xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน เครือข่ายการค้าสมัยราชวงศ์ศรีชยนาศและไศเลนทร์ตอนต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


รูป 1. เส้นทางการค้าสมัยราชวงศ์ศรีชยนาศ
โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

เส้นทางการค้าในสมัยราชวงศ์ศรีชยนาศ


ศรีวิชัย ทวารวดีและเจนละเจริญขึ้นมาหลังจากฟูนัน (พนม) เสื่อมลง จารึกสิทธิยาตราระบุว่าสมาพันธ์รัฐศรีวิชัยที่ก่อตั้งที่ปาเล็มบังในปี พ.ศ.1226 เพื่อควบคุมการค้าในช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้ เช่น การค้าเครื่องหอม พระพุทธรูปและพระเครื่องจากอินเดียไปจีนแทนที่ราชวงศ์โคตมะ พระภิกษุจีนเดินทางไปอินเดียโดยเรือของชาวออสโตรเนเซียนที่มาค้าขายตามเมืองท่าของจีน ศรีวิชัยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลแทนฟูนันและราชวงศ์โคตมะตั้ง แต่ก่อตั้งเพราะเรือสะดวกที่จะแวะในช่องแคบมะละกามากกว่าปากแม่น้ำโขงเมื่อความรู้การเดินเรือได้พัฒนาขึ้น

ฟูนันไม่มีกำลังทางเรือแต่เมืองมลายูต้องส่งบรรณาการให้ฟูนันเพราะต้องใช้เมืองท่าออกแอวเป็นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เจนละที่โค่นฟูนันลงไม่มีกำลังทางเรือ ทำให้ศรีวิชัยสร้างเครือข่ายทางการค้าและค้าขายกับเจนละ เรือจากเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ เช่น อาหรับ เปอร์เซีย และอินเดียยังคงผ่านช่องแคบมะละกาไปค้าขายกับจีนที่เป็นตลาดหลัก ดังนั้นจีนจึงเป็นปลายทางของสินค้าจากเอเชียตะวันตก เอเชียใต้และอุษาคเนย์

จากนั้นศรีวิชัยขยายเครือข่ายไป จัมบิ เกาะบังกา เกาะลัมพุง จนส่งออกสินค้าไปจีนที่กว่างโจวและฉวนโจว และค้าขายกับราชวงศ์อุมัยยัดที่ดามัสกัส ขยายไปมะริด-ตะนาวศรี และขยายไปที่โกตาเกลังงี (ใกล้สิงคโปร์-ยะโฮร์) ทะรุมะนครที่ช่องแคบซุนดา และเคดาห์ รักตมฤติกา ลังกาสุกะ มีการค้นพบเหรียญอับบาซิยะห์ในแหลมมลายูที่แสดงการติดต่อระหว่างทวารวดีผ่านศรีวิชัยไปตะวันออกกลาง เมื่อมีกบฏต่างๆในจีนเกิดขึ้นทำให้เรือจากตะวันออกกลางผ่านศรีวิชัยไปจีนน้อย ต่อมาผูกมิตรกับราชวงศ์ไศเลนทร์บุกยึดตามพรลิงค์ ไชยา ขยายไปบาตังแถวเพคาลองกันและมะธะรัม เริ่มส่งทูตจากมะธะรัมไปจีนแทนปาเล็มบัง โจมตีเจนละ ฮานอยและจามปาขยายเครือข่ายการค้าไปกัมพูชาและยังติดต่อการค้ากับทวารวดี พยายามคุมช่องแคบมะละกาและซุนดารวมทั้งอ่าวไทยเพื่อประโยชน์ทางการค้า

จากพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมาพันธรัฐเป็นเจ้าแห่งเครือข่ายการค้าทางทะเลในชายฝั่งอุษาคเนย์ที่เชื่อมจีนกับอินเดียโดยใช้เรือแบบโครงกรอบไม้คู่เพื่อกันไม่ให้เรือโคลง ตามภาพแกะสลักนูนต่ำในบรมพุทโธแสดงเครือข่ายการค้าโบราณในมหาสมุทรอินเดียที่เชื่อมระหว่างอุษาคเนย์ เกาะมาดากัสการ์และแอฟริกาตะวันออกที่เรียกว่า เส้นทางอบเชย ศรีวิชัยใช้เรือแบบนี้ในการค้าขายและเป็นกองเรือโจมตีในยุทธนาวี ชาวออสโตรเนเซียนใช้เรือแบบนี้สำหรับการอพยพในทะเลมานานแล้วและเดินเรือข้ามมหาสมุทรอินเดียและอุษาคเนย์ ตามปกติสมาพันธรัฐกระจุกตัวอยู่ที่ช่องแคบมะละกาและซุนดา ในเกาะสุมาตรา แหลมสมุทรมลายูและชวาตะวันตก มามัลลาปุรัม (มหาพลีปุรัม) และ ทัมราลิปติเป็นเมืองท่าทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดียที่สำคัญในยุคศรีชัยนาศ พ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียชอบมาแวะที่เมืองท่าคายาลปฏินัมและเรียกว่าเมืองนี้ว่า คายาล เส้นทางเดินเรือของพระภิกษุชาวจีนคือ เจี้ยวจื้อ-ออกแอว-กันดาริ-นาควารี-ศรีลังกา

รูป 2.เส้นทางการค้าสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนต้น
เส้นทางการค้าในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนต้น

ในยุคนี้จะคล้ายคลึงกับราชวงศ์ศรีชยนาศเพราะเพิ่งจับมือเป็นพันธมิตรกันหลังจากราชวงศ์ไศเลนทร์ทำสงครามกับราชวงศ์ศรีชยนาศ หลังจาก 2 ราชวงศ์นี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยการแต่งงานไม่นานกัมพูชาก็แยกเป็นอิสระ ราชวงศ์ไศเลนทร์ขยายเครือข่ายการค้าทั่วมหาสมุทรอินเดียจากชายฝั่งอุษาคเนย์ สมาพันธรัฐได้ขยายเส้นทางการค้าของชาวออสโตรเนเซียนไปตะวันออกกลางและแอฟริกาตะวันออก เครือข่ายการค้านี้รวมถึงเมืองตอนล่างของแหลมมลายูที่อยู่ในไทย พม่าและมาเลเซียในปัจจุบัน เกาะชวา เกาะสุมาตรา และสถานีการค้าหลายแห่งใกล้ช่องแคบมะละกาและซุนดา เกาะบอร์เนียว เกาะซุลาเวสี เกาะโมลุกกะและบางส่วนในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ สมาพันธรัฐสร้างสถานีการค้าใกล้กับแม่น้ำบาริโตทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว ชาวมลายูผสมกับชาวมาอันจนกลายเป็นชาวบันจาร์ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 13-17 นักเดินเรือและพ่อค้าชาวศรีวิชัยเดินทางไปถึงชายฝั่งเกาะบอร์เนียว หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทางตะวันออกของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ชายฝั่งเขมรและเวียดนาม อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ทวีปแอฟริกาและเกาะมาดากัสการ์ซึ่งเริ่มอพยพคนไปในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 เมื่อสมาพันธรัฐควบคุมการค้าในมหาสมุทรอินเดียเกือบทั้งหมด พ่อค้าเหล่านี้ไปค้าขายอบเชยโดยใช้เรือคะตะมารันที่มีโครงกรอบไม้คู่และเดินเรือโดยใช้ลมค้าตะวันตกในมหาสมุทรอินเดีย

นักเดินเรือชาวออสโตรเนเซียนเดินทางไปแอฟริกาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 จึงรู้เส้นทางจากอุษาคเนย์ไปมาดากัสการ์ดีโดยอาจจะเดินเรือตรงไปเกาะนั้น อย่างไรก็ตามจากการศึกษามิโตคอนเทรียลดีเอ็นเออย่างละเอียดพบว่าชนพื้นเมืองมาลากาซีสืบเชื้อสายมาจากสตรี 30 คนที่เดินเรือมาจากอินโดนีเซียเมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อน ภาษามาลากาซีมีคำในภาษาชวาและมลายูที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต มีอยู่ 2 ทฤษฎีสำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวอุษาคเนย์บนเกาะมาดากัสการ์ ทฎษฎีแรก แซร์ราและปาสกินี่เสนอว่าชาวอุษาคเนย์เดินเรือตรงมาจากอินโดนีเซียมาตั้งถิ่นฐานทางตะวันออกของเกาะจากการศึกษาการกระจายตัวของภาษา จากนั้นจึงเดินเรือรอบเกาะและบางส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่หมู่เกาะโคโมโร่ส์ ทฤษฎีที่ 2 โบเวอร์และคณะเสนอว่าผู้อพยพตั้งถิ่นฐานที่หมู่เกาะโคโมโร่ส์ก่อนที่จะอพยพไปยังเมืองท่ามาลิฮากะทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมาดากัสการ์ก่อนจึงจะอพยพเข้าไปยังเมืองอันดาราโคเอราที่อยู่ตอนในเมื่อชาวบันตูหรือสวาฮิลีมาถึงจากแอฟริกาตะวันออก จากการศึกษาโบราณพืชวิทยา พันธุ์ไม้เอเชีย เช่น ข้าว เผือก จะกระจุกตัวที่หมู่เกาะโคโมโร่ส์และทางตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณรอบๆมาลิฮากะ ต่อมาคนเหล่านี้ไปผสมกับชาวบันตูจากทวีปแอฟริกา

เมื่อศรีวิชัยควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญๆในมหาสมุทรอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 14 มหาราชาสมรตุงคะได้มีราชโองการให้อพยพชาวบันจาร์จากบันจามาซินทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียวข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเกาะมาดากัสการ์ในแอฟริกาตะวันออกประมาณปีพ.ศ.1373 ไม่ใช่เป็นการอพยพโดยบังเอิญแต่อพยพแบบมีแผนโดยนำเมล็ดพันธุ์พืชจากอุษาคเนย์ เช่น ข้าว เผือก เป็นต้น พวกเขาเดินเรือโดยใช้เส้นทางอบเชยผ่านช่องแคบซุนดา ผ่านหมู่เกาะมัลดีฟและเซเซลส์ ศรีวิชัยอาจส่งนักสำรวจเดินเรือรอบเกาะล่วงหน้าก่อนการอพยพจะเกิดขึ้น ในพุทธศตวรรษที่ 14 เมืองท่าสำคัญคือจามปา เขมรพระนคร ทวาราวดี แหลมมลายู (ครหิ ตามพรลิงค์ ลังกาสุกะ เคดาห์ ตะกั่วปา) ปาเล็มบัง ศรีลังกา (อนุราธปุระ) และอินเดียใต้ (นาคปฏินัม)

สมาพันธรัฐได้แผ่อิทธิพลไปถึงฟิลิปปินส์ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 มีการก่อตั้งอาณาจักรหลายแห่ง การค้นพบเทวรูปเทวีตาราทองคำในอากูซาน เดล ซูร์ เทวรูปกินราที่บูตวน ตอนเหนือของเกาะมินดาเนาส่อถึงการติดต่อระหว่างชาวฟิลิปปินส์โบราณกับสมาพันธรัฐ เทวีตาราและกินราเป็นเทพที่สำคัญในพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน การอพยพนี้เพื่อขยายเครือข่ายทางการค้าไปให้ทั่วมหาสมุทรอินเดียถึงชายฝั่งแอฟริกาเพื่อหาวัตถุดิบมาผลิตสินค้าป้อนตลาดจีน ราชวงศ์ถังย้ายเมืองท่าจากฉวนโจวไปเจียวจื่อ (ฮานอย) ในเวียดนาม ศรีวิชัยก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางเรือ ต่อมามะธะรัมแยกตัวออกไปทำให้สูญเสียเส้นทางการค้ากับเกาะชวาและกระทบเครือข่ายทางการค้าพอสมควร สมาพันธรัฐใช้การทูตทางศาสนาสร้างความสัมพันธ์กับกับอาณาจักรปาละของอินเดียที่อยู่บริเวณอ่าวเบงกอลโดยมหาราชาพาลบุตรได้บริจาคเงินสร้างวิหารที่นาลันทาหลังจากที่หนีมาจัมบิมากกว่าปาเล็มบังเพราะเมืองจัมบิส่งทูตไปจีน มีพ่อค้าจากเปอร์เซีย ตะวันออกกลางและเป็นแอฟริกาตะวันออกเข้ามาค้าขายที่ศรีวิชัย ซากเรือจมพนมสุรินทร์ในไทยและเบลิตุงในอินโดนีเซียเป็นหลักฐานแสดงถึงเรือเย็บแบบอาหรับในพุทธศตวรรษที่ 13 ซากเรือจมเหล่านี้แสดงว่ามีพ่อค้าอาหรับเข้ามาค้าขายกับศรีวิชัยที่ช่องแคบมะละกาและทวาราวดีในอ่าวไทย โดยแวะที่คายาลปฏินัมทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดียใต้

เจี่ยตัน贾耽ข้าราชการของราชวงศ์ถังเขียนแผนที่โดยสัมภาษณ์ทูตต่างชาติและพงศาวดารจิ่วถังชู้และซินถังชู้บันทึกชีวประวัติของเขา เขาเก็บข้อมูลระหว่างปีพ.ศ.1327-1348 งานทางภูมิศาสตร์ของเขาคือหนังสือ หวงหัวซื่อต้าจี้ 皇华四达记 (พ.ศ.1341) กู่จินจุนกั๋วเซียนเต้าซื่ออี้ชู้古今郡国县道四夷述และแผนที่ไห่เน่ยห้วอี้ถู海内华夷图 (พ.ศ. 1344) โดยซินถังชู้ เล่มที่ 43 สรุปงานเหล่านี้เอาไว้ แผนที่ไห่เน่ยเขียนขึ้นใหม่โดยหวังโม่王謨 (พ.ศ.2274-2360) ในชื่อว่าฮั่นถังตี้ลี่ชู้เจ้า汉唐地理书钞 งานของเขาอยู่ในช่วงที่หยางเหลียงเย่าเดินทางไปแบกแดดในปีพ.ศ.1328 เพื่อเข้าเฝ้ากาหลิบราชวงศ์อับบาซิยะห์ จากจารึกที่ป้ายหลุมศพของหยางเหลียงเย่าและจากซินถังชู้ เล่มที่ 43 เจี่ยตันเรียกเคดาห์ว่า กา-หล่า ตามสำเนียงจีนยุคกลางที่ออกเสียงเหมือนภาษาอาหรับและอธิบายเส้นทางทางทะเลจากจีนไปแบกแดดที่หยางเหลียงเย่าใช้ ดังนั้นเจี่ยตันรู้จักโลกอาหรับดีและหลักฐานอาหรับร่วมสมัยก็ยืนยันในสิ่งที่เจี่ยตันพรรณนา เส้นทางของเจี่ยตันและหยางเหลียงเย่าเป็นเส้นทางที่อิบึน ฆอร์ดาดเบห์ (พ.ศ.1362-1455) ใช้ใน 100 ปีถัดมาและบูซูร์ก อิบึน ชาห์ริยาในภายหลัง เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าศรีวิชัยในยุคราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนต้น

เอกสารอ้างอิง
Bower, Robert C., Tom Gübleman, Alison Crawther, and Nicole Boivin. 2019. "Asian Crop Dispersal in Africa and Late Holocene Human Adaptation to Tropical Environment." Journal of World Prehistory 32 (4): 353-392.

Brucato, Nicolas, Pradiptajati Kusuma, Murray P. Cox, and Denis Pierron. 2016. "Malagasay Genetic Ancestry Comes from an Historical Malay Trading Post in Southeast Borneo." Molecula Biology and Evolution 33 (9): 2396-2400.

Dalayan, Duraiswamy. 2019. "Ancient Seaports on the Eastern Coast of India: The Hub of the Maritime Silk Route Network." Acta via Serica 4 (1): 25-69.

Hontiveros, Greg. 2004. Butuan of a Thousand Years. Butuan City Historical & Cultural Foundation

Hoogervost, Tom, and Nicole L. Boivin. 2018. "Invisible Agents of Eastern Trade: Foregrounding Islands Southeast Asian Agency in Pre-modern Globalization." In Globalization in Prehistory: Contact Exchange and "the People without History", by Michael D. Frachetti and Nicole L. Boivin, 205-231. Cambridge: Cambridge University Press.

Keay, John. 2006. The Spice Route: A History. Berkley, CA: University of California Press.

Manguin, Pierre-Yves. 2009b. "The Southeast Asian Ships: A Historical Approach." Journal of Southeast Asian Studies 11 (2): 266-276.

Murphy, Stephen A. 2017. "Port of Call in Ninth-century Southeast Asia: The Route of Tang Shipwreck." In The Tang Shipwreck: Art and Exchange in the 9th Century, by Stephen A. Murphy and A. Chang, 238-249. Singapore: Asian Civilization Museum.

Qin, Dashu, and Kunpeng Xiang. 2011. "Sri Vijaya as the Entrepôt for Circum-Indian Ocean: Evidence from Documentary Records and Materials from Shipwrecks of the 9th-10th Centuries." Études Océan Indien 46-47: 1-22.

Schottenhammer, Angela. 2015. "Yang Liangyao's Mission of 785 to Caliph of Bagdad: Evidence of an Early Sino-Arabic Power Alliance." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 101: 177-241.

Schottenhammer, Angela. 2019. Early Global Interconnectivity across the Indian Ocean World. New York: PalgraveMacMillan.

Serva, Maurizio, and Michele Pasquini. 2022. "Linguistic Clue Suggest that the Indonesian Colonizer Directly Sailed to Madagascar." Language Sciences 93 (1): 1-11.



กำลังโหลดความคิดเห็น