ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ก่อนเยือนจีนครั้งใหม่
หลายคนอาจสงสัยว่า การที่ เฉินซีถง ซึ่งคอร์รัปชั่นในวงเงินที่สูงจนมีโทษประหารชีวิต แต่ทำไมเขาจึงต้องโทษเพียงแค่ 16 ปีเท่านั้น แถมติดคุกอยู่ไม่กี่ปีก็ถูกปล่อยออกมารักษาตัวอยู่ที่บ้าน?
คำตอบคือ เพราะเขากุมข้อมูลความลับการฉ้อฉลของคนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนอื่นๆ เอาไว้ด้วย แต่ละคนล้วนมีฐานะทางการเมืองที่สูงส่ง บางคนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้การเจรจาต่อรองจึงเกิดขึ้น
นั่นคือ โทษของเขาจะต้องไม่ถึงขั้นประหารชีวิต หาไม่แล้วเขาก็จะเปิดโปงว่า ใครมีเอี่ยวกับการฉ้อฉลของเขาบ้าง
โทษที่เขาได้รับจึงออกมาเช่นนั้น
แต่สำหรับชาวจีนแล้วเรื่องนี้เป็นที่โจษขานกันอื้ออึง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการเมืองจีนที่อยู่ในระบบปิด การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ที่จะไม่ให้คนจีนรู้นั้นยากมาก เพราะในระบบปิดที่ว่านี้ยังมี “ช่อง” ที่เปิดให้คนจีนเข้าถึงข้อมูลทางการเมืองได้อยู่
“ช่อง” ที่ว่าก็คือ คนใหญ่คนโตที่สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบนี้ได้เป็นคนนำข้อมูลมาปล่อย แต่ไม่ใช่ปล่อยแบบนึกอยากจะปล่อยก็ปล่อย และที่ปล่อยนั้นก็อาจไม่ได้ตั้งใจปล่อย กล่าวคือ คนใหญ่คนโตผู้นั้นอาจจะเล่าให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดฟัง หลังจากนั้นคนๆ นั้นก็เล่าให้คนที่ตนใกล้ชิดสนิทสนมฟังอีกทอดหนึ่ง
แล้วข้อมูลก็ถูกเล่าต่อเป็นทอดๆ จนรู้กันทั่ว แต่รู้ในแบบที่คนไทยเรียกว่า ปิดกันให้แซ่ด
พูดถึงตรงนี้แล้วผมก็มีเรื่องที่ต้องขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า ในระบอบคอมมิวนิสต์ (จีน) นั้นมีระบบการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวกับพรรคที่เป็นระบบมาก กล่าวคือ พรรคการเมืองนี้จะมีหน่วยงานที่เรียกว่า “องค์กรพรรค” คอยทำงานต่างๆ ให้กับพรรค
องค์กรพรรคนี้มีอยู่หลายสิบองค์กร แต่ที่สำคัญๆ มีอยู่สิบกว่าองค์กร องค์กรพรรคที่สำคัญนี้จะมีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง ดังนั้น คนที่นั่งเป็นหัวหน้าองค์กรจะมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีไปด้วย โดยที่ระบบการเมืองจีนเป็นระบบที่ “พรรค” ใหญ่กว่า “รัฐ” เพราะจีนถือว่า “รัฐ” มีที่มาจาก “พรรค” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มี “พรรค” ก็ไม่มี “รัฐ” นั้นเอง
เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่เป็นหัวหน้าองค์กรพรรคจึงมีความสำคัญมากกว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีของรัฐบาล อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่คนที่เป็นหัวหน้าองค์กรพรรคจะมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นรัฐมนตรีของพรรค ไม่ใช่ของรัฐในแบบของเราหรือโลกเสรีอื่นๆ เวลาที่คนเหล่านี้แจกนามบัตรของตนให้เรา แล้วเราเห็นข้อความบนนามบัตรระบุตำแหน่งของเขาว่า “รัฐมนตรี” ของพรรค ก็อย่าได้แปลกใจ
และหากเราต้องให้การต้อนรับบุคคลเหล่านี้ด้วยแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญในระดับที่เราต้อนรับรัฐมนตรีไปด้วยเช่นกัน
ทีนี้ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น จะมีองค์กรพรรคอยู่สององค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านข้อมูลและเอกสาร องค์กรหนึ่งคือ สำนักวิจัยประวัติแห่งศูนย์กลางพรรค อีกองค์กรหนึ่งคือ สำนักวิจัยเอกสารแห่งศูนย์กลางพรรค
องค์กรแรกจะหน้าที่ศึกษาวิจัยเรื่องของพรรคหรือประวัติของพรรคในแง่มุมต่างๆ ส่วนองค์กรหลังจะทำหน้าที่เรียบเรียงเอกสารสำคัญของพรรคและของชาติ ศึกษาผลงานและชีวิตของผู้นำคนสำคัญของชาติ ทั้งสององค์กรนี้จะนำข้อมูลที่ตนได้มามาเรียบเรียงตีพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ต่อไป
ที่สำคัญ เรื่องราวที่เขาเผยแพร่นั้นจะถูกคัดกรองมาแล้ว อะไรที่ดูไม่ดีหรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพรรคหรือบุคคลอย่างรุนแรง จะไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือที่เผยแพร่ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้พรรคดูดีแม้เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียก็จะได้รับการเผยแพร่
เช่นสมมติว่ากรณีของเฉินซีถงถูกเผยแพร่ หนังสือก็จะบอกว่าเขาเป็นคนขี้โกงอย่างไรบ้าง แต่ก็จะบอกด้วยว่า เหตุใดเขาจึงถูกลงโทษเพียงแค่โทษจำคุก แทนที่จะถูกประหารชีวิต เป็นต้น
ส่วนใครอ่านแล้วจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ครับ ผมลากเรื่องมาไกลจนดูเป็นเรื่องจริงจังและชวนเครียดมากไปแล้ว ที่นี้ก็กลับมาเรื่องของผมที่ฮ่องกงต่อ ว่าหลังจากที่พักอยู่ในห้องพักจนได้เวลาเดินทางแล้ว ก็มีรถมารับเราไปสนามบิน ส่วนตัวผมซึ่งยังรู้สึกอิ่มอยู่นั้น ยังไม่ลืมรสชาติบะหมี่เนื้อที่เพิ่งกินไปก่อนหน้านี้ แต่เรื่องที่ลืมไม่ลงมากกว่าก็คือเรื่องที่ปวดเบาบนรถไฟที่จะขอจำไปจนวันตาย
ตั้งแต่เครื่องบินบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือฮ่องกงจนถึงสนามบินดอนเมืองที่กรุงเทพฯ ผมได้แต่คิดถึงเมืองจีนที่ได้สัมผัสมาด้วยความรู้สึกต่างๆ นานา แต่มีความรู้สึกหนึ่งที่อยู่ติดกับตัวผมมาตลอดหลังกลับมาถึงเมืองไทยก็คือ ผมเฝ้าถามตัวเองว่าจะยังมีโอกาสได้กลับไปเมืองจีนอีกไหม
ความรู้สึกนี้ผุดขึ้นมาทุกครั้งที่ผมต้องสัมผัสเรื่องจีนบนโต๊ะทำงาน เพราะสมัยนั้นผมต้องติดตามอ่านและตัดเก็บข้อมูลข่าวสารหรือบทความเกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ เก็บเอาไว้ หรือที่เรียกกันว่า กฤตภาค แต่พวกเรามักเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า คลิปปิ้ง (clipping)
ที่ความรู้สึกเช่นนั้นผุดขึ้นมาก็เพราะเวลาที่อ่านเรื่องราวของจีนในแต่ละครั้ง แม้จะเข้าใจเนื้อหาที่ตนอ่านเป็นอย่างดี แต่หลายเรื่องก็นึกภาพไม่ออกว่าของจริงเป็นอย่างไร นอกจากต้องไปเมืองจีนให้เห็นกับตาจริงๆ เท่านั้นถึงจะเข้าใจ พอรู้สึกเช่นนี้แล้วก็ได้แต่หมดหวัง เพราะตอนนั้นไม่มีโครงการวิจัยเรื่องใดที่มีเหตุที่จะทำให้ต้องไปเมืองจีนอีกแล้ว
เมืองจีนที่ผมไปมาคือเมืองจีนเมื่อปี 1989 พอกลับมาถึงไทยจึงมีผู้สนใจไถ่ถามแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่เทียนอันเหมิน ซึ่งเราก็สนองตอบไปตามสมควร แต่สำหรับผมแล้วลึกๆ กลับเป็นความรู้สึกที่ว่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนจีนอีกหรือไม่
แต่พอปี 1990 ผู้บังคับบัญชาของผมก็แจ้งให้ผมทราบว่า ท่านได้พูดคุยกับหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชนของประเทศต่างๆ ของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ โดยหน่วยงานนี้ยินดีที่จะเชิญนักวิชาการไทยไปทัศนศึกษาที่จีน วัตถุประสงค์หลักๆ ของการเชิญก็คือ ต้องการให้เราได้ไปเห็นสังคมที่เป็นจริงของจีน แล้วนำมาสิ่งที่เห็นมาเผยแพร่แก่คนไทยเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
แล้วท่านก็มอบหมายให้ผมประสานงานกับผู้บังคับบัญชาอีกท่านหนึ่งในการติดต่อกับทางจีน ที่สำคัญ ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงาน ผมจะได้ไปเมืองจีนกับคณาจารย์ไปด้วย ดังนั้น ความรู้สึกที่ว่าจะไม่มีโอกาสไปจีนอีกแล้วก็เป็นอันหายไป
แต่ที่ผมไม่รู้เลยก็คือว่า จากนี้ไปปี 1990 จะเป็นเพียงปีเดียวเท่านั้นที่ผมไม่ได้ไปจีน เพราะนับแต่ปี 1991 เรื่อยมาได้ก็มีเหตุที่ทำให้ผมต้องไปจีนทุกปีไม่มีเว้น ตราบจนโควิด-19 หรือที่ผมอยากจะเรียกว่า ห่าลง มาเยือน
ที่ทำให้ผมไม่ได้ไปจีนอีกเลยตราบจนวันที่กำลังเขียนความเรียงชิ้นนี้