xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” รื้อใหม่ “กัญชาไม่เสรี” กระทบชาวบ้าน ธุรกิจสั่นสะเทือน?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ปรับจูนกันใหม่สำหรับนโยบายกัญชาของพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยจากที่เคยถล่มกันเละ มายกใหม่นี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกชัดแล้วว่าจะต้องทบทวนใหม่ และเลิก “กัญชาเสรี” ส่วนท่าทีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ขัดข้อง 

เรียกว่าเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ประชาชนคนไทยจับตาดูว่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ และพรรคภูมิใจไทย เป็นไม้ค้ำยันจะเอาอย่างไรกับนโยบายกัญชาเสรี เพราะต่างรู้กันดีว่าพรรคภูมิใจไทย ดันสุดลิ่มมาตั้งแต่ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน นั่งรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังเตะลูกเลี่ยงตอบคำถามมาหลายเพลา ในที่สุด  นายเศรษฐา ทวีสิน  ก็พูดถึงเรื่องนี้ชัดเจนระหว่างการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ขณะเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ารัฐบาลไทยจะแก้ไขนโยบายกัญชาโดยจะยุติการใช้กัญชาอย่างเสรี ให้ใช้เฉพาะวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามการใช้เพื่อสันทนาการ หลังจากไทยถือเป็นชาติแรกในเอเชียที่ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังจะควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายกัญชาอย่างเสรีภายในกรอบเวลา 6 เดือน ขณะที่กฎหมายว่าด้วยเรื่องกัญชาจะต้องมีการแก้ไขใหม่

สำหรับนโยบายกัญชาเป็นหนึ่งในข้อตกลงร่วมของ 11 พรรคร่วมรัฐบาล ที่เห็นความจำเป็นต่อการจำกัดการใช้กัญชา แต่แนวทางจัดการยังไม่ชัดเจน และในระหว่างหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นที่จะต้องเห็นผลภายในหนึ่งปี พร้อมให้คำมั่นสัญญาจะนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้ง ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งผลักดันกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเป็นผลสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา ประกาศจะเดินหน้ารื้อฟื้นร่าง พ.ร.บ.กัญชา เพื่อควบคุมการใช้กัญชาอย่างเคร่งครัดแต่คัดค้านที่จะกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง


นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศถอดออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีข้อถกเถียงกันถึงร่างกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการและเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีร้านจำหน่ายกัญชาเกือบ 6,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน วิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์กรธุรกิจ และประชาชนทั่วไปยังได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา โดยต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)

หลังนายกรัฐมนตรี เปิดไฟเขียวให้ทบทวนใหม่  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแพลม ๆ ก่อนหน้านี้แล้วว่าต้องเข้ามาดูเรื่องนี้กันใหม่ ก็เตรียมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และกระทรวงยุติธรรม ด้วยว่ามีข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากมีการประกาศใด ๆ ออกไปโดยไม่รอบคอบจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

หมอชลน่าน ยังย้ำตามที่ “นายกฯ นิด” ตั้งธงไว้ คือเน้นเฉพาะทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมเพราะกัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งกฎหมายให้มีสารดังกล่าวได้ไม่เกิน 0.2% ดังนั้นต้องไปดูร่างกฎหมายกัญชากันชง ที่กำลังร่างออกมาว่าจะมีเนื้อหาควบคุมดูแลอย่างไร ส่วนกรณีเปิดโอกาสให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ได้นั้นก็ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไรเช่นกัน

 เมื่อถามว่าผู้ประกอบการที่เปิดร้านสำหรับเสพหรือสันทนาการ ยังสามารถเปิดต่อไปได้หรือไม่ 

 หมอชลน่าน ตอบว่า ถ้ากิจการดังกล่าวไม่กระทบต่อสุขภาพในภาพรวม ก็จะมีข้อกฎหมายเข้าไปกำกับดูแลในภาพรวม พยายามทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์บนพื้นฐานที่ไม่ได้ทำลายสุขภาพ ส่วนจะออกประกาศ กระทรวงสาธารณสุข ควบคุมเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นเรื่องที่สามารถพิจารณาควบคู่ไปกับการร่างพระราชบัญญัติกัญชากันชงได้ ตอนนี้จะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาดูแล 


มีเสียงขานรับจากพรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน พร้อมหารือกับหมอชลน่าน ทางพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย มีวัตถุประสงค์ตรงกันที่เน้นการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางแพทย์ ไม่ใช่เชิงสันทนาการ คนที่บอกว่าใช้กัญชาเพื่อสันทนาการคือคนที่ไม่เข้าใจ พรรคไม่ได้เน้นกัญชาเพื่อสันทนาการหรือเสพเพื่อความบันเทิง แต่เน้นทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ร่างกฎหมายของพรรคก็ไม่มีเรื่องสันทนาการ ส่วนแนวปฏิบัติที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยก็ต้องฟังผู้ปฏิบัติ โดยมีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบาย

เศรษฐา ทวีสิน

 อนุทิน ชาญวีรกูล

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

 ประสิทธิชัย หนูนวล

 รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
 แบ่งขั้ว หนุน – ค้าน เตือน สธ. ฟังความรอบด้าน 

การขยับทบทวนเรื่องกัญชาของพรรคเพื่อไทย มีเสียงขานรับจาก รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ  ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ว่าสนับสนุนหมอชลน่าน ที่จะเดินหน้าพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เน้นการใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ปิดการใช้สันทนาการ ไม่อนุญาตให้ปลูกบ้านละ 15 ต้น และจะออกประกาศนำบางส่วนของกัญชากลับเข้ามาเป็นยาเสพติด
ผอ.ศศก. สะท้อนว่า ในฝั่งของบุคลากรทางการแพทย์นั้น การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คือ คนเจ็บป่วยจากการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น จากข้อมูลการศึกษาในกลุ่มอายุ 18-19 ปี ตั้งแต่ปี 2019 - 2022 มีการสูบเพิ่มขึ้น 10 เท่า หรือสูบเพิ่มขึ้น 9.7% จาก 0.9% นั่นหมายความว่าแม้จะมีกฎหมายห้ามใช้ในเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็มีการไปหาซื้อกัญชาใต้ดินมาใช้ จึงต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาเป็นการเฉพาะ ไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ต้องใช้เวลานาน จึงควรปรับแก้หรือออกประกาศให้นำบางส่วนของกัญชากลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 เหมือนเดิม เพราะปัจจุบันกำหนดให้เฉพาะสารเมาหรือสาร THC เกิน 0.2% เท่านั้นที่เป็นยาเสพติด ทั้งที่ต้นทางอย่างดอกกัญชา ซึ่งมีสารเมาอยู่ในปริมาณมากกลับไม่ถูกควบคุม ดังนั้น ระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ออกมา จึงควรมีประกาศควบคุมตั้งแต่ต้นทาง คือบางส่วนของกัญชาที่มีสาร THC สูง แต่ก็ต้องเขียนให้ชัดว่าอะไรที่ใช้ได้บ้าง เพราะถ้าจะควบคุมไปทั้งหมดก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน

ขณะเดียวกัน  นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีหมอชลน่าน เตรียมเสนอบางส่วนของกัญชากลับเป็นยาเสพติด จากเดิมที่มีเพียงสาร THC ที่มากกว่า 0.2% ว่ากระทรวงสาธารณสุข สามารถชี้นำคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้ หากมีการพิจารณาเห็นชอบแล้วจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบัญชียาเสพติดก็ต้องผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อีกชั้นหนึ่ง คำถามคือว่า หากเป็นยาเสพติดแล้ว การควบคุมโดยร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ อาจจะซ้ำซ้อน หรือไม่สอดรับกันด้วย จึงต้องพิจารณาเพื่อหามาตรการควบคุมอย่างไรให้เหมาะสม

นายปานเทพ ให้ความเห็นว่า แม้ไม่ประกาศส่วนที่เป็นยาเสพติดเพิ่มก็มีการควบคุมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 อยู่แล้ว และมาตรการควบคุมช่อดอกก็สามารถคุมให้เข้มข้นขึ้นได้ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพียงแต่บทลงโทษอาจไม่รุนแรงเท่าการมี พ.ร.บ.เฉพาะ แต่หากต้องการบทลงโทษเหมือนยาเสพติดตามที่สังคมห่วงใย ก็สามารถเพิ่มโทษในร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ได้เช่นกัน ซึ่งเหมาะสมมากกว่า

แต่ความสำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ รับผลประโยชน์หรือไม่ หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย ต่อให้เป็นยาเสพติด ก็จะมีคนลักลอบใช้อยู่ดี เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เกือบ 90% เป็นการใช้กัญชาใต้ดิน แปลว่าไม่ใช่เป็นเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย

 อย่างไรก็ดี หากมีการประกาศให้ส่วนอื่นของกัญชาเป็นยาเสพติด คำถามคือว่า ในส่วนที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ อย่างปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ออกมาเยอะมาก เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม ที่มีความปลอดภัยแต่ก็ไม่ใช่ทางการแพทย์ จะกลายเป็นผิดกฎหมาย ดังนั้นการที่จะประกาศเอาบางส่วนของกัญชาเป็นยาเสพติด ได้ประเมินคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์และปลอดภัยเอาไว้หรือไม่ ถ้าพิจารณาไม่รอบด้านจะเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างสุจริต

นอกจากนั้น หากประกาศให้ส่วนอื่นของกัญชา เช่น ช่อดอกเป็นยาเสพติด ย่อมกระทบต่อผลิตภัณฑ์หรือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้กัญชาเพื่อดูแลตัวเองในครัวเรือน เพราะหากเป็นยาเสพติด จะต้องถูกใช้ในทางการแพทย์และวิจัยเท่านั้น วิถีชาวบ้านที่ไม่นับเป็นการแพทย์ หรือเครื่องสำอาง อาหารเสริม จะใช้ไม่ได้ทั้งนั้น จึงห่วงว่าหมอชลน่าน อาจยังไม่ได้ฟังความเห็นนอกกระทรวง เช่น ผู้ที่ได้ประโยชน์ ผู้ลงทุนอย่างสุจริต หรือผู้ที่ใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพจริง ๆ เป็นอย่างไร หรือมีการสำรวจการใช้ที่ผ่านมาแล้วหรือยัง ซึ่งมิติที่ประชาชนได้ประโยชน์ พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ลดรายจ่าย ลดการพึ่งพาหมอน้อยลง ต้องพิจารณาให้มากกว่ามิติของแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียว 

สำหรับกรณีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยกร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้ง นายปานเทพ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ 94 มาตรา หมายถึงร่างที่มีการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ค้างมาจากสภาชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นร่างที่มีการแก้ไขมาระดับหนึ่งแล้ว ตามขั้นตอนแล้วหากมีการเสนอกฎหมายเข้าไป ก็จะนำไปสู่การพิจารณาของสภาว่าจะรับหลักการหรือไม่ หากเห็นชอบก็จะต้องแปรญัตติ หรือเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขรายมาตรา เพื่อให้ออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะได้ หลังจากนั้นก็ประกาศบังคับใช้ก็จะมีสถานภาพควบคุมในระดับ พ.ร.บ. ซึ่งจะเป็นที่ยุติโดยกระบวนการตามกฎหมาย

ด้าน  นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล  เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เห็นด้วยในเชิงเป้าหมายว่า การใช้กัญชาควรเป็นไปเพื่อการแพทย์และสุขภาพ แต่ต้องมานิยามว่าการแพทย์และสุขภาพคืออะไร ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะจะนำมาสู่รูปร่างหน้าตาของกฎหมาย เมื่อไหร่ก็ตามที่นิยามการแพทย์ว่าคือแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น เมื่อนั้นความขัดแย้งจะตามมา เพราะผู้ที่ใช้กัญชามาหลายร้อยปี คือหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย ไม่ใช่หมอแผนปัจจุบัน องค์ความรู้ในการใช้กัญชาอยู่ที่หมอพื้นบ้าน และประชาชนผู้ใช้กัญชารักษาผู้ป่วย หากโยนกลับไปให้แพทย์แผนปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่รังเกียจกัญชา นี่คือการใช้ความรู้ศูนย์กลางเบียดขับความรู้ท้องถิ่น

นายประสิทธิ์ชัย กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราก็คงต้องเตรียมจัดการชุมนุม เพราะกัญชามูลค่าแสนล้าน การต่อสู้ครั้งนี้ จึงมิใช่เพียงเพื่อกัญชาเท่านั้น แต่คือการต่อสู้ในการนำความรู้ของท้องถิ่นให้มีสิทธิในการกำหนดกติกาของประเทศ

จากนั้น เครือข่ายฯ ได้นัดหารือเพื่อกำหนดท่าทีต่อประเด็นที่ นพ.ชลน่านจะตัดสิทธิการปลูกกัญชาเพื่อความมั่นคงทางยาของประชาชน พร้อมกับออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้หมอชลน่านนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาอย่างรอบด้านมาสังเคราะห์แล้วค่อยกำหนดมาตรการ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีเป้าหมายทำให้กลุ่มคนเฉพาะที่ปลูกได้โดยเฉพาะสส.บางพรรคที่ทำธุรกิจกัญชาอยู่หลายคน ใช่หรือไม่

เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ซึ่งคัดค้านการนำกัญชากลับสู่ยาเสพติดและคัดค้านการตัดสิทธิของประชาชนในการปลูกกัญชาเพื่อความมั่นคงทางยาในระดับครัวเรือน จะมีปฏิบัติการตามลำดับขั้น เริ่มจากการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 12 ตุลาคม 2566 โดยให้เวลา 15 วัน ในการตอบคำถามและให้ข้อมูลที่กระจ่างชัดแก่สังคม หากไม่ดำเนินใดๆ เครือข่ายฯ จะนัดชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ต่อไป




 กระแสเรื่องกัญชา เปิดวอร์มาเมื่อไหร่ก็มีทั้งเสียงหนุน เสียงค้าน หันมาดูสถิติตัวเลขกันสักหน่อย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยสถิติการใช้ กัญชา กระท่อม บุหรี่ สุรา และยาบ้า ของคนไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) ชี้ว่า คนไทยใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 7.8 แสนคน แต่สูบบุหรี่ลดลง 2.4 ล้านคน ดื่มสุราลดลง 5.3 ล้านคน ใช้ยาบ้าลดลง 8.7 หมื่นคน ถ้าสถิติแนวโน้มเช่นนี้ต่อเนื่องคนไทยน่าจะสุขภาพดีขึ้น ปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นผลพวงจากนโยบายปลดล็อกกัญชาและพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดที่ผ่านมา 
 จับตา กัญชาเชิงพาณิชย์ สะเทือน 


การปรับเปลี่ยนนโยบายกัญชาของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง บริษัทในตลาดหุ้นที่เคยประกาศลงทุนในธุรกิจกัญชงกัญชา ต่างขยับรับนโยบายใหม่ และหลังจากนี้ต้องจับตาดูกันว่าบรรดาบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เคยมีแผนลงทุนในธุรกิจกัญชงกัญชา จะยังเดินหน้าต่อไป อย่างไร หรือไม่

นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า บริษัทหลักทรัพย์ กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มต้นน้ำกระทบน้อยสุดหากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายกัญชา จากแผนในการเจาะตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป หลายประเทศประกาศเปิดเสรีกัญชา แต่ไม่อนุญาตปลูกในประเทศ GUNKULก็มีโอกาสรับอานิสงส์นี้ และที่สำคัญฝ่ายวิจัยยังไม่ได้ประเมินรายได้จากธุรกิจกัญชาเข้าไปจึงไม่กระทบด้านราคาหุ้น

ก่อนหน้านี้ GUNKUL ประกาศพร้อมบุกธุรกิจกัญชง-กัญชาครบวงจร ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจกัญชง-กัญชาทั้งนำเข้าเมล็ด, การปลูก, โรงสกัดสาร, และส่งออกสารสกัดจากพืชกัญชงครบถ้วน โดยพืชกัญชงบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจทั้งการปลูก–สกัด–ส่งมอบผลผลิตให้กับคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้า–และพัฒนาสายพันธุ์ ส่วนพืชกัญชา บริษัทมุ่งเน้นการทำตลาดต่างประเทศ โดยศึกษาร่วมกับองค์กรผู้พัฒนายารักษาโรคร้ายแรง อาทิ ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นสาระสำคัญในการผลิตยารักษาโรครวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่น ๆ

ส่วนบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ผู้บริหารยืนยันไม่กระทบรายได้จากเครื่องดื่มกัญชายังไม่ได้มีนัยสำคัญต่อรายได้ซึ่งเชื่อมั่นว่าเครื่องดื่มยังวางจำหน่ายได้เพียงแต่อาจจะต้องใช้คำอื่นแทน เช่น เครื่องดื่ม CBD เป็นต้น

ขณะที่ บล.ยูโอบี (ประเทศไทย) ยังแนะให้ซื้อ SNNP เป้า 26.50 บ.กำไรเติบโตสูง 20.6% ต่อปี เฉลี่ยตั้งแต่ปี 67-69 จากผลิตภัณฑ์หลากหลายลดการพึ่งพาสินค้าใดสินค้าหนึ่งเพียงอย่างเดียว

 เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ในปี 2566 โดยดูจากยอดขายต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุนหรือกำไรสุทธิผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน ความต้องการและความสอดคล้องกับกระแสนิยม จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ผลปรากฏว่าธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ใบกระท่อม ติดอันดับ 1 ใน 10 ธุรกิจดาวรุ่ง โดยประเมินว่าธุรกิจกัญชาในประเทศไทยจะขยายตัว 15% จนถึงปี 2568 หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 43,000 ล้านบาท 


ในเวลานั้น ความเชื่อมั่นว่าธุรกิจกัญชง กัญชา และใบกระท่อม ซึ่งเป็นสมุนไพรทรงคุณค่าหากใช้ในทางที่ถูกที่ควร และสามารถต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ดึงดูดให้กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ที่เดินหน้าธุรกิจกัญชง-กัญชา โดยเข้าซื้อบริษัท อีโกรนิกซ์ จำกัด หรือ EGRONIX เพื่อลงทุนต่อยอดในด้านการปลูกและจำหน่ายพืชกัญชง พืชกัญชา และพืชอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

เช่นเดียวกับบริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ที่เตรียมลุยสู่ธุรกิจพืชสมุนไพรผ่านบริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด (KWHB) โดยบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดที่ได้จากพืชกระท่อมทั้งในรูปแบบ ละลายน้ำ แคปซูล เป็นต้น ส่วนธุรกิจสกัดสารจากพืชสมุนไพรไทยกัญชา-กัญชง อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ส่วน บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ร่วมกับบริษัทย่อยในเครืออย่างบริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด (CW) ผนึกกำลังกับบริษัท อะโกรว์แล็บ จำกัด (AgrowLab) และ บริษัท อโกรว์พลัส จำกัด (AgrowPlus) พัฒนาการปลูกกัญชา-กัญชงในโรงเรือนที่ Cannabiz way Valley อ.วิหารแดง จ.สระบุรี

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกลุ่มบริษัทที่ประกาศชัดเจนว่าจะลุยธุรกิจน่านน้ำใหม่อย่างกัญชง กัญชา เช่น กลุ่มบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป หรือ GTG ที่ตั้งเป้าเป็น “ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย” จากธุรกิจกัญชา โดยมองแนวโน้มธุรกิจกัญชาทั่วโลกเติบโตสูงมาก ข้อมูลจาก fortunebusinessinsights คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 – 2571 ธุรกิจกัญชาจะมีอัตราการเติบโต 30% ต่อปี หรือมีมูลค่าถึง 197,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2571 จากปี 2564 มีมูลค่า 28,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าภายใน 2567 หลายประเทศเตรียมปลดล็อกกัญชาให้เป็นธุรกิจถูกกฎหมาย

สำหรับ GTG ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสายพันธุ์กัญชามากว่า 12 สายพันธุ์ และถือเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับมาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ของเยอรมัน ครอบคลุมถึงการปลูก การตาก การบ่ม การเก็บ โดย GTG มีแผนการพัฒนาธุรกิจและส่งออกกัญชาทางการแพทย์สู่สหภาพยุโรปในปี 2566 ขณะเดียวกัน GTG ได้เปิดฟาร์มกัญชาต้นแบบขนาดพื้นที่กว่า 5,000 ตร.ม. บริเวณถนนอาจณรงค์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำธุรกิจกัญชาแบบครบวงจร ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ที่เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องเพราะได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนส่วนกลางน้ำที่เตรียมลงทุนสร้างโรงงานสารสกัด CBD ในกัญชง และสาร THC ในกัญชา ซึ่งบริษัท ที่ประกาศแผนลงทุนในส่วนนี้มาก่อนหน้า เช่น บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD, บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ JP เป็นต้น

สำหรับกลุ่มเน้นลงทุนปลายน้ำที่วางเป้าหมายนำสารสกัดไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ก่อนหน้านี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เตรียมเข้ามาลงทุน เช่น บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือNRF, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS, บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN, บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือSAPPE, บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO, บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC, บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นต้น

 เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน นโยบายกัญชาเปลี่ยน ต้องติดตามดูว่าประชาชนคนไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาเป็นความมั่นคงทางด้านยาในชีวิตประจำวัน ขณะที่รัฐคุมเข้มไม่ให้มีการใช้กัญชาในทางที่เกิดโทษ และผู้ประกอบการ นักลงทุนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชายังต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ อย่างไร 



กำลังโหลดความคิดเห็น