xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นกแก้วโม่ง ฝูงสุดท้ายแห่งเมืองนนท์ ปลุกสำนึกอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ข่าวใหญ่ในแวดวงการอนุรักษ์สัตว์ป่า กรณีของ “นกแก้วโม่ง ฝูงสุดท้ายใน จ. นนทบุรี” เกิดกระแสข่าววัดเจ้าของพื้นที่เตรียมโค่นยางนายืนตาย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของอาศัยตามธรรมชาติของนกสายพันธุ์นี้ นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของแนวทางอนุรักษ์สัตว์ป่าในเขตชุมชนเมือง เรื่องของ “ความปลอดภัยของชุมชน” กับ “การอนุรักษ์สัตว์ป่า” ซึ่งนกแก้วโม่งจัดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และเป็นสัตว์ป่าคุมครอง 

สำหรับ “นกแก้วโม่ง” ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ 2562 หากใครจับหรือทำร้ายมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือหากมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

“นกแก้วโม่ง” เป็นนกประจำถิ่นอยู่คู่กับเมืองนนท์มาช้านาน ด้วยเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตเคยอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด แม้ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปแทบหมด แต่ก็ยังมี “นกแก้วโม่งฝูงสุดท้าย” อาศัยอยู่ตามธรรมชาติบนยอดต้นยางอายุนับร้อยปีในพื้นที่ จ.นนทบุรี

สำรวจพบว่าจำนวนประชากรของนกแก้วโม่งในเมืองนนท์ รวมฝูงกันพักอาศัยอยู่ที่เฉพาะต้นยางนาใน 4 จุดด้วยกันคือ ฝูงที่วัดสวนใหญ่ใน อ. บางกรวย ฝูงที่วัดสะพานสูงใน อ. ปากเกร็ด ฝูงที่วัดไผ่เหลืองกับฝูงที่วัดมะเดื่อ ใน อ.บางบัวทอง ซึ่งธรรมชาติของนกแก้วโม่งจะอาศัยขุดโพรงทำรังอยู่บนต้นยางนาที่สูงเท่านั้น และไม่พบว่ามีการไปสร้างรัง หรือขุดโพรงที่ต้นไม้ชนิดอื่น

โดยวงจรชีวิตนกแก้วโม่ง ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ของทุกๆ นกแก้วโม่งจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ เจาะโพรงต้นไม้ เพื่อสร้างรังวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2 - 4 ฟอง ซึ่งจากการติดตามของคณะทำงานในปี 2566 พบว่านกแก้วโม่งมีการจับคู่แล้ว 4 คู่ อาศัยอยู่ในโพรงไม้ โดยใช้เวลาในการฟักไข่เลี้ยงดูลูกนกอยู่ในโพรงไปจนกว่าลูกนกจะเริ่มออกบินหาอาหารได้ด้วยตัวเอง ระยะเวลาลูกจะฟักไข่และแม่ทิ้งรัง เสร็จสิ้นประมาณ เม.ย. 2567

วิถีชีวิตนกแก้วโม่งฝูงนี้จะออกหากินในช่วงเช้า และกลับมาเข้ารังในช่วงเย็น จะบินออกไปหาผลไม้ตามสวนของชาวบ้านกินทุกวัน แต่ความที่สวนผลไม้ อ.บางกรวย เหลือน้อย นกจำเป็นต้องเข้าใกล้คนมากขึ้น ที่ผ่านมาเครือข่ายนักอนุรักษ์มีความกังวลว่าจะมีคนจับพวกมันไปเลี้ยงหรือไปขายรวมทั้งทำร้ายพวกมัน มีการเฝ้าระวังส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่น่าสร้างความตระหนกตกใจก็คือไม่นานมากนี้ เจ้าของพื้นที่  “วัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี”  ซึ่งเป็นที่ตั้งของต้นยางนายืนต้นตายที่นกแก้วโม่งกลุ่มหนึ่งที่ทำรังอยู่ จะทำการโค่นต้นยางอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ซึ่งยืนต้นตายมานายกว่า 20 ปี โดยทางวัดให้เหตุผลด้านความปลอดภัยของชุมชนเป็นสำคัญ มากกว่าตระหนักถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

แน่นอนว่า การตัดสินใจโค่นต้นยางนาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยต่อชุมชนนั้น ในอีกมิติหนึ่งเป็ยการขับไล่ให้นกแก้วโม่งสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ไม่ให้มีที่อยู่อาศัย เกิดอันตรายกับลูกนกที่ยังไม่สามารถบินได้ ทั้งที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะในธรรมชาติปัจจุบันเหลือจำนวนน้อย

ชะตากรรมของนกแก้วโม่ฝฝูงสุดท้ายถูกตีแผ่ผ่าน  ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์  อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านและนักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง โดยโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเป็นห่วงของชีวิตนกแก้วโม่งในโพรงต้นยางนายืนต้นตายบริเวณวัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี หลังจากทางเจ้าของพื้นที่ทางวัดและชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ มีแผนที่จะตัดต้นยางนาดังกล่าวทิ้งในช่วงหลังปีใหม่ ปี 2567 เนื่องจากเกรงว่ายางนายืนต้นตายต้นนี้ที่มีขนาดสูงใหญ่จะหักโค่นลงมาทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไป-มา หรือสร้างความเสียหายแก่ ทรัพย์สินของชาวชุมชนที่อยู่ในละแวกรัศมีของต้นยางนาต้นดังกล่าว

ดร.ศรันย์ภัทร์ เสนอแนวทางอย่างประณีประนอมขอให้มีการชะลอการตัดต้นยางนายืนตายต้นนี้ไปก่อน เป็นในช่วงราวเดือน มี.ค. - เม.ย. ปี 2567 เพื่อให้ลูกนกแก้วโม่งเกิดใหม่ที่อาศัยอยู่ในโพรงต้นยางนาต้นนี้แข็งแรงพอบินออกจากรังไปใช้ชีวิตของตัวเอง

หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปเป็นที่วิพากษ์อย่างมาก แม้เข้าใจว่าชุมชนต้องการความปลอดภัย แต่ก็สนับสนุนแนวคิดการให้ชะลอการตัดต้นยางยาทิ้งไปก่อนเพื่อให้ลูกนกแก้วโม่งเกิดใหม่แข็งแรงจนสามารถบินออกจากรังได้ จึงค่อยตัดยางนายืนตายต้นนี้ทิ้งไปเสีย

ประเด็นดังกล่าวเกิดกระแสโจมตีไปทางวัดเจ้าของพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ทำนองว่า ทั้งๆ ที่วัดเป็นเขตอภัยทานเหตุใดไม่ยอมให้นกอยู่อาศัย จะไปตัดต้นไม้ไล่นกพันธุ์หายากไปทำไม

 พระครูนนทปริยัติวิสุทธิ เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อ เปิดใจว่าวัดไม่ได้ต้องการที่จะตัดต้นยางนาอายุเป็นร้อยๆ ปีที่อยู่คู่กับวัดมาเพื่อไล่นก แต่เป็นเพราะต้นยางนาต้นนี้ได้ยืนต้นตายมานานกว่า 20 ปีแล้ว ลำต้นก็เริ่มผุพังลงรวมทั้งกิ่งก้านต่าง ๆ เกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายขึ้นกับผู้คนในชุมชน โรงเรียนชั้นประถม และพระเณรที่อาศัยอยู่ภายในวัด เพราะด้วยขนาดลำต้นที่มีความยาวสูงใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา แค่กิ่งจากต้นยางนาร่วงหล่นมาใส่รถของคนที่เดินทางมาทำบุญกับทางวัด ทางวัดยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะต้นยางต้นนี้อยู่ในพื้นที่วัด

ขณะที่  นายนิติ ธรรมจิตต์  นักวิชาการจากสมาคมรุกขกรรมไทย ให้ข้อมูลว่าจากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงานพบต้นยางนาต้นนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี และยืนต้นตายมาเป็นเวลานานแล้ว สภาพในโพรงของต้นยางนาเปื่อยยุ่ยเกือบจะทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะล้มลงมาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยแตกในลักษณะขวางตามลำต้น ซึ่งถ้าไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องการอนุรักษ์นกเข้ามาเกี่ยวข้อง เห็นควรโค่นตัดทิ้งออกเพื่อความปลอดภัยของผู้คนและชุมชน

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนำสู่การประชุมปรึกษาหาทางออกของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายอันนำมาสู่ข้อสรุปว่า ในเบื้องต้นทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรีได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายหนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงสร้างเหล็กค้ำยันพื้นกับต้นยางนาเอาไว้ โดยจะตัดกิ่งก้านของต้นยางนาที่ผุพังออก พร้อมกับติดตั้งรังเทียมไปยังต้นยางนาต้นอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้นกแก้วโม่งหาที่ทำรังแห่งใหม่ ซึ่งก็จะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย โดยจังหวัดนนทบุรีเตรียมผลักดันให้นกแก้วโม่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไปในอนาคตคู่กับสวนทุเรียนนนท์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้กรณีนกแก้วโม่งกับต้นยางนาจะมีข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประเด็นการสูญพันธ์ของสัตว์ป่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกจับตามาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่บทความเรื่อง “เราเหลือเวลาอีกเพียง 20 ปี สำหรับแก้ไขวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6” ระบุว่าสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติบ่งชี้ปัจจัยวิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เป็นผลกระทบจากการเติบโตของจำนวนประชากร การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การค้าสัตว์ป่า มลภาวะต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่กำลังคุกคามสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตหลายร้อยชนิดให้ยืนอยู่ขอบเหวของการสูญพันธุ์ในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดปรับปรุงมาจากรายงานในปี 2015 ซึ่งได้ประกาศให้มนุษยชาติได้ทราบว่า เรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลก ได้สรุปอัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมถึง 100 เท่า หรือหมายความว่าการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นใน 1 ปี มีอัตราเทียบเท่าการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปีในอดีต ที่สำคัญการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ แต่วิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง

ขณะที่สหประชาชาติ ผยผลการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์กำลังทำให้สิ่งมีชีวิต 1 ล้านสายพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กล่าวคือสายพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรต่ำกว่า 1,000 ชีวิต สัตว์มีกระดูกสันหลังบนโลกจำนวน 515 สายพันธุ์กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ ประมาณครึ่งหนึ่งอาจมีจำนวนประชากรน้อยกว่า 250 ชีวิต และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ในอีก 20 ปี ข้างหน้า

และพบว่า กว่า 237,000 สายพันธุ์ นอกเหนือจาก 515 สายพันธุ์กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ ณ ขณะนี้ ได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ ปี 1900 และสัตว์ที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการสูญพันธุ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบุกรุกถิ่นฐานของมนุษย์

 แนวทางการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย นอกจากด้านนโยบายโดยหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติโดยตรงแล้ว การขับเคลื่อนโดยของภาคประชาสังคมการมีส่วนร่วมของประชาชาชนนับเป็นกลไกอย่างยิ่ง 


กำลังโหลดความคิดเห็น