xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สายสีเขียว” ลากยาวไป ป.ป.ช.ฟัน กทม. – BTSC ปมฮั้วต่อสัญญาเดินรถ สีม่วง-แดง 20 บาทตลอดสายของขวัญปี 67 ทำได้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นเรื่องที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามทำให้ได้จริงตามสัญญา ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายใน 3 เดือนนี้ จะเริ่มนำร่องสายสีแดงกับสายสีม่วงเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 แน่ ส่วนสายสีเขียวซึ่งตอนนี้ยังวุ่น ๆ ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ชุดใหญ่จ่อชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าฯ กทม.- ผู้บริหารบีทีเอสซี ก็คงว่ากันอีกยาว 

จากที่วางเป็น “นโยบายรอง”  ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนจนเจอ “ทัวร์ลง”  กลับลำแทบไม่ทัน ก็เป็นอันว่าเรื่องการลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถูกยกให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นผลงานชิ้นโบแดงเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนคนเมืองหลวงและปริมณฑลรอบนอก ซึ่งใช้บริการรถไฟฟ้าสัญจรไปมาเป็นหลัก เพราะมีความสะดวกสบาย แต่ปัญหาคือภาระค่าโดยสารแพงหูฉี่ ดังนั้นถ้าค่าโดยสารลดลงมาเหลือ 20 บาทตลอดสายได้อย่างว่าจะโดนใจคนเมืองมากกว่าเรื่องไหน ๆ

เรื่องนี้  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงชี้แจงนโยบายรัฐบาลในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ขอยืนยันว่าจะเริ่มทำทันทีเพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย โดยจะทำการรวบรวมสัมปทานเดินรถของเอกชนทุกเส้นทาง และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับผู้ได้รับสัมปทานทุกราย ซึ่งการเจรจามีหลายเรื่องต้องลงรายละเอียดอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

สำหรับในส่วนโครงการเส้นทางการเดินรถโครงการของรัฐ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง จากตลิ่งชันไปรังสิต รวมระยะทาง 41 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี อัตราค่าโดยสารปัจจุบันราคา 14-42 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-คลองบางไผ่ รวมระยะทาง 23 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี อัตราค่าโดยสาร 14-42 บาท จะให้มีการปรับราคาเป็น 20 บาทตลอดเส้นทาง โดยจะเร่งผลักดันให้เป็นจริงภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 แก่ประชาชน

นายสุริยะยังให้ความมั่นใจว่า ภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย เหตุผลที่ไม่สามารถทำได้ทันทีเพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจาและวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อย ยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดปัญหามลพิษ ส่วนการคำนวณราคาค่าโดยสารนั้น ขอยกตัวอย่าง หากอยู่รังสิตจะมากรุงเทพชั้นในที่สยาม ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลงที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ มาต่อสายสีน้ำเงินที่จตุจักร และต่อสายสีเขียวไปที่สยาม จากปัจจุบันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 108 บาท แต่ถ้านโยบายสำเร็จจะจ่ายค่าโดยสารแค่ 20 บาท เท่านั้น

 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งฟังว่านายสุริยะ จะรีบมอบของขวัญปีใหม่ 2567 ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย นำร่องสายสีม่วงกับสายสีแดงว่า “ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน” แต่นายสุริยะคงจะมาบอกอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร 

ขณะที่  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านการโพสเฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte” ว่านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท แบบ “ไม่ตรงปก” คือทำเฉพาะสองสาย สีแดงกับสีม่วง ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงปีใหม่แต่อย่างใด ส่วน “แบบตรงปก” ซึ่งจะนั่งกี่สาย กี่สีก็ได้ ไม่ควรให้รอนานถึง 2 ปี

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างรังสิต-ตลิ่งชัน ระยะทาง 41 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตร จะเท่ากับ 1.02 บาท (42/41)

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากบางเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างเตาปูน-บางใหญ่ (คลองบางไผ่) ดังนั้น ค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตร จะเท่ากับ 1.83 บาท (42/23)

“รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “แบบไม่ตรงปก” สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง จะต้องรอถึงปีใหม่หรือ ? ...ผมเห็นว่าไม่ต้องรอถึงปีใหม่ สามารถเริ่มได้ทันที เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ก็ได้ เพราะรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้ เป็นการลงทุนทั้งหมดโดยภาครัฐ ไม่มีเอกชนร่วมลงทุน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเจรจากับเอกชน เพียงแค่ใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และประชาสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งใช้เวลาไม่นาน”

ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “แบบตรงปก” ที่นายสุริยะบอกต้องรอนานถึง 2 ปี นั้น ดร.สามารถ เห็นว่า ควรใช้เวลาประมาณ 1 ปีเท่านั้น และควรแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับกิจการรถไฟฟ้า” ขึ้นมาเป็นอันดับแรก คณะกรรมการฯ มีหน้าที่เจรจาต่อรองกับผู้เดินรถไฟฟ้า โดยควรเริ่มเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ก่อน เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด หาก BTSC ยอมรับข้อเสนอจากภาครัฐ คาดว่าผู้เดินรถรายอื่นก็คงยอมเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้จากค่าโดยสารให้ผู้เดินรถแต่ละราย รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้ผู้เดินรถแต่ละรายอีกด้วย

ส่วนประเด็นที่ รมว.คมนาคม เข้าใจว่าหากลดค่าโดยสารลง จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แล้วจะส่งผลให้ผู้เดินรถไฟฟ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ภาครัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากผู้เดินรถนั้น ดร.สามารถ ชี้ว่า เป็นการเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แม้จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่รายได้จะลดลงเพราะค่าโดยสารลดลงจากอัตราในปัจจุบันมาก ดังนั้นภาครัฐจะต้องชดเชยให้ผู้เดินรถ

 เอาเป็นว่านโยบายลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ทุกสาย ทุกสี จะเริ่มได้ช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่ “คณะกรรมการกำกับกิจการรถไฟฟ้า” จะเจรจากับเอกชนจนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และมีข้อพิพาทกับภาครัฐอยู่หลายเรื่องหลายคดี  

หนึ่งในคดีที่สำคัญ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประชุมพิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์คณะไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 13 ราย ไปแล้ว นั้น

ในการพิจารณาสำนวนการไต่สวนฯเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมมีข้อเสนอว่า ควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ผลปรากฏว่าองค์คณะไต่สวน มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฯมีเพียงพอที่จะลงมติได้แล้ว จึงไม่ต้องสอบเพิ่มอีก

จากนั้น มีการลงมติผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดหรือไม่ ผลปรากฏว่า องค์คณะไต่สวนมีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157, 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ไปด้วยเสียง 3 ต่อ 3 เสียง แม้ว่าเสียงจะเท่ากัน แต่ถือว่าเข้าข่ายความผิด เพราะตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า การลงมติว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่นั้น ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่

ส่วนในประเด็นที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพียงข้อหาเดียวหรือไม่นั้น องค์คณะไต่สวนมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด โดยกรรมการเสียงข้างน้อย คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ

จากนั้น องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ได้นำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ตามเสนอโดยมีผู้ถูกชี้มูลฯ 12 ราย ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งรายที่เสียชีวิตไปแล้ว คือ นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ผู้อำนวยการกองการขนส่ง กทม.

สำหรับขั้นตอนต่อไป ป.ป.ช. จะส่งสำนวนการไต่สวนให้กับอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญา ส่วนการลงโทษทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้องนั้น จะส่งให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทุกราย ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และพวกรวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ตามที่องค์คณะไต่สวนเสนอ

 สำหรับผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 13 ราย ประกอบด้วย 1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเพมหานคร 2. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ารายการกรุงเทพมหานคร 3. นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 4. นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการบริษัท กรุงเทพอนาคม จำกัด 5. นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร 6. นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร 7. นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง 8. นายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง 9. นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ผู้อำนวยการกองการขนส่ง 10. นายคีรี กาญจนพาสน์ กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

11. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 12. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้างในโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 6 พ.ค.2555 และผู้บริหารระบบในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส. 006/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 13. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส.6/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค. 55 


สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นกรณีการทำสัญญาว่าจ้างให้เอกชนให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS) ในฐานะผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้าง BTSC เพื่อให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และ 3. ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี หรือเป็นสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในปี 2585 โดยมีวงเงินค่าจ้าง 1.9 แสนล้านบาท

กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง “เป็นเรื่อง” อยู่ที่ ป.ป.ช. นั้น จะกระทบกับนโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายหรือไม่ อย่างไรนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ต้องไปดูทั้งหมดว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร ตรงไหน ถ้ามีคำสั่งออกมาก็ต้องมาพิจารณากันอีกที

ขณะที่นายสุริยะ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่หากผู้บริหาร BTS ถูกชี้มูล ก็จะมีผู้บริหารขึ้นมารักษาการ ส่วนกรณีหากศาลชี้มูลแล้วมีควรกฎหมายามผิด คงต้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงไปศึกษาข้อกฎหมายก่อน แต่ในเบื้องต้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไรและไม่กระทบกับนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการ

ทางด้านบีทีเอสซี โต้กลับการชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยถึงรายงานข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 กรณี ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดต่อ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 12 คน ซึ่งรวมถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ BTSC) นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของบริษัทฯ (“BTSC และผู้บริหาร”) เกี่ยวกับกรณีการทำสัญญาให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2555 (“สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย”) ว่า บริษัทฯ ยังไม่ได้รับการยืนยันเรื่องการชี้มูลความผิดดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่ปรากฏในข่าว และขอชี้แจงข้อเท็จจริง และกระบวนการตามกฎหมายในเบื้องต้น

 สรุปความว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ BTSC และผู้บริหาร ว่าเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ BTSC และผู้บริหารได้มีหนังสือสอบถามเพื่อขอความชัดเจนของพฤติการณ์ในการกระทำความผิดกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่หลายครั้ง เพื่อให้ BTSC และผู้บริหารได้ชี้แจงข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ร้องขอ 


นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ตรวจพบว่ามีข้อเท็จจริง และหลักฐานหลายประการที่ยังไม่ปรากฏในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นในวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารของ BTSC จึงได้มีหนังสือขอนัดหมายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 15 กันยายน 2566 เพื่อขอรับทราบพฤติการณ์ในการกระทำความผิด และขอชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ

แต่กลับปรากฏตามข่าวว่าทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อเท็จจริง และเอกสารต่าง ๆ ที่ถูกต้องครบถ้วนจาก BTSC และผู้บริหารแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทราบความจริงว่า BTSC และผู้บริหารไม่ได้กระทำใด ๆ ที่เป็นความผิดตามที่ได้กล่าวหา

ในทางกฎหมาย หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดตามที่เป็นข่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องจัดส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ และอัยการสูงสุดต้องพิจารณาสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน (เว้นแต่มีการขยายระยะเวลาออกไป) เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของสำนวนการไต่สวน และพิจารณาว่าจะดำเนินคดีต่อ BTSC และผู้บริหาร ตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การมีมติชี้มูลความผิดเป็นกระบวนการทางอาญา กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่กระทบต่อสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และคู่สัญญาฝ่ายรัฐยังคงถือเอาประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ จึงขอให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นและขอยืนยันว่าสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และบริษัทฯ ยังคงให้บริการตามสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป หากได้รับแจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดจริงตามที่ปรากฏในข่าว บริษัทฯ จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะอีกครั้ง

ไม่เพียงแต่ปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ บีทีเอสซี ยังมีข้อพิพาทเรื่องหนี้สินกับกรุงเทพมหานคร ค้างคาอยู่ในเวลานี้ โดยก้อนแรกเป็นค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ครบกำหนดชำระและเป็นหนี้ที่บีทีเอสซีลงทุนจริง หนี้ก้อนนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เสนอให้สภา กทม. อนุมัติมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แต่ สภา กทม. ยังไม่ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

ส่วนหนี้ที่เกิดจากค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง O&M (Operation and Maintenance) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ยังไม่เสนอขอสภา กทม. เนื่องจากเป็นคดีความฟ้องร้องและอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล

ทั้งนี้ หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) วงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ก้อนแรกวงเงิน 11,755.06 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ ที่ กทม.ได้ยื่นต่อศาลปกครอง หลังจากก่อนหน้านี้ศาลปกครอง พิพากษาให้ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จํากัด (เคที) ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอสซี ส่วนหนี้ก้อนที่สองวงเงิน 11,068.50 ล้านบาท ทางบีทีเอสซี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ในการยื่นอุทธรณ์สู้คดีของ กทม. ต่อคำสั่งศาลที่ให้ กทม. ใช้หนี้บีทีเอสซี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 นั้น กทม.ให้เหตุผลไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขการเจรจาตามคำสั่งเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ กทม.ไม่มีภาระต้องชำระค่าดอกเบี้ยเนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่ได้มีการระบุไว้

ส่วนการว่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจาก กทม.เพียงมอบหมายให้ กรุงเทพธนาคม ไปดำเนินการต่อ ซึ่งกรุงเทพธนาคม ไปตกลงทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสซี โดยไม่ได้เปิดประมูล และไม่ได้เสนอต่อสภา กทม. เพื่อเห็นชอบงบประมาณก่อน ดังนั้นจึงไม่ควรมีการก่อหนี้ผูกพันได้

 สัญญาว่าจ้างเดินรถที่มีปัญหามาตั้งแต่ต้น ไม่เพียงกลายมาเป็นคดีฟ้องร้องกันนัวเนีย และทาง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้บริการ กทม. กรุงเทพธนาคม และผู้บริหาร บีทีเอสซี สุดท้ายอาจทำให้คำสัญญารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลเพื่อไทย ไม่เป็นจริง ก็เป็นได้ 




กำลังโหลดความคิดเห็น