xs
xsm
sm
md
lg

ยุคใหม่ของการเมืองไทย: ความขัดแย้งใหม่ระหว่างอนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยมกับเสรีนิยมสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

นับตั้งแต่ ปี 2566 ภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทยปรากฏชัดเจนมากขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 22 สิงหาคม ปีเดียวกัน กล่าวได้ว่ายุคแห่งความขัดแย้งแบบเสื้อสีระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองกับฝายแดงเสื้อได้ยุติลง และการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความขัดแย้งแบบใหม่ที่มีมิติของอุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian conservatism) กับ ฝ่ายเสรีนิยมสังคม (social liberalism)

 1 ความขัดแย้งทางการเมืองแบบเสื้อสีได้ผ่านพ้นไปแล้ว

1.1 สิ่งนี้เห็นได้จากการที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายเสื้อแดงจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายทหารและฝ่ายเสื้อเหลือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จภายใต้การสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาสายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล บุคคลที่ใกล้ชิดพลเอกประยุทธ์ หลายคนเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลเศรษฐา โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

1.2 นายทักษิณ ชินวัตรเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยมิได้ถูกจับตัวเพื่อคุมขังในเรือนจำ หากแต่ไปพักอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจโดยอ้างว่าป่วย หลังจากนั้น 10 วันนายทักษิณได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี โดยมีพลเอกประยุทธ์เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ นักวิเคราะห์คาดกันว่านายทักษิณอาจจะพ้นสภาพการเป็นนักโทษอย่างสมบูรณ์ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้

1.3 คนเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่งสามารถยอมรับการลดโทษนายทักษิณได้ เพราะเห็นว่านายทักษิณเป็นอันตรายต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมน้อยกว่าพรรคก้าวไกล และต้องการให้นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยเป็นกองหน้าในการต่อสู้กับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมไร้สมรรถนะในการแข่งขัน อย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์ได้สูญสิ้นสมรรถนะในการแข่งไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มทุนผูกขาดบางกลุ่มก็เป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจและไม่แข็งแกร่งพอที่จะต่อสู้กับพรรคก้าวไกลในสนามเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตาม คนเสื้อเหลืองเข้มจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับการที่นายทักษิณได้รับการลดโทษ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองสู้มาร่วมยี่สิบปีปราศจากความหมายและไร้คุณค่า บางคนจึงประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าเลิกสนใจการเมือง ไม่ปกป้องสิ่งใดอีกต่อไป บางคนระบุว่าจะหันไปทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างเดียว บางคนประกาศยอมแพ้ และบางคนระบุว่าต่อไปนี้จะเพลิดเพลินกับการพักผ่อน และชมนกชมไม้เป็นหลัก คนเหล่านี้ประสบกับความผิดหวัง จนเกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ สิ้นหวัง และถอนตัวออกจากการเมือง

1.4 กลุ่มเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ภักดีต่อนายทักษิณรู้สึกยินดีที่เขาได้รับการลดโทษ และยังคงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป กลุ่มนี้ในปัจจุบันเรียกตัวเองว่าเป็น  “กลุ่มอึ่งไข่” หรือ กลุ่มเสื้อแดงอุปถัมภ์ (patronage red-shirt) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในตัวบุคคล โดยพวกเขาเชื่ออย่างหนักแน่นว่านายทักษิณเป็นคนดีและมีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ ดังนั้นไม่ว่านายทักษิณและพรรคเพื่อไทยตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร กลุ่มอึ่งไข่ก็จะยอมรับและสนับสนุนต่อไปโดยไม่คลอนแคลน สำหรับพวกเขาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องสำคัญกว่าเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง

ทว่า กลุ่มเสื้อแดงอีกบางส่วนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยเกิดความรู้สึกแปลกแยก และรับไม่ได้การที่นายทักษิณไปสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มอำนาจเก่า ความรู้สึกของกลุ่มนี้ในการตอบสนองการผสมพันธุ์ข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีคล้ายคลึงกับกลุ่มเหลือเข้ม คือผิดหวังในพรรคที่ตนเองสนับสนุน จึงตัดสินใจถอนตัวจากการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย รูปธรรมที่เห็นชัดคือการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และการสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยลดลงจาก 29 % เหลือเพียง 10 %

 อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสื้อแดงประชาธิปไตย (democratic red-shirt) มีความว้าวุ่นใจน้อยกว่ากลุ่มเสื้อเหลืองอนุรักษ์นิยมเข้มข้น (hardcore conservative yellow-shirt) เพราะพวกเขามีพรรคการเมืองใหม่อันได้แก่พรรคก้าวไกล ที่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงอุดมการณ์ร่วมกันได้ ขณะที่กลุ่มเสื้อเหลืองเข้มจำนวนมากไม่อาจทำใจเชื่อมโยงเชิงอุดมการณ์กับพรรคเพื่อไทยที่อดีตปรปักษ์ของพวกเขาได้ พวกเขาจึงตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังทางการเมือง

 2 ยุคการเมืองเสื้อสีเป็นยุคแห่งความขัดแย้ง 2 มิติ

2.1 ความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำการเมืองแบบประชานิยมที่มีความทะเยอทะยานในการรวมศูนย์อำนาจ กับกลุ่มชนชั้นสูงอนุรักษ์นิยมจารีตที่มีความรู้สึกว่าขอบเขตอำนาจและเสถียรภาพทางการเมืองของตนเองถูกคุกคาม ผู้นำประชานิยมคือนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความสามารถในการทำให้มวลชนผู้ยากจนเชื่อมั่นและสนับสนุนเขาได้ จนทำให้พรรคการเมืองของเขาสามารถครอบครองอำนาจรัฐได้อย่างยาวนาน ยิ่งกว่านั้นความเชื่อมั่นของมวลชนต่อตัวนายทักษิณยังถูกถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่น ๆ ในตระกูลของเขาด้วย เมื่อได้อำนาจรัฐ นายทักษิณพยายามรวมศูนย์อำนาจ และใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยมอย่างเข้มข้น จึงไปกระทบเส้นแดนอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และสร้างความขัดแย้งขึ้นมา

2.2 ความขัดแย้งระหว่างนายทักษิณกับชนชั้นกลาง ในช่วงแรกชนชั้นกลางที่เป็นปกปักษ์กับนายทักษิณมีความเป็นเอกภาพ แต่ต่อมาชนชั้นกลางแยกออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือชนชั้นกลางที่ให้น้ำหนักกับรูปแบบของประชาธิปไตยในเรื่องที่มาของอำนาจเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจของรัฐบาลเป็นรอง กลุ่มนี้จึงให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และมักจะมองข้ามการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมของรัฐบาล ในเวลาต่อมา ชนชั้นกลางกลุ่มนี้หันไปสนับสนุนนายทักษิณ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนเสื้อแดงที่เรียกว่า เสื้อแดงประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกลางกลุ่มนี้ถอนการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เมื่อพวกเขาเห็นว่าพรรคเพื่อไทยหันไปจับมือและสยบยอมกับชนชั้นสูงที่เป็นกลุ่มอำนาจนิยม
ชนชั้นกลางกลุ่มที่สองให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจรัฐพอ ๆ กับที่มาของอำนาจรัฐ หรือให้ความสำคัญทั้งการเลือกตั้ง และการใช้อำนาจรัฐหลังเลือกตั้งนั่นเอง ชนชั้นกลางกลุ่มนี้มีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ต่อต้านการเมืองแบบ “ประชานิยมผสมอำนาจนิยม” ของนายทักษิณและพรรคการเมืองของเขา ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ต่อมาในภายหลังชนชั้นกลางกลุ่มนี้หันไปสนับสนับสนุนพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมสังคม

ชนชั้นกลางกลุ่มที่สาม เป็นชนชั้นกลางแบบอนุรักษ์นิยม ต่อต้านนายทักษิณและพรรคการเมืองของเขาอย่างเข้มข้น กลุ่มนี้ชื่นชมและยอมรับการรัฐประหารที่เข้ามาขจัดการเมืองที่พวกเขารังเกียจ ปฏิกิริยาของกลุ่มนี้ต่อการร่วมมือระหว่างนายทักษิณกับชนชั้นสูงมีสองลักษณะคือ บางส่วนยอมรับการตัดสินใจของชนชั้นสูง แม้ว่าไม่เต็มใจมากนักก็ตาม แต่อีกบางส่วนไม่ยอมรับ และตัดสินใจถอยออกห่างจากการเมือง

การจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร และพรรคที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มอำนาจเก่า รวมทั้งการกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตรและการได้รับการลดโทษลงจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความขัดแย้งระหว่างนายทักษิณที่เป็นนักประชานิยมแบบอำนาจนิยม กับชนชั้นสูงและชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมได้ยุติลงแล้ว สาเหตุหลักของการร่วมมือเกิดจากความรู้สึกหวาดกลัวต่อการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องพยายามทำทุกวิธีทางในการสกัดกั้นมิให้พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายเสรีนิยมสังคม ที่สร้างการเมืองแบบใหม่จนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่เป็นพลเมืองตื่นรู้จำนวนมหาศาลขึ้นมามีอำนาจรัฐ เพราะเมื่อไรก็ตามที่พรรคก้าวไกลมีอำนาจรัฐ ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานภาพ บทบาท และอำนาจของพวกเขาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 ยุคของความขัดแย้งทางการเมืองแบบใหม่เริ่มขึ้นแล้ว และจะเป็นความขัดแย้งหลักที่อาจใช้เวลาต่อสู้กันยาวนานนับสิบปี สำหรับสนามการต่อสู้แรกคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในประเด็นรูปแบบการแก้ไข กลุ่มที่จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ และเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ พลวัตของความขัดแย้งนี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้างในสังคมไทย เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น