ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า พื้นที่สีเขียวเพิ่มพลังงานด้านบวก ส่งเสริมสุขภาพใจคลายความเหงา คืนความสดชื่นให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ชวนสำรวจพื้นที่สีเขียวเมืองหลวงของไทย อย่าง “กรุงเทพมหานคร” พบว่ามีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานโลก ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเร่งเครื่องนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน ที่ถูกจับตามที่สุด คือ “นโยบายสวน 15 นาที” ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อ้างอิงข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 7 ตารางเมตรต่อคน หากนับรวมประชากรแฝง คาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น นั่นหมายความว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวนับเป็นภารกิจที่ กทม.ให้ความสำคัญ โดยขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย “สวน 15 นาที” มีเป้าหมายต้องการให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะ ภายในเวลา 15 นาที หรือห่างจากชุมชนบ้านเรือนประมาณ 800 เมตร เป็นการเข้าถึงสวนสาธารณะใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปสวนสาธารณะแหล่งใหญ่ๆ
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบายว่า สวน 15 นาทีเป็นภาพสะท้อนความเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งเมืองน่าอยู่ไม่ได้มีเพียงเรื่องเศรษฐกิจดีอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือคนต้องมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย มีอากาศดีให้หายใจ มีพื้นที่สีเขียวเพื่อต่อสู้กับมลพิษมากขึ้น และนอกจากอยู่ใกล้ชุมชนและเข้าถึงง่ายแล้ว จุดประสงค์ที่ซ่อนอยู่คือการหาพื้นที่ให้คนพักผ่อนให้เวลากับสุขภาพกายและใจ
ปัจจุบัน กทม.เปิดใช้สวน 15 นาทีแล้ว 13 สวน และเตรียมที่ดินเพื่อทำเพิ่มอีก 107 แห่ง แบ่งเป็นที่ดินของ กทม. 42 แห่ง ของเอกชน 27 แห่ง ที่เหลือเป็นที่ดินจากรัฐวิสาหกิจ เช่น การทางพิเศษ การรถไฟ เป็นต้น รวมพื้นที่ทั้งหมดขณะนี้ 659 ไร่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มปีละอย่างน้อย 30 สวน ผ่านงบประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี
สำหรับเป้าหมาย ปี 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถเปิดสวน 15 นาทีได้เพิ่มอีก 40 - 50 แห่ง โดยเงื่อนไขของการเปิดสวนได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับที่ดินที่จะได้มา รวมถึงทำเลที่ตั้งต้องอยู่ในโซนชุมชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ตามความเหมาะสม โดยแต่ละสำนักงานเขตฯ จะเร่งปรับปรุงที่ดินบริเวณนั้นให้สามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ต้องการพื้นที่สีเขียวสำหรับออกกำลังกาย เดินเล่น หรือพักผ่อนในยามว่าง
ทั้งนี้ กทม. มีแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดังนี้ 1.กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที 2.หาพื้นที่พัฒนา pocket park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอพื้นที่ศักยภาพน่าพัฒนา
3.อาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี 4.เปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการ อาทิ โรงเรียน สำนักงานต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา
และ 5.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น ดูแลต้นไม้และทำความสะอาดพื้นที่โดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามขับเคลื่อนร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดลักษณะของอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว) เสนอโดย นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล
เนื่องจากพบว่าปัจจุบัน กทม. ประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียว เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานที่องค์การสหประชาชาติประกาศกำหนด แม้กทม. และหน่วยงานของรัฐอื่นจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างปรับปรุงสวนทุกปี แต่ก็ยังมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จึงได้มีการเสนอร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา
ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวจะกำหนดให้ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคาร ตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้พื้นที่บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ กำหนดให้ 10% ของพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ว่าง
ผลของข้อบัญญัตินี้ก็อย่างเช่น บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร มีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร จะมีพื้นที่สีเขียว 15 ตารางเมตรนอกอาคาร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ 100 ตารางเมตร จะมีพื้นที่ว่าง 10 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรนอกอาคาร เป็นต้น
ทั้งนี้ กทม. และหลายๆ ประเทศ มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กทม. สามารถทำได้แค่ 7 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น และแม้ที่ผ่านมาจะมีคำสั่ง กทม. ให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ผลที่เกิดขึ้นคือสำนักงานเขตต่างๆ ทำได้เพียงการไปปลูกต้นไม้ที่เกาะกลางถนน หรือปลูกไม้เลื้อยจนทางเดินเท้าเสียหาย หรือนำถุงต้นกล้าไปวางไว้ใต้สะพานทางด่วน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยสาระสำคัญของร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว จะเป็นกลไกหนึ่งที่ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มุ่งเน้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
บทความเรื่อง “สิ่งแวดล้อมกับความสุข : ความสุขจากพื้นที่สีเขียว” โดย รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวขาดแคลนมากในเมืองใหญ่ กรุงเทพฯ ก็เช่นกัน จากการสำรวจดัชนีความเขียวของเมืองในเอเชีย (โดย the Economic Intelligent Unit ในปี 2012) พบว่า กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มเมืองใหญ่ที่มีอัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชาการที่ต่ำที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกันชายชอบของกรุงเทพฯ อีกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่สีเขียวติดเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับกรุงเทพได้มาก คือพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 12,000 ไร่ รวมอาณาเขต 6 ตำบลในอำเภอพระประแดง จ. สมุทรปราการ พื้นที่นี้ถูกขนานนามว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ (โดย Times Magazine Asia ในปี 2006) เป็นที่ผลิตออกซิเจนและดูดซับคาร์บอนได้อย่างมาก
ดังนั้น การพยายามคงรักษาไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมืองจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในเมื่อการสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นใหม่อาจมีข้อจำกัดหลายๆ ประการรวมทั้งประเด็นปัญหาต่างๆ อันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องที่ดิน การบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืนควรจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ก่อนที่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมืองผืนนี้จะค่อยๆ ลดลงหากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนต่างนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ
นอกจากนี้ จากการศึกษาในระดับนานาชาติพบว่าสิ่งแวดล้อมกับความสุขมีความสัมพันธ์กัน และพื้นที่สีเขียวทำให้คนมีความสุขขึ้น ในกรณีศึกษาของบางกะเจ้า ประเทศไทย เมื่อปี 2561 - 2562 ก็เช่นกัน ผลจากการทดสอบเชิงปริมาณพบว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความสุขของคนในชุมชน ในทุกระดับอาชีพ รายได้ อายุ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใหนก็ตาม สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ
และในการสำรวจล่าสุดในเดือนมีนาคมปี 2566 พบว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสุขเพิ่มมากขึ้น และมากกว่าครึ่งที่ตอบว่าระดับความสุขที่มาจากพื้นที่สีเขียวอยู่ในระดับสูงสุด (55%) และมีความเป็นห่วงว่าพื้นที่สีเขียวจะลดลงในระดับที่มากที่สุดเกือบ 50% ในระดับรองลงมาอีก 30%
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า พื้นที่สีเขียวเพิ่มพลังงานด้านบวก ส่งเสริมสุขภาพใจคลายความเหงา คืนความสดชื่นให้ร่างกายรู้สึกกระปรี่กระเปร่า โดยข้อมูลจาก greenery.org ระบุว่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดความเหงาของคน ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยเรื่อง The impact of the built environment on loneliness โดยนักวิจัยจากออสเตรเลียและอังกฤษ พบว่าความเหงานั้นเกิดจากการอาศัยอยู่ในเมืองที่เดินทางไม่สะดวก เข้าถึงพื้นที่สีเขียวยาก ไม่ปลอดภัย ฯลฯ นอกจากนี้ ความเหงาก็ยังทำให้มีผลต่อสุขภาพกาย โดยไปส่งผลให้คนเหงามักเสพติดของมึนเมา ส่งผลให้เป็นโรคด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีผลชี้ชัดว่าคนที่เหงาจะต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยกว่าคนอื่นๆ โดยระบุว่า การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น แหล่งช็อปปิ้ง ร้านอาหาร ส่วนกลางของชุมชน หรือ สวนสาธารณะ เป็นการช่วยลดความเหงาได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า
นอกจากนี้ วารสาร International Journal of Epidemiology เผยแพร่บทความเรื่องพื้นที่สีเขียวในการเยียวยาความเหงา ปี 2022 เน้นศึกษาการมีอยู่ของพื้นที่สีเขียวในประเทศออสเตรเลีย โดยดูว่าในพื้นที่หนึ่งๆ นั้นสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในระยะ 400 เมตร 800 เมตร และ 1600 เมตร คือ 1 ส่วน 4 ไมล์ ครึ่งไมล์ และหนึ่งไมล์ พบความเชื่อมโยงของการเข้าถึงและปริมาณพื้นที่สีเขียวว่าสัมพันธ์ผกผันกับความเหงาหรือความเหว่ว้าของกลุ่มตัวอย่าง ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการมีพื้นที่สีเขียวในระยะหนึ่งไมล์ส่งผลเชิงบวกกับความรู้สึกเหงาอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่ายิ่งมีพื้นที่สีเขียวหนาแน่นขึ้นก็ยิ่งทำให้ผู้คนเหงาน้อยลง โดยระบุว่าทุกๆ 10% ของพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้คะแนนหรือความรู้สึกเหงาของผู้คน โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตตามลำพังให้รู้สึกเหงาลดลง