ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การบุกค้น “บ้านรองโจ๊ก”พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ถือเป็นปฏิบัติการที่สั่นสะเทือน “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ครั้งใหญ่จนต้องบันทึกเอาไว้เป็น “ประวัติศาสตร์” กันเลยทีเดียว และ “เบื้องหน้าเบื้องหลัง” ของเรื่องนี้ก็เป็นผลโดยตรงมาจากการแย่งชิงเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” คนใหม่ อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้
ด้วยเป็นปฏิบัติการเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ก่อนที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะร่วมประชุมเคาะเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ สืบต่อจาก “บิ๊กเด่น-พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร” ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เพียงไม่กี่วัน โดย 2 ตัวเต็งเที่ยวนี้ก็คือ “บิ๊กโจ๊ก” และ “บิ๊กต่อ--พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล”
จะ “อ้าง” ว่า เพิ่งรวบรวมหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายจับได้ ก็ต้องใช้คำว่า “บังเอิญอย่างร้ายกาจ” พร้อมๆ กับคำพูดที่ตามมาว่า “มันต้องทำกันถึงขนาดนี้เชียวหรือ”
อย่างไรก็ดี ถ้าหากถามว่าเรื่องนี้ มีความเกี่ยวโยงกับ คดี “กำนันนก-นายประวีณ จันทร์คล้าย” และคดี “สารวัตรแบงก์-พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว” หรือไม่
ก็ต้องตอบแบบไม่ลังเลว่า “ใช่” ด้วยผลของคดีนำมาซึ่งปฏิบัติการ “ปิดสวิทซ์รองโจ๊ก” ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา แม้จะไม่ใช่ผลทางตรง แต่ก็ต้องถือว่าเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ซึ่ง “ฝั่งตรงข้าม” ตัดสินใจดับเครื่องชนชนิด “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” หลังการทำอัตวินิบาตกรรมของ “ผู้กำกับเบิ้ม-พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์” ที่สร้างความคับแค้นให้อย่างถึงที่สุดด้วยรับรู้ว่า “ผู้กำกับเบิ้ม” ต้องเผชิญกับอะไรมาบ้างก่อนฆ่าตัวตาย
รวมทั้งมีการพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ “บิ๊กโจ๊ก” กระโดดเข้ามาทำคดีกำนันนกก็หวังผลในเรื่องของตำแหน่งแห่งหนที่กำลังบดบี้กันอย่างหนักในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจน “เกินความพอดี”
งานนี้ สังคมจึงฟันธงว่าเป็นการปะทะกันระหว่าง “2 บิ๊ก” แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ “บิ๊กโจ๊ก” และ “บิ๊กต่อ” อย่างไม่อาจมองเป็นอื่นได้
เป็นการปะทะกันกันที่ทำให้ประชาชน “ตาสว่าง” กับวงการตำรวจไทยชนิด “เปลือย” ออกมาจนหมดเปลือกกันเลยเดียว
เป็นการปะทะที่ทำให้เห็นว่า โลกของตำรวจ ไม่ได้มีแค่เพียงคำว่า “พิทักษ์สันติราษฎร์” ไม่ได้มีแค่การปราบปรามอาชญากรรม หากแต่ยังโยงใยกับผลประโยชน์ในแทบทุกวงการ และมี “แผล” ด้วยกันทั้งนั้น ดังที่ “บิ๊กโจ๊ก” บอกว่า “ถ้าผมเปิดเมื่อไหร่ ก็ตายกันหมดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือที่ “นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม สวนกลับไปว่า “มีข้อมูลของบิ๊กโจ๊กที่สะสมมา 2 ปีเช่นเดียวกัน หากนำมาเปิดเผยก็ไม่มีแผ่นดินจะอยู่”
จับสัญญาณรบ “ศึกตำรวจตัดตำรวจ”
ถ้าใครติดตามสถานการณ์ “ศึกตำรวจตัดตำรวจ” ในครั้งนี้ ก็จะพบว่า สัญญาณรบสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีคำสั่งโยกคดีกำนันนกจาก “กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7” ไปให้ “กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)” ที่อยู่ภายใต้ร่มของ “กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง” ซึ่งในเวลานั้นก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีอะไร “แปร่งๆ” หรือไม่ เพราะเสมือนเป็นการ “ปิดสวิตช์” ไม่ให้ “บิ๊กโจ๊ก” เข้ามาข้องเกี่ยว
จากนั้นก็ตามมาด้วยปฏิบัติการที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(สอท.) พร้อมหน่วยคอมมานโด บุกค้นบ้านตอนเช้าตรู่เพื่อตามจับ “หนึ่งในผู้ต้องหา” ในคดีพนันออนไลน์ที่พำนักอยู่ในบ้านของ “บิ๊กโจ๊ก” และสามารถจับกุมผู้ต้องหารายดังกล่าวที่บริเวณหน้าบ้าน ซึ่งเป็นจุดตรวจค้น โดยหัวหน้าชุดคือ “พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกฎหมายและคดี ตอบออกมาหน้าตาเฉยว่า “ตำรวจชุดตรวจค้นไม่มีใครทราบมาก่อนว่า บ้าน 5 หลังดังกล่าว เป็นบ้านที่บิ๊กโจ๊กครอบครอง”
ขณะเดียวกันก็ปรากฏร่างของ “พล.ต.ท.จรูญเกียรติ ปานแก้ว” รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว และ “ผู้กำกับเบิ้ม” อยู่ในปฏิบัติการตรวจค้นที่บ้าน “บิ๊กโจ๊ก” ด้วย และแม้จะมีการปฏิเสธว่า เป็นการไปส่วนตัวโดยไม่มีตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.ท.จรูญเกียรติ ไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุผลที่ดูจะแปลกๆ และค้านสายตาผู้ชมอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี แม้ปฏิบัติการครั้งนี้จะมีจุดให้ชวนสงสัยและผิดปกติมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมานั้น “ไม่ธรรมดา” เนื่องจากในจำนวนผู้ต้องหาที่ถูกออก “หมายจับ” มี “ตำรวจ” ที่เป็น “ลูกน้อง” ของ “บิ๊กโจ๊ก” ถึง 8 คน ประกอบด้วย พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ ผบก.ศฝร.บช.น. พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย ผกก.ตม.จันทบุรี พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย รองผบก.สส.ภ.4 พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผกก.สส.สภ.สำโรงเหนือ พ.ต.อ.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ ผกก.ตม.จว.ฉะเชิงเทรา พ.ต.ต.ชานนท์ อ่วมทร นายตำรวจติดตาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผบ.หมู่งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร. และ ส.ต.อ.อภิสิทธิ์ คนยงค์ ผบ.หมู่(ป.) สภ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
โดยเฉพาะนายตำรวจที่ถือเป็นลูกน้องคนสนิทของ “บิ๊กโจ๊ก” คือ พ.ต.อ.ภาคภูมิ ที่นอกจากจะปรากฏภาพถ่ายยืนยันถึงความใกล้ชิดกับ “น.ส.สุชานันท์ หรือ ธนัยนันท์ สุจริตชินศรี” หรือ “มินนี่” ฉายา เจ้าแม่เว็บพนัน ผู้ต้องหารายสำคัญเท่านั้น หากยังมีข้อมูลด้วยว่า พ.ต.อ.ภาคภูมิ ส่งเลขที่บัญชีม้าให้ “มินนี่” ผ่านการแชท
ทั้งนี้ “บิ๊กเด่น-ผบ.ตร.คนปัจจุบัน” ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาให้ย้าย “ลูกน้องบิ๊กโจ๊กทั้ง 8 ราย” มาปฏิบัติราชการที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งดิม
สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตำรวจพีซีที หรือ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ บุกจับ “บอสตาล” หรือ “นายพงษ์ศิริ ฐานราชวงศ์ศึก” ประธานทีมฟุตบอลลำพูนวอริเออร์ ใน จ.พะเยา หลังพบเป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์และฟอกเงิน พร้อมทำธุรกิจหลายอย่างบังหน้ารวมมูลค่ากว่าพันล้าน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566
ต่อมาจากการขยายผลเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ของ “บอสตาล” ตำรวจได้ปิดล้อมพื้นที่ 4 จุด ใน กทม. และ จ.เลย พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 3 ราย คือ น.ส.สุชานันท์ หรือ ธนัยนันท์ หรือ “มินนี่” ฉายา เจ้าแม่เว็บพนัน น.ส.อรณี (สงวนนามสกุล) และนายณัฐวัตร (สงวนนามสกุล) พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางสมุดบัญชีธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ 100 รายการ บัตรอิเล็กทรอนิกส์กว่า 55 ใบ โทรศัพท์มือถือ จำนวน 30 เครื่อง เงินสด 920,000 บาท คอมพิวเตอร์ ไอแพดและเครื่องรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต หลายรายการพบเงินหมุนเวียนกว่าร้อยล้านบาท จากนั้นตำรวจขยายผลการสืบสวนไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายของ “มินนี่” และพบตำรวจหลายนาย เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงรับเงินจากบัญชีม้า
แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ตรงที่หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับ “เส้นทางการเงิน” โดยข้อมูลจากชุดคลี่คลายคดีพบว่า ได้โอนเงินผ่านบัญชีม้าของ “นายพุฒิพงษ์ พูนศรี” ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ จ.890/2566 ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 ให้กับ พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย จากนั้นมีการใช้ทั้งบัญชีม้าและบัญชีส่วนตัวโอนไปมาระหว่าง พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย พ.ต.อ.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ และนายตำรวจระดับผู้กำกับการกับนายตำรวจระดับสารวัตร อีก 4 นาย
ทั้งนี้ ยอดเงินโอนทั้งหมดผ่านบัญชีม้าและบัญชีผู้ต้องหารวมกัน จำนวน 51 ครั้ง รวม 3,659,890 บาท ทำธุรกรรม ผ่านทั้งตู้ CDM และการฝากเงินสด มีการตรวจพบหลักฐาน เรื่องนำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล ของมารดา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จำนวน 2.8 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีมารดา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จำนวน 426,000 บาท โอนให้น้องชาย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จำนวน 410,000 บาท และโอนจ่ายค่ามือถือของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อีก 48,682.34 บาท
และนั่นก็นำไปสู่การขอออกหมายจับและหมายค้นตามจุดต้องสงสัยต่างๆ รวมถึง “บ้านของบิ๊กโจ๊ก”
ส่วนเรื่อง “บ้าน 5 หลัง” แม้จะไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก แต่ก็ทำให้เห็นอะไรๆ ในแวดวงตำรวจได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เพราะในช่วงแรก “บิ๊กโจ๊ก” ให้สัมภาษณ์เอาไว้ชัดเจนว่า “ ....ชื่อบ้าน 5 หลังเป็นญาติของผม มาจากสงขลา เป็นชื่อผู้ซื้อ...”
ทว่า ข้อมูลที่ปรากฏในเวลาต่อมา ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะบ้านทั้ง 5 หลังในหมู่บ้านดังกล่าว ชื่อผู้ครอบครองเป็นของ “เฮียแต๋ม” และภรรยา เจ้าของบริษัทขนส่งรายใหญ่ใน จ.อุดรธานี ได้ซื้อบ้านทั้ง 5 หลังนี้ไว้และให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พักอาศัย โอนเงินจ่ายค่าส่วนกลางของบ้านทั้ง 5 หลังให้ รวมเป็นเงินกว่า 142,000 บาท ส่วนการขอใช้ไฟฟ้าของบ้านทั้ง 5 หลัง พบว่าเป็นชื่อของ “เฮียแต๋ม” เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเช่นกัน
ทั้งนี้ “บิ๊กโจ๊ก” ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า เฮียแต๋ม เป็นญาติของตน ซึ่งเป็นญาติสนิทกัน และเป็นเจ้าของบ้านทั้งหมด โดยเฮียแต๋มให้ตนเช่าบ้านอยู่ โดยมีสัญญาเช่าชัดเจน ตนเช่าในราคา 50,000 บาท อาศัยอยู่ 2 หลัง ส่วนหลังที่เหลือใช้เก็บของ ซึ่งด้วยความที่เป็นญาติกัน ตนจะจ่ายแพงกว่านี้ แต่เฮียแต๋มก็ไม่เอา ซึ่งบ้านที่ตนอาศัยอยู่นี้ ได้เคยให้การกับ ป.ป.ช.ไว้นานแล้ว และบริสุทธิ์ใจ เฮียแต๋มก็ไม่ใช่คนที่ทำผิดกฎหมาย ตนเป็นคนสงขลา จึงมาหาเช่าบ้านอยู่เพื่อความสะดวก
ขณะที่ “นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม สวนกลับว่า ทั้ง 2 คนคือเฮียแต๋มและภรรยาไม่ใช่ญาติของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตามที่อ้าง พร้อมทั้งเดินทางไปยื่นหนังสือต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป.ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินการจ่ายค่าไฟฟ้าบ้านที่ “บิ๊กโจ๊ก” พักอาศัยอยู่ เพราะมีการโอนจ่ายค่าไฟฟ้าจากบัญชีนายครรชิต ซึ่งเคยเป็นผู้ต้องโทษคดียาเสพติด และอื่นๆ อีก 5 คดีที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายเว็บพนัน ทั้งที่ความจริง "บิ๊กโจ๊ก" ต้องเป็นคนจ่ายเอง
ผลพวงของเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ชะตากรรม “บิ๊กโจ๊ก” พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความหวังว่าจะได้ขึ้นเป็นนายใหญ่ของตำรวจมีอันต้องสะดุดลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะกว่าจะรู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ต้องใช้เวลาอีกนาน และอาจต้องลุ้นระทึกด้วยซ้ำไปว่า จะยังอยู่ในตำแหน่งได้อีกนานแค่ไหน
“บิ๊กตำรวจ” ปะทะกัน
ประชาชนได้ประโยชน์
แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็น “เผือกร้อน” ในมือของ “นายกฯ นิด-นายเศรษฐา ทวีสิน” ที่สวมหมวกเป็น “ประธาน ก.ตร.” อีกตำแหน่งว่าจะ “สังคายนา” เรื่องนี้อย่างไร เพราะเห็นได้ชัดว่า องค์กรแห่งนี้มีปัญหาในทุกด้าน ทั้งด้านความน่าเชื่อถือของประชาชน ทั้งความขัดแย้งของบุคลากรในองค์กรที่ดำเนินไปอย่างรุนแรงและพร้อมจะห้ำหั่นเข้าใส่กันในทุกรูปแบบ และทั้งปัญหาส่วย ปัญหาตั๋วและการทุจริตที่นับวันก็ยิ่งปรากฏเรื่องให้สังคมได้รับรู้อย่างไม่ขาดสาย
มีทั้งแบบที่ “กินเงียบๆ ตามน้ำ” และเดินหน้า “ล่าผลประโยชน์” เข้ากระเป๋าอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งแต่ละหน่วย แต่ละสังกัด ต่างก็มีเส้นทางทำมาหากินของตนเอง ที่เห็นกันชัดๆ ก็อย่างสถานบันเทิง บ่อนการพนัน ส่วยรถบรรทุก ส่วยแรงงานต่างชาติ หรือเว็บพนันออนไลน์ที่มาแรงในระยะหลังๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันว่า ในแวดวงตำรวจนั้น แต่ละ “บิ๊ก” ต่างก็มี “อาณาเขต” และ “อาณาจักร” เป็นของตัวเอง โดยที่แต่ฝ่ายก็ถือคติว่า “ทางใคร-ทางมัน” ไม่มีการทับเส้นกัน และตราบใดที่ผลประโยชน์ไม่ขัดกัน
แต่ก็พร้อมที่จะ “ปะทะ” กันได้ตลอดเวลาถ้าหากมีความจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องขึ้น “เป็นใหญ่” ดังเช่นกรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” ที่เห็นชัดว่ามีการสืบสวนสอบสวนเอาไว้ในกระเป๋า และเมื่อถึงคราวจำเป็น ก็พร้อมที่จะงัดคดีออกมาจัดการในฉับพลันทันที
กล่าวสำหรับ “คดีลูกน้องบิ๊กโจ๊ก” ที่เกิดขึ้นนั้น มีคำถามมีอยู่ว่า “แล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร” เพราะเชื่อเหลือเกินว่า “ศึกใหญ่” กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าจากทั้ง 2 ฝ่าย ขึ้นอยู่กับว่า จะเล่นกันหนักถึงขั้นไหน จะเอาถึงติดคุกติดตะราง ต้องออกจากราชการ จะเล่นกันแบบซึ่งๆ หน้า จะชกใต้เข็มขัด หรือถึงขั้น “ไม่มีแผ่นดินจะอยู่” หรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 “บิ๊กโจ๊ก” ได้เดินทางไปที่ศาลอาญา เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาล พิจารณาไต่สวนเรื่องการละเมิดอำนาจศาล กรณีการออกหมายค้นบ้าน พร้อมประกาศชัดเจนว่า “ส่วนตัวมั่นใจว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต้องมีคนสั่งการอย่างแน่นอน แต่จะเป็นคนภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่นั้น ขอตอบสั้นๆ เพียงว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการเมืองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
จากนั้นในวันถัดมาคือ วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญยิ่งว่า “ผมไม่เอาคืนหรอกครับ แต่ข้อมูลที่ผมมี มีอยู่มากแล้วกัน ถ้าผมเปิดเมื่อไหร่ล่ะก็ ก็ตายกันหมดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมไม่ขอบอกว่าข้อมูลของใคร ย้ำว่าไม่เอาคืน แต่ข้อมูลมีเยอะ และที่ผ่านมา ผมทำงานตรงไปตรงมาทุกคดี”
ถือเป็น “คำขู่” ที่น่าสนใจยิ่ง แม้ “บิ๊กโจ๊ก” ไม่บอก แต่ก็เดาได้ไม่ยากว่า ข้อมูลของ “ใคร” และผู้คนที่รับฟังก็แปลไทยเป็นไทยว่า จะมีการเอาคืนอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชน “หูผึ่ง” พร้อมตั้งคำถามถึงคำพูดของ “บิ๊กโจ๊ก” ตามมาอีกกระบุงโกยว่า “ตำรวจชั้นผู้ใหญ่” มีแผล และกระทำเรื่องผิดกฎหมายกันมากน้อยขนาดไหน ทำไมที่ผ่านมาถึงไม่ได้การดำเนินคดี หรือเป็นเพราะความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือถ้าไม่มีผลประโยชน์ทับเส้นกัน หรือถ้าไม่มีเรื่องที่ต้องปะทะกันในการช่วงชิงความเป็นใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันภายใน ทำเป็นหลับตาข้างหนึ่งกระนั้นหรือ
เด็ดไปกว่านั้น ก็คือไม่กี่นาทีก่อนที่ ก.ตร.จะเคาะชื่อ “บิ๊กต่อ” เป็น ผบ.ตร. “บิ๊กโจ๊ก” ที่แปรสภาพจาก “หวานเจี๊ยบ” เป็น “โจ๊ก อัคนี” ได้นำลูกน้องทั้ง 8 คนที่ถูกดำเนินคดีและได้รับประกันตัวมาที่สำนักงานทนายความของนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมประกาศ “สู้แบบคนมีปัญญา” และจะเกิด “บิ๊กเซอร์ไพรซ์” สะเทือนวงการสีกากีกันเลยทีเดียว
งานนี้ บอกได้คำเดียวว่า ศึกตำรวจตัดตำรวจยก 2 ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ สนุกสนานและเร้าใจประชาชนผู้เสียภาษีอย่างเราๆ ท่านๆ เป็นแน่แท้
“บิ๊กโจ๊ก-บิ๊กต่อ” FAST TRACK ไม่แพ้กัน
ตัดภาพกลับมาที่วาระสำคัญคือเรื่อง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” คนใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามโผก่อนหน้านี้ทุกประการ เพราะเป็น “เต็ง 1” อย่าง “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ทั้งภูมิหน้าภูมิหลังนั้นไม่ธรรมดา เพียงแต่มีเรื่องให้ต้องเมาท์มอยอยู่ไม่น้อย ด้วยทีแรกข่าวออกมาตรงกันว่าที่ประชุม ก.ตร.ตัดสินใจตั้ง “บิ๊กรอย-พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 1ให้รักษาการเก้าอี้ตัวนี้ไปก่อน ทว่า ทำไปทำมา ที่ประชุม ก.ตร.ก็ได้ตัดสินใจเลือก “บิ๊กต่อ” เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 ด้วยมติ 9 ต่อ 1
แน่นอน ถ้าหากกวาดสายตาไปดูปฏิกิริยาจากสังคม ก็จะเห็นชัดว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีกองเชียร์ให้การสนับสนุน
ฝ่ายหนุน “บิ๊กต่อ” ก็เยอะ
ฝ่ายเชียร์ “บิ๊กโจ๊ก” ก็มาก
อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังว่า ทั้ง “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” ต่างก็เติบโตในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เร็วไม่ต่างกัน บางคนถึงกับใช้คำว่า FAST TRACK กันเลยทีเดียว
เริ่มจากฝ่าย “บิ๊กโจ๊ก” ที่เส้นทางชีวิตการรับราชการของเขานั้น ต้องถือได้ว่า เป็นผู้มากบารมี โดยเฉพาะในยุครัฐบาล คสช.ที่เจิดจรัสเป็นพิเศษ เพราะเขาคือ “น้องรัก” ของ “พี่ใหญ่” และใช้เวลาเพียง 20 ปี จาก “ร.ต.ต.” ก้าวขึ้นสู่ยศ “พล.ต.ท.” ติดยศ พล.ต.ท.ด้วยวัยเพียง 48 ปี สร้างประวัติศาสตร์ของวงการสีกากีแถมยังเป็นที่คาดหมายว่า มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรสีกากี
เพราะฉะนั้นจะไม่ใช้คำว่า FAST TRACK สำหรับ “บิ๊กโจ๊ก” ได้อย่างไร
ตำแหน่งสำคัญตำแหน่งแรกของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็คือผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนขยับขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ผบก.ทท.) ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.สปพ.) และก้าวกระโดดขึ้น รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รอง ผบช.ทท.) ก่อนที่จะรั้งเก้าอี้ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.)
นอกจาก ผบช.สตม.แล้ว “บิ๊กโจ๊ก” ยังได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) อีกด้วย
ไม่เพียงแค่นี้ “บิ๊กโจ๊ก” ยังได้รับความไว้วางใจโดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “กรรมการ” ของ “รัฐวิสาหกิจ” ถึง 3 แห่งด้วยกันคือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2 รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม และบริษัท รักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด บริษัทในเครือของแบงก์กรุงไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ชีวิตรุ่งโรจน์สุดๆ เป็นที่รับรู้กันว่า “บิ๊กโจ๊ก” มีบทบาทอย่างมากในหลายมิติ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง“การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ” เนื่องจากมีส่วนสำคัญใน “บัญชีโยกย้าย” ทุกระดับ จนได้รับฉายา “ผบ.ตร.น้อย” ด้วยมีความใกล้ชิดและแนบแน่นกับ “เครือข่ายพี่ใหญ่บ้านป่ารอยต่อฯ” ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรองผู้บังคับการ แล้วทำหน้าที่นายตำรวจติดตาม ‘บิ๊กป้อม’ และด้วย “ซูเปอร์คอนเนกชัน” ดังกล่าวจึงทำให้เขาเติบโตมาแบบ “ขี่พายุทะลุฟ้า” ในเส้นทางที่ได้รับการปูทางเอาไว้เป็นขั้นเป็นตอน
ว่า “บิ๊กโจ๊ก” โตเร็วแบบสุดๆ แล้ว หันกลับไปที่ “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” เจ้าของฉายา “มือปราบสายธรรมะ” และ “โรโบคอปสายบุญ” ก็ FAST TRACK ไม่ต่างกัน แถมเร็วกว่าเสียด้วยซ้ำไป
“บิ๊กต่อ” ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่จบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น “สิงห์แดงรุ่น 38”
โดยก่อนเข้ารับราชการตำรวจเมื่อปี 2540 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ก่อนตัดสินใจลาออกเดินหน้าตามความฝันในวัยเยาว์ที่อยากเป็นตำรวจ เข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิ ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4
“บิ๊กต่อ” เริ่มต้นทำงานในเส้นทางตำรวจในตำแหน่ง “รองสารวัตร” กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 จากนั้นโยกย้ายมาเป็นรองสารวัตร ที่กองปราบปราม แล้วขึ้นไปเป็น “สารวัตร” ที่ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะโยกกลับมาเป็นสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบฯ และขึ้นเป็นรองผู้กำกับ ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ และรองผู้บังคับการปราบปรามตามลำดับ
เรียกว่า ได้ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผู้กำกับการ” เป็นครั้งแรกในปี 2559 ใช้เวลาเพียง 4 ปี กับ 3 เดือนเศษ ในการเลื่อนตำแหน่งจากผู้กำกับการ ยศ พ.ต.อ. มาเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง” ยศ พล.ต.ท. จากช่องทางปกติที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบปีขึ้นไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 “บิ๊กต่อ” ก็เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบัญชาการตำรวจแห่งชาติ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 หรือในอีก 1 ปีถัดมาก็ขยับเนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กระทั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา “บิ๊กต่อ” ก็ได้เลือกจากที่ประชุม ก.ตร.ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14
สรุปรวบยอดแบบให้เห็นภาพก็คือ “บิ๊กต่อ” ไม่ใช่ ผบ.ตร.คนแรกที่ไม่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เป็นผบ.ตร.คนแรกที่ทำลายทุกสถิติที่เคยมีมา รวมเวลารับราชการในสตช.ทั้งหมด 24 ปี มาเป็นรองผบ.ตร.ที่มีอาวุโสน้อยสุดลำดับที่ 4 จากแคนดิเดตผบ.ตร.ทั้งหมด 4 คน ก่อนที่ที่ประชุม ก.ตร.จะตัดสินใจให้รั้งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 ด้วยมติเอกฉันท์ 9:1
ทั้งนี้ แม้จะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “ใครคือนายของตำรวจคนใหม่” แต่ก็เชื่อกันว่า “ศึกตำรวจตัดตำรวจ” ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่าง “2 บิ๊ก” คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่าเข้าขั้น “แค้นสั่งฟ้า” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เอาเป็นว่า โปรดติดตามด้วยความระทึกใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นนับจากนี้