xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รร.นานาชาติบูม มูลค่า 7 หมื่นล้าน เจาะกลุ่มผู้ปกครอง “มั่งคั่ง-ร่ำรวย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


The Newton Sixth Form School โรงเรียนนานาชาติใจกลางสยามสแควร์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  มูลค่าตลาดธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 200 แห่ง กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วน 70 % และในพื้นที่ต่างจังหวัด คิดเป็นสัดส่วน 30%  

เป็นที่ทราบกันว่า ค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยของโรงเรียนนานาชาติอยู่ในระดับราคาค่อนข้างสูงเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 1.25 แสนบาทต่อปี ไปจนถึงประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี แลกกับคุณภาพการศึกษาที่ยอดเยี่ยมเป็นมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) เปิดเผยข้อมูลว่า โรงเรียนทุกแห่งมีอัตราการเติบโตมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะพื้นที่เมืองหลวงเมืองท่องเที่ยวเติบโต 100% แต่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเติบโต 10 - 50% โดยมีโรงเรียนนานาชาติที่เป็นสมาชิก ISAT จำนวน 170 กว่าแห่ง และมีนักเรียนในเครือของสมาชิกประมาณ 80,000 คน มีครูประมาณ 8,000 คน

 มูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และช่วงหลังโควิด-19 มูลค่าเพิ่มขึ้น 7 หมื่นล้านบาทต่อปี หากถ้ารวมโรงเรียนนานาชาติที่อยู่นอกสมาชิกสมาคมฯ มูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี 

สำหรับธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยมีแนวโน้มในทิศทางบวก ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติขยายตัวจากการขยายตัวของจำนวนคนไทย ผู้มีความมั่งคั่งสูง รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในไทย เป็นกลุ่มศักยภาพทางการเงินสูง ต้องการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ

อ้างอิงรายงาน Knight Frank’s the Wealth Report ระบุว่าปี 2016 – 2022 มีจำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง (High NetWorth Individuals: HNWIs) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี สะท้อนให้เห็นกลุ่มคนไทยที่มีความมั่งคั่งกลุ่มนี้ มีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ นอกจากนี้ มีการคาดการณ์จำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูงจะขยายตัวถึง 1.6 แสนคนในปี 2026 ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเติบโตการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติในไทย นอกเหนืออุปสงค์ของผู้ปกครองชาวไทยที่มีความมั่งคั่งทางการเงินพร้อมส่งบุญหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติแล้ว ยังมีในส่วนของอุปสงค์การเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติจากฝั่งผู้ปกครองที่เป็นชาวต่างชาติ มีจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในตำแหน่งระดับสูงในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสัญชาติจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมถึงชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามาปฏิบัติงานด้านการทูต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการโยกย้ายครอบครัวเข้ามาพักอาศัยระยะยาวในไทย และมีความสามารถในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ

แม้ในช่วง ปี 2020-2021 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ชาวต่างชาติที่ทำงานในตำแหน่งระดับสูงในไทยลดลงเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2022 มีชาวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นจากการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติที่เข้มงวดในประเทศจีนที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลจีนได้กำหนดให้การเรียนการสอนในช่วงการศึกษาภาคบังคับ K9 (เทียบเท่าระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นของไทย) จะต้องเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาล และไม่อนุญาตให้ใช้หลักสูตรจากต่างชาติส่งผลให้ชาวจีนมีแนวโน้มส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนนานาชาติในต่างประเทศมากขึ้น โดยโรงเรียนนานาชาติในไทยเป็นจุดหมายสำคัญที่ผู้ปกครองชาวจีนเลือกที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษา

ขณะเดียวกันบรรดาผู้ปกครองชาว CLMV (กลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ที่มีฐานะดี ก็มีแนวโน้มส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทย เนื่องจากค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงยังสามารถเดินทางไปมาระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย และใช้ระยะเวลาที่ไม่นานนัก

ส่วนทำเลที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่เจาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองสำคัญที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการค้า เช่น ชลบุรี ที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมถึงภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค

จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รองรับอุปสงค์ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง โดยปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ในไทยที่สามารถรองรับนักเรียนได้ตั้งแต่ 1,500 คนขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำานวนโรงเรียนนานาชาติโดยรวมทั้งหมด และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน และกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5% ต่อปี ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด จำนวนโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนจำนวนโรงเรียนนานาชาติในต่างจังหวัดปรับตัวสูงขึ้นจาก 34% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติ

ขณะที่โรงเรียนนานาชาติขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งสามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดเฉลี่ยประมาณ 420 คน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดโรงเรียนนานาชาติมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านอัตราค่าเล่าเรียน ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน ไปจนถึงหลักสูตรต่างๆ ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองมีทางเลือกในการส่งบุตรหลาน เข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น

 บทวิเคราะห์ SCB EIC เผยว่าแนวโน้มการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีความรุนแรงขึ้น ตามการขยายธุรกิจ รวมถึงยังเผชิญความท้าทายทั้งจำนวนนักเรียนที่อาจขยายตัวได้ช้าจากอัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทย และต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามการขยายธุรกิจไปตามพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก และปริมณฑล โดยที่ผ่านมาโรงเรียนนานาชาติที่มีประสบการณ์ และมีชื่อเสียงมายาวนาน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน กรุงเทพฯ ชั้นใน  

และจากข้อจำกัดของทำเลพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ประกอบกับการขยายตัวของความเป็นเมือง ส่งผลให้ผู้เล่นในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติทั้งผู้เล่นรายเดิมที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษามีแผนขยาย Campus ออกไป รวมถึง ผู้เล่นรายใหม่ที่ได้เข้ามาลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะพัฒนา โรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยยังเป็นการขยายธุรกิจ ที่สอดคล้องไปตามการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัย

พบว่าผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาพัฒนาโครงการ ที่อยู่อาศัยระดับบน อย่างบ้านเดี่ยวราคา 20 ล้านบาทขึ้นไปในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้ เป็นผู้มีความมั่งคั่งสูง จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาตินับเป็นปัจจัยหนุนให้ ผู้เล่นในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติหันมาพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ มากขึ้นด้วยเช่นกัน

เช่น ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่ เขตบางพลัด ตลิ่งชัน รวมไปถึง อำเภอเมืองนนทบุรี บางกรวย และบางบัวทอง ตามแนวถนนราชพฤกษ์ ฝั่งทิศตะวันออก ได้แก่ สวนหลวง บางนา ประเวศ พระโขนง สะพานสูง บึงกุ่ม ลาดกระบัง และตามแนวถนนวงแหวนฝั่งตะวันออก และถนนบางนา-ตราด ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมธุรกิจระหว่างภาคอสังหาริมทรัพย์กับภาคธุรกิจการศึกษา อย่าง คูน เอสเตท จำกัด (Koon Estate) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จับมือกับ Asia International School Limited (AISL) ผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 10 แห่ง เพื่อพัฒนาโครงการไฮด์พาร์ค การ์เด้น บ้านเดี่ยวระดับซูเปอร์ลักชัวรี บนทำเลย่านดอนเมือง มูลค่าโครงการ 6.5 พันล้านบาท ชูจุดเด่นบ้านหรูติดโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กรุงเทพฯ สร้างคอมมูนิตีต้นแบบเพื่อการศึกษาและการใช้ชีวิตอย่างลงตัว

ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปตามพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก และปริมณฑล ซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่โรงเรียน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น เช่น การเพิ่มจำนวนห้องเรียน อาคารเรียน หอพัก สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยมีเป้าหมายในการช่วงชิงจำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาจากทั้งนักเรียนไทย และนักเรียนต่างชาติ ทั้งที่เข้ามาพร้อมกับครอบครัวที่เข้ามาประกอบธุรกิจ หรือเข้ามาทำงานในไทย รวมถึงนักเรียนจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่ผู้ปกครองส่งเข้ามาเรียนในไทย

การช่วงชิงจำนวนนักเรียนจะเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น กลุ่มโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการ ที่มีอัตราค่าเล่าเรียนอยู่ในช่วง 5 - 8 แสนบาทต่อปีจะมีการแข่งขันที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากยังคงมีอัตราการเข้าเรียนของนักเรียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44% ของความจุสูงสุดที่โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้ ซึ่งยังคงเหลือพื้นที่ว่างสำหรับรับนักเรียนใหม่ให้เต็มความจุสูงสุดอยู่ค่อนข้างมาก

 อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาประชากรอัตราการเกิดต่ำ เป็นภาพสะท้อนในอีกมุมหนึ่งว่าการที่ครอบครัวมีบุตรน้อยลงหรือมีเพียงคนเดียวนั้น ในกลุ่มผู้ปกครองที่มีฐานะดีมีความมั่งคั่งมั่นคงสูง จะส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ ด้วยความเชื่อในมาตรฐานการเรียนระดับมาตรฐานเป็นสากล 


กำลังโหลดความคิดเห็น