ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทั้งๆ ที่ทุกคนในประเทศนี้ก็รู้อยู่เต็มอกว่า “ส่วยตำรวจ-การฮั้วและเจ้าพ่อ” คือปัญหาของประเทศไทย
แต่ถามว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เศร้าสะเทือนใจอย่างกรณียิง “พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว” สารวัตรประจำสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกํากับการ 2 กองบังคับการตํารวจทางหลวง ขณะร่วมงานเลี้ยงที่ “บ้านกำนันนก-นายประวีณ จันทร์คล้าย” จะมีรัฐบาลใดหรือหน่วยงานไหนให้ความสนใจเข้ามาสะสาง “ขยะที่ซุกอยู่ใต้พรม” ของ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ส่วย” ที่มีอยู่อย่างจริงจังบ้างไหม
ถามว่า ถ้าไม่เกิดกรณีดังกล่าว จะมีการไปไล่เบี้ยไปตรวจสอบ “ความผิดปกติ” ในโครงการก่อสร้างต่างๆ ของกำนันนกอย่างที่เห็นและเป็นอยู่บ้างหรือไม่
และถามว่า ถ้าไม่เกิดกรณีดังกล่าว จะมีใครสนใจใยดีที่จะไปจัดการบรรดา “เจ้าพ่อ” ที่อาศัยความมีอิทธิพลของตนเองเข้ามาทำมาหากินกับโครงการรัฐ ทำธุรกิจผิดกฎหมาย กระทั่งสามารถก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจรัฐไทย ไล่เรื่อยมาตั้งแต่ “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ไปจนถึงนักการเมืองทั้งระดับ “ท้องถิ่น” และระดับ “ประเทศ”
กล่าวสำหรับ “กำนันนก” สิ่งแรกที่สังคมอยากรู้ก็คือ ผู้ชายคนนี้คือใคร? ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้จะฉายภาพสิ่งที่เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์แห่งรัฐราชการไทย” อันนำมาซึ่งผลประโยชน์และการคอร์รัปชันซึ่งซึมลึกจนยากที่จะแก้ไข
“กำนันนก” คือ “ลูกชายคนโต” ของ “ผู้ใหญ่โยชน์-นายประโยชน์ จันทร์คล้าย” อดีตผู้ใหญ่บ้านตำบลตาก้อง ที่ไม่มีใครในจังหวัดนครปฐมไม่รู้จัก
เป็น “ผู้ใหญ่โยชน์” ซึ่งรับรู้กันว่าคือหัวคะแนนคนสำคัญของกลุ่มการเมืองชื่อดังในจังหวัดนครปฐม แม้ที่ผ่านมาจะทำตัวโลว์โปรไฟล์ ไม่ค่อยปรากฎเงาร่างให้เป็นที่จับจ้อง แต่เป็นที่รับรู้กันในแวดวงการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติว่า เป็นผู้กว้างขวางคนหนึ่งในพื้นที่
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่คว้างานประมูลโครงการของภาครัฐ รวมทั้งรถบรรทุกที่มีอยู่กว่า 100 คันซึ่งธุรกิจดังกล่าวได้ถูกส่งต่อมาให้มาอยู่ในความดูแลของลูกชาย รวมทั้ง “คอนเนกชัน” กับ “บ้านใหญ่นครปฐม”
ทั้งนี้ จากการตรวจข้อมูลพบว่า “บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด” และ “บริษัทรวีกนก ก่อสร้าง จำกัด” ซึ่งมี “กำนันนก” เป็นกรรมการบริษัท ได้ประมูลงานโครงการของรัฐ ตั้งแต่ปี 2554-2566 ใน 11 จังหวัดจำนวน 1,544 โครงการ มูลค่า 7,500 ล้านบาท
เมื่อปี 2565 บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด มีรายได้รวม 176,885,627 บาท ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี ช่วงปี 2561-2565 มีกำไร 29,473,439 บาท ขณะที่บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด มีรายได้รวมในปี 2565 อยู่ที่ 569,593,595 บาท แต่หากดูผลกำไร 5 ปีย้อนหลัง ช่วง 2561-2565 พบว่า มีกำไรรวม 25,697,199 บาท
หากแยกตามรายจังหวัด และพิจารณาจากงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่บริษัทกำนันนกประมูลงานได้ทั้งหมดมีมูลค่าที่ 7,579 ล้านบาท เฉพาะเขตนครปฐมจังหวัดเดียว ในปีงบประมาณ 2554-2566 (ต.ค.-พ.ย. 65) มีมูลค่าถึง 6,802 ล้านบาท ในพื้นที่ กทม.จำนวน 379 ล้านบาท รองลงมาเป็นจ.เพชรบุรี จำนวน 123 ล้านบาท และสุพรรณบุรี 130 ล้านบาท ส่วนที่เหลือวงเงินจากโครงการจะหลดหลั่นกันไป
ส่วนหน่วยงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างประมูลโครงการก่อสร้างต่างๆ เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งข้อมูลจากดีเอสไอพบสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของบริษัทกำนันนกที่ทำกับ 7 หน่วยงานภาครัฐ รวม 12 ปี คือ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 - 2566 โดยเรียงตามลำดับของวงเงินงบประมาณโครงการ พบข้อมูล ดังนี้
1. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวม 1,206 โครงการ วงเงินงบประมาณ 3,657,356,798.72 บาท
2. กรมทางหลวง รวม 110 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,323,251,116 บาท
3.กรมทางหลวงชนบท รวม 153 โครงการ วงเงินงบประมาณ 1,484,535,624 บาท
4. กรมการปกครอง รวม 71 โครงการ วงเงินงบประมาณ 78,978,540 บาท
5. กองทัพอากาศ 2 โครงการ วงเงินงบประมาณ 16,580,000 บาท
6. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท
7. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ 8.7 ล้านบาท
แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจและคอนเนกชันของ “กำนันนก” นั้นไม่ธรรมดา โดยเกี่ยวข้องกับหลายกทรวง ทบวง กรม
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ “กำนันนก” จะมีรถหรูแบรนด์ดังจากยุโรปมูลค่านับสิบล้านที่สะสมไว้เป็นอย่างดีเรียงรายในโรงจอดรถติดแอร์ และหนึ่งในนั้นคือ รถยนต์หรูเบนท์ลีย์ รุ่น เบนเทย์กา ไฮบริด 2020 ซึ่งเป็นรถเอสยูวีไฮบริดสัญชาติอังกฤษฉายา “คฤหาสน์เคลื่อนที่” ราคาในไทยคันละ 11-13 ล้านบาท ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในวันที่ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพัก ถ้าจะใช้คำว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” ก็คงจะไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะ “กำนันนก” อายุแค่ 35 ปีเท่านั้น
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างความร่ำรวยของกำนันนกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นผู้มีอิทธิพล กระทั่งมีสัมพันธ์อันชนิดเชื้อกับ “ตำรวจ” เป็นจำนวนมาก และนำมาซึ่งความตายของ “สารวัตรแบงค์” โดยที่ไม่มีตำรวจหน้าไหนเข้าไปจับกุมทันที่เกิดเหตุ แถมยังปล่อยให้มือปืนคือ “หน่อง ท่าผา” หรือ “นายธนัญชัย หมั่นมาก” ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทหลบหนีไปได้ทั้งๆ ที่ในงานเลี้ยงมีตำรวจอยู่นับเป็นสิบๆ คน ก่อนที่จะถูกวิสามัญฆาตกรรมในเวลาต่อมา
ความพลาดของ “กำนันนก” ก็คือ มีความอหังการมะมังการจนไม่ทันสืบหรือทันได้คิดว่าจะเกิดผลอะไรตามมากับชีวิตของตัวเอง
ขณะที่ความผิดพลาดของตำรวจ(ส่วนใหญ่) ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ “ทำงานรัฐใช้นาย” ชนิดถวายหัว กลายเป็นตำรวจที่ทำงานรับใช้เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพล ซึ่งเปลี่ยนไปจากตำรวจยุคเก่าก่อนที่เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลเกรงกลัว
หลังเกิดคดี กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้เป็นเจ้านายโดยตรงของ “กำนันนก” สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมกับเพิกถอนใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ขณะที่ทุกภาคส่วนของรัฐไทยต่างพากันเข้ามาตรวจนอบ “เบื้องหน้า เบื้องหลัง” ของ “กำนันนก” กันอย่างจ้าละหวั่น เรียกว่า ทุกหน่วยงานก็คงจะว่าได้แห่กันเข้ามาสอบในทุกมิติ
ดังเช่นที่ “นายภูมิวิศาล เกษมศุข” เลขาธิการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยขณะนำกำลังเข้าตรวจสอบ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ของ “กำนันนก” ว่า มีพบหลักฐานเกี่ยวกับโครงการที่ 2 บริษัทดังกล่าวฮั้วประมูลจริง ซึ่งจากการตรวจสอบยังพบผู้เกี่ยวข้องอีกหลายภาคส่วน และจรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้มีส่วนกระทำความผิดทุกราย
ขณะที่ “ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์” ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองฮั้วประมูล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า พบข้อพิรุธสงสัยใน 2 โครงการคือ โครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 375 ต่อเนื่อง 376 มีมูลค่างบประมาณ 350 ล้านบาท และ 300 ล้านบาท อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเป็นการสมยอมราคากัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการสร้างทางหลวง หมายเลข 375 ของกรมทางหลวง ตั้งงบประมาณไว้ที่ 300 ล้านบาท ราคากลาง 290 ล้านบาท โดยมีการประมูลอยู่ที่ 240 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำค่อนข้างมาก หรือเรียกว่าฟันราคา
“ทั้ง 2 โครงการใกล้เคียงกัน คนได้งานเป็นกลุ่มเดียวกัน คนที่มาซื้อซองจำนวนมากก็เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน หนึ่งในผู้ซื้อซองอาจจะได้รับผลประโยชน์”ผอ.กองฮั้วประมูลอธิบาย
ด้าน “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการสะสางคดีก็เดือนหน้าตรวจสอบธุรกิจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “กำนันนก” อย่างร้อนใจ โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาได้สนธิกำลังเข้าค้นเครือข่าย “กำนันนก” ใน จ.นครปฐม รวม 15 จุด พบรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ และรถกระบะอีก 1 คันพากำนันนกและมือปืนหนี ซึ่งเป้าหมายที่น่าสนใจก็อย่างเช่น “บริษัท ธงชัย เจริญก่อสร้าง 2566 จำกัด” หลังมีข้อมูลว่าอาจฮั้วประมูล หรือ “บริษัท สิงห์ชัยเคพีเอส จำกัด” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยทั้ง 2 แห่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับโครงการต่างๆ ของ “กำนันนก” เป็นต้น
ทั้งนี้ “กำนันนก” ถูกแจ้งข้อหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ที่ จ.469/2566 ลงวันที่ 7 ก.ย.2566 ในความผิดฐาน “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น” โดยเจ้าตัวยืนกรานปฏิเสธและอ้างว่าลูกน้องเป็นผู้ลงมือเอง เขาไม่เกี่ยวข้อง แต่ยอมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง
แน่นอน ขณะนี้ข้อมูลที่ออกมาจากตำรวจที่ทำคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเพราะความไม่พอใจในเรื่องการโยกย้ายหลานชายของกำนันนกซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวนจาก “พนักงานวิทยุ” มาเป็น “สายตรวจมอเตอร์ไซค์”
คำถามมีอยู่ว่า “สายตรวจมอเตอร์ไซค์” ดีตรงไหน
เรื่องนี้ต้องอ้างคำพูด “พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร” อดีตอดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด เจ้าของฉายา “มือปราบขุนดง” ที่ตอบตรงไปตรงมาว่า “หากินง่าย จะจับใครตรงไหนในจังหวัดนครปฐมก็ทำได้ทันที ซึ่งสายตรวจมอเตอร์ไซค์แบบนี้มันมีไม่กี่คัน”
แต่สังคมไม่เชื่อว่า เรื่องเพียงแค่นั้นจะถึงขนาดต้องยิงกันตาย และน่าจะมีอะไรมากไปกว่านั้น
เพราะถ้า “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “งาน” ที่สารวัตรแบงค์ทำเป็นเบื้องแรก ซึ่งน่าจะพัวพันกับ “รถบรรทุก” ที่กำนันนกมีกว่าร้อยคัน เป็นไปได้หรือไม่ว่า “สารวัตรแบงค์” ไปรู้เรื่อง “อะไร” เข้า และเรื่องอะไรที่ว่านั้นก็จำเป็นต้องเคลียร์ต้องจบ ไม่สามารถปล่อยให้คาราคาซังต่อไปได้ มิฉะนั้น หากข้อมูลรั่วไหลออกไป อาจส่งผลทำให้เครือข่ายฉิบหายกันไปทั้งหมด
ยิ่งเมื่อย้อนไปดูเรื่องราวในอดีตก็ยิ่งน่าสนใจ โดยเมื่อครั้งมีปัญหาเรื่องการตรวจค้นสติกเกอร์รถบรรทุก กำนันนกก็มีส่วนสำคัญในการเข้าไปต่อรองกับตำรวจ ด้วยเหตุที่ว่าได้ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง - วิ่งรถบรรทุก มาอย่างยาวนาน จึงทำให้กว้างขวางและมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไปจนถึงตำรวจท้องที่และตำรวจทางหลวงที่ดูแลเส้นทางในพื้นที่นครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงด้วยเช่นกัน ซึ่งในวันเกิดเหตุยิงสารวัตรแบงค์ก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า มีเจ้าที่ตำรวจทั้งตำรวจทางหลวง ตำรวจท้องที่ และตำรวจจากอีกหลายหน่วย รวมมากกว่า 20 นายมาร่วมงาน ดังนั้น จึงแสดงว่า ต้องรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี
“พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว” รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ที่ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพสารวัตรแบงค์ให้สัมภาษณ์ยืนยันสอดรับกับข้อสงสัยของสังคมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากปมปัญหาส่วยรถบรรทุก เพราะบ้านของกำนันนกมีรถบรรทุกกว่า 100 คัน ซึ่งมีน้ำหนักเกิน สารวัตรแบงค์ได้ดำเนินการตามกฎหมาย กำนันนกพยายามติดต่อขอเจรจาแล้ว
ก่อนหน้านี้ แต่ทางสารวัตรแบงค์ไม่ยอม เพราะเป็นคนตรงไปตรงมาและเป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องปราบปรามเรื่องนี้ แต่เมื่อมีงานเลี้ยงและผู้บังคับบัญชาโทรศัพท์ให้สารวัตรแบงค์ไปร่วมงาน เพื่อปรับความเข้าใจกับกำนันนก
สอดรับกับสิ่งที่ “นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ประเด็นการสังหารไม่น่าจะมาจากการขอสลับตำแหน่งตำรวจ เวรรถกับเวรวิทยุ พอไม่ได้จึงสั่งยิง เนื่องจากเป็นเหตุผลหนักแน่นพอ น่าจะมีประเด็นอื่นด้วย ซึ่งไม่อยากให้ตำรวจทิ้งประเด็นเรื่องส่วยทางหลวง และอยากให้ถอดบทเรียนเรื่องนี้ ทั้งประเด็นการทำงานของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ทำงานด้วยความเสียสละ
ทั้งนี้ “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต วิเคราะห์ปัญหาเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลที่เชื่อมโยงกับตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ขึ้นตรงกับปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเอง มีอำนาจมากกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ ขณะเดียวกันก็ยึดโยงเกี่ยวกับเรื่อง ฐานเสียงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งของ ส.ส. สจ. ในพื้นที่ และยังยึดโยงกับนักการเมืองระดับชาติด้วย เพราะพรรคการเมืองก็ต้องการคะแนนเสียงให้กับ ส.ส.ของตัวเอง เพื่อให้ได้เข้าสภา และการจะได้คะแนนก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่
จากข้อมูลของ ดร.กฤษณพงค์ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกรณี “กำนันนก” ก็จะเห็นได้ว้า เขาคือผู้กว้างขวางที่ข้าราชการในจังหวัดต้องเกรงใจ โดยเฉพาะ “ตำรวจ” ที่ปรากฏข้อมูลชัดแจ้งว่า เข้าร่วมกินเลี้ยงในลักษณะดังกล่าวอยู่เป็นประจำตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงผู้บังคับการ จนกล่าวได้ว่า “กำนันนก” และตำรวจในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด
ผลการสอบปากคำตำรวจที่เข้าไปร่วมงานเลี้ยงบ้านกำนันนก ในคืนเกิดเหตุจากชุดของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. พบว่าในจำนวนตำรวจ 28 นาย ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ช่วยนำเพื่อนตำรวจส่งโรงพยาบาล โดยมีภาพวงจรปิดที่นำเสนอกันออกมาก่อนหน้านี้ 2.กลุ่มที่ช่วยพาคนร้ายหลบหนี และทำลายหลักฐาน หนึ่งในนั้นขี่จักรยานยนต์อารักขา “กำนันนก” ออกจากพื้นที่ และ 3.กลุ่มที่แยกย้ายหนีออกจากที่เกิดเหตุ
จากการสอบสวนก็นำไปสู่การออกหมายจับตำรวจ 6 นาย ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ช่วยเหลือไม่ให้คนร้ายรับโทษ, และซ่อนเร้นพยานหลักฐาน หรือก็คือ พฤติกรรมที่เอาปืนไปฝังดิน และเอาเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดไปโยนทิ้งน้ำเพื่อทำลายหลักฐาน โดยตำรวจทั้ง 6 นายแบ่งออกเป็นสังกัด สภ.กระทุ่มแบน 1 นาย สังกัด สภ.เมืองนครปฐม 1 นาย และสังกัดกองบังคับการตำรวจทางหลวง 4 นาย โดย 4 รายหลังนี้ถอเป็น “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ของ “สารวัตรแบงค์” ซึ่งเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1
นอกจากนี้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ตำรวจที่ถูกออกหมายจับ ส่วนใหญ่เป็น “รุ่นใหญ่” อายุ ตั้งแต่ 52 – 59 ปี มีสารวัตร 1 นายที่เหลือเป็นรองสารวัตร ในแวดวงตำรวจเขาเรียกว่า “นายร้อย 53” คือพออายุ 53 ปี ก็จะได้เลื่อนชั้นยศเป็น ร.ต.ต. ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ ที่อยู่มาก่อน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตำรวจเหล่านี้จะรู้จักหรือคุ้นเคยกับ “กำนันนก” เป็นอย่างดี จนนำไปสู่การกระทำที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่ “บิ๊กโจ๊ก” ให้ข้อมูลด้วยว่าตำรวจในกลุ่มนี้ช่วยเอาปืนจากมือหน่องไปซ่อน และคืนเกิดเหตุได้ควบคุมตัวคนร้ายไว้แล้ว แต่ปล่อยตัวในเวลาต่อมา
ส่วนตัว “กำนันนก” เองหลังจากหลบหนีก็ตัดสินใจมอบตัวตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 7 กันยายน และไม่ขอ “ประกันตัว” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ชวนให้เกิดข้อสงสัยในทำนองว่า อยู่ในคุกอาจปลอดภัยกว่าอยู่นอกคุกซึ่งอาจถูก “ตัดตอน” ได้ตลอดเวลารวมทั้งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เหตุที่ “หน่อง ท่าผา’ มือปืนผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นลูกน้องของกำนันนกถูกวิสามัญเสียชีวิตเป็นการตัดตอนหรือไม่
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ต้องไม่ลืมว่า “กำนันนก” นั้นมีสายสัมพันธ์อันดีกับ “บ้านใหญ่นครปฐม” นับเนื่องมาตั้งแต่ยุคผู้ใหญ่โยชน์ผู้เป็นพ่อจนมาถึงตัวเอง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล ย้อนหลังในงานเลี้ยงในช่วงปี 2565 ก็จะพบบรรดากำนันและนักการเมืองในนครปฐมเข้าร่วมงาน และ “หนึ่ง” ในผู้ร่วมงานซึ่งต้องถือว่าเป็นบุคคลสำคัญแห่งดินแดนพระปฐมเจดีย์ก็ขึ้นกล่าวอวยพรให้กับ “กำนันนก” ด้วยคำพูดที่สะท้อนความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาแต่เก่าก่อนว่า “ผมเองกับพี่โยชน์ก็สนิทกัน แต่ก็ไม่สนิทเท่ากับพี่โยชน์ สนิทกับพ่อผม”
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ “กำนันนก” นั้น น่าเกรงขาม และทำให้ตำรวจและผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดนครปฐมจำนวนไม่น้อยสยบยอมต่อบารมีของเขา
เสียงเรียกร้องยามนี้ จึงพุ่งเป้าตรงไปที่การสังคายนาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือพูดกันแบบไม่อ้อมค้อมคือเป็น “เจ้านายสายตรง” ของบรรดา “กำนัน-ผู้ใหญ่” รวมถึงบรรดา “อบต.-อบจ.” ต่างๆ ว่าจะมีระบบการตรวจสอบอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า เกี่ยวข้องกับอิทธิพลในท้องถิ่นโดยตรงเป็นเบื้องแรก ซึ่ง “มท.1” คนใหม่คือ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศชัดเจนว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยที่จะต้องระดมสมองร่วมกันหารือ ที่จะไม่ให้ระบบเหล่านี้มาทำลายชีวิต ทำลายความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ลูกน้องของผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งถือปืนเข้ามาสังหารประชาชน หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐ โดยความเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ความเป็นพ่อเมืองของทุกคน ปล่อยให้เกิดเรื่องนี้แบบนี้ไม่ได้ และต้องลงไปตรวจสอบว่า คนแบบนี้เป็นกำนัน เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำชุมชนได้อย่างไร ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการขึ้นบัญชี สอบประวัติ และพฤติกรรม ของเหล่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ
พร้อมกันนั้นก็ได้มอบหมายให้ “เฮียหลา-ชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาจากสังคมไม่เบาโดยบอกว่า “ใช้คนเหมาะสมกับงาน” เป็นต้น
“นี่ขนาดลูกน้องนะ แล้วถ้าลูกพี่จะขนาดไหน ลูกน้องมันไม่มี ไม่ทำตามลูกพี่หรอก ตัวอย่างที่เลว ๆ แบบนี้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือกระทรวงมหาดไทย โดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยต้องไปขึ้นทะเบียน ไปคัดกรองคนแบบนี้อยู่ในสังคม อยู่ในบ้านเมืองไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน เอากันถึงชีวิตกันเลยแบบนี้ไม่ได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป”มท.หนูกล่าว และให้สัมภาษณ์ถึงนายชาดาในเวลาต่อมาด้วยว่า “เราต้องเลือกคนที่มีความเข้าใจว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร”
ด้านนายชาดาก็เด้งรับทันทีโดยบอกว่า “ไม่หนักใจ”
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับความจริงกันว่า กรณี “กำนันนก” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ภูเขาน้ำแข็ง” แห่ง “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งเกี่ยวโยงกับผู้มีอิทธิพลที่เพิ่งจะโผล่พ้นน้ำจากผลพวงของความตายของสารวัตรแบงค์เท่านั้น หากแต่ในหลายๆ จังหวัด หรืออาจจะทุกจังหวัดก็ว่าได้ ที่สถานการณ์ดำเนินไปในลักษณะนี้ แล้วแต่ผู้กว้างขวางไปจับธุรกิจอะไร ค้าที่ดิน ปล่อยเงินกู้ เปิดสถานบริการ ค้ามนุษย์ รถทัวร์ รถตู้ รถบัส เลยไปจนถึงธุรกิจสีเทา บ่อนการพนัน ออฟไลน์ ออนไลน์ โดยมี “คนมีสี” เข้าไปเกี่ยวข้องและสยบยอมทั้งสิ้น
ที่สำคัญคือคนเหล่านี้ ถ้าไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในหน่วยงานของรัฐอย่างกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนของ “นักการเมือง” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสังกัดกลุ่มก๊วนไหน โดยบางราย “ลูกพี่” ใหญ่โตถึงขนาดเป็นนักการเมืองระดับชาติก็มี ดังนั้น การขึ้นทะเบียน การปราบปราบผู้มีอิทธิพลจึงมีความเกี่ยวโยงกับการเมืองโดยตรง และก็มีเสียงแสดงความเป็นห่วงว่า อาจถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน
ถามว่า ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตำรวจท้องที่รู้ไหมว่า ใครเป็นใคร
ก็ต้องตอบว่า “รู้”
แต่ถามว่า รู้แล้วจัดการอย่างไร
คำตอบก็ดังเช่นที่เห็นและเป็นอยู่
ที่หนักไปกว่านั้นคือ เมื่อสำรวจตรวจตราบรรดานักการเมืองระดับชาติก็จะพบว่า แทบจะทุกพรรคล้วนแล้วแต่มี “บ้านใหญ่” และ “บ้านใหญ่” เหล่านี้ก็นับเป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองอีกต่างหาก ซึ่งหลายต่อหลายคนก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น “สส.” และมีไม่น้อยก้าวไปถึงขั้นเป็น “รัฐมนตรี” เลยทีเดียว
ขณะที่ “ตำรวจ” เองนั้น ถ้าหากย้อนหลังกลับไปพิจารณาปัญหี่ฉาวโฉ่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่า มีเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่มีปัญหา นั่นก็คือเรื่อง “ส่วย” เรื่อง “ตั๋ว” ที่พัวพันกับการแต่งตั้งโยงย้ายทุกปี และ “การจัดซื้อจัดจ้าง”
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ในสังคมไทยระบบที่ว่านี้ฝังรากลึกลงไปยาวนานจนยากที่แก้ไขได้
หรือถ้าจะแก้ไขกันแบบ “ขุดรากถอนโคน” ก็เกิดข้อสงสัยว่า อาจนำมาความพังทลายของระบบรัฐราชการไทยก็เป็นได้ เพราะแม้ “ข้าราชการดี” จะมีอยู่จำนวนมาก แต่ก็ต้องยอมเช่นกันว่า การรับส่วย การรับสินบนและการทุจริตนั้นได้แทรกซึมในทุกหน่วยงาน จนแทบจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะ “ตำรวจ” เท่านั้น