xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อิทธิพล คุณปลื้ม” หลบหนีอย่างเท่ ใครต้องรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ลากการไต่สวนยาวนานนับสิบ ๆ ปีจนคดีใกล้หมดอายุความ แถมตอนนี้นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอาญามาตรา 157 ฐานอนุมัติออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ ฯ พัทยา ล่องหนหนีหายเข้ากลีบเมฆอีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมจะตั้งข้อสงสัยว่ามีความไม่ชอบมาพากล

เรื่องนี้กลายเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมา เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ได้ออกหมายจับนายอิทธิพลเมื่อครั้งดำรงตำเเหน่ง “นายกเมืองพัทยา” ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 2 นัดส่งฟ้องนายอิทธิพล เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 เเต่ถึงเวลานัดผู้ต้องหาไม่มา ป.ป.ช.ในฐานผู้ร้อง จึงยื่นขอศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวยื่นฟ้องศาล ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่าจำเลยทราบหมายโดยชอบเเล้วไม่เดินทางมาตามนัด มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับในวันที่ 5 กันยายน 2566

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่คดีดังกล่าวครบอายุความในวันที่ 10 กันยายน 2566 นั่นหมายความว่า หากนายอิทธิพล หนีหมายจับรอดพ้นไปหลังวันนั้นก็ถือว่าคดีหมดอายุความ

อย่างไรก็ดี นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า กรณีนี้มีการแสดงความเห็นตามข้อกฎหมายของ ป.ป.ช. ฉบับเก่าและฉบับใหม่ ทางอัยการจึงมีหนังสือชี้แนะไปยังถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกหมายจับนายอิทธิพลใหม่ เนื่องจากอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า นายอิทธิพล ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีพฤติการณ์หลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล และขอให้ศาลระบุหมายเหตุไว้ในหมายจับว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หลบหนีไปตั้งแต่วันใด

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.เร่งดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอหมายจับนายอิทธิพลใหม่อีกครั้ง และศาลอนุมัติตามกฎหมายจะถือว่าคดีนี้มีเหตุให้สะดุดหยุดลงไม่มีการระบุวันที่ในการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา มีสิทธิส่งฟ้องศาลจนกว่าจะจับกุมได้ แต่หากศาลชี้ว่าให้ยึดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับเดิม หมายจับและคดีก็จะหมดอายุความในวันที่ 10 กันยายน 2566 นี้

อย่างไรก็ดี ล่วงเลยมาจนถึง ณ เวลานี้ สังคมไทยคงได้รู้กันแล้วว่านายอิทธิพล หนีความผิดจนรอดพ้นการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ และในอนาคตนายอิทธิพล มีสิทธิจะกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ!

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถามว่า ใครสมควรต้องรับผิดบ้าง กรณี อิทธิพล คุณปลื้ม หนีออกนอกประเทศ ซึ่งการอนุมัติก่อสร้างที่ผิด ก.ม. เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2551 อายุความครบ 15 ปี ในวันที่ 10 กันยายน 2566 ป.ป.ช. ใช้เวลา 14 ปี 10 เดือนกว่าจะชี้มูลความผิด เมื่อ 24 กรกฎาคม 2566 ส่งเรื่องให้อัยการวันที่ 3 สิงหาคม 2566 เรื่องอยู่ในมืออัยการสูงสุด ไม่ถึงเดือน อัยการสั่งฟ้อง 30 สิงหาคม 2566 วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. อิทธิพล คุณปลื้ม เดินทางออกนอกประเทศจากสนามบินสุวรรณภูมิไปประเทศกัมพูชา โดยเป็นไปได้ว่า อาจออกเดินทางก่อนอัยการจะสั่งฟ้องไม่กี่ชั่วโมง

4 กันยายน 2566 เขาไม่มาตามนัดหมายของอัยการเพื่อยื่นฟ้องคดี อัยการจึงขอให้ป.ป.ช. ขอให้ศาลออกหมายจับ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 และเพิ่งมาทราบในภายหลังว่า เขาออกนอกประเทศไปแล้วป.ป.ช. ทำคดีล่าช้า ข่าวการสั่งฟ้องของอัยการรั่ว หรือมีจุดอ่อนอะไรในกระบวนการยุติธรรมไทย รมต.ยุติธรรม คนใหม่ “ทวี สอดส่อง” หรือ กรรมาธิการยุติธรรม ของสภาผู้แทนฯ ที่ยังตั้งไม่เสร็จ หรือ สส.ฝ่ายค้าน จะช่วยมีคำตอบให้คนไทยได้ไหม”




จากนั้น นายสมชัย โพสต์เฟซฯ สมชัย ศรีสุทธิยากร ต่อ ต้องการ 150 เสียง จาก สส. และ สว.เพื่อยื่นประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อประธานศาลฎีกาให้ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ ตามมาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อไต่สวนกรณี ปปช.ใช้เวลาถึง 14 ปี 10 เดือน กว่าจะชี้มูลความผิด กรณี นายอิทธิพล คุณปลื้ม โดยในวันพฤหัสที่ 14 กันยายน 2566 เวลา 9.30 น. ที่อาคารรัฐสภา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายวีระ สมความคิด จะไปยื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกล ที่มี สส. 149 คน ให้ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการรวบรวมชื่อ สส. หรือ สว. 150 คน ต่อประธานรัฐสภา องค์กรอิสระต้องตรวจสอบได้ ทำผิดต้องรับผิด ล่าช้า เอื้อประโยชน์ ความจริงต้องถูกเปิดเผยต่อสังคม

สำหรับคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายอิทธิพลเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยาและพวก กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

ตามไทม์ไลน์ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ได้ยื่นคำขอ อนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเมืองพัทยา เพื่อก่อสร้างอาคารถาวรชนิด ค.ส.ล. 53 ชั้น จำนวน 1 หลัง (315 ห้อง) ความสูงประมาณ 180 เมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดพักอาศัย พื้นที่จำนวน 38,503 ตารางเมตร ในโครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ สวีท แอนด์เรสซิเดนซ์ โดยอาคารโครงการดังกล่าวเป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป จึงเป็นอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตามข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ที่ตั้งโครงการดังกล่าวอยู่บริเวณมุมถนนพัทยาสาย 3 มีความกว้างประมาณ 30 เมตร เชื่อมต่อกับ ถนนสาธารณะในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ มีความกว้างประมาณ 6 เมตร และมีทางเท้ากว้างข้างละประมาณ 2.50 เมตร โครงการดังกล่าวจึงตั้งอยู่บริเวณมุมถนนสาธารณะสองสายขนาดไม่เท่ากัน ความสูงของอาคารจึงต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบที่ใกล้ที่สุดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตถนนสาธารณะด้านตรงข้ามของสายที่กว้างกว่า (ถนนพัทยาสาย 3) และความยาวของอาคารตามแนวถนนสาธารณะที่แคบกว่า (ถนนในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ) ต้องไม่เกิน 60 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 46

เมื่อแบบแปลนที่อนุญาตดังกล่าว มีความยาวของอาคารด้านถนนในโครงการ ก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ยาวประมาณ 90 เมตร และมีความสูงของอาคารชั้นที่ 53 สูงประมาณ 180 เมตร ความยาวในส่วนของอาคารตามแนวถนนสาธารณะที่แคบกว่าจึงเกิน 60 เมตร และสูงเกินสองเท่าของระยะราบที่ใกล้ที่สุดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตถนนสาธารณะด้านตรงข้ามของสายที่กว้างกว่า ดังนั้น การที่นายอิทธิพล กับพวก ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้ร่วมกันพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ. 1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้กับบริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ครั้งที่ 2 วันที่ 1 กันยายน 2555 งานฐานรากเริ่มวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 แล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2556 แต่ปรากฏว่า นายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ รองนายกเมืองพัทยารักษาราชการแทนนายกเมืองพัทยา กับพวก ได้ร่วมกันพิจารณาอนุญาตและมีคำสั่งต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้าง ครั้งที่ 2 ให้กับ บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ทั้งที่การก่อสร้างอาคารโครงการดังกล่าวยังวางฐานรากของอาคารไม่แล้วเสร็จ

ดังนั้น การพิจารณามีคำสั่งต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ครั้งที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการในการบังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2544) ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ โดยส่งผลให้บริษัท บาลี ฮาย จำกัด สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ฯ ต่อไปโดยไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติ ชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นายอิทธิพล กรณีอนุมัติออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์เรสซิเดนซ์ โดยมิชอบและมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่เมืองพัทยาหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติ ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 96 และชี้มูลความผิดนายพิเชษฐ อุทัยวัฒนานนท์ นายวิทยา ศิรินทร์วรชัย นายญัติพงค์ อินทรัตน์ และนายเอกพงษ์ บุญชาย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ส่วนประเด็นการต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ สวีท แอนด์เรสซิเดนซ์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีมติชี้มูลความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง กับนายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ, นายอภิชาติ พืชพันธ์, นายวิทยา ศิรินทร์วรชัย ,นายสุธีร์ ทับหนองฮี ,นายชานนทร์ เกิดอยู่ ,นายชัยวัฒน์ แจ้งสว่าง โดยได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยัง อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามฐานความผิดดังกล่าว รวมถึงแจ้งไปยังกรมที่ดิน พิจารณาเพิกถอนโฉนด รวม 7 แปลง และอธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งที่ 811/2566 ลงวันที่ 28 มี.ค.66 แต่งตั้งคณะกรรมแจ้งไปการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

การไต่สวนคดีข้างต้นของ ป.ป.ช. ที่ล่าช้า แถมผู้ต้องหาคนสำคัญก็หนีคดี เรื่องคงต้องมีรายการไล่เบี้ยหาคนรับผิดชอบ และองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.จะต้องมีคำตอบให้สังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น