ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต่างพรรค ต่างเหตุผล คิวที่ 3 พรรคการเมืองดัง อันได้แก่ “ค่ายสะตอ”พรรคประชาธิปัตย์, “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย และ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล กำลังจะมีการเลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไล่เลี่ยกันโดยไม่ได้นัดหมาย
จนกลายเป็นเทศกาล “เปลี่ยนหัวหน้าพรรค”
เป็นไปตามปกติที่หลังผ่านศึกเลือกตั้งใหญ่ แต่ละพรรคการเมือง ไม่ว่าผู้ชนะ-ผู้แพ้ มักจะปรับโครงสร้าง-จัดกระบวนทัพ สำหรับการทำงานให้เหมาะกับบทบาททั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน รวมไปถึงขยับปรับเปลี่ยนเพื่อสะสางปัญหาภายในอยู่แล้ว
หากแต่การปรับทัพพรรคการเมืองเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ดูจะแตกต่างจากอดีต แต่ละพรรคมีเหตุผลความจำเป็นของตัวเอง
อย่างกรณี “ค่ายด้ามขวาน” พรรคประชาชาติ ที่มีการปรับโครงสร้างก่อนหน้านี้ ก็เพราะ “วันนอร์” วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อไปกินตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง
พรรคแรกที่เข้าโหมด “ไฟต์บังคับ” ต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จำต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค รับผิดชอบผลการเลือกตั้งที่ย่ำแย่กว่าเมื่อการเลือกตั้ง 4 ปีก่อน ทั้งที่ “เดิมพัน” ไว้เพียง “เสมอตัว” ได้ที่นั่งเท่าครั้งที่แล้ว เมื่อได้มาแค่ 25 เก้าอี้ ไม่ถึงครึ่งของหนก่อน ก็ต้องไขก๊อกไปตามระเบียบ
ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ “ค่ายสวะตอ” เพราะระยะหลัง ไม่เพียงไม่ชนะเลือกตั้ง แต่ประสบกับความตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง จนหัวหน้าพรรรคต้องลาออก เปิดให้มีการปรับโครงสร้างพรรคหลังเลือกตั้งแทบทุกครั้ง
ความจริง “จุรินทร์” ประกาศลาออกตั้งแต่กลางดึกวันที่ 14 พฤษภาคม 256 หลังรู้แนวโน้มผลการเลือกตั้งแล้ว แต่จนแล้วจนรอดผ่านมาร่วม 4 เดือน พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่ได้หัวหน้า และผู้บริหารชุดใหม่
ขนาดการจัดตั้งรัฐบาลที่น่าจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่า ยังปิดกล่องได้ก่อน “ค่ายสะตอ” ซะอีก
ซึ่งการไม่มีผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ก็เป็นเหตุผลเล็กๆ ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกรถไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วย
ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มาแล้ว 2 หน แต่ก็ต้องล่มทั้ง 2 หน เมื่อมีการเดินเกมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ปและจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการนัดหมายประชุมใหม่
เรื่องของเรื่องก็มาจาก “รอยร้าว” ภายในพรรคประชาธิปัตย์ของผู้มีอำนาจยุคเก่า นำโดย “นายหัวเมืองตรัง” ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค กับผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน นำโดย “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค และ “นายกชาย” เดชดิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ลงให้กัน ทำให้ “ว้าวุ่น” กันไปหมดทั้งพรรค และดูไม่มีแนวโน้มที่จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ในเร็วๆนี้
จนมีการคะเนกันว่า บทสรุปของเกมอำนาจใน “ค่ายสะตอ” น่าจะซ้ำรอยตำนาน “กลุ่ม 10 มกรา” ในอดีต ที่กลุ่มซึ่งมี สส.ในมือมากกว่า ต้องเป็นฝ่ายไป
ตามกระแสข่าวที่ว่า “กลุ่มเสี่ยต่อ” ที่ถือ สส.อยู่อย่างน้อย 20 จาก 25 คน เตรียมหอบผ้าหอบผ่อนไปหาสังกัดใหม่แล้ว โดยมีการเจรจาเบื้องต้นกับ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่ดูจะเคมีตรงกันมากกว่าอยู่กับ “ผู้อาวุโส” ของพรรคตอนนี้
ถัดมาเป็นคิวของ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ที่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” จำต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบคำพูดตัวเองในช่วงหาเสียง ที่ว่า หากมีการจับมือกับ “พรรคลุง” ในบริบทวันนั้นคือ “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังพลังประชารัฐ ก็จะขอลาออกจากหัวหน้าพรรค
เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่หน้าตาออกมาเป็น “รับบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” มีทั้ง “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ และ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม จึงจำเป็นต้องรักษา “สัจจะ”
แต่ “หมอชลน่าน” ก็ไม่ต่างจาก “ล้มบนฟูก” เพราะเมื่อลาออกหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ไม่เพียงแต่ตำแหน่ง สส.น่าน ที่ยังติดตัวอยู่ ยังได้รับบำเหน็จแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วย
โดยพรรคเพื่อไทยกำหนดวันประชุมวิสามัญใหญ่ เพื่อเลือกหัวหน้ากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566
สำหรับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ตัวเก็งเต็งหนึ่งวันนี้ไม่พ้น “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาว “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้าสู่การเมืองเต็มตัวมาร่วม 3 ปีแล้ว ตั้งแต่เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ก็เป็นที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้ง
ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยด้วย
ซึ่งตัว “อุ๊งอิ๊งค์” เองก็เพิ่งประกาศในงานทำบุญตรบรอบ 16 ปีพรรคเพื่อไทยว่า พร้อมที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค หากได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรค และพร้อมเต็มที่กับพรรคไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่
เป็น “สคริปต์” ที่ฟังดูดี เหมือนเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ตัดสินใจ แต่รู้กันว่า เมื่อ “ลูกนายใหญ่” ออกปากขนาดนี้แล้ว ก็แสดงว่า มีการวางตัวไว้แล้ว
ก่อนที่ “ทักษิณ” จะเดินทางกลับประเทศไทย มีการจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดที่เกาะฮ่องกง ปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคเพื่อไทย กำลังฟอร์มจัดตั้งงรัฐบาล และยังไม่แน่ชัดว่า จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง “อุ๊งอิ๊งค์” หรือ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน
วันนั้น “ทักษิณ” ได้วิดีโอคอลมาที่พรรคเพื่อไทย พร้อมออกปากกับบรรดา สส.ประมาณว่า “เศรษฐาจะไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล และอุ๊งอิ๊งจะอยู่ที่พรรค” ที่เหมือนเป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าอยู่แล้ว
ดังนั้นชื่อของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ คงไม่ผิดไปจาก “แพทองธาร” อย่างแน่นอน
เอาเข้าจริงใครจะไปใครจะมา หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค จะเป็นใคร ก็ไม่แตกต่าง เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าการบริหารพรรคเพื่อไทย ล้วนแล้วแต่ถูก “กดปุ่ม” โดย “นายใหญ่” ที่แต่เดิมอาศัยการกดปุ่มทางไกล แต่วันนี้มาประจำการในฐานะ “นักโทษชาย” อยู่ในประเทศ จนมีการพูดกันว่า รายชื่อ “ครม.เศรษฐา 1” ก็ถูกกดปุ่มมาจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วยซ้ำ
แต่เมื่อเป็นชื่อ “อุ๊งอิ๊งค์” แม้จะพยายามขายความเป็น “คนรุ่นใหม่” แต่ก็ต้องยอมรับว่า ย่อมถูกความเป็น “ลูกนายใหญ่” กลบสนิท
สำคัญที่ “ดีเอ็นเอ” ความเป็นตัวตนของ “ทักษิณ” สะท้อนผ่าน “ลูกสาวคนเล็ก” คนนี้เข้มข้น ว่ากันว่าที่เลือก “อุ๊งอิ๊งค์” มาขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่เพียงความสนใจการเมืองส่วนตัว จากการติดตามพ่อลงพื้นที่สมัยเป็นนายกฯ จนท่องนโยบายของพรรคไทยรักไทยได้เป็นฉากๆ เท่านั้น ยังเพราะความที่ใบหน้าละม้ายคล้าย “ทักษิณ” กว่าบรรดาพี่น้องด้วย
อีกมุมก็พูดกันว่า “ลูกอิ๊งค์” ยังได้เลือดแม่ ถอดแบบ “คุณหญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ ในเรื่องของความเด็ดขาด มีบุคลิกนิ่งแต่ทรงพลังมาด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็คงพอได้เห็ฯกันแล้ว
การที่วางตัว “อุ๊งอิ๊งค์” เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจจะตอบโจทย์ในแง่การเมือง การบริหารจัดการภายในพรรค รวมไปถึงการเรียกศรัทธาจาก “ติ่งทักษิณ” ได้ แต่สำหรับตลาด “คนรุ่นใหม่” ที่หวังรุกนั้น ยังเป็นคำถามตัวโตๆ ที่เจ้าตัว และพรรคเพื่อไทยต้องพยายามหาคำตอบต่อไป
ซึ่งความเป็น “ลูกนายใหญ่” ที่ไม่สามารถสลัดหลุดได้นี่เอง ก็ทำให้การเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีในอนาคตของ “อุ๊งอิ๊งค์” ก็ไม่พ้นถูกค่อนขอดว่าเป็น “ร่างทรงทักษิณ”
หันมาที่ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ผู้ชนะในสนามเลือกตั้งปี 2566 แต่ไม่อาจชิงการจัดตั้งรัฐบาลได้ เลี่ยงไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง เมื่อ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้พรรคหัวหน้าพรรคคนใหม่
ด้วยเหตุว่า “พิธา” อยู่ระหว่างการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี หากยังนั่งเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะปิดโอกาสการได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จึงเปิดทางให้ สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อรับตำแหน่งที่ว่า
ตามรับธรรมนูญที่กำหนดว่า ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นหัวหน้าพรรค ที่เป็น สส.ของพรรคที่มีที่นั่ง สส.มากที่สุด ที่ไม่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร และไม่มีตำแหน่งเป็นประธานหรือรองประธานสภาฯด้วย
เดิมทีมีชื่อแกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนคั่วตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน “พิธา” ในการประชุมใหญ่ของพรรค ที่กำหนดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2566 นี้ แต่ดูเหมือนว่า เมื่อเวลางวดเข้าไปเรื่อยๆ จะเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า ตัวเต็งที่จะมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็คือ “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการเลขาธิการพรรคก้าวไกล
แม้ชื่อเสียงของ “ชัยธวัช” จะไม่เทียบกับ “พิธา” เจ้าของเก้าอี้คนเดิมไม่ได้ แต่ในทางการเมืองก็ให้การยอมรับ “เลขาฯ ต๋อม” พอสมควร ถึงขนาดยกให้เป็น “ขงเบ้ง” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล ที่พลิกล็อกเอาชนะเลือกตั้งแบบหักปากกาเซียน
และว่ากันว่า “ชัยธวัช” เป็น “มันสมอง” ที่อยู่เบื้องหลัง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาโดยตลอด
โดย “ชัยธวัช” เป็นรุ่นพี่ “ธนาธร” 1 ปี รู้จักกันตั้งแต่ช่วงมัธยมฯ ปลายที่ต่างก็เรียนโปรแกรมเดียวกันคือ แผนกเตรียมวิศวะ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแม้เรียนคนละที่ โดย “ชัยธวัช” เรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วน “ธนาธร” เรียนที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทั้งคู่ก็ยังติดต่อพูดคุยกัน
และมาเป็น “นักกิจกรรม” ร่วมกันใน คณะกรรมการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดย “ชัยธวัช” เป็นเลขาธิการ สนนท.ปี 2541 ขณะที่ “ธนาธร” เป็นรองเลขาธิการ สนนท. ปี 2543 ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันทำ “สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน” ที่มี “ธนาธร” เป็นนายทุน
จนมามีแนวคิดการตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาเมื่อช่วงปี 2560 โดยมี “ธนาธร” เป็นหัวหน้า ส่วน “ชัยธวัช” ขออยู่เบื้องหลัง ไม่มีชื่อแม้กระทั่งลงสมัคร สส. กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ “ธนาธร” พร้อมด้วย “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้ “ชัยธวัช” ถูกผลักดันออกมาเบื้องหน้า ในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่มี “พิธา” เป็นหัวหน้า
หลังรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคก้าวไกล “ชัยธวัช” ก็มีบทบาทในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว หรือภายหลังการเลือกตั้ง ที่ได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ประสานพรรคการเมืองต่างๆ ในการสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ แต่ก็ไม่สำเร็จ
น่าสนใจไม่น้อยกับการที่ “ชัยธวัช” ที่ถือเป็น “มือทำงาน-มันสมอง” ตัวจริงของ “ค่ายสีส้ม” จะขึ้นมาถือธงนำพรรค พร้อมรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
เพราะวันนี้ พรรคก้าวไกลถือว่าติดตลาด “คนรุ่นใหม่-หัวก้าวหน้า” อยู่แล้ว ก็จะมีความเป็น “ชัยธวัช” ที่มีความโดดเด่นในแง่การต่อสู้ และหลักคิดทางการเมือง ที่เข้มข้นกว่า “พิธา” หรือแม้แต่ “ธนาธร” มาเสริมตัวตนของพรรคก้าวไกล
มีการพูดกันว่า “ชัยธวัช” ไม่ได้เป็น “ร่างทรงธนาธร” อย่างที่เข้าใจกัน เพราะความเป็นจริง “ธนาธร” ต่างหากที่เป็น “ร่างทรงชัยธวัช”
ยิ่งน่าจับตาว่า เกมการเมืองที่วันนี้ต้องถือว่า พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร” กับ พรรคก้าวไกล ภายใต้การนำของ “โกต๋อม-ชัยธวัช” เป็นคู่ต่อสู้กันอย่างเต็มตัวแล้วจะเป็นเช่นไรต่อไป
เมื่อ “ร่างทรงทักษิณ” ต้องปะทะ “ตัวจริงก้าวไกล”.