xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตา “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกแห่งใหม่จะ “เปลี่ยน” ไปอย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นไปอย่างชื่นมื่นหลัง UNESCO ประกาศรับรอง “เมืองโบราณศรีเทพ” อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของประเทศไทย ในรอบ 31 ปี ในการประชุมมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่จัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

แต่มิวายเกิดเสียงแซวสนั่น “รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” เครลมผลงานเร็วยิ่งกว่าประกันภัย ทันทีที่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังองค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลก เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลใหม่หรือไม่? ซึ่ง รมว. เสริมศักดิ์ กล่าวว่า  “ถือว่าเป็นผลงานส่วนหนึ่งของรัฐบาล” เป็นผลงานชิ้นโบแดง จากการนำพื้นที่ศรีเทพไปสู่ระดับนานาชาติ 

จนเกิดกระแสดรามาเครมผลงานไวชุบมือเปิบ เพราะมีการเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562 สมัยรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  จนแล้วจนรอดต้องออกมาแก้เก้อว่าหมายถึงรัฐบาลทุกชุดที่ร่วมดำเนินการมา จนถึงรัฐบาลชุดนี้ที่ทำงานต่อเนื่องกัน เพราะถือเป็นตัวแทนประเทศไทยที่นำมาเพื่อความสำเร็จในครั้งนี้

สำหรับการขึ้นทะเบียมรดกโลกนั้น ต้องผ่านการคัดเลือกของ “องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเนสโก (UNESCO)”  เป็นหน่วยชำนาญการพิเศษของสหประชาชาติ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเล็งเห็นว่าสันติภาพที่เกิดจากการตกลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่แท้จริงและยืนนาน จากประเทศชาติต่างๆ ในโลก สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญา และจิตสำนึกของมนุษยชาติ

เป็นพื้นฐานแนวคิดที่มาของมรดกโลก โดยความหมายของ “มรดกโลก” หรือ “World Heritage” คือสถานที่ อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงเมือง ซึ่งคัดเลือกโดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี 2515 เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติ หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรจะปกป้องสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต

ในส่วนขั้นตอนการเสนอชื่อสถานที่ ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตนให้ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อันดับแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน

โดยบัญชีนี้จะเรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ ขั้นต่อมา ประเทศนั้นๆจะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) โดยทางศูนย์มรดกโลกอาจให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูลนี้

และคณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมร่วมกันหลายครั้งในแต่ละปี เพื่ออภิปรายถึงแผนการจัดการเกี่ยวกับแหล่งมรดกโลกที่ยังคงอยู่ และรับรายชื่อสถานที่ที่ประเทศต่างๆเสนอให้ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และจะมีการประชุมครั้งหนึ่งที่เรียกว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ (World Heritage Committee Session) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี




-1-
สำหรับ "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ อยู่ในเขต อ.ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ การค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2447 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ค้นพบเมืองโบราณขนาดใหญ่ ทรงมีพระวินิจฉัยว่ ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองว่า  “เมืองศรีเทพ” 

ต่อมา กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ และพัฒนาจนกระทั่ง จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในปี 2527 มีการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพมาอย่างต่อเนื่อง

 สำหรับ “เมืองโบราณศรีเทพ”  อยู่ในเขต อ. อศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ ตั้งตระหง่านบนพื้นราบลุ่มห่างจากแม่น้ำป่าสักไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร ใน มีลักษณะเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบและมีคูน้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เมืองชั้นใน และเมืองชั้นนอก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4.7 ตารางกิโลเมตร 

เมืองโบราณแห่งนี้มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จากหลักฐานทางโบราณคดี และงานศิลปกรรมที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการรับอารยรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย เขมร และวัฒนธรรมทวารวดีแหล่งอื่นๆ จนเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและมีเอกลักษณ์ในแบบเฉพาะตัว

พื้นที่ของเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานอยู่หลายแห่ง จุดสำคัญคือ  “โบราณสถานเขาคลังใน”  เป็นตัวอย่างของศาสนาสถานในพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ศิลปกรรมที่สำคัญของเขาคลังใน ได้แก่ งานประดับประติมากรรมพลแบกรูปคนแคระรอบฐานเขาคลังใน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่พบที่อื่น คือพลแบกไม่ได้มีเพียงเศียรคนเพียงอย่างเดียว ยังมีเศียรเป็นรูปสัตว์ เช่น สิงห์ ช้าง ลิง และควาย รวมถึงยังมีการแสดงสีหน้าที่แตกต่างกันออกไปด้วย

 “โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ” 
เป็นโบราณสถานในศิลปะสมัยบาปวน – นครวัด ในวัฒนธรรมเขมร มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ปรางค์ประธานเป็นปราสาทอิฐขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพทีที่ยกสูงจากระดับพื้นดินทั่วไป 1 เมตร ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สัมพันธ์กับที่ตั้งเขาถมอรัตน์

 “โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง” 
ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่กว่าปราสาททางด้านซ้าย ซึ่งที่ปราสาททางด้านซ้ายนั้นมีทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัดด้านนอกเมืองศรีเทพ

ทั้งนี้ ห่างออกไปทางทิศเหนือ ราว 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ   “โบราณสถานเขาคลังนอก”  สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี ตัวฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดขึ้นทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวารประจำทิศ 4 ด้าน ด้านละ 3 ชั้น

และทางทิศตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร มีภูเขาสูงที่ชื่อว่า  “เขาถมอรัตน์ฎ”  และมีศาสนสถานสำคัญอยู่บนยอดเขา คือ ถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายในถ้ำพบการสร้างประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ สถูป ธรรมจักร เป็นต้น

 น.ส. ธนัชญา เทียนดี  นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดเผยว่า แหล่งเมืองโบราณศรีเทพความสมบูรณ์ของโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณต่างๆ มีความสมบูรณ์มากกว่าเมืองโบราณแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องลักษณะผังเมือง เรียกว่าเป็นเมืองเดียวที่ไม่ถูกรุกล้ำจากสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ โดยเมืองอื่นๆ จะมีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่สร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย หรือมีการตัดถนนขึ้น แต่เมืองศรีเทพยังคงลักษณะดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเมืองโบราณศรีเทพและแหล่งต่อเนื่อง มีจำนวน 3 แห่ง ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลก ผ่านการพัมนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว




-2-
เส้นทางการขึ้นเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 9 เม.ย. 2562 รัฐบาลไทยมติเห็นชอบ เอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อบรรจุลงในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก โดยให้ประธานกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในหนังสือถึงศูนย์มรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ปี 2562 ที่ประชุมได้ให้การรับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เมืองโบราณศรีเทพ ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

มีการขับเคลื่อนแผนงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอเเหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก

ต่อมาปี 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ และเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 เข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ภายหลังจากการที่ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข 2 ครั้ง และในวันที่ 16 ก.ย. 2565 Ms.Jigna Desai ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียจากองค์กรที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม (ICOMOS) ได้เดินทางมาตรวจประเมินพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทั่ง 26 พ.ย. 2565 ICOMOS จัดการประชุมหารือ ICOMOS World Heritage Panel เพื่อประเมินการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก ผ่านการประชุมทางไกล โดยมีผู้แทนกรมศิลปากร และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้าร่วม และมีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนชื่อแหล่งจาก “The Ancient Town of Si Thep” เป็นชื่ออื่นที่สามารถสื่อถึงแหล่งที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันในการนำเสนอ

21 ธ.ค. 2565 สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก จัดส่งรายงานความก้าวหน้าการประเมินการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก และ สผ.ได้จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ตามที่ ICOMOS ร้องขอ

จบจนล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments

นอกจากนี้ ไทยได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นต้น

 สำหรับ “เมืองโบราณศรีเทพ” นับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยในรอบ 31 ปี นับจากการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เมื่อ 2535 ซึ่งปัจจุบันไทยมีแหล่งมรดกโลก รวม 7 แห่ง ประกอบด้วย แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แหล่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และแหล่งเมืองโบราณศรีเทพ

ขณะที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แหล่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ และพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ที่อยู่ระหว่างการผลักดันเป็นมรดกโลกในปีถัดไป อีก 2 แหล่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน 


สำหรับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ “เมืองโบราณศรีเทพ” ทาง UNESCO ให้เหตุผลไว้สำคัญ 3 ประการในการขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ ดังนี้ 1. เมืองศรีเทพเป็นเมืองที่มีความได้เปรียบด้านทำเลภูมิศาสตร์และใช้ที่ดินได้อย่างชาญฉลาด จนช่วยเพิ่มการเติบโตอย่างมั่นคงของการค้าและวัฒนธรรม

2. เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย มีการรับและถ่ายทอดความเชื่อจาก 2 วัฒนธรรมใหญ่ คือ พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบทวารวดี กับศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน จนทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมมากมายที่โดดเด่น

และ 3. มีความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ โดย ฌอง บัวเซลิเยร์ (Jean Boisselie) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ยืนยันว่าศิลปะของเมืองโบราณศรีเทพมีความโดดเด่นแตกต่างจากประติมากรรมขอมโบราณ ทั้งวิธีการแกะสลักและลักษณะสัญลักษณ์ต่างๆ สิ่งนี้สะท้อนภูมิปัญญาและความโดดเด่นของชุมชน

อย่างไรก็ดี กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก


สำหรับแผนดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่แล้ว โดยจะครอบคลุมทั้งเรื่อง การอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์

ทั้งนี้  พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่า การที่องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม

ขณะที่  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมาเมืองศรีเทพมีผู้เข้าชมไม่เกิน 1,000 คน ซึ่งภายหลังจากมีการกระจายข่าวว่าจะมีการได้รับขึ้นเป็นมรดกโลกครั้งนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยจังหวัดเพชรบูรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน ให้สมกับการได้รับรางวัลระดับโลก

 น่าจับตาสำหรับความเปลี่ยนแปลงหลัง
“เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยเฉพาะการจัดการของรัฐกับมาตรการรองรับและการบริหารจัดการด้านต่างๆ 

ภาพประกอบ แฟนเพจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, https://worldheritagesite.onep.go.th


กำลังโหลดความคิดเห็น