ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้จะปลอดโปร่งโล่งสบายไปแล้วสำหรับ “ครม.เศรษฐา 1” หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นที่เรียบร้อย เหลือเพียงพิธีกรรมการแถลงนโยบายแห่งรัฐต่อที่ประชุมรัฐสภา ที่ล็อกคิวกันในวันที่ 11-12 ก.ย.66 นี้ แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายจากสังคมไทย โดยมีเดิมพันสำคัญคือ “อนาคตของพรรคเพื่อไทย” ว่าจะดำเนินไปอย่างไรภายใต้ “ความเสื่อม” ที่ค่อยๆ คืบคลานมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับคะแนนนิยมของคู่แข่งทางการเมืองอย่าง “พรรคก้าวไกล” ที่เพิ่มในอัตราส่วนที่ไม่อาจมองข้ามความสำคัญได้
นโยบายต่างๆ ที่ “รัฐบาลเศรษฐา” แถลงออกมาถูกจับตาว่าจะเป็นความจริงหรือเป็นเพียงแค่ “กลยุทธ์การหาเสียง” ตามที่พรรคเพื่อไทยว่าไว้ จนกลายเป็นคำที่ไม่สามารถลบออกไปได้
อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยหนึ่งและปัจจัยสำคัญที่แยกไม่ออกระหว่าง “รัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย” ก็คือ ผู้มากบารมีอย่าง “นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร” ที่วันนี้สังคมพร้อมใจกันเรียกขานว่า “นักโทษเทวดา” ด้วยเข้าคุกยังไม่ทันข้ามคืนก็ย้ายมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเสียแล้ว
แน่นอน เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องอยู่โรงพยาบาลตำรวจ นอกเหนือจากความเจ็บไข้ได้ป่วยตามที่กล่าวอ้างแล้ว สังคมยังตั้งข้อสงสัยว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกับ “การตั้งรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งแม้จะมีการปฏิเสธจากทางพรรคอย่างแข็งขัน แต่ก็มิอาจทำให้ความกังขานี้สูญหายไปได้ ยิ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะหายป่วยแล้วย้ายกลับไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเมื่อไหร่ แถมยังมีข่าวว่าอาจย้ายไปที่ “โรงพยาบาลเอกชน” อีกต่างหาก ก็ยิ่งทำให้เสียงครหาเรื่อง “1 ประเทศ 2 นายกฯ” ดังหนาหูทุกที
แม้จะไม่สามารถหยั่งรู้ว่าในใจของ “นายกฯ นิด” คิดอะไรอยู่ แต่เชื่อเหลือเกินว่า “ว้าวุ่น” อยู่ไม่น้อยเช่นกัน
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับกรณีของ นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักโทษเด็ดขาดชายนั้น ถูกจับตานับตั้งแต่นั่งเครื่องบินส่วนตัวเดินทางกลับประเทศไทยมา “นช.ทักษิณ” ด้วยเต็มไปด้วย “สิทธิพิเศษ” มากมาย โดยเฉพาะกระบวนการต้อนรับระดับ “วีวีไอพี” ที่ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อนในบ้านเมืองนี้
ขณะเดียวกันหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี และตอกย้ำความผิดชัดแจ้งตามความที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ก็ยังมีข้อกังวลตามมาอีกว่า “ทักษิณ” อาจเข้าข่ายได้รับการพิจารณา “พักโทษ” ก่อนจะครบกำหนดรับโทษจำคุก 1 ปี หรือเอาเข้าจริงอาจไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำแม้แต่คืนเดียวเลยด้วยซ้ำ
โดยหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชทานอภัยลดโทษ “นช.ทักษิณ” จากทั้งหมด 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี โดยให้นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ “นช.ทักษิณ” กลับประเทศไทยและเข้าสู่กระบวนการของทางราชทัณฑ์นั้น ก็มีการวิเคราะห์ต่อกันว่า “นายห้างดูไบ” รายนี้จำต้องถูกจำคุก 1 ปีเต็ม หรือมีโอกาสได้รับการพิจารณาลดหย่อนหรือพักโทษเช่นนักโทษเด็ดขาดรายอื่นหรือไม่
เรื่องนี้ “วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ว่า “ทักษิณ” จะได้รับสิทธิเหมือนนักโทษคนอื่นๆ ที่มีโทษจำคุก 1 ปี รวมถึงการได้รับพระราชทานอภัยโทษได้อีก เมื่อถึงวโรกาสสำคัญ
“คุณทักษิณถือเสมือนนักโทษถูกจำคุก 1 ปี ถ้านักโทษ 1 ปีทั้งหลายได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไร คุณทักษิณก็จะได้รับประโยชน์อย่างเดียวกัน เช่น อาจจะได้รับการพักโทษ ลดหย่อนผ่อนโทษเมื่อถึงเวลาที่มีการลดทั้งหลายทั่วประเทศ คือถ้าเขามีการลดกันและได้ประโยชน์ แต่คุณทักษิณจะได้ลดหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่จะได้สิทธิประโยชน์เหมือนคนอื่นทุกอย่างด้วยเกณฑ์อย่างเดียวกัน” เจ้าของสมญาคัมภีร์กฎหมายเมืองไทย ว่าไว้
ยิ่งไปกว่านั้น “นช.ทักษิณ” ในวัย 74 ปี ยังเป็นทั้งผู้ต้องขังสูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เนื่องเพราะมีประวัติป่วย 4 โรคเรื้อรัง อันได้แก่ โรคหัวใจภาวะหัวใจขาดเลือด, ปอดอักเสบเรื้อรัง, ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท อันเป็นเหตุที่ทำให้ได้ออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่คืนแรกที่เข้าเรือนจำอีกด้วย
การเป็นผู้ต้องขังสูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย 4 โรคเรื้อรังดังกล่าวถือว่าเอื้อต่อการพิจารณาพักโทษอยู่แล้ว เพียงแต่ “นช.ทักษิณ” ยังรับโทษไม่เข้าเงื่อนไขของระเบียบกรมราชทัณฑ์
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ ให้ความหมายของการพักการลงโทษ หรือ “พักโทษ” ไว้ว่า เป็นการปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาล ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติ
โดยในมุมของกรมราชทัณฑ์ไม่ได้ถือเป็น “สิทธิ” ของผู้ต้องขัง แต่เป็น “ประโยชน์” ที่ทางราชการมอบให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำ หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอระดับผู้บังคับบัญชา หรือถึง รมว.ยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ในบางกรณี
ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 กำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการพักโทษคือ “ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า”
กรณีของ “นช.ทักษิณ” ที่ได้รับการอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี เกณฑ์แรกที่จะได้รับการพักโทษ คือต้องจำคุกมาแล้ว 6 เดือน การจะขอพักโทษได้ ต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อยถึง 22 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับการ “พักโทษ” แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.พักการลงโทษกรณีปกติ และ 2.พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ
หาก “นช.ทักษิณ” เข้าเกณฑ์ “พักโทษ” คาดว่า “การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ” ซึ่งปัจจุบันมีโครงการพักการลงโทษกรณีนักโทษเด็ดขาดมีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป อันเป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
เพราะถ้าเป็น “การพักโทษกรณีปกติ” มีการกำหนดว่าต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไป ซึ่งจะได้นักโทษชั้นดีต้องติดคุกมาแล้ว 6 เดือน สำคัญที่การพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษ จะมีเพียงปีละ 2 ครั้ง คือเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม กรณีของ “นช.ทักษิณ” ถึงเดือนธันวาคม 266 ก็ยังไม่ครบ 6 เดือน ดังนั้นจะได้ชั้นนักโทษต้องรอเดือนมิถุนายน 2567 เป็นอย่างน้อย
เว้นแต่ “นช.ทักษิณ” ที่วันนี้ถือเป็นนักโทษชั้นกลาง จะได้รับพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาด “กรณีมีเหตุพิเศษ” ที่ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดที่มี “ความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ” เลื่อนชั้นก่อนเวลา หรือเลื่อนข้ามชั้นก็ได้ โดยเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมอนุมัติ
ในฐานะอดีตนายกฯ 2 สมัย “ทักษิณ” จึงอาจได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษเด็ดขาด “ชั้นเยี่ยม” เลยก็เป็นได้ ซึ่งมีการกำหนดว่า นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่รับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน จะเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 ของโทษจำคุกที่เหลือ
ตามเกณฑ์ เมื่อ “นช.ทักษิณ” จำคุกครบ 6 เดือนแล้ว โทษ 6 เดือนที่เหลือ ก็จะเหลือเพียง 2 เดือน หรือจะได้รับอิสรภาพจริงในวันที่ 22 เมษายน 2567 หากไม่ได้รับการพักการลงโทษใดๆ
กรณีได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นในฐานะ “มีความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ” มีให้เห็นมาแล้วในกรณีของ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน จากการโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรมเมื่อปี 2546โดย “ปลอดประสพ” เข้ารับโทษจำคุกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 และได้รับการพักโทษ พร้อมติดกำไล EM เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 รวมจำคุกจริงเพียง 6 เดือนเศษเท่านั้น
หรือกรณี “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ต้องโทษในคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ขณะปฏิบัติหน้าที่รองปลักกระทรวงมหาดไทย ศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนได้รับการพักโทษและปล่อยตัวในวันเดียวกับ “ปลอดประสพ” รวมจำคุกเป็นเวลา 7 เดือนกว่า
ครั้งนั้นทั้ง “ปลอดประสพ-ยงยุทธ” ที่เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ และได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นเป็น “นักโทษชั้นดี” จึงได้รับการพิจารณาพักโทษดังกล่าว
หรือกรณี “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ต้องโทษจำคุก 6 ปี 24 เดือน จากข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐกระทำผิด ด้วยการยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ โดยสรยุทธ์จำคุกจริง 2 ปี 4 เดือน ก่อนได้รับการพักโทษเมื่อ 14 มีนาคม 2564
ตามรูปการณ์นี้ “นช.ทักษิณ” ก็อาจได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นหาก “มีความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ” และมีโอกาสสูงที่จะติดคุก “ขั้นต่ำ” ตามกฎหมายที่ 6 เดือน ก่อนจะได้รับการพักโทษหลังวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เช่นกรณี “ปลอดประสพ-ยงยุทธ”
สำหรับขั้นตอน “พักโทษ” จะเริ่มต้นจาก “เรือนจำ” ทำเอกสารและสรุปข้อมูลนักโทษเด็ดขาดที่เข้าข่ายประกอบการพิจารณา และจัดทำบัญชีรายชื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ และหากเป็นการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ต้องเสนอ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้อนุมัติ ก่อนที่เรื่องจะส่งกลับมาที่ กรมราชทัณฑ์ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาไปยังเรือนจำและนักโทษต่อไป
กรณีให้ความเห็นชอบ เรือนจำแจ้งเงื่อนไขการคุมประพฤติแก่นักโทษก่อนทำการปล่อยตัว พร้อมประสานกับสำนักงานคุมประพฤติ พนักงานฝ่ายปกครอง หัวหน้าสถานีตำรวจ กรมราชทัณฑ์ จากนั้น กรมราชทัณฑ์ จะนำตัวผู้ได้รับการพักโทษไปรายงานต่อ เจ้าพนักงานคุมประพฤติ ภายใน 3 วัน เพื่อนัดหมายการรายงานตัวรายเดือน
หากนักโทษทำตามเงื่อนไข โดยไม่ได้กระทำความผิดใดจนครบกำหนดจะได้รับ “ใบบริสุทธิ์” พ้นโทษ แต่หากกระทำผิดเงื่อนไขก็จะถูกเพิกถอนการคุมประพฤติ และส่งกลับมายังเรือนจำ
ยังมีการระบุด้วยว่า ในระหว่างพักการลงโทษ “นช.ทักษิณ” ที่เป็นผู้ต้องขังสูงวัยเจ็บป่วยรุมเร้าด้วย 4 โรคเรื้อรัง และยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี จึงมีเป็นไปได้ว่า จะไม่เข้าข่ายต้องติดกำไล EM ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานคุมประพฤติ
ส่วนที่มีการระบุว่า “นช.ทักษิณ” อาจได้อานิสงส์ผลบุญ พ้นโทษ และได้รับการปล่อยตัวทันที กรณีเข้าข่ายการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ในวาระโอกาสสำคัญ เช่น วันที่ 13 ตุลาคม หรือวันที่ 5 ธันวาคมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดแนบท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นๆ
หากว่ากันตาม “ตัวอักษร” ในกฎหมายและระเบียบต่างๆ เท่ากับว่า “นช.ทักษิณ” จะเข้าเงื่อนไขการขอพิจารณาพักการลงโทษ “ตามเกณฑ์ปกติ” ได้ก็ต่อเมื่อต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อยถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 หรืออีกราว 6 เดือน
การที่ “นช.ทักษิณ” ยังต้องติดคุกอีกอย่างน้อยราว 6 เดือน (หากไม่มีกรณีพิเศษใดๆ) ในช่วง “ตั้งไข่” ของ “รัฐบาลเศรษฐา” นั้น ก็ถือเป็น “เผือกร้อน” ของตัว “นายกฯนิด” และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความนิยมของพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ “ทักษิณ” ขอติดคุกแบบเท่ๆ โดยอ้างอาการป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และทำท่าว่าจะอยู่ยาวไปจนกว่าจะพ้นโทษด้วยซ้ำ กลายเป็นการติดคุกที่ไม่เคยนอนในคุก ที่ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ “ผู้กุมอำนาจรัฐ” ที่ตัวเองก็ปั้นมากับมือ
ซ้ำร้ายน้อยคนยังไม่เชื่อด้วยว่า “ทักษิณ” ป่วยจริง อาการ “ความดันสูง” แล้วออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เองก็น่าจะรับมือกับอาการที่ว่าได้
และก่อนที่จะกลับประเทศไทยมารับโทษ แม้ “ทักษิณ” จะวนเวียนอยู่กับการพบแพทย์โดยเฉพาะที่ประเทศสิงคโปร์ ก็เป็นการตรวจร่างกายตามวงรอบ และประวัติโรคไข้ที่ปรากฎในประวัติก็เป็นอาการป่วยตามวัยที่ไม่น่าจะเพิ่งจะมาป่วยหนักในช่วงที่ต้องเข้าไปรับโทษในเรือนจำ
เข้าใจได้ว่าเป็น เป็นปัญหาการปรับตัวในช่วงแรก ตามประสา “มหาเศรษฐี” ที่มีอิสระบินไปไหนก็ได้ทั่วโลก ต้องมาติดอยู่ในห้องกรง ย่อมออกอาการเครียดเป็นธรรมดา แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว เชื่อว่า “ทักษิณ” ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานักต่อนัก คงปรับตัวได้ไม่ยาก ในการกลับไปอยู่ในเรือนจำเฉกเช่นนักโทษเด็ดขาดรายอื่น เพื่อไม่ให้มีคำถามในเรื่องนี้วนเวียนไปถึงรัฐบาลไม่รู้จบ
น่ากลัวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนในครอบครัวโดย “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว หรือทีมทนายความ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทักษิณ” อาการยังไม่ดีขึ้น รับกับกระแสข่าวที่ว่า อาจมีการขอย้ายตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ครอบครัวชินวัตรเป็นเจ้าของ
ทั้งนี้ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ กำหนดแนวทางการพิจารณาส่งผู้ต้องขังป่วยออกไปรักษาภายนอกเรือนจำไว้ว่า “พิจารณาแต่เฉพาะที่เห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้นที่จะต้องออกไปรักษา ภายนอก และพิจารณาให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นอันดับแรก เว้นแต่ แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยแล้วมีความเห็นให้ส่งไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐขาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จะรักษาผู้ป่วยไว้ได้ หรือโรงพยาบาลรัฐห่างไกล หากผู้ต้องขังป่วยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ จึงส่งตัวไปโรงพยาบาลเอกชนได้ และเมื่อพ้นขีดอันตรายแล้วให้รีบส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐโดยเร็ว”
ว่ากันตามตัวอักษร กรณี “นช.ทักษิณ” ไม่น่ามี “เหตุจำเป็น” ที่ต้องส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนใดๆ เพราะ โรงพยาบาลตำรวจที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ ก็ถือเป็นสถานพยาบาลชั้นนำของประเทศ ไม่น่าจะขาดเครื่องมืออุปกรณ์ หรือไร้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแน่นอน
เรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรมเคยระบุว่า มั่นใจว่าแพทย์โรงพยาบาลตำรวจสามารถดูแลและรักษาอาการของ “นช.ทักษิณ” แต่หากโรงพยาบาลตำรวจไม่สามารถดูแลชีวิตผู้ต้องขังไว้ได้ก็จำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ซึ่งต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาว่าจำเป็นต้องย้ายไปยังโรงพยาบาลใด โดยที่ญาติไม่มีสิทธิ์เลือกโรงพยาบาล
โอกาสจึงแทบปิดตายกับการส่งตัว “นช.ทักษิณ” ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่หากเกิดขึ้นจริง แล้วยังปรากฎไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะเพียงแค่การที่ “ทักษิณ” ยังอยู่นอกคุก รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็มีเสียงทวงถามถึงความเท่าเทียม ตลอดจนขอให้เปิดเผยหลักฐานต่อสาธารณะว่า รักษาตัวในฐานะนักโทษเด็ดขาด ไม่ใช่ “วีไอพี” ตามที่คนคิดกัน
ดีไม่ดีหากมีกระแสความไม่เห็นด้วยกับการใช้ “อภิสิทธิ์” ของ “ทักษิณ” กระหึ่มขึ้นมา ก็จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาถึงขั้นอยู่ไม่ได้ด้วยซ้ำ
เอาแค่วันนี้ก็มีเสียงวิพากษ์เชิงลบไปถึงรัฐบาลตลอด ทั้งข้อหา “เลือกปฏิบัติ” หรือเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงการแทรกแซงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น “นายกฯเงา” หรือ “1 ประเทศ 2 นายกฯ”
ตามกระแสข่าวว่า โผ ครม.เศรษฐา 1 ก็ถูกกดปุ่มมาจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ สถานที่คุมขัง “ทักษิณ” ในตอนนี้ด้วย
การติดคุกแบบไม่นอนคุกของ “นช.ทักษิณ” ก็เข้าเค้าประโยคฮิตไวรัลฮอตในสังคมออนไลน์อย่าง “ไอ้เราก็เท่ซะด้วย…” คือ “ทักษิณ” ติดคุกแบบเท่ๆ อยู่คนเดียว
ส่วนสร้อยท้าย “ทีนี้ก็ลำบาก ก็ว้าวุ่นเลย…” ก็จะตกไปที่ “นายกฯนิด” และยิ่งทอดเวลาไปเรื่อย ก็ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของรัฐบาล
ดังนั้น “รัฐบาลเศรษฐา” จะเริ่มต้นสวย และราบรื่นหรือไม่ อาจไม่อยู่แค่การสร้างผลงาน แต่ขึ้นอยู่กับความเสียสละของ “นช.ทักษิณ” เองด้วย.