอาวุธปืนจริง เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งหากมีการดัดแปลงเมื่อยิงกระสุนแบลงก์ กัน แรงดันที่เกิดขึ้นดันกระสุนจำลองพุ่งใส่ร่างจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ตอกย้ำอานุภาพของแบลงก์ กัน อันตรายเกินกว่าจะเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบโดยตรงในการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพบว่า ณ ปัจจุบัน จำนวนใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ป.4) ทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 6,135,065 รายการ แยกเป็น ปืนสั้น จำนวน 3,916,423 รายการ ปืนยาว จำนวน 2,218,642 รายการ

และจำนวนใบอนุญาต ป.4 จำนวนกว่า 6.1 ล้านรายการ หรือ 6.1 ล้านกระบอกนี้ นับเฉพาะอาวุธปืนถูกกฎหมาย ที่มีการจดทะเบียนและครอบครองอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมอาวุธปืนเถื่อนทุกชนิด

ข้อมูลจากเว็บไซต์ gunpolicy.org ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ในออสเตรเลีย ระบุว่า สถิติการครอบครองอาวุธปืนส่วนบุคคลในไทยอยู่ที่มากกว่า 10.3 ล้านกระบอก เมื่อปี 2560 แต่มีเพียง 6 ล้านกระบอกเท่านั้น ที่มีการขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย หมายความว่ามี “ปืนเถื่อน” มากกว่า 4 ล้านกระบอก และคิดเป็นอัตราการครอบครองอาวุธปืน 10 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนถูกหรือผิดกฎหมาย

แม้อัตราดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐ แต่ในเอเชียถือว่า อัตราการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้นของภูมิภาค หากเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนไม่ถึง 1 กระบอก ต่อประชากร 100 คน

นอกจากนี้ ไทยยังถือเป็นศูนย์กลางของตลาดมืดการค้าอาวุธ นอกเหนือจากกัมพูชาและเวียดนาม ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวด แม้ผู้ที่ลักลอบครอบครองอาวุธปืน อาจต้องรับโทษจำคุกนานสูงสุด 10 ปี และปรับเป็นเงิน 20,000 บาท ขณะที่บุคคลซึ่งต้องการรับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน ต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดหลายขั้นตอน




สำนักข่าวเอเอฟพีเผยแพร่บทวิเคราะห์กรณีเยาวชนชายอายุ 14 ปี ใช้ปืนสั้นกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้า #สยามพารากอน จนมีผู้เสียชีวิต ระบุเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืนในไทย พร้อมอ้างถึง 2 ปัจจัยสำคัญคือการที่ตำรวจบางคนยังลักลอบนำปืนไปขายตามตลาดมืด และวัฒนธรรมวัยรุ่น (youth culture) ที่เชิดชูการถือครองอาวุธ

แม้เหตุสลดครั้งนั้นจะเป็นข่าวดังที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก และบีบให้รัฐบาลไทยต้องออกมาให้สัญญาเพิ่มมาตรการคุมเข้มเรื่องอาวุธปืน ทว่าในทางปฏิบัติปืนก็ยังคงเป็นอาวุธที่คนเข้าถึงได้ง่าย และมีคดียิงกันตายปรากฏเป็นข่าวอยู่แทบจะทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่จำต้องทบทวนไม่แพ้กันก็คือ การที่รัฐบาลไทยมีโครงการจัดหาอาวุธปืนสวัสดิการแก่ข้าราชการก็ทำให้ปืนหลายแสนกระบอกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

“ปัญหาสำคัญอยู่ที่โครงการปืนสวัสดิการ”
ไมเคิล พิคาร์ด (Michael Picard) นักวิจัยอิสระซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายและการทุจริตด้านอาวุธเบา ให้ข้อมูลกับเอเอฟพี

เขาระบุว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ข้าราชการสามารถซื้อปืนโดยตรงผ่านหน่วยงานในสังกัดโดยได้รับส่วนลด แทนที่จะผ่านกระบวนการขอใบอนุญาตเหมือนพลเรือนทั่วไป และในขณะที่กฎหมายระบุข้อจำกัดเรื่องจำนวนปืนและปริมาณเครื่องกระสุนที่เอกชนสามารถซื้อได้ แต่โครงการปืนสวัสดิการกลับไม่มีข้อกำหนดเหล่านี้

“มันก็เลยนำมาสู่สถานการณ์อันตรายในปัจจุบันที่ตำรวจบางนายเอาปืนที่ซื้อมาได้ถูกๆ ไปขายต่อในตลาดมืดเพื่อทำกำไร” พิคาร์ด กล่าว

ภายหลังเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศระงับโครงการปืนสวัสดิการแบบไม่มีกำหนด ทว่าแหล่งข่าวตำรวจยืนยันกับเอเอฟพีว่า โครงการนี้ “ยังอยู่ดี” เหมือนเดิมทุกประการ

อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อหารือกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยได้สั่งการให้ยกระดับมาตรการด้านกฎหมายในการครอบครองปืน หรือความง่ายในการเข้าถึงอาวุธปืน และในฐานะ รมว.คลัง ซึ่งกำกับดูแลกรมศุลกากร จะกำชับให้มีการเข้มงวดในการนำเข้าปืน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถือเป็นช่องโหว่อันหนึ่งที่สามารถนำปืนนอกเข้ามาได้

…เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม และรอวันให้มีการสังคายนาหรือปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่ถือกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน รวมทั้งเรื่องแบลงค์กันด้วยก็คือ “กระทรวงมหาดไทย” และ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น