ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “อาร์ตทอยส์ (Art Toys)” กลายมาเป็นของของเล่นสะสมในกระแสป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture) เป็นความนิยมของผู้คนในยุคสมัยนี้ ฮิตแค่ไหนดูได้จากการแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในไทยของ ป๊อป มาร์ท (Pop Mart) แบรนด์อาร์ตทอยสุดฮอตจากจีนที่เข้ามารุกตลาดเมืองไทย
เปิดวันแรกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนเนื่องแน่นเฝ้ารอล้นทะลักหน้าห้างดัง จนเกิดเหตุชุลมุนเหยียบกันได้รับบาดเจ็บ แชร์กันให้ว่อนในโซเซียลมีเดียเป็นข่าวครึกโครม เนื่องมากจากเกิดการช่วงชิงขายอาร์ตทอย รุ่น Limited Edition ซึ่งจะมีเพียง 140 ตัวเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อสินค้าภายในร้านให้ครบ 10,000 บาทก่อน เพื่อรับสิทธิ์ซื้อ Art Toy รุ่น Limited Edition
สำหรับ อาร์ตทอยส์ (Art Toys) เป็นของเล่นของสะสมประเภทที่เรียกได้ว่า “น่ารักจนใจเจ็บ” ลักษณะเป็นประติมากรรมขึ้นรูปจากวัสดุต่างๆ เช่น เรซิน, พลาสติก ABS, ไวนิล, ไม้ หรือ เหล็ก เป็นต้น ออกแบบโดยศิลปปินนักออกแบบ ผลิตกันเป็นคอลเลกชันจำนวนจำกัด
โดย ป๊อป มาร์ท ได้ร่วมกับแบรนด์ระดับโลก อาทิ ดิสนีย์, ซานริโอ, วอร์เนอร์ และอื่นๆ รวมถึงนักออกแบบที่มีชื่อเสียงอย่าง Kenny, Pucky และ Kasing Lung ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งมีการขายสินค้าราคาตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึง 30,000 บาท
ปรากฎการณ์ของอาร์ตทอยส์ เกิดจากกระแสป๊อปคัลเจอร์ (POP Culture) เป็นที่นิยมของผู้บริโภคยุคใหม่ แถมยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง ทำให้ ป๊อบมาร์ท หรือก็คือแบรนด์อาร์ตทอยส์จากคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน “รูปแบบของเล่นกล่องสุ่ม (Blind Boxes)” สัญชาติจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มนักสะสมของเล่น มาเปิดบุกตลาดอาร์ตทอยส์ไทย
และความน่าสนใจของ ป๊อป มาร์ท คือการทำธุรกิจอาร์ตจากคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนในรูปแบบกล่องสุ่ม (Blind Boxes) ผู้ซื้อไม่สามารถเลือกได้ว่าจะได้รับสินค้าตัวไหน ต้องมาลุ้นกันเอาขณะเปิดกล่องสุ่ม ประกอบธุรกิจจาก Key Point "คนเราพยายามที่จะมองหาความสุข ความพอใจให้กับตัวเอง ไม่มีที่สิ้นสุด" สร้างตลาดอย่างมีชั้นเชิงทางจิตวิทยาและกระแสสังคม จนเป็นนิยมของคนรุ่นใหม่ในจีนก่อนขยายอิทธิพลไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินธุรกิจทั่วโลกของ ป๊อบ มาร์ท ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 เกิดกระแสสะสมจากผู้บริโภคนิยมสะสมให้ครบทุกคอลเลกชัน จึงช่วยให้กระแสนิยมอาร์ตทอยส์ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,814 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 19.3% และกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วยังเพิ่มขึ้นเป็น 535 ล้านหยวน หรือคิดเป็น 42.3%
ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ป๊อป มาร์ท ขยายสโตร์เจาะตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และไทย ในส่วนสินค้าอาร์ตทอยส์ของป๊อบ มาร์ท มีทั้งหมด 3 ขนาด คือ ขนาดปกติ (Regular), ขนาดใหญ่ (Big) และขนาดใหญ่พิเศษ (MEGA) ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมขนาด MEGA ที่มีราคาสูงที่สุด โดยเฉพาะรุ่น MEGA SPACE MOLLY
จัสติน มูน ประธาน ป๊อปมาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่ามองโอกาสในไทยมีสูงมาก โดยเป็นตลาดที่มีการเติบโตแบบรวดเร็ว และพบว่าพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าคนไทยจะเลือกกล่องสุ่มแบบให้ครบทุกเช็ท
ขณะที่ CEO ป๊อบ มาร์ท อย่าง หวังนิน เปิดเผยว่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ กล่องสุ่ม หรือ Blind Box Toy ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตู้กาชาปองของประเทศญี่ปุ่น เพราะกาชาปองมีความน่าสนใจคือให้ความลุ้นระทึกเซอร์ไพรส์ให้กับบรรดาผู้บริโภคได้
นายสิรภัทร เกาฏีระ นักวางแผนการเงิน KRUNGSRI PRIME วิเคราะห์ผ่านบทความเรื่อง “มาเข้าใจศาสตร์แห่ง ‘กล่องสุ่ม’ ทำไมเราติดใจ ต้องสุ่มแล้วสุ่มอีก” เกี่ยวกับกล่องสุ่มสู่กระแสนิยมในประเทศไทย สรุปความว่า ด้วยอุปนิสัยของผู้บริโภคคือชอบความตื่นเต้น การซื้อกล่องสุ่ม ก็เหมือนกับการสุ่มกาชาปอง ที่ไม่มีทางรู้ว่าสินค้าข้างในจะมีอะไรบ้าง ซึ่งการได้ลุ้นนั่นก็เป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของการซื้อสินค้าเพื่อตอบสนองความบันเทิงส่วนตัว เหมือนกับการที่เราลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่โอกาสถูกรางวัลมีน้อยนิด แต่ก็ยังอยากที่จะลุ้นต่อในงวดถัดไป เพราะนี่คืออุปนิสัยของผู้บริโภคชาวไทยที่ชอบการเสี่ยงโชคเป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง และผู้บริโภคไม่ได้หวังแค่สินค้าแต่อยากได้ประสบการณ์ กระแสการเล่นกล่องสุ่มก็เป็นอีกหนึ่งกระแสที่โด่งดังในช่วงขณะนั้น หลายคนเลือกซื้อกล่องสุ่มเพียงแค่เพราะกำลังเป็นกระแสอยู่ อยากตามกระแสให้ทัน อยากที่จะได้รับประสบการณ์เหมือนกับคนอื่นๆ
สรุปแล้วผู้บริโภคหวังอะไรจากการเล่นกล่องสุ่ม ไม่อาจกำหนดตายตัวว่าผู้บริโภคคาดหวังอะไรจากการเล่นกล่องสุ่มกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือผู้บริโภคนั้นคาดหวัง “การได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้า ที่มากกว่าการได้ซื้อคือการได้ลุ้น” เป็นการซื้อสินค้าพร้อมกับการได้รับความบันเทิงไปในตัว และในขณะเดียวกันก็ยังได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ในมุมมองของผู้บริโภคก็ต้องอย่าลืมว่าทุกครั้งที่มีการสุ่ม ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ตามมาให้ได้ บางครั้งอาจเจอสินค้าที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะนั่นคือการสุ่มนั่นเอง
อ้างอิงบทความเรื่อง “ไขความฮิต “กล่องสุ่มของเล่น” ทำไมถึงโดนใจวัยรุ่น” โดย Krungsri Plearn Plearn อธิบายการเกิดเทรนด์กล่องสุ่มซึ่งกลายเป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่ง จนขยับขยายไปสายธุรกิจที่ร้านค้าเริ่มจับทริคนำมาใช้กับสินค้าของตัวเอง รวมไปถึง “กล่องสุ่มของเล่น”
กล่าวสำหรับ กล่องสุ่ม หรือ Blind Box เป็นวัฒนธรรมซื้อของเล่นของคนญี่ปุ่นที่เพิ่มความตื่นเต้นจากการลุ้นสินค้าว่าเราจะได้ตัวอะไร แน่นอนว่าเรามักเห็นได้บ่อยๆ ในร้านขายของเล่น ตู้หยอดเหรียญ และปัจจุบันที่กล่องสุ่มเริ่มเข้าสู่ร้าน Shop ญี่ปุ่นมากขึ้น เช่น MINISO หลายคนพอได้ยินคำว่า กล่องสุ่มของเล่น ก็มักจะมองภาพว่าต้องเป็นเด็กเท่านั้นที่สนใจ แต่ในความเป็นจริงผู้ใหญ่คือกลุ่มลูกค้าหลัก แม้ของเล่นกล่องสุ่มจะทำออกมาตามคอลเลคชันของตัวการ์ตูน หรือตัวละครในอนิเมชั่น สายเกม หรือสายอาร์ต แต่ก็ต้องยอมรับว่าของเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อสนองความสนุก และสายนักสะสมตัวยง
วัฒนธรรมสะสมของเล่นของคนญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลมาจากอนิเมะ เกม และงานอาร์ตต่างๆ ผ่านตัวละครเหล่านั้น และด้วยสื่อสังคมออนไลน์ที่ปล่อยภาพความน่ารักๆ ออกไปได้ทั่วโลกก็ทำให้เกิดการกระจายที่รวดเร็ว โดยกล่องสุ่มนี้ก็จะถูกวางขายโดยที่ไม่รู้เลยว่าของในกล่องคือตัวอะไร ความน่าสนุกมันเริ่มจากตรงนี้
ถึงแม้ว่าการซื้อแบบสุ่มจะเสี่ยงดวง แต่นั่นก็เพราะได้ลิ้มรสความตื่นเต้นแล้ว ทำให้กล่องสุ่มขายดีจนถึงทุกวันนี้ ช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความสุขจะทำ แล้วยิ่งถ้าเราสุ่มได้ตัว Secret หรือตัวลับที่มีโอกาสออกแค่ 10% จาก 100 ก็ยิ่งทำให้มีความสุขหลั่งออกมาจนถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่งกล่องสุ่มแบบยกบ็อกจะมีทั้งหมด 12 กล่อง แต่ละกล่องจะคละกันไป และมีเลเวลความหายากที่ต่างกัน โดยใน 1 บ็อกจะกำหนดให้มีตัวธรรมดา ตัวรอง Secret และตัว Secret ซึ่งจะมีแค่ 1 ตัวเท่านั้น
และความตื่นเต้นอยู่ที่ตรงนี้ ต่อให้เราซื้อยกบ็อกก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ตัว Secret เลยทันที เพราะบางครั้งยกบ็อกเราก็อาจ ‘เกลือ’ ไปเลยก็ได้ ทีนี้ในความหมายของคำว่า เกลือ ก็คือ ไม่ได้ชิ้นที่อยากได้ เป็นคำพูดที่รู้ๆ กันในวงการกล่องสุ่ม ซึ่งอาจแปลความหมายโดยรวมได้ว่า “ฉันเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมยังไม่ได้ตัวแรร์อีก”
และทั้งหมดนี้ทำให้ “อาร์ตทอยส์” ในรูปแบบของเล่นกล่องสุ่มที่ครองใจผู้บริโภคแบสุดๆ จนกลายเป็นของเล่นของสะสมในกระแสป๊อบคัลเจอร์ที่ฮิตแห่งยุค