xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๕๒)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พระเจ้าเลโอพ็อลท์ที่หนึ่ง
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 ในการทำความเข้าใจขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม ควรเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเบลเยี่ยมมีที่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1831 มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1993 และแก้ไขครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2012 แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ระบอบการปกครองที่เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ แล้วว่า รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับ อันได้แก่ ฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากหลักการการปกครองของอังกฤษด้วย ที่ไม่เรียกว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่อังกฤษปกครองด้วยรัฐธรรมนูญตามจารีตประเพณี
ผู้เขียนได้กล่าวถึงบางส่วนของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสามฉบับไปแล้ว และได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลที่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 มีต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 อย่างชัดเจน ได้แก่

หนึ่ง การกำหนดว่า “ชาติ” คือที่มาของอำนาจทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในมาตรา 25

สอง การกำหนดให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังที่ปรากฏในมาตรา 14
สาม การไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมาย และกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจบริหารเท่านั้น และใช้อำนาจบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในมาตรา 29 และ 30 ซึ่งนอกจากจะได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 แล้วยังได้รับอิทธิพลหลักการแบ่งแยกอำนาจจากการปกครองของอังกฤษด้วย
การออกแบบหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ของเบลเยี่ยมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ก่อนหน้า ค.ศ. 1831 เบลเยี่ยมเป็นส่วนหนึ่งหรืออยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอื่นๆ จนกระทั่งวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 เบลเยี่ยมได้เอกราชอย่างเป็นทางการและเริ่มมีสถาบันพระมหากษัตริย์ของเบลเยี่ยมเป็นครั้งแรก
ก่อนที่จะกล่าวถึงมาตราต่างๆ ในหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงความเป็นมาของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม

หลังจากที่ได้เอกราชในปี ค.ศ. 1830 เบลเยี่ยมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมหาอำนาจในยุโรปในช่วงเวลาต่างๆ เช่น พวกโรมัน พวกแฟรงค์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สเปน ออสเตรีย ฝรั่งเศสในช่วงปฏิวัติ และสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1830 พวกคาธอลิกเบลเยี่ยมได้ก่อการปฏิวัติต่อการปกครองของเนเธอร์แลนด์และประกาศเอกราช และมีการตั้งสภาแห่งชาติ (National Congress/ Congrès national) เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาแห่งชาติมีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของชาวเบลเยี่ยมจำนวน 30,000 คนจากประชากรทั้งสิ้นราวเกือบสี่ล้านคน
 สภาแห่งชาติได้ลงมติให้ลงมติให้เบลเยี่ยมปกครองด้วยระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 174 ต่อ 13 หลังจากได้รูปแบบการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ต่อมาสภาแห่งชาติจะต้องเลือกผู้ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของเบลเยี่ยม โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ได้แก่ เจ้าชายหลุยส์ ดุ๊คแห่งเนมัวส์ (Duke of Nemours) พระราชโอรสของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิปแห่งฝรั่งเศสม ออกุสแห่งโบอาร์เนส์ (Auguste de Beauharnais), อาร์ชดยุก ชาร์ลสแห่งออสเตรีย (Archduke Charles of Austria) พระอนุชาของจักรพรรดิฟรานซิสที่สองแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และผู้สำเร็จราชการแห่งเนเธอร์แลนด์ออสเตรีย (the Austrian Netherlands) 
สภาแห่งชาติได้ลงมติเลือกพระราชโอรสของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิป (Louis-Philppe) พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์ของเบลเยี่ยม ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาเป็นเวลาได้ 16 ปี (จากที่เคยเล่าในตอนก่อนๆ แล้วว่า ฝรั่งเศสฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมาและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ ค.ศ. 1814)

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์
แต่สหราชอาณาจักรไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวของสภาแห่งชาติเบลเยี่ยม ทำให้ต้องมีการลงมติเลือกใหม่ และในขณะที่อยู่ในช่วงของการสรรหาผู้เป็นพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม สภาแห่งชาติได้แต่งตั้ง  นายเอรัสม์-หลุยส์ ซูร์แล เดอ ชอกีเย (Surlet de Chokier)  ผู้ซึ่งเป็นนักการเมืองและประธานสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้มีการสรรหาประธานสภาฯ คนใหม่แทนนายซูร์แล เดอ ชอกีเย ในที่สุด สภาแห่งชาติได้ลงมติเลือก  เจ้าชายเลโอพ็อลท์ เคลเม็นท์แห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Leopold of Saxe-Coburg and Gotha)  เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเบลเยี่ยม โดยสภาฯ ได้ประกาศแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1831 ในพระนาม พระเจ้าเลโอพ็อลท์ที่หนึ่ง (Leopold I) 

สหราชอาณาจักรไม่ขัดข้องต่อมติของสภาแห่งชาติครั้งนี้ เพราะเจ้าชายเจ้าชายเลโอพ็อลท์มีสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษ (British Citizen) โดยพระองค์ได้สถานะพลเมืองอังกฤษอังกฤษในปี ค.ศ. 1816 สาเหตุที่พระองค์ได้สถานะพลเมืองอังกฤษ เพราะหลังจากที่พระองค์ได้ทรงเข้าร่วมกับกองทัพรัสเซียทำสงครามต่อสู้กับนโปเลียนที่รุกรานแคว้นซัคเซิน-โคบวร์คของพระองค์ และเมื่อนโปเลียนแพ้สงคราม พระองค์ได้ทรงไปพำนักที่อังกฤษ และได้ทรงอภิเษกสมรสกับ  เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์  พระธิดาของเจ้าชายจอร์จ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มีข้อพึงสังเกตว่า เนื่องจากเบลเยี่ยมไม่เคยมีสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อนที่จะเป็นเอกราช และก่อนที่จะปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1831 ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ของเบลเยี่ยมที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1831 จึงแตกต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่นๆ ที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความแตกต่างที่ว่านี้คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ของเบลเยี่ยมไม่เคยเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบ  “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เลย
และเนื่องจากเบลเยี่ยมยังไม่เคยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่เคยมีการสืบราชสันตติวงศ์มาก่อน รวมทั้งไม่เคยมีกฎมณเฑียรบาล การบัญญัติมาตราต่างๆ ในหมวดพระมหากษัตริย์จึงจะต้องกำหนดไว้โดยละเอียดโดยเฉพาะในประเด็นการสืบราชสันตติวงศ์ ดังที่ปรากฏในมาตรา 60-62

 โดยมาตรา 60 ได้กำหนดให้สถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยมดำรงอยู่ภายใต้การสืบสายโลหิตโดยรัชทายาทชายที่ชอบธรรมและเป็นสายตรงของเจ้าชายเลโอพ็อลท์ แห่งซัคเซิน-โคบวร์ค ภายใต้หลักสิทธิของบุตรคนแรก (primogeniture) และไม่ให้มีการสืบราชสันตติวงศ์โดยทายาทผู้หญิง และหากไม่มีรัชทายาทชาย ในมาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าชายเลโอพ็อลท์ แห่งซัคเซิน-โคบวร์คเสนอชื่อผู้ที่พระองค์มีพระประสงค์จะให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ และจะต้องให้สภาทั้งสองสภาลงมติเห็นชอบตามมาตรา 62 นั่นคือ จะต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบอย่างน้อยสองในสามของทั้งสองสภา และผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยมจะต้องไม่เป็นพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐอื่นในเวลาเดียวกัน ยกเว้นจะได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา หากไม่มีการเสนอชื่อตามที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าราชบัลลังก์เบลเยี่ยมได้ว่างลง  

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะนึกสงสัยว่า ตกลงแล้ว ตั้งแต่เบลเยี่ยมมีสถาบันพระมหากษัตริย์ในปี ค.ศ. 1831 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการใช้มาตรา 62 หรือไม่ ? คำตอบอยู่ในตอนต่อไป

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เบลเยี่ยมไม่เคยมีสมเด็จพระราชินีนาถอย่างของสหราชอาณาจักรและบางประเทศในยุโรป


กำลังโหลดความคิดเห็น