xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตลาด Speacialty Coffee มาแรง อย. จ่อคุมผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วบด!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เป็นกระแสสนในใจแวดวง Speacialty Coffee กรณีร้านค้าแห่งหนึ่งขายเมล็ดกาแฟผ่านสื่อออนไลน์ มีรสชาติและกลิ่นให้เลือกหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เพราะมีการแต่งส่อไปในทางสองแง่สองง่ามและหยาบคาย แถมมีการโฆษณารีวิวผ่านสื่อออนไลน์โจ๋งครึ่ม กระทั่งเรื่องถึง กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงมีการประสานไปยังแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ Shopee และ Lazada ก่อนมีการถอดสินค้าออกจากหน้าการขายของร้านทั้งหมด 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุว่าบนตัวบรรจุภัณฑ์ไม่ปรากฎสถานที่ผลิตหรือบรรจุ หรือที่อยู่ของผู้ผลิตอย่างชัดเจน ไม่มีเลขทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยทาง อย. อยู่ระหว่างตรวจสอบ

 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าการขายผลิตภัณฑ์อาหารหรืออาหารสุขภาพ ต้องขออนุญาตจาก อย. ทั้งนี้ ตามข้อมูลเบื้องต้นผลิตภัณฑ์กาแฟที่เป็นข่าวปัญหาคือชื่อฉลากที่ระบุกลิ่นชนิดต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วเข้าข่ายทำให้เสื่อมเสีย หรือไม่ปกติต่อสังคม โดยตรวจสอบว่ามีการขอขึ้นทะเบียนจาก อย.หรือไม่ มีการขออนุญาตใช้ฉลากหรือไม่ และข้อความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งต้องเข้าไปดูสถานที่ผลิตด้วยว่าได้รับอนุญาตและมีความสะอาดปลอดภัยหรือไม่ กรณีที่มีความผิดจะเป็นโทษปรับเกี่ยวกับฉลาก จำนวน 5,000 บาท นอกจากนี้ หากไม่เหมาะสม อย.ยังสามารถร้องขอเว็บไซต์ที่ขายสินค้าออนไลน์ดังกล่าว ให้นำผลิตภัณฑ์นั้นออกจากร้านค้าออนไลน์ก็ได้

 น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์  รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่นำเสนอขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ จะต้องขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจากองค์การอาหารและยา (อย.)จะต้องมีเลขสารบบ 13 หลัก ต้องแจ้งสูตรกลิ่นอย่างชัดเจน ไม่ใช้คำหยาบคายตามระเบียบของการโฆษณา จะต้องไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดจรรยาบรรณที่ดี หรือแอบอ้างบ่งบอกถึงเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมและผิดรูปแบบ เช่น การแต่งกลิ่นต่างๆ อาจเข้าข่ายอาหารไม่ปลอดภัย ดังนั้นผู้ขาย ผู้ผลิตจึงเป็นการทำการตลาดที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อีกทั้งยังมีการแอบอ้างโฆษณาเกินจริง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

 น่าสนใจว่าจากประเด็นดังกล่าว จะนำไปสู่การจัดระเบียบเมล็ดกาแฟที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์หรือไม่? ซึ่งส่วนมากไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. เพราะนิยมจัดจำหน่ายทำกันเป็นธุรกิจคั่วบดขายกันเฉพาะกลุ่มคอกาแฟ ที่สำคัญคือกระแสของ Speacialty Coffee ในประเทศไทยกำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Bangkok Bank SME เผยว่าตลาด Specialty Coffee มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท หรือราว 10% ของตลาดทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี 

ความพิถีพิถันของการผลิตกาแฟ Specialty Coffee มีอัตลักษณ์ของตัวเองทำให้ได้รับความนิยบมในกลุ่มนักดื่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น กาแฟเทพเสด็จ  กาแฟพันธุ์ดีของคนไทย ผลผลิตจากดอยสูงใน จ. เชียงใหม่ ที่ปลูกอยู่บนพื้นที่สูง อยู่ใต้ร่มเงาของต้นชาเหมี่ยงและป่าไม้ธรรมชาติ และอยู่บริเวณป่าต้นน้ำ มีสภาพอากาศเย็นตลอดทั้งปี มีดอกก่อเป็นดอกไม้ป่า มีผึ้งโก๋นหรือผึ้งโพรงที่เลี้ยงโดยชาวบ้านทำให้ไม่มีแมลงมารบกวนและเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรของดอกกาแฟ ทำให้กาแฟเทพเสด็จเป็นกาแฟที่รสชาติกลมกล่อมมีความหอมกลิ่นจากดอกไม้ป่า มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งที่บ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) อันดับที่ 11 ของอาเซียน กาแฟเทพเสด็จ นอกจากจะเป็นแบรนด์เมล็ดกาแฟไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว ยังเป็นกาแฟแห่งการอนุรักษ์ป่าด้วย

เป็น Specialty Coffee ไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับ ภายใต้การพัฒนารสชาติ และปรับปรุงการแปรรูปเมล็ดกาแฟอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟ อันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จากข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ปี 2017-2021 ไทยส่งออกปริมาณ 24,812 ตัน คิดเป็นมูลค่า 26,604 ล้านบาท สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์กาแฟ อาทิ กาแฟปรุงแต่ง และกาแฟพร้อมดื่ม

โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา 9976.5 ล้านบาท ลาว 646.8 ล้านบาท เมียนมา 530 ล้านบาท และ ฟิลปปินส์ 251.6 ล้านบาท สำหรับเมล็ดกาแฟที่ไทยส่งออกได้ดี คือ กาแฟพันธุ์อราบิก้า มีมูลค่า 80.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63% ของการส่งออกเมล็ดกาแฟทั้งหมด

โดยอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยอยู่อันดับที่ 7 ของเอเชีย ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะจากสถิติพบว่าการบริโภคกาแฟของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว จาก 180 แก้วต่อคนต่อปี เป็น 300 แก้วต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ก็ต้องถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น คนยุโรปที่ปีหนึ่งดื่มกาแฟคนละ 600 แก้ว หรือชาวอเมริกันที่ดื่มกาแฟคนละ 400 ล้านแก้วต่อวัน หรือ 146,000 ล้านแก้วต่อปีเรียกว่าแทบดื่มแทนน้ำกันเลยทีเดียว

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าตลาดกาแฟโดยเฉพาะกาแฟสดมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยมีศักยภาพเติบโตถึงปีละ 10%

และน่าสนใจว่า Specialty Coffee อาจกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน หรือ AEC มีโอกาสเติบโตอีกไม่น้อย

ขณะที่ สมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand) หรือ SCATH ได้ส่งเสริมและผลักดันธุรกิจกาแฟไทยให้เติบโตในตลาดกาแฟ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง สนับสนุนผู้อยู่ในซัพพลายเชนธุรกิจกาแฟตั้งแต่ เกษตรผู้ปลูก ผู้แปรรูป โรงคั่วกาแฟ เพื่อให้วงการกาแฟไทยเติบโตไปอย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันและสนับสนุน ทั้งการพัฒนาการผลิตในทุกกระบวนการ การเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต รวมถึงพัฒนาด้านการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม

 นายกรณ์ สงวนแก้ว อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคกาแฟสูงขึ้นเท่าตัวจาก 180 แก้วต่อคนต่อปี เป็น 300 แก้วต่อคนต่อปี แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรปที่ดื่มกาแฟเฉลี่ย 600 แก้วต่อคนต่อปี นั่นหมายความว่าตลาดกาแฟในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีก ขณะเดียวกันกระแสความนิยมของ Specialty Coffee หรือกาแฟพิเศษในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ Specialty Coffee หรือกาแฟพิเศษ มีการคัดสรรเพื่อได้เมล็ดที่มีคุณภาพก่อนนำไปผ่านกระบวนการแปรรูป และคั่วอย่างมีหลักการ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็คือกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัว และให้รสสัมผัสที่แตกต่างจากกาแฟปกติ ส่วนราคาขายก็สูงขึ้นเท่าตัวจากกาแฟทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น กาแฟพิเศษสัญชาติไทยจากแหล่งปลูกบ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยในปีนี้ สามารถทำราคาประมูลได้สูงถึง 10,010 บาทต่อกิโลกรัม

“ในอดีตคอกาแฟมักจะคุ้นเคยกับกาแฟจากบราซิล, เอธิโอเปีย, กัวเตมาลา และโคลอมเบีย แต่ปัจจุบัน Specialty Coffee ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นกาแฟดาวรุ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดในประเทศ และต่างประเทศ”  นายกรณ์ สงวนแก้ว อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น