คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในการทำความเข้าใจขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม ควรเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเบลเยี่ยมมีที่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1831 มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1993 และแก้ไขครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2012 แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ระบอบการปกครองที่เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ แล้วว่า รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับ อันได้แก่ ฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากหลักการการปกครองของอังกฤษด้วย ที่ไม่เรียกว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่อังกฤษปกครองด้วยรัฐธรรมนูญตามจารีตประเพณี
ผู้เขียนได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1791 และฉบับ ค.ศ. 1814 ไปแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับที่สามที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยม นั่นคือ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับต่อจากรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1830 เป็นผลจาก “การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม” ที่เกิดจากกระแสต่อต้านกฎหมายต่างๆ ที่เสนอโดยรัฐบาลอัลตร้ารอยัลลิสต์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ
พระเจ้าชาร์ลสที่สิบถูกบังคับให้สละราชสมบัติ แต่สำหรับผู้คนที่ต่อต้านพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ แม้พวกเขาจะเห็นพ้องต้องกันที่พระองค์ต้องสละราชสมบัติ แต่คนเหล่านี้มีความเห็นต่างต่อตัวผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ ในขณะที่บรรดาผู้นำมวลชนในปารีสต้องการนำฝรั่งเศสกลับไปสู่อุดมการณ์ในช่วงทศวรรษ 1790 และต้องการให้เป็นสาธารณรัฐ ส่วนบรรดาพ่อค้า นายธนาคารและผู้ประกอบวิชาชีพที่มั่งคั่งรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงต่อกระแสสาธารณรัฐ เพราะพวกเขาเกรงว่า พวกสาธารณรัฐจะไม่เคารพในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของพวกตน และเกรงว่าการเมืองจะตกอยู่ภายใต้มวลชนที่ไม่มีสติปัญญา
สาเหตุที่พ่อค้า นายธนาคารและผู้ประกอบวิชาชีพต่อต้านพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ ไม่ใช่เพราะพวกเขาเชื่อในหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะพวกเขาปรับตัวไม่ทันและรับไม่ได้กับการใช้พระราชอำนาจของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ
เจ้าชาร์ลสที่สิบ พวกเขาจึงรีบออกมาสนับสนุนรูปแบบการปกครองที่พวกเขาเห็นว่าจะช่วยปกป้องพวกเขาจากกระแสสาธารณรัฐได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การประนีประนอมระหว่างการรักษาระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกับกระแสสาธารณรัฐนิยม นั่นคือ ทำอย่างไรให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไปโดยไม่มีสายราชวงศ์บูร์บองของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบขึ้นครองราชย์ และบุคคลที่เป็นคำตอบสำหรับทุกฝ่ายคือ การให้หลุยส์ ฟิลลิป (Louis Philippe) จากสายออร์ลีน (Orléans) ขึ้นเป็นกษัตริย์ และแก้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814
ในการแก้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ได้มีการตัดส่วนที่เป็นคำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญ (ศุภมัสดุ) โดยศุภมัสดุของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 กล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นหลักการของระบอบการปกครองเก่าก่อนหน้าการปฏิวัติในช่วงทศวรรษ 1790 และพระราชอำนาจดังกล่าวเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ได้เปลี่ยนจาก “พระผู้เป็นเจ้า” มาเป็น “ชาติ”ที่เป็นที่มาของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
รัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขนี้จึงมีที่มาจาก “ชาติ” ไม่ใช่มาจากการพระราชทานโดยพระมหากษัตริย์ และพระเจ้าหลุยส์ ฟิลลิป พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่และพระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขนี้จะต้องปฏิญาณที่จะต้องรักษาปกป้องรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1830 ที่เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 มีสาระสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 16 ที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมาย
สอง ยกเลิกการการสืบสายโลหิตของสมาชิกสภาสูง
สาม ให้สมาชิกทั้งสองสภาสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ โดยก่อนหน้านี้ การเสนอร่างกฎหมายจำกัดอยู่แต่พระมหากษัตริย์
สี่ ศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกไม่ได้เป็นศาสนาประจำรัฐอีกต่อไป แต่ถือเป็นศาสนาที่ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่นับถือ
และหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1830 ไปได้เพียงหนึ่ง เบลเยี่ยมก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่รูปแบบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมฉบับแรก ค.ศ. 1831 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับ นั่นคือ ฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากหลักการปกครองของอังกฤษ ซึ่งได้แก่ หลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers)
ในขณะที่เบลเยี่ยมใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยมีการแก้ไข ทำให้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยมดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 192 ปี ยาวนานกว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยราว 100 ปี แต่ฝรั่งเศสใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1830 ได้เป็นเวลาเพียง 18 ปีก็อันสิ้นสุดลงไปพร้อมๆกับอวสานของสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้เข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า “สาธารณรัฐที่สอง” (the Second Republic) ในปี ค.ศ. 1848
อิทธิพลที่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 มีต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 อย่างชัดเจน ได้แก่
หนึ่ง การกำหนดว่า “ชาติ” คือที่มาของอำนาจทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในมาตรา 25
สอง การกำหนดให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังที่ปรากฏในมาตรา 14
สาม การไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมาย และกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจบริหารเท่านั้น และใช้อำนาจบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในมาตรา 29 และ 30 ซึ่งนอกจากจะได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 แล้วยังได้รับอิทธิพลหลักการแบ่งแยกอำนาจจากการปกครองของอังกฤษด้วย
ส่วนสาระสำคัญในหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 มีทั้งสิ้น 26 มาตรา นั่นคือ มาตรา 60-85 และผู้เขียนจะได้ลงในรายละเอียดในตอนต่อไป