xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ก้าวไกล” ยิ่งอันตราย? เมื่อ“ชัยธวัช”รับบทแม่ทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นตามคาด เมื่อที่ประชุมใหญ่ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นเกือบเป็นเอกฉันท์ 330 คะแนน ต่อ 5 คะแนน เลือก “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ หลังจาก “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จำต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ต้องเป็น สส. ขึ้นรับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่การขึ้นสู่หัวหน้าค่ายสีส้มของ “โกต๋อม” ยังมีการจัดอีเวนท์แยกเพื่อเปิดฟลอร์ให้แสดงวิสัยทัศน์ในวันถัดมาที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 หัวหมาก ทั้งที่ความจริงก็มีการเปิดใจไปบางแล้วในที่ประชุมใหญ่ ไม่น่าจะต้องจัดอีเวนท์อะไรให้ยุ่งยากอีก

นั่นแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับตัว “ชัยธวัช” ที่ว่ากันว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล ถูกยกให้เป็น “ขงเบ้งค่ายสีส้ม”

แน่นอนว่าหากพูดถึง “ค่ายสีส้ม” แล้ว ก็ย่อมนึกไปถึง “3 เซียนอนาคตใหม่” อย่าง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้าในปัจจุบัน, “จารย์ป๊อก” ปิยะบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้า, “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีตดฆษกพรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า พลันมาถึงยุคพรรคก้าวไกล สปอตไลท์ก็จับจ้องไป “เสี่ยทิม-พิธา” ที่ปรากฎตามหน้าสื่อมากกว่า

ทำให้แทบไม่มีพื้นที่ให้ “ต๋อม-ชัยธวัช” ได้ฉายแสงอย่างที่ควรจะเป็น ก่อนจะมามีชื่อติดหูช่วงหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่างจากการรับรู้ “ภายใน” ที่มองว่า “ชัยธวัช” หากใช่ “ร่างทรงธนาธร” แต่กลับเป็น “ธนาธร” ต่างหากที่เป็น “ร่างทรงชัยธวัช”
ด้วยฐานความคิดอ่านทางการเมืองของ “ธนาธร” นั้นมี “หัวเชื้อ” มาจากความสนิทสนมกับ “ชัยธวัช” ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนขาสั้นที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา ที่ฝ่ายหลังเป็น “รุ่นพี่”

กระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ที่ “พี่ต๋อม” สอบติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ “น้องเอก” เรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ ม.ธรรมศาสตร์ เส้นทางของทั้งคู่ก็มาบรรจบกันอีกครั้งในฐานะ “เด็กกิจกรรม” ร่วมกันใน คณะกรรมการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

โดย “ชัยธวัช” ที่ในแง่นักกิจกรรมโดดเด่นมากกว่า ได้เป็นเลขาธิการ สนนท.เมื่อปี 2541 ขณะที่ “ธนาธร” เป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2542 ก่อนมาเป็นรองเลขาธิการ สนนท. ปี 2543

อย่างไรก็ดี หลักการ ปรัชญา ฐานคิด ความเป็นมาเป็นไปอย่างลึก ๆ ของ “ค่ายสีส้ม” นั้นมีรกรากมาจาก “นิตยสารใต้ดิน” ที่ชื่อว่า “ฟ้าเดียวกัน” ก่อนก่อร่างสร้างตัวเป็นพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2560 และพรรคก้าวไกลในตอนนี้

โดย “ฟ้าเดียวกัน” เป็นนิตยสาร ที่ผลิตรายสะดวก 3 เดือนบ้าง 6 เดือน หรือวันดีคืนดีออกเป็นพอตเกตบุ๊กบ้าง ภายใต้หลักคิดว่า “ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร” หรือตัดย่อเป็น “คนเท่ากัน” ในระยะหลัง

คีย์แมนสำคัญของ “ฟ้าเดียวกัน” มีด้วยกัน 3 คน ประกอบไปด้วย “ปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มาจนถึงปัจจุบัน, “ต๋อม-ชัยธวัช” ที่เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ช่วงปี 2545-2561 และ “เสี่ยเอก-ธนาธร” ในฐานะลูกมหาเศรษฐีตระกูลดังถูกยกให้เป็น “นายทุน”


ช่วงปี 2545 “ธนาพล” ชักชวน “ชัยธวัช” ให้มาช่วยกันทำสำนักพิมพ์เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม โดย “ชัยธวัช” ก็ได้ไปออกปากชวนให้ “ธนาธร” มาร่วมลงทุนตั้งเป็นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพื่อผลิตนิตยสารและวารสารชื่อเดียวกัน โดยช่วงแรกใช้คอนโดมิเนียมย่านพระราม 4 ของ “ธนาธร” เป็นสำนักงาน

โดยที่มาของชื่อสำนักพิมพ์นั้น “ธนาพล” เคยเปิดเผยว่า มาจาก หนังสือชื่อ “เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน” ของ“ส.ศิวรักษ์” สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ไปถอดมาจากตอนหนึ่งของโคลงของศรีปราชญ์ ขณะที่คอลัมนิสต์ขาประจำของ “ฟ้าเดียวกัน” ก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อคุ้นหู อาทิ ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รวมไปถึง ปิยะบุตร แสงกนกกุล สมัยเป็นอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ เป็นอาทิ

ซึ่งจากที่มาของชื่อสำนักพิมพ์ตลอดจนรายชื่อคอลัมนิสต์ก็ค่อนข้างสะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดของตัวสำนักพิมพ์ และตัวตนของผู้จัดทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง “คอนเทนท์” ที่ออกมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็ล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาฉวัดเฉวียนคาบลูกคาบดอกต่อ “สถาบันเบื้องสูง” จนถูกขนานนามว่าเป็น “หนังสือต้องห้าม”

มีเนื้่อหาเน้นหนักไปที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และแนวคิดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มองว่าการกระทำผิดไม่ได้แตกต่างจากการหมิ่นประมาทระหว่างบุคคลทั่วไป

พูดง่ายๆ ว่า มีการ “ไต่เส้น-ขยับเพดาน” วิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงโดยตลอด กระทั่งถูกตราหน้าว่าเป็น “วารสารล้มเจ้า” ในที่สุด

“ถัาไปดูย้อนหลัง ฟ้าเดียวกันฉบับช่วงรุ่นแรกไม่มีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เลยนะ ส่วนจุดเปลี่ยนก็คือ บรรยากาศทางการเมืองนี่แหละ คือช่วงแรกอาจจะมีอยู่บ้าง เป็นนักวิชาการบางคน เช่น อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แน่นอนอาจารย์ก็สนใจเรื่องนี้ แกก็มาเขียนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักเลยตอนนั้น … เพิ่งจะหลัง 2549 นี่แหละ ที่คนกลับมาเริ่มสนใจ ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น อันนี้ในแง่วงการวิชาการนะครับ เพราะว่าประเด็นนี้มันถูกดึงกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ไม่มี” ชัยธวัช เคยพูดถึง “ฟ้าเดียวกัน”

ในมุมมองของเขาที่มองไม่มีประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าไร ต่างจากมุมมองคนภายนอกที่รู้สึกว่า กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง


หลักการฐานคิดของ “ก๊วนฟ้าเดียวกัน” เริ่มสุกงอม ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ต่อเนื่องถึงการรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จนตกผลึกว่าต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน อันเป็นที่มาของ พรรคอนาคตใหม่ ที่มี “ธนาธร” เป็นหัวหน้าพรรค “ชัยธวัช” เป็นรองเลขาธิการ

และดึง “ติ่ง” ศรายุทธ ใจหลัก อดีตนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นเลขาธิการ สนนท. ปี 2543 ซึ่ง “ธนาธร” เป็นรองเลขาธิการ สนนท. มาเป็นผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะทาบทาม “ปิยะบุตร-พรรณิการ์” เข้ามาร่วมภายหลัง

โดย “ติ่ง-ศรายุทธ” เป็นคนหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในภาพที่ระบุ “ธนาธร-ชัยธวัช” ร่วมการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ทั้ง 3 คนมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่สมัย สนนท. ถูกขนานนามว่าเป็น “ก๊วนวิศวะ สนนท.” ที่มาจากต่างสถาบัน

จนได้เห็นว่าหลายวาระของพรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล ล้วนแล้วแต่ “หมกมุ่น” อยู่กับเรื่องสถาบันเบื้องสูง อันเป็นเหตุผลวสำคัญที่ทำให้ พรรคก้าวไกล ที่แม้ชนะการเลือกตั้งปี 2566 ไม่อาจผลักดันให้ “พิธา” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้สำเร็จ ได้กินแค่ตำแหน่ง “นายกฯ รถแห่-นายกฯ โซเชียล”

ผลผลิตของ “ฟ้าเดียวกัน” ไม่ได้มีแค่พรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล ที่ “ธนาธร-ชัยธวัช” เป็นคีย์แมนเท่านั้น ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะ “ชุดความคิดอันตราย” และเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของ “ม็อบเด็ก” ไม่ว่าจะเป็น คณะราษฎร–แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม-ม็อบทะลุแก๊ส–ม็อบทะลุฟ้า–ม็อบทะลุวัง ฯลฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะให้เกิดเป็น “ด้อมส้ม” ในปัจจุบันด้วย

หรือไม่ต้องอื่นไกล “ช่อ-พรรณิการ์” ที่เพิ่งถูกศาลศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้ เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หลังพบว่าโพสต์ภาพถ่ายและข้อความในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก อันเป็นการกระทำในช่วงที่เจ้าตัวยังเป็น “นักศึกษา” อยู่นั้น ก็เป็นผลพวงมาจาก “เสพ” สื่อทำนองนั้นนั่นเอง

สำคัญที่หลังจาก “3 เซียนอนาคตใหม่” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง “ต๋อม” เริ่มออกหน้ามาเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ “น้องๆ” ที่มี “ชุดความคิดอันตราย” มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “ท่านโรม” รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ที่ทุกวาระการอภิปรายล้วนแล้วแต่ไต่เส้นไปถึงสถาบันเบื้องสูง หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง และผู้ต้องหาคดีความผิดมาตรา 112 ทั้ง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ-“ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว-“ไอซ์” รักชนก ศรีนอก ที่มีคดีติดตัวอยู่มาลงสมัคร สส. ก่อนเป็น “ไฟเขียว” จาก “ต๋อม-ชัยธวัช”

ดังนั้นการขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลของ “ชัยธวัช” ผู้ซึ่งถือปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต แต่ไม่เคยจับงานด้านที่เรียนจบมา เพราะฝังตัวปลุกปั้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ควบคู่ไปกับการเคลื่อนทางการเมือง จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

เป็นสถานการณ์นำพาให้ “ชัยธวัช” ผู้รู้ตื้นลึกหนาบางของหลักการ “ฟ้าเดียวกัน” ลึกซึ้งยิ่งกว่า “พิธา” หรือแม้แต่ “ธนาธร” ที่เคยถูกเชิดให้ออกมาเป็น “นักแสดงนำ” ผ่านการกำกับของ “ชัยธวัช” ที่วันนี้ต้องออกมายืนชูธงหลักคิด “ฟ้าเดียวกัน” ด้วยตัวเอง

ทำให้เชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล ภายใต้การนำของ “ชัยธวัช” จะ “ขยับเพดาน” หลักคิด “ฟ้าเดียวกัน” เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

และอาจเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคมไทยอีกครั้ง เกิดเป็น “ม็อบสามนิ้ว ภาค 2” อีกหรือไม่

เว็บไซต์ The People เพิ่งลงสัมภาษ์พิเศษ “ต๋อม-ชัยธวัช” ในโอกาสได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ โดยจั่วหัวว่า “ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล” หลายช่วงหลายตอนของบทสัมภาษณ์มีความน่าสนใจ และสะท้อนตัวตนของ “ชัยธวัช” ได้เป็นอย่างดี

“ผมคิดว่า สิ่งที่เราอาจจะเผชิญในอนาคต คือมันมีสัญญาณชัดว่า พรรคก้าวไกลเป็นสัตว์ประหลาด เป็นปีศาจของระบบการเมืองไทยที่ผ่านมา ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในอดีต แล้วมันไม่ง่ายที่ผู้มีอำนาจดั้งเดิมต่าง ๆ เขาจะอนุญาตให้พรรคแบบก้าวไกลเติบโตได้ และชนะการเลือกตั้งในอนาคตอย่างง่าย ๆ อันนี้ก็อาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ในอนาคตของการเมืองไทย” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าไว้

การเปรียบพรรคก้าวไกลเป็น “สัตว์ประหลาด-ปีศาจ” ด้วยตัวเองของ “ชัยธวัช” อาจเป็นมุมมองในแง่ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะถูก “กลุ่มผู้มีอำนาจเดิม” ร่วมกันต่อต้าน

แต่อีกด้าน พรรคก้าวไกล เองก็ถือเป็น “สัตว์ประหลาด-ปีศาจ” ของคนที่มีจุดยืนหลักคิด “อนุรักษ์นิยม” ที่ไม่ยอมรับจุดยืนหลักคิดของ “ค่ายสีส้ม” เช่นกัน

จึงอาจพูดได้ว่าการที่ “ชัยธวัช” ที่เป็น “ตัวจริงค่ายสีส้ม” ขึ้นเป็นแม่ทัพก้าวไกลคนใหม่ ก็น่าจะทำให้หลักคิด-จุดยืนของเขายิ่งอันตรายมากกว่าเก่าก็เป็นได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น