xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่ง่ายอย่างที่คิด “นายกฯนิด” ว้าวุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  หลัง “รัฐบาลเศรษฐา 1” แถลงนโยบายให้ความหวังประชาชนคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยยังคงมุ่งเน้นประชานิยมลดแลกแจกแถมอย่างเงินดิจิทัลหมื่นบาท ลดราคาพลังงาน น้ำมัน - ไฟฟ้า แต่ว่าเรื่องขึ้นค่าแรงซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และเป็นรายได้ที่ยั่งยืนกว่ากลับเงียบกริบ เช่นเดียวกับค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ต้องรอยาวไปไม่ใช่เรื่อง “เร่งด่วน” 

อย่างที่พรรคก้าวไกล ทวีตจับผิดล่วงหน้าก่อนวันแถลงนโยบายว่าไม่มีเรื่องเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นคำสัญญาที่หายไป?
หากดูโดยรวมแล้ว นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ไม่ได้มีอะไรหวือหวา เป็นเพียงการปะผุและเติมส่วนผสมใหม่เข้าไปปรุงแต่งเล็กๆ น้อยๆ สานต่อจากรัฐบาลทหาร เมื่อเทียบกับอดีตที่พรรคไทยรักไทย เคยทำได้อย่างยิ่งใหญ่ในระดับเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อย่างเช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค หรือการปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม เพื่อลดขนาดรัฐราชการลงก่อนที่จะบวมฉุขึ้นอีกในภายหลัง

โฟกัสของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ซึ่งคาดการณ์ว่าอายุคงสั้นที่มุ่งไปยังนโยบายเร่งด่วน อย่างนโยบายเรือธง เช่น การแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันภายหลังการประชุมร่วมกับบรรดา สส. เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมาว่าจะแจกเงินหนเดียวและจะทำได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
ส่วนนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยหมายมั่นปั้นมือเข้าคุมกระทรวงนี้ แต่ดันหลุดไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ส่ง  นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มานั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น นายพีระพันธุ์ วางแนวทางเร่งดำเนินการลดราคาน้ำมันและราคาพลังงานไฟฟ้าจากโครงสร้างราคาที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ภาษี ค่าการตลาด ภาระการเงินและเงินกู้ ต้นทุนราคาก๊าซฯ-น้ำมัน จะดูว่าส่วนไหนสามารถตัดทิ้งหรือปรับลดลงมาได้ รวมทั้งการลดราคาน้ำมันให้ถูกลงในบางกลุ่มเพิ่มเติม เช่น กลุ่มเกษตรกร จากปัจจุบันมีกลุ่มประมงสามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า  “น้ำมันเขียว”  ในราคาพิเศษ

 อย่างไรก็ดี แนวทางที่สร้างแรงกระเพื่อมตามมาทันที คือนโยบายที่นายพีระพันธุ์ จะเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี จะได้ไม่ต้องมีค่าการกลั่นหรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว ขณะที่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นทำให้มีต้นทุน มีค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก ดังนั้น ถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ ภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองว่า ภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ส่วนการทำธุรกิจเป็นเรื่องของบริษัทเอกชน กระทรวงมีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการหาพลังงานมาใช้ได้อย่างเสรี ต้องไม่ปิดกั้นเพื่อให้ราคาพลังงานถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน ซึ่งถ้าลดต้นทุนค่าพลังงานลงได้ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม

คิดได้ แต่จะทำได้จริงไหม ยังเป็นคำถามและรอดูว่า “รัฐบาลเศรษฐา 1” และรัฐมนตรีพลังงานจากพรรครวมไทยสร้างชาติ จะต่อกรกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานที่มีอำนาจเหนือตลาดเหนือรัฐบาลได้สักกี่ยก

เรื่องนี้  ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี  นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ซึ่งออกโรงเชียร์นโยบายเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี เพราะการมีผู้ค้ามากขึ้นจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา แต่การจะทำเช่นได้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปแก้กติกาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและดึงดูดให้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้อยู่แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ไขอยู่หลายเรื่อง

 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
 “หม่อมกร” ยกตัวอย่างอุปสรรคขวางกั้น พอเป็นสังเขป ดังนี้

 หนึ่ง ความได้เปรียบในเชิงธุรกิจของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ 
 เนื่องจากประกาศกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปี 2552 กำหนดว่าผู้มีสิทธินำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องมีปริมาณการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดหรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 100,000 เมตริกตัน หรือประมาณ 120 ล้านลิตรขึ้นไป หรือผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพียงชนิดเดียวปีละตั้งแต่ 50,000 เมตริกตันขึ้นไป ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายอื่นสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้

“... ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้ค้าตามมาตรา 7 มีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างเยอะ ในภาษาวิชาการเรียกว่ามีอำนาจเหนือตลาดพอสมควร ซึ่งกลไกแบบนี้แก้ไขค่อนข้างยาก แรงเสียดทานเยอะ ผู้ค้ารายใหม่ก็เกิดยาก เพราะรายใหญ่ครองตลาดอยู่และมีสายสัมพันธ์กับปั๊มน้ำมันอยู่แล้ว ...” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ชี้ปัญหา

 สอง ข้อกำหนดเรื่องสเปกน้ำมันของไทยที่ไม่เป็นสากลและไม่เหมือนชาติอาเซียนอื่น ๆ 
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ใช้น้ำมันผสม ดังนั้น ต้องเปลี่ยนสเปกน้ำมันจากน้ำมันผสมเป็นเบนซินล้วนหรือดีเซลล้วนเช่นเดียวกับที่ใช้กันทั่วโลก โดยยกเลิกน้ำมันผสม เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล หรือให้น้ำมันผสมเป็นแค่ทางเลือก เพื่อให้น้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้ามาสามารถจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เลย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ไม่ต้องขายต่อให้ผู้ค้ารายเดิมนำไปผสมก่อนจำหน่าย และสูตรผสมน้ำมันของไทยทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นต่างจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ไทยผลิตเอทานอลได้เอง

 สาม แก้สเปกน้ำมันของไทยให้ตรงกับมาตรฐานโลก 
 เช่น นํ้ามันยูโร 4 น้ำมันยูโร 5 ซึ่งปัจจุบันไม่ตรงกับน้ำมันยูโร 4 ยูโร 5 ที่ใช้ในสิงคโปร์ ปัญหาที่ตามมาคือผู้ที่นำเข้าน้ำมันยูโร 4 ยูโร 5 จากต่างประเทศจะไม่สามารถขายในไทยได้

 สี่ การส่งเสริมให้ผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปสามารถค้าน้ำมันในประเทศได้โดยออกใบอนุญาตในการขาย และแก้กฎระเบียบเพื่อเปิดช่องให้ผู้นำเข้าสามารถขายน้ำมันสำเร็จรูปได้หลายช่องทาง 
นอกจากขายให้ประชาชนแล้วยังสามารถขายให้ผู้ค้ารายอื่นได้ด้วย ถ้ามีกติกาที่ดีกว่าเดิม ธุรกิจไปได้ จะมีคนอยากเข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้

ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังเสนอแนะวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันของประเทศไทย นอกจากจะเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีโดยแก้กฎกติกาให้สอดรับกันแล้ว ต้องดูว่าจะทำอย่างไรที่จะควบคุมไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ใช้อำนาจเหนือตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม อีกทั้งต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทยเท่ากับราคาที่ส่งออกไปสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ “หม่อมกร” มองว่าไม่ง่ายและทำได้ไม่เร็วนัก เพราะประเทศไทยมีโรงกลั่นล้นเกิน ผู้ค้าเดิมพร้อมจะสู้เต็มที่อยู่แล้ว เช่น ลดราคาลง ดังนั้นต้องดูระยะยาวว่าผู้นำเข้ามีต้นทุนค่าขนส่งสู้ได้ไหม พื้นที่ที่น่าพอสู้ได้คือ นำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์มาขายแถบภาคใต้ ค่าขนส่งจะต่ำกว่าส่งจากภาคตะวันออกของไทยไปภาคใต้

 ทั้งหลายทั้งปวง ที่สำคัญสุดต้องไม่ลืมว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย เข้าข่าย “ทุนผูกขาด” มีอำนาจเหนือตลาด และค้ำจุนรัฐบาลมาแทบทุกยุคทุกสมัย หากย้อนกลับไปช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศหลังทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ เวลานั้น มีการตีปี๊บใหญ่โตว่าจะรื้อโครงสร้างพลังงานของประเทศในทุกมิติ ถึงขั้นเตรียมจัดตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” แต่สุดท้ายก็ล่มกลางครัน หรือแม้แต่การลด “ค่ากลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมัน ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำขึงขัง สุดท้ายก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ค่าการตลาด” ซึ่งคงพุ่งสูงแบบไม่มีลิมิตโดยไม่มีการควบคุมใด ๆ  

ดังนั้น คราวนี้ก็ต้องจับตาดูว่า “รัฐบาลเศรษฐา 1” และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ จะแค่เปิดปฏิบัติการ “เคาะกะลา” ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่หรือไม่ เพราะถ้าจะทำจริง คงไม่ต้องรอมาเนิ่นนานถึงป่านฉะนี้

อย่างไรก็ดี ในมุมของนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบในมุมลบจากนโยบายนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีดังกล่าวข้างต้น จะเป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นในประเทศ เนื่องจากถ้าการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปจากสถานีบริการน้ำมันที่ซื้อในประเทศลดลง เพราะการนำเข้าจากต่างประเทศที่ถูกกว่า อาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศลดลง

ขณะที่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยังคงจะต้องขายน้ำมันสำเร็จรูปที่มาจากโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. หรือ PTT เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมันของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่จะต้องใช้น้ำมันที่กลั่นมาจากโรงกลั่นของตัวเอง ดังนั้นซึ่งประเด็นของการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแบบเสรีก็จะมีผลเป็นลบต่อกลุ่มสถานีบริการน้ำมันที่มีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง

แต่นโยบายดังกล่าว จะมีผลเป็นบวกต่อสถานีบริการน้ำมันที่ไม่มีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง อย่างเช่น บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG และ SUSCO ซึ่งจะทำให้มีทางเลือกในการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น ขณะเดียวกันตอนนี้ยังคงต้องรอนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง

 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีความกังวลต่อแนวโน้มการออกนโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาลชุดใหม่ คาดจะเกี่ยวกับการปรับภาษี, ค่าการตลาด, ภาระทางการเงิน รวมทั้งยังส่งสัญญาณจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งคาดว่าหุ้นในกลุ่มพลังงาน (PTTEP) โรงไฟฟ้า (GULF, BGRIM และ GPSC) โรงกลั่น (TOP, BCP และ SPRC) จะได้รับผลกระทบเชิงลบ กดดันทิศทางหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลงถ่วงตลาดได้ต่อ

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายการลดราคาพลังงานและน้ำมันของรัฐบาลเป็นลบต่อ PTT, PTTEP

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันออกมาทันทีในระยะเวลา 1 ปีแรก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง คือ นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท แต่ถ้าทำได้จริงประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจ หรือ GDP ในปี 2567 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.2% จากประมาณการในปัจจุบัน นโยบายพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจมีต้นทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท และนโยบายลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันดีเซล และเป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายหลักเป็นนโยบายลดแลกแจกแถม มากกว่านโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

จากเรื่องพลังงาน หันกลับมาดูเรื่อง  ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง แต่ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนเหมือนกับการแจกดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท เรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมาว่า จะต้องมาดูการเชื่อมต่อทุกสายเข้าด้วยกันและใช้บัตรใบเดียว จึงขอเวลาดูค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและรัฐบาลต้องชดเชยเท่าไหร่

ทางด้าน  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา โดยตอบคำถามชัดเจนว่าเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่ได้เขียนบรรจุไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อสภา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย

 นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง


 “นโยบายของทางพรรคเพื่อไทย เรื่องรถไฟฟ้า กทม. 20 บาท ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แม้ว่าต้องการทำ แต่มีปัญหาเรื่องนโยบายอื่น ๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า ต้องนำเงินไปใช้ตรงนั้นก่อน น่าจะไม่เกิน 2 ปี เราจะผลักดันเพื่อนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้” นายสุริยะ ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้าวันประชุม ครม. นัดพิเศษ  

พอเจอกระแส  “ทัวร์ลง”  ในวันถัดมานายสุริยะออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ในทำนองเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องเจรจากับหลายหน่วยงาน รถไฟฟ้ามีหลายสี แต่ละสีมีสัมปทานแตกต่างกัน การเจรจาในขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลา เช่น ถ้ามีระบบที่ต้องเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมีระบบคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย หรือระบบตั๋วร่วม ซึ่ง รฟม. มีแล้ว แต่บีทีเอสยังไม่มี จึงต้องเจรจากับบีทีเอสให้ติดตั้งระบบนี้ โดยใช้งบประมาณในการติดตั้งระบบประมาณ 1,000 ล้านบาท นโยบายของพรรคเพื่อไทยอันนี้จะทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องไปเจรจาว่าจะคืนกลับให้รัฐได้อย่างไร กระบวนการทั้งหมดจึงต้องใช้เวลา คิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ปี ในรัฐบาลเพื่อไทยจะได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทแน่นอน

ส่วนที่ไม่ได้เขียนเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายไว้ในนโยบาย นายสุริยะ บอกว่า เพราะเป็นนโยบายย่อยของนโยบายใหญ่ ที่พูดถึงระบบโลจิสติกส์ นโยบายนี้ก็มีส่วนอยู่ เพราะเรามีความตั้งใจที่จะทำ แต่คงไม่ได้ไปเขียนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท เพราะเป็นส่วนย่อยของนโยบายใหญ่ที่มีทั้งเรื่องน้ำ อากาศ บก ล้อ และราง อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ระหว่างที่ยังไม่สามารถทำได้ 100% จะปรับลดราคาแบบขั้นบันได ได้หรือไม่ “สุริยะ” บอกว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เพราะตั๋วร่วมไม่ใช่จะใช้ได้ทันที แต่เชื่อว่าถ้าเราเป็นเอกชน ถ้าเราลดราคาลง จากผลการศึกษามีตัวเลขเพิ่มขึ้นกว่า 10% รายได้ก็เพิ่มขึ้นแน่นอน เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเขาต้องตอบรับ

ขณะที่  “จตุพร พรหมพันธุ์”  วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ว่า ... นี่คือคำตอบว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยถึงเอากระทรวงมหาดไทย ไปแลกกับกระทรวงคมนาคม ที่พรรคภูมิใจไทยเคยดูแลอยู่ และเพื่อไทยคุมคมนาคมเบ็ดเสร็จ ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งในสองรมช.คมนาคม ยังมีสายสัมพันธ์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนทุนรถไฟฟ้ามานั่งอยู่ด้วย ดังนั้นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายไม่มีวันเกิดขึ้นได้

นายจตุพร ชี้เปรี้ยงว่า พรรคเพื่อไทยเอากระทรวงคมนาคม ไปแลกกับกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่แลกเพื่อมาทำให้ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่แลกเพื่อไม่ให้รถไฟฟ้า 20 บาทเกิดขึ้น ?

 ทั้งเรื่องปรับโครงสร้างราคาพลังงาน หรือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สุดท้ายก็อาจเป็นแค่ “นโยบายหาเสียง” เพียงเท่านั้นหรือไม่ “นายกฯ นิด” ต้องพิสูจน์ผลงานตามที่ลั่นวาจาว่าอย่าพูดว่า “ทำไม่ได้” ในเรื่องที่ให้คำสัญญากับประชาชนไว้ 



กำลังโหลดความคิดเห็น