xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนจนมีสิทธิ (กินอย่างอื่น) ไหม!? “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีทั่วโลก” สะท้อนความเปราะบางทางการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ยอดการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (all-time high) โดยมีรายงานวิเคราะห์เป็นภาพสะท้อนปัญหาราคาอาหารที่พุ่งสูงทั่วโลก และผู้บริโภคคนหันมากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ราคาไม่แพงเข้าถึงง่าย


รายงานของสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) เปิดเผยว่าดีมานด์การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 121,200 ล้านหน่วยการบริโภค (ห่อต่อก้อน) เพิ่มขึ้น 2.6% จากปี 2022 เพิ่มขึ้นติดต่ดกันเป็นปีที่ 7 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (all-time high) โดยตัวเลขดังกล่าวอิงจากการจัดส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยประมาณใน 56 ประเทศ โดยมีจีนและฮ่องกง เป็นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันดับ 1 ของโลก อันดับ 2 คือ อินโดนีเซีย ตามด้วย อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น

ปี 2020 ปีแรกของการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ความต้องการซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น 9.5% ปี 2021 ลดลง 1.4% และเพิ่มขึ้นในปี 2022 ด้วยเหตุผลเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงในเกือบทุกประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง และเลือกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีราคาที่เข้าถึงง่าย เป็นการทดแทนการกินอาหารที่มีราคาสูง

อย่างไรก็ตาม ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวอย่างมากรุกตลาดเม็กซิโกและสหรัฐฯ ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นที่นิยมทั่วเอเชียมาก่อนเกิดโควิด-19 อยู่แล้ว ด้วยรสชาติของเครื่องปรุงรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมอาหารของชาวเอเชีย ซึ่งความนิยมในการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก

อีกทั้ง นิสซิน ฟู้ดส์ (Nissin Foods) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของโลก เปิดเผยข้อมูลว่าผู้บริโภคชนชั้นกลางที่ไม่เคยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก่อน กำลังนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้าสู่ชีวิตประจำวันของพวกเขา เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ

สำหรับเมืองไทยตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโต 1% ในเชิงปริมาณ และประมาณ 6-7% ในเชิงมูลค่า

 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย มีผู้เล่นหลัก 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) แบรนด์มาม่า, บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด แบรนด์ ซื่อสัตย์, บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด แบรนด์ไวไว, บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด แบรนด์ยำยำ และ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด แบรนด์ นิชชิน 

อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่รวมตัวเข้ายื่นหนังสือเพื่อให้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดการพิจารณาและอนุมติให้มีการปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยเร็ว หลังจากที่แต่ละรายได้ยื่นขอปรับราคากันเองแล้วตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับราคาแต่อย่างใด โดยยื่นขอปรับราคาอีก 2 บาท จากเดิมตัวหลักคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองราคา 6 บาท ขอเพิ่มเป็น 8 บาท

สำหรับสาเหตุที่เรียกร้องให้ปรับขึ้นราคาขึ้น เพราะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น จากราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเท่าตัว วัตถุดิบหลักอย่าง สาลีที่เพิ่มขึ้น 20-30% รวมทั้ง ต้นทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น 12-15%

ต่อมา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อนุมัติให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองขนาดปกติ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 7 บาท โดยจะเริ่มมีผลในวันที่ 25 ส.ค. 2565

 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม  อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่ากรมการค้าภายในได้พิจารณาการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ทางกรมการค้าภายในได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ด้วยว่า หากราคาต้นทุนปรับลดลง ผู้ผลิตจะต้องปรับราคาขายลงตาม และต้องแจ้งข้อมูลการรับซื้อวัตถุดิบมายังกรมการค้าภายในให้ตรวจสอบ เพื่อดูแลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนดีที่สุด ถ้าพบเห็นขึ้นราคาเกินกำหนดจำคุก 7 ปีปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 Krungsri Research  เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทาน เปิดเผยว่าความต้องการบริโภคเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังซื้อซบเซา เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาถูก และใช้บริโภคทดแทนได้ในยามขาดแคลนอาหารสด อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่หลากหลายและแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศน่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่ไม่สูงนัก ขณะที่ตลาดส่งออกยังมีทิศทางเติบโตดีในปี 2566-2567 โดยการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีสัดส่วนถึง 80-85% ของปริมาณการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด ข้อมูลปี 2564 การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมีปริมาณมากเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยจำนวน 3.63 พันล้านหน่วยบริโภค และมีอัตราการบริโภคที่ 51.9 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก รองจากเวียดนาม (87.1 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) เกาหลีใต้ (73.3 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) และเนปาล (53.6 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) เทียบกับการบริโภคเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 15.4 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี ดังนั้น ตลาดในประเทศจึงเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ขณะที่ยังคงมีผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปทดแทนออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ ด้านการส่งออกมีสัดส่วน 15-20% ของปริมาณการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด โดยมีปัจจัยหนุนจากการใช้ประโยชน์ของการรวมกลุ่ม AFTA ในตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่สูงนักจึงยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว ที่นิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากไทย เนื่องจากคุ้นเคยในรสชาติและเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิต

ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยเติบโตได้ดี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มแมสคงทำยอดขายได้ดี จากราคาที่ตอบโจทย์ในภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มพรีเมียมก็เติบโตจากเทรนด์การบริโภคของกลุ่มคนรุ่นใหม่และรสชาติที่หลากหลาย

 แต่อย่างไรก็ตาม ตามบทวิเคราะห์ข้างต้นสะท้อนว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเมืองไทยใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ทำให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เช่น แบรนด์มาม่า ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 50% ได้ขยายธุรกิจในตลาดยุโรป แอฟริกา และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 40% ภายใน 2 ปี ซึ่งตลาดยุโรปมีความต้องการสูงเป็นพิเศษ เพราะคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นั่นจำนวนมาก  

 นายพันธ์ พะเนียงเวทย์  ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ แบรนด์มาม่า เปิดเผยภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยอดขายต่างประเทศเติบโตมากกว่า 10% ขณะที่ตลาดในประเทศยอดขายอืด คาดทั้งปีจะโต 3-4% หลังหมดมาตรการคนละครึ่ง ทำให้สินค้าจำเป็นทุกหมวดยอดขายตกลง สวนทางกับสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อาหารยอดขายโตขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการปรับราคาขายต่างประเทศและในประเทศขึ้น ทำให้มูลค่าขายเพิ่มสูง แต่จำนวนปริมาณขายลดลง เช่น ปี 2565 ขายได้ 100,000 หีบ ปี 2566 ขายได้ 90,000 หีบ เป็นต้น

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ เปิดเผยว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในตลาดเกาหลีใต้มีโอกาสเติบโตเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้กับชาวเกาหลีที่นิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่ๆ แทนรสชาติเดิมที่เป็นที่คุ้นเคยของชาวเกาหลีอยู่แล้ว

ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จไทยมีความนิยมอย่างมากในตลาดเกาหลีใต้ โดยเฉพาะรสชาติเผ็ดและรสชาติของอาหารไทย เช่น รสต้มยำกุ้ง หรือผัดไทย หรืออาจจะพัฒนารสชาติใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นที่นิยมในตลาดเกาหลี เช่น ปูผัดผงกะหรี่ เนื่องจากจะเป็นจุดเด่นและสร้างความแตกต่างในตลาดเกาหลี ซึ่งสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดเกาหลีได้เป็นที่เรียบร้อย สามารถหาซื้อง่ายตามไฮเปอร์มาร์เก็ตของเกาหลี

นอกจากนี้ เนื่องจากเทรนด์การสนใจในสุขภาพเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคชาวเกาหลีจำนวนมากเลือกที่จะบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ลดโซเดียมและเลือกบะหมี่ชนิดที่ไม่ผ่านการทอด (Non-fried) เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตและส่งออกสินค้าบะหมี่เพื่อสุขภาพรุกตลาดเกาหลีต่อไป

 สุดท้ายความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะห้วงเศรษฐกิจซบเซากำลังซื้อตก 


กำลังโหลดความคิดเห็น