ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นไปตามคาดกับชัยชนะของ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ที่สนามเลือกตั้งซ่อม เขต 3 (อ.แกลง-เขาชะเมา) จ.ระยอง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า “โย” พงศธร ศรเพชรนรินทร์ ผู้สมัครพรรคก้าวไกล ได้คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 39,296 คะแนน ชนะ “นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์” จากประชาธิปัตย์ ที่ได้ ได้คะแนน 26,466 คะแนน ไปแบบขาดลอยด้วยคะแนนทิ้งห่าง 12,830 คะแนน
สามารถรักษาเก้าอี้ สส.เดิมของพรรคไว้ได้ หลังจากที่ “ไอซ์ ระยอง” นครชัย ขุนณรงค์ ต้องลาออกจาก สส. หลังถูกเปิดโปงว่า ต้องโทษจำคุก 3 ปี ในคดีลักทรัพย์ เมื่อ 24 ปีก่อน
และหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ก็จะทำให้จำนวน สส.ของพรรคก้าวไกลกลับมาเท่าทุนที่ 151 ที่นั่ง และทำหน้าที่ได้ 150 คน ขาดเพียง “แดดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ยังถูกสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่จากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวีอยู่
แน่นอนว่า พรรคก้าวไกล ย่อมต้อง “โหน” ชัยชนะในสนามเลือกตั้งซ่อมหนนี้ โดย “หัวหน้าทิม” ถึงขั้นประกาศเปรียบว่า เป็นเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก และพรรคก้าวไกลจะสะสมชัยชนะไปเรื่อยๆ
แต่ลึกๆ แล้ว พรรคก้าวไกล คงไม่ได้ยินดียินร้ายกับผลการเลือกตั้งที่ จ.ระยอง มากเท่าไร เพราะแทบไม่ได้ชี้วัดอะไรทางการเมือง ทั้งการที่คู่ต่อสู้เป็น “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระยะหลังเทียบกันไม่ติด และวันนี้ยังตกพุ่มมาเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน หรือในแง่ความนิยมพื้นที่ภาคตะวันออก ก็ถูกยึดครองโดย “ค่ายสีส้ม” มาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่แล้ว
สำคัญที่คู่แข่งตัวจริงอย่าง “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล ไม่ได้สนใจที่จะส่งผู้สมัครลงแข่ง ทั้งการที่ จ.ระยอง ไม่ใช่พื้นที่ทำการของพรรคเพื่อไทย และจังหวะเวลากระชั้นกับการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ดังนั้น ต้องยอมรับว่า การได้ที่นั่ง สส.ระยอง คืนมา 1 ที่นั่งของ พรรคก้าวไกล เป็นเพียง “กระดานเล็ก” ไม่ได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปแต่อย่างไร เพราะขณะนี้ “กระดานใหญ่” คือการจัดตั้งรัฐบาลนั้นตกเป็นของ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยได้สำเร็จแล้ว
อีกทั้งมีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของ 11 พรรคการเมือง จัดสรรปันส่วนจนคณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังการเลือกตั้งซ่อม สส.ระยอง จบ รุ่งขึ้นก็เป็นเวทีแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา อันเป็น “พิธีการ” ที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก่อนเข้าทำหน้าที่และมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดินเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ
อันเป็นเวทีที่ “ฝ่ายค้าน” ทุกยุคหวังใช้เป็นปูพรมถล่มรัฐบาลเช่นเดียวกับ พรรคก้าวไกล ที่กะวาดลวดลายเต็มที่ ถึงขั้นขอขยายเวลาการอภิปรายจาก 2 วันที่กำหนดไว้ระหว่าง 11-12 กันยายน 2566 เป็น 3 วัน แต่ก็ไม่สำเร็จด้วยซ้ำ
เวทีเดียวกันยังถือเป็นครั้งแรกของ “นายกฯ นิด” ในการเข้าสู่สังเวียนรัฐสภาด้วย จึงเป็นเวทีที่ฝ่ายค้านอย่าง พรรคก้าวไกล ที่มีประสบการณ์มา 1 สมัยเต็มแล้ว หวังใจว่าจะไล่ต้อน “มือใหม่” อย่าง “นายกฯ นิด” ให้เสียฤกษ์นั่นเอง
ทว่า ภาพรวมต้องยอมรับว่า “เศรษฐา” และคณะรัฐมนตรี ผ่านการแถลงนโยบายไปได้อย่างสบายๆ แทบไม่มีจังหวะถูกไล่ต้อนเข้ามุมแต่อย่างใด เพราะบรรยากาศไม่ได้ดุเดือดเลือดพล่านอย่างที่พรรคก้าวไกลฉายหนังตัวอย่างไว้ ตลอดจน “กรอบ” การอภิปรายไม่สามารถทำได้เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
และเอาเข้าจริงเวทีแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ ก็เป็นเพียงการประกาศ “สัญญาประชาคม” ว่า รัฐบาลจะทำอะไรในช่วงที่อยู่ในอำนาจ ส่วนฝ่ายค้านก็ทำได้เพียงแสดงข้อห่วงใย หรือการเสนอแนะเท่านั้น ไม่สามารถโจมตีอะไรได้ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้เริ่มทำงาน
ไล่เรียงดูตลอด 2 วันของการแถลงนโยบาย ต้องบอกว่าเป็น ฝ่ายรัฐบาล ที่ “ได้” มากกว่า แม้จะถูกจี้จุดถึงเรื่องนโยบาย “ไม่ตรงปก-ล่องหน” นโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้กับประชาชน ไม่ถูกระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภามีเพียงการพูดถึง “กว้างๆ” ไม่มีการระบุรายละเอียด หรือกรอบเวลา
ถือเป็นความตั้งใจ ที่ใช้ “ลูกเขี้ยว” ในการร่างนโยบายที่มีเนื้อหา 14 หน้า ทำเอาฝ่ายค้านไม่มีจุดไล่ต้อน เสมือนชกวืดไปมา ไม่ตรงเป้า
โดยนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ถูกสอดแทรกผ่านการชี้แจงของ “เศรษฐา” และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท, นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำทันที, นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า, นโยบายขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี, การพักหนี้เกษตรกรทั้งต้นทั้งดอก, นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร และการปฏิรูปกองทัพ, นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เติมเงินทุกครัวเรือนให้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน หรือนโยบายลดราคาค่าพลังงาน เป็นต้น
เหลือสิ่งอื่นใด เป็นเวทีโชว์ความโดดเด่นของ “นายกฯ นิด” ที่แม้เข้าเวทีรัฐสภาหนแรก อาจจะมีอาการประหม่าอ่านถ้อยแถลงผิดไปบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่า ทำได้ดี
ขณะที่ฝ่ายค้านเองกลับถูกวิพากษ์ว่า “ฟอร์มตก” ไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตายอะไรได้เลย ซึ่งก็เป็นเพราะ “กรอบ” การอภิปรายที่ว่าไปข้างต้นนั่นเอง รวมทั้งขาดตัวเรียกด้อมอย่าง “แดดดี้ทิม-พิธา” ที่ถูดหยุดปฎิบัติหน้าที่อยู่
เลยเป็นคิวของ “คูมไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็น “อดีตว่าที่ รมว.คลัง” รับบทผู้นำทัพฝ่ายค้านลุกขึ้นอภิปรายเปิดหัว โดย “ศิริกัญญา” โจมตีว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาลเหมือน GPS ที่หลงทาง มีแต่ความว่างเปล่า เบาหวิว แทบไมได้บอกอะไร มีแต่คำอธิษฐาน ขาดรายละเอียด ไม่ต้องทำตามสัญญาที่ทำไว้ตอนหาเสียงแบบนี้เรียกว่าไม่ตรงปก
ถึงขั้นเทียบคำแถลงของ “รัฐบาลเศรษฐา” โดยให้คะแนนเท่ากับ “รัฐบาลประยุทธ์” และหลุดมาตรฐานที่พรรคเพื่อไทยเคยบทำไว้สมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จนสงสัยว่า คนร่างนโยบายเดิมลาออกไปแล้วหรืออย่างไร
ขณะเดียวกัน “ขุนพลก้าวไกล” ที่เตรียมไว้ถึง 30 คน ก็หนักไปทางตีฝีปาก สร้างวาทกรรม เหมือนหวังต่อยอดไปใช้ในโลกโซเชียล แนวรบที่ถนัดต่อ
ที่สำคัญ “วาทกรรม” ที่ออกมา กลับเป็น “สคริปต์” เขียนมาให้ สส.อ่าน ที่หลายคนไม่ต่างจาก “นักแสดงหน้าใหม่” ยืนอ่านตามสคริปต์ ไม่ได้อินบทบาท หรือแสดงให้เห็นถึงความรู้ลึกรู้จริงในเรื่องที่พูด กลายเป็นอีกจุดที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้แต้มที่ควรจะได้
แถมยังเข้ารกเข้าพงไปกับ “ตัวตึง” อย่าง “เฮียโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ ที่จ้องหาจังหวะป่วน หวังชวนพรรคเพื่อไทยทะเลาะให้เป็นประเด็น
หนักเข้าบทบาทของฝ่ายค้านที่ได้รับการชื่นชมกลับเป็น “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่หวนคืนบัลลังก์ “ฝ่ายค้านมืออาชีพ” ออกหมัดตรงเป้ามากกว่า โดยเฉพาะรายของ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ได้รับเสียงชื่นชมในลีลาการอภิปราย จนกองเชียร์บ่นเสียดายไม่น่าไปหลงเป็นรัฐบาลมาตั้ง 4 ปี
เอาว่า 2 วันในการแถลงนโยบาย ฝ่ายรัฐบาลบทำได้ดีผ่านไปแบบชิลล์ๆ ส่วนฝ่ายค้านพรรคก้าวไกล ก็ถือว่าเสมอตัว แต่ไม่ “ว้าว” อย่างที่เคย
ถัดมาเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดแรกอย่างเป็นทางการของ “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งจากรูปแบบการประชุม และการแถลงผลการประชุม ค่อนข้างสะท้อนความเป็นตัวตนของ “เศรษฐา” ในแง่ “คิดเร็ว-ทำเร็ว” ได้พอสมควร
โดยหลังประชุม “นายกฯ นิด” เป็นผู้แถลงผลการประชุมด้วยตัวเองตามธรรมเนียม โดยใช้เวลาแถลงสั้นๆและกระชับกับมติคณะรัฐมนตรี 8 เรื่อง อันได้แก่
1.เห็นชอบให้มีการจัดพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติ ครบ 6 รอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2567
2.เห็นชอบ “เฮียอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
3.เห็นชอบวีซ่าฟรีประเทศจีน-คาซัคสถานชั่วคราว เริ่มวันที่ 25 กันยายน–29 กุมภาพันธ์ 2567
4.เห็นชอบตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
5.เห็นชอบพักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี
6.เห็นชอบเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ แบ่งเป็น 2 รอบต่อเดือน เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2567
7.เห็นชอบลดค่าไฟฟ้า 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เริ่มรอบบิลเดือนกันยายน 2566
และ 8.เห็นชอบลดราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 กันยายน 2566
เรียกว่า พูดเนื้อๆ เน้นๆ อันถือเป็นสไตล์ที่แตกต่างจาก “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนก่อนอย่างชัดเจน ที่มักใช้ช่วงแถลงข่าวพรั่งพรูถึงความเห็นส่วนตัวมากกว่าสาระสำคัญของประเด็น ซึ่งต้องดูต่อไปว่า “เศรษฐา” จะยึดแนวทางนี้คงเส้นคงวาหรือไม่
ที่ผิดคิวเล็กน้อยคงเป็นเรื่องที่ “เศรษฐา” ประกาศแนวคิดเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการทุกหน่วย จากเดือนละ 1 งวดเป็น 2 งวดต่อเดือน โดยดีเดย์เริ่มต้นปี 2567 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ และได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางเร่งศึกษารายละเอียด และกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานแล้วก็ตาม
พลันที่ไอเดีย “นายกฯนิด” แพร่ออกไป ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและคัดค้ายอย่างกว้างขวาง จนแฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ ขึ้นแทรนด์ในแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) จนทำท่าจะเป็น “เผือกร้อน” ตั้งแต่ต้นรัฐบาล
ตัว “เศรษฐา” ที่เป็นขาประจำในสังคมออนไลน์ก็คงรับรู้ได้ถึงกระแสที่ว่า จึงชี้แจงในวันถัดมาทันทีว่า ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสดของรัฐบาลที่ถูกมองว่า “ถังแตก” แต่เสนอเป็น “ทางเลือก” ให้กับบรรดาข้าราชการในการรับรายได้เป็น 2 งวด เพื่อไปบริหารจัดการหนี้สิน หรือลงทุนหรือทำประโยชน์อื่นได้
“ให้เป็นทางเลือก แบ่งจ่าย 2 หน หรือจะจ่ายหนเดียวก็ได้ ถ้าใครไม่ชอบก็ใช้อย่างเดิม มีแต่เสมอตัวกลับดีขึ้น ผมเข้าใจว่าการที่เรา เสนอทางเลือกใหม่ ก็มีคนชอบ และคนไม่ชอบ แต่ว่ารัฐบาลเราบริหารจัดการประเทศมีขีดงบประมาณจำกัด เราคำนึงถึงทุกๆ มิติของการออกนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ อะไรที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นการแค่ Reprogram เท่านั้นเอง ว่าจะจ่ายเงินเมื่อไร อย่างไร” นายกฯ เศรษฐาว่าไว้
นอกจากนี้แม้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบตั้งแต่ต้น ก็ยืนยันว่า พร้อมสู้ต่อ เพราะรู้อยู่แล้วว่า การออกนโยบายอะไรไปก็มีทั้งกระแสลบและกระแสบวก
เอาเข้าจริง แม้จะมีสารพัดปัญหารอให้รัฐบาลแก้ไข แต่ก็ต้องถือว่า “เศรษฐา” น่าจะทำงานง่ายในช่วงเริ่มต้นของรัฐบาล พูดกันเล่นๆ ว่า แค่ไม่ทำแบบ “ผู้นำคนเก่า” ที่ช่วงท้ายกระแสตกฮวบอย่างเห็นได้ชัด ก็คงไม่มีปัญหาอะไร
ยิ่งกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ต้องรอมาเกินกว่า 100 วันหลังเลือกตั้งแบบนี้ ชาวบ้านก็คงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานอย่างราบรื่น ไม่ติดขัดเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง จึงไม่แปลกว่า เสียงเชียร์ “รัฐบาลเศรษฐา” จะมีมากกว่าเสียงก่นด่า
ที่น่าห่วงคงเป็นพรรคก้าวไกลกับบทบาทฝ่ายค้าน ที่แม้จะเป็นบทบาทเดิม แต่บริบทเปลี่ยนไป เป้าโจมตีไม่ใช่ “นายกฯ ตู่” ที่แตะตรงไหนก็ร้อง แต่เป็น “เสี่ยนิด” คนมาใหม่ ที่หากตัดเรื่อง “นายกฯ ส้มหล่น” ก็ยังแทบไม่มีริ้วรอยใดๆ
ยิ่งพรรคก้าวไกลดูจะหลงไปกับการปั่นกระแสในสังคมออนไลน์ ซึ่งเข้าใจว่านำมาซึ่งคะแนนเสียง จนได้เป็นที่ 1 ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา แต่หลายๆ เรื่องก็นำมาใช้โจมตีรัฐบาล ก็กลายเป็นเรื่องชวนหัว นำไปสู่การปฏิบัติจริงไม่ได้
มองจากจุดสตาร์ท ต้องบอกว่า เป็นฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยที่ดูได้เปรียบกว่า ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคก้าวไกลที่อาจจะยังเมาหมัดกับการผิดหวังที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่.