คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ก่อนเยือนจีนครั้งใหม่ (ต่อ)
พูดถึงหน่วยงานที่เชิญแล้วผมก็ควรบอกด้วยว่า หน่วยงานที่เชิญเป็นใคร
หน่วยงานที่เชิญนี้คือ สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน (The Chinese People’s Association for Friendship with Foreign Countries) หรือที่มักเรียกย่อๆ ว่า สมาคมมิตรภาพ สมาคมนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1954 หลังจากนั้นเคยเปลี่ยนชื่อมาแล้วสองครั้ง แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่ชื่อนี้
บทบาทหลักของสมาคมนี้คือ สร้างความสัมพันธ์กับองค์กรภาคเอกชนหรือองค์กรภาครัฐบาลในต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในระหว่างกันจนเกิดความไว้วางใจกัน ก่อนจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตในที่สุด
อันที่จริงแล้วจีนยังมีหน่วยงานในลักษณะนี้อีกองค์กรหนึ่งคือ สถาบันกิจการต่างประเทศแห่งประชาชนจีน (The Chinese People’s Institute of Foreign Affairs) แต่องค์กรนี้เล็กกว่าองค์กรแรก แต่มีบทบาทในการติดต่อกับแขกต่างประเทศในระดับผู้นำที่สูงกว่าและเป็นทางการมากกว่า
แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น องค์กรทั้งสองจะเชิญบุคคลในประเทศที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนให้ไปเยือนจีน โดยให้บุคคลที่ได้รับเชิญเป็นผู้เลือกว่าประสงค์จะไปที่ใดในจีน ซึ่งโดยมากแล้วผู้ได้รับเชิญมักจะเลือกไปเมืองหรือสถานที่ที่มีชื่อเสียง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจีนที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก
เช่น กำแพงเมืองจีน วังต้องห้าม สุสานราชวงศ์หมิง สุสานฉินสื่อฮว๋างตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) เป็นต้น
โดยจีนหวังว่า เมื่อแขกของตนได้ไปเยือนแล้วก็จะได้เห็นความจริงในจีนไปด้วย ว่าไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่มีการโฆษณากันในโลกเสรี คือเห็นว่าคนจีนก็เหมือนคนปกติทั่วไปที่มีอัธยาศัยไมตรี มีน้ำใจและมีกิริยามารยาทที่ดี เหมือนกับผู้คนในชาติอื่นๆ ที่มิใช่ประเทศคอมมิวนิสต์
ส่วนบ้านเมืองจีนก็ไม่ต่างกับบ้านเมืองของประเทศในโลกเสรี คือมีตึกรามบ้านช่องใหญ่บ้างเล็กบ้างในเมือง มีชนบทที่ผู้คนทำไร่ไถนาและมีผลผลิตที่งอกงามน่ากินน่าดูชม ไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ล้าหลัง หรือจับเอาผู้คนมาไถนาแทนวัวควาย ฯลฯ
เมื่อไปเห็นแล้วจีนก็หวังว่า แขกที่มาเยือนจะได้บอกเล่าความจริงดังกล่าวให้คนในประเทศของตนได้รู้ เมื่อรู้แล้วก็จะได้เลิกเกลียดกลัวจีน และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนต่อไป หรือถ้ายังไม่มีผลไปถึงระดับนั้น จีนก็จะยังคงติดต่อในลักษณะนี้ต่อไป
การที่องค์กรดังกล่าวมีบทบาทเช่นว่านับว่าได้ผลในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งของประเทศนั้นๆ ได้เข้าใจจีนในทางที่ควรจะเป็น ส่วนบุคคลในระดับผู้นำจะเข้าใจไปด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จีนรอได้
ด้วยเหตุนี้ วิธีการสร้างความเข้าใจระหว่างกันเช่นนี้จึงถูกเรียกว่า การทูตระดับประชาชน
การทูตในลักษณะนี้ในโลกเสรีก็มีเหมือนกัน และทำไปด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้แตกต่างไปจากที่จีนทำมากนัก นั่นคือ เชิญบุคคลในประเทศอื่นให้ไปเยือนประเทศของตน เพื่อให้ได้เห็นโลกที่เสรีดีและน่าอยู่อย่างไร จะได้เลือกที่จะมีชีวิตในโลกเช่นนั้น ไม่ใช่ไปเลือกที่จะอยู่ในโลกคอมมิวนิสต์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงสมัยเด็กไม่ได้ว่า ตอนนั้นประเทศไทยเรามีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง โดยไทยรับนโยบายนี้มาจากสหรัฐอเมริกาอีกต่อหนึ่ง ภายใต้นโยบายนี้จึงทำให้ไทยต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยรูปแบบต่างๆ ไปด้วย
สมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษานั้น การต่อต้านคอมมิวนิสต์ของไทยที่คนในรุ่นผมได้สัมผัสก็คือ ใบปิด (poster) กับหนังสือการ์ตูน
ถ้าเป็นใบปิดแล้ว ใบปิดจะเป็นภาพวาดสี่สี ภาพวาดนี้จะแบ่งเป็นสองช่อง ช่องหนึ่งจะแสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนในโลกคอมมิวนิสต์ อีกช่องหนึ่งเป็นช่องที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนในโลกเสรี ถ้าเป็นโลกคอมมิวนิสต์ก็จะวาดให้เห็นภาพชีวิตที่อัตคัดขัดสน แร้นแค้นขมขื่น และหดหู่หรือโหดร้าย
แต่ถ้าเป็นโลกเสรีแล้วภาพก็จะถูกวาดให้ตรงกันข้ามกับโลกคอมมิวนิสต์
เช่น ถ้าเป็นชีวิตชาวนาในชนบท ภาพชาวนาในโลกคอมมิวนิสต์จะแบกคันไถไถนาแทนวัวควายด้วยความทุกข์เข็ญ ในขณะที่ชาวนาในโลกเสรีจะขับรถแทรกเตอร์ไถนาด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
ถ้าเป็นชีวิตในครอบครัว ภาพจะวาดให้ครอบครัวในโลกคอมมิวนิสต์นั่งล้อมวงกินข้าวท่ามกลางแสงสลัวๆ บนโต๊ะอาหารจะมีกับข้าวอยู่น้อยและเป็นผัก หน้าตาของพ่อแม่ลูกบ่งบอกถึงความรู้สึกที่ไม่มีความสุขในการกินข้าว โต๊ะและจานชามก็เก่าคร่ำคร่าไม่น่าดู
แต่ถ้าเป็นภาพในโลกเสรีแล้ว ภาพบนโต๊ะอาหารนอกจากจะสะอาดสะอ้านแล้ว อาหารบนโต๊ะยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่ จานชามก็ดูใหม่ ภายในบ้านก็สว่างไสว ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่นั่งล้อมวงกินข้าวกันอยู่ก็มีใบหน้าที่อิ่มเอิบมีความสุขและแลดูมีสุขภาพดี ไม่หมองเศร้าแบบครอบครัวในโลกคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
ส่วนที่เป็นหนังสือการ์ตูนนั้นผมชอบมากตามประสาเด็ก การ์ตูนนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของคนที่มีชีวิตที่ปกติไปในแต่ละวัน จนวันหนึ่งก็มีคนแปลกหน้าท่าทางดีมาทำความรู้จัก พอมีความคุ้นเคยกันดีคนแปลกหน้าก็จะพูดโน้มน้าวให้คนนั้นรู้สึกว่า ชีวิตที่เป็นอยู่นั้นเป็นชีวิตที่ถูกกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ หรือเป็นสังคมที่ไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง
พอนานวันเข้าก็เชื่อ จากนั้นคนแปลกหน้าก็จะชี้ชวนให้เห็นดีเห็นงามกับลัทธิคอมมิวนิสต์ไปเรื่อยๆ ว่าโลกคอมมิวนิสต์ดีอย่างไรบ้าง จนคนๆ นั้นเข้าป่าไปร่วมกับพวกคอมมิวนิสต์เพื่อเป็นนักปฏิวัติต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลไทยต่อไป
แต่พออยู่ในป่าไประยะหนึ่งก็พบว่า ชีวิตในป่าไม่ได้มีความเสมอภาคอย่างที่คนแปลกหน้าบอกเลย แถมชีวิตความเป็นอยู่ก็แร้นแค้นอดมื้อกินมื้อ ส่วนคนระดับหัวหน้าได้กินแต่อาหารดีๆ จนคนนั้นทนไม่ไหวและต้องหนีออกจากป่ามามอบตัวกับทางการ
แล้วก็เล่าเรื่องราวที่ตนพบเห็นในป่าให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ฟัง ทำนองว่าคอมมิวนิสต์เลวร้ายอย่างไรบ้าง สู้ใช้ชีวิตเช่นเดิมยังดีกว่าเป็นไหนๆ
ตัวอย่างที่ผมเล่ามาข้างต้นนี้เป็นเรื่องที่เผยแพร่โดยทั่วไปในเวลานั้น โดยเฉพาะในโรงเรียน แต่ที่ผมไม่รู้ก็คือ ใครหรือหน่วยงานไหนเป็นคนเผยแพร่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งใบปิดและหนังสือการ์ตูนเหล่านี้ทำให้ผมเชื่อสนิทว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ช่างเลวร้ายเสียจริงๆ เชื่อจนตั้งปณิธานว่า ชาตินี้ผมจะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ถึงที่สุด คิดได้ดังนั้นแล้วจิตใจก็พลันฮึกเหิมขึ้นมาทันทีด้วยความตื้นตันในความรักชาติของตัวเอง
คิดถึงตอนนั้นแล้วก็อดขำไม่ได้ว่า บ่อยครั้งที่ครูและสถานีวิทยุมักจะเตือนเราว่า อย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อของพวกคอมมิวนิสต์ แต่เอาเข้าจริงแล้วตัวอย่างที่ผมเล่ามาข้างต้นนั้นก็คือ รูปแบบการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่งของพวกโลกเสรีเหมือนกัน
เข้าทำนองว่า ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง