xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กู้วิกฤตระบบสาธารณสุข คุมคนไข้ล้น รพ. เน้นเจ็บป่วยฉุกเฉิน ยุติภาวะงานโอเวอร์โหลดของหมอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งในโจทย์ข้อใหญ่ของ “นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว” หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีป้ายแดง  “รมว.กระทรวงสาธารณสุข”  ที่สังคมจับตาคงไม่พ้นเรื่องการแก้วิกฤตระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะกรณีการลาออกของแพทย์จบใหม่ ภาระงานแพทย์หนัก ชั่วโมงการทำงานสูง ตลอดจนสถานการณ์คนไข้เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินที่ล้นโรงพยาบาล

เสียงสะท้อนเรียกร้องไปยัง  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รมว.สธ.คนใหม่ จาก  “แพทย์อินเทิร์น” หรือ “หมอจบใหม่ใช้ทุน”  ซึ่งปฏิบัติงานใน รพ.พื้นที่ห่างไกล จ.แม่ฮ่องสอน ประเด็นให้ออกนโยบายสร้าง  Health Literacy ประชาชน ให้ความรู้ว่าอาการแบบไหนฉุกเฉินควรมา หรือแบบไหนปฐมพยาบาลที่บ้านได้ เพื่อลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดปัญหารอคิวนานจนทะเลาะกับเจ้าหน้าที่หน้างาน สร้างระบบใหม่ไม่ให้ป่วยไม่ฉุกเฉินมานอกเวลา

ประเด็นสำคัญที่ “แพทย์อินเทิร์น” ต้องการฝากไปยัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รมว.สธ.คนใหม่ คือเรื่องของนโยบายแก้ปัญหาเชิงระบบที่เป็นปัญหาระดับประเทศ เช่น ปัญหาคนไข้ที่มาใช้บริการห้องฉุกเฉิน เกินครึ่งเป็นคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นทุกจังหวัด แต่ยิ่งเป็นจังหวัดห่างไกลจะยิ่งชัด เพราะรอบข้างไม่มี รพ.เอกชนเลย ทั้งอำเภอมี รพ.อยู่แค่แห่งเดียว คนไข้ไม่ได้มีตัวเลือกเยอะ ก็ต้องมาที่ รพ.อำเภอ หลายครั้งทำให้เกิดการทะเลาะระหว่างผู้ใช้บริการกับบุคลากร เพราะเวลาที่คนมากันเยอะๆ เคสไม่ฉุกเฉินที่ต้องรอนาน ก็จะเริ่มรู้สึกว่าทำไมตัวเราหรือญาติถึงไม่ได้รับบริการสักที แบบนี้ยังไม่เรียกว่าฉุกเฉินหรือ ทำไมคนอื่นถึงได้เข้าก่อน ฯลฯ แล้วจบด้วยการทะเลาะกับคนหน้างานหรือโพสต์ด่าลงโซเชียล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะบั่นทอนจิตใจคนทำงาน

โดยเสนอแนะให้ สธ. ขับเคลื่อนนโยบายรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เพิ่ม health literacy ว่าอะไรฉุกเฉินและอะไรไม่ฉุกเฉิน อาการแบบไหนควรมาตรวจที่ รพ. หรือแบบไหนปฐมพยาบาลเองที่บ้านได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่เพียงช่วยลดภาระงานบุคลากร แต่ประชาชนก็ได้ประโยชน์ด้วย ทราบว่าอาการเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินจะเข้าถึงระบบอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ แพทย์อินเทิร์นคนเดิมเปิดเผยถึงการตัดสินใจมาทำงานใน รพ. ของรัฐในพื้นที่ห่างไกล เพราะรู้สึกอยากทำงานให้กับประชาชนตามพื้นที่ห่างไกลและชายแดน แต่เมื่อมาปฏิบัติงานจริง นับวันรู้สึกเหนื่อยล้ากับภาระงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ลึกๆ ก็มีความตั้งใจอยากทำงานต่อไป เป็นปัญหาลักษณะเดียวกับข่าวของหมออินเทิร์นที่ลาออกต่อเนื่อง ซึ่งทำให้จำนวนแพทย์ใช้ทุนในจังหวัดลดลงไปอีก

 รพ. แห่งนี้ มีแพทย์ใช้ทุน 5 คน เวลาทำงานราชการ 8.30 - 16.30 น. แต่ส่วนใหญ่ลากยาวไปถึง 17.00 - 17.30 น. ยิ่งช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่โรคไข้เลือดออกและมาลาเรียแพร่ระบาด เวลาทำงานก็จะลากยาวไปอีก ยังไม่รวมเวรห้องฉุกเฉินและเวรดูแลผู้ป่วยใน โดยจะมีทั้งเวรเช้า บ่าย ดึก รวมๆ ทำงานนอกเวลาราชการประมาณ 40 - 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินตามข้อกำหนดแพทยสภาไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม ทาง รพ. มีความพยายามลดภาระงานของแพทย์ใช้ทุน ด้วยการให้แพทย์เฉพาะทางมาช่วยเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ เพื่อลดจำนวนเคสไม่ฉุกเฉินที่ต้องให้เวรห้องฉุกเฉินตรวจและให้แพทย์เฉพาะทางมาช่วยอยู่เวรดูแลผู้ป่วยใน ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการทำงานนอกเวลาของแพทย์ใช้ทุนได้เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อคน แต่แพทย์เฉพาะทางเองก็มีเวรให้คำปรึกษา (consult) ของตนเองคนละ 10 - 15 เวรต่อเดือนอยู่แล้ว ถือว่าเยอะมากถ้าเทียบกับแพทย์เฉพาะทางตาม รพ. ในเมือง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดการเรียกร้องจากสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานกำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์ โดย  พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน สะท้อนปัญหาภาระงานของแพทย์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ทำงานนอกและในเวลาราชการรวมกันมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเวลาพัก ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเกิน 48 ชั่วโมง

เกิดปรากฎการณ์แพทย์จบใหม่ลาออกจากระบบราชการอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่จบการศึกษาแล้วไปทำงานเพิ่มพูนทักษะ หรือใช้ทุนปีแรก เหตุผลหลักๆ คือสภาวะกดดันจากการทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่สร้างความปั่นป่วนให้กระทรวงหมอเป็นอย่างยิ่ง

โดยทาง  ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์  อาจารย์ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เสนอว่าการกำหนดเวลาการทำงานแพทย์ ต้องออกเป็นกฎหมาย คล้ายๆ ชั่วโมงการบิน เพราะถ้าไม่มีกฎหมายก็ใช้ไม่ได้จริงอยู่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องปรับระบบทั้งหมด ซึ่งแพทย์ที่ผลิตมาอาจมีพอ แต่การบรรจุไม่พอหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องหารือต่อไป

อย่างไรก็ตาม บทบาทของแพทยสภาเพียงแต่ออกประกาศแนะนำ แต่ไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองดังนั้นอาจไม่สามารถบังคับใช้ได้ในการปฏิบัติงานจริง ทั้งนี้ แพทยสภาได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ระบุใจความสำคัญว่าด้วยกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ โดยให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป

สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลทราบเป็นอย่างดี โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ สืบเนื่องมาจากที่ปัจจุบันได้ปรากฎกรณีการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์โดยต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานเห็นพ้องกันว่าการบริหารบุคลากรภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมีความท้ายทายในหลายประเด็น จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. ได้หารือร่วมกันมา 3 ครั้ง มีประเด็นสำคัญที่เห็นร่วมกันว่าต้องได้รับการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนอัตรากำลัง การพัฒนาความก้าวหน้าในสายงาน การเพิ่มอัตราการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน การปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน และการปรับปรุงสวัสดิการให้แก่บุคลากร

โดยการปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคลของสาธารณสุขจำเป็นต้องดำเนินการในภาพรวม ทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความหลากหลายในสายงาน มีบุคลากรจำนวนมาก และกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ปัญหาจึงอาจเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งในมิติบริหารจัดการ มิติของผู้รับบริการ และมิติของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และเห็นควรตั้งคณะทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการกำหนดกรอบประเด็นปัญหาภาพรวม และประเด็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน (Priority Issues) เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์ เหมาะสม และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นร่วมกันนั้น กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ 1. ระยะเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ พิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ในราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยอาจดำเนินการนำร่องกับสายงานพยาบาลวิชาชีพ ในกระทรวงสาธารณสุขก่อน แล้วขยายผลต่อไปยังสายงานอื่นๆ และส่วนราชการอื่นต่อไป 2. ระยะยาว เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตนักศึกษาในสายงานบุคลากรทางการแพทย์ การปรับปรุงพัฒนาระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์

ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียม 5 แนวทางในการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ไว้ ตั้งเป้าว่าจะช่วยลดภาระงานของแพทย์และบุคลากรลงได้ ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเบื้องต้นหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลอีกด้วย

รายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. เสนอยกเลิกการคีย์ข้อมูลหรือบันทึกข้อมูลในระบบเพื่อการเบิกจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์กับ สปสช. โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และสามารถดำเนินการได้ทันทีหากโรงพยาบาลมีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบกับ สปสช. โดยจะเป็นการเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) หรือการเชื่อมต่อระบบของทางโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งนี้การบันทึกข้อมูลในระบบนั้นมีประโยชน์ในการตรวจสอบการเบิกจ่าย การนำข้อมูลมาใช้วางแผนเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ

2. เสนอให้ สายด่วน สปสช. 1330 ช่วยกระจายผู้ป่วยใน (IPD) ที่รอเตียงเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลและอาจจะสร้างความกดดันให้กับแพทย์ได้ ซึ่งบริการนี้ สปสช.ได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้มีเตียงจากโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เข้ามาเป็นสถานพยาบาลกรณีเหตุสมควรตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สำรองประมาณ 600 เตียงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในส่วนของต่างจังหวัดนั้น หากข้อเสนอนี้ผ่านการหารือและตกลงร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข สายด่วน สปสช. 1330 ก็จะทำหน้าที่กระจายผู้ป่วยในที่รอเตียงได้ได้ด้วย โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลเอกชนที่มีเตียงว่าง


3. ผลักดันนวัตกรรมบริการเพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยความร่วมมือกับหน่วยบริการต่างๆ ทั้งนี้ สปสช.ตั้งเป้าว่านวัตกรรมบริการสุขภาพวิถีใหม่นี้จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลได้ร้อยละ 30 หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล บริการบางรายการที่สามารถทำนอกโรงพยาบาลได้และมีหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ได้แก่ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาที่ร้านพร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าให้บริการผู้ป่วยไปแล้วว่า 1.4 แสนรายคิดเป็นจำนวนรับบริการกว่า 2.02 แสนครั้ง นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์, เจาะเลือดหรือตรวจแล็บใกล้บ้าน, กายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัด, บริการพยาบาลพื้นฐาน เช่นการทำแผลชนิดต่างๆ ที่คลินิกการพยาบาล, บริการแพทย์แผนไทย, บริการสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine), บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS), บริการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) และบริการเคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Home Chemotherapy)

4. สนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ คือ เป็น emergency room ไม่ใช่ everything room ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลจัดแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และ “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควรและกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ ซึ่งต้องมีห้องเพื่อบริการที่แยกจากห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้มีหน่วยบริการ 129 แห่ง ได้ดำเนินการตามแนวทาง “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ มีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

และ 5. ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองหรือ self care โดย สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถไปรับยาที่ร้านยาได้ หรือหากอยู่ในกรุงเทพฯ ใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือพบหมอออนไลน์พร้อมจัดส่งยาถึงบ้านกับแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 แห่งที่เข้าร่วม ซึ่งเป็นการดูแลตนเองโดยไม่จำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาล นอกจากนั้น สปสช. ร่วมกับหน่วยบริการยังแจกถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Test รวมถึงชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง “HPV DNA Self Collection” ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ย้อนดูสถิติจำนวนแพทย์ของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลของแพทยสภา จำนวนแพทย์ของประเทศไทย ณ วันที่ 4 เม.ย. 2566 มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียน 72,250 คน เสียชีวิต 3,503 คน ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 22 คน คงเหลือแพทย์ 68,725 คน โดยอยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ 32,198 คน ทำงานอยู่ในต่างจังหวัด 34,487 คน โดยแพทย์อายุ 31 - 40 ปี มีจำนวนมากที่สุด 21,509 คน อายุ 20 - 30 ปี มี 14,174 คน อายุมากกว่า 70 ปี มี 4229 คน

สำหรับจำนวนแพทย์ที่ทำงานอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งหมด 24,649 คน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบประชากรประมาณ 45 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน หรือถ้าใช้เกณฑ์สากล คือมีแพทย์ 5 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งประเทศไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปานกลาง คือมีแพทย์ 10 คนต่อประชากร 10,000 คน

ขณะที่การลาออกของแพทย์บรรจุใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง พบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับบรรจุแพทย์ใหม่ 19,355 คน เฉลี่ยรับปีละ 1,935 คน เมื่อทำงานครบปีแรก แพทย์ลาออก 23 คนต่อปี ทำงานปีที่ 2 ลาออก 188 คนต่อปี ทำงานปีที่ 3 ลาออก 86 คนต่อปี รวมใน 3 ปีแรก มีผู้ลาออกทั้งสิ้น 297 คนต่อปี เทียบกับจำนวนรับใหม่ ปีละ 1,935 คน คิดเป็น 15.3% นอกจากนี้ ยังมีแพทย์ที่ลาออก หลังจากทำงานมาแล้ว 3 ปี อีก 158 คนต่อปี รวมเป็น 455 คน คิดเป็น 23.5% ของจำนวนแพทย์ที่เข้าใหม่แต่ละปี (ยังไม่นับที่เกษียณอายุอีกจำนวน 150-200 คน)

สำหรับข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฎิบัติงานชดใช้ทุน คณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบ 2561 - 2565 พบว่าสำเร็จการศึกษา 13,141 คน แบ่งเป็นจัดสรรให้ส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น จัดสรรให้ 3,937 อัตรา ไปปฏิบัติงานจริง 3,023 คน ส่วนของสธ. จัดสรรให้ 9,951 อัตรา ไปปฏิบัติงานจริง 9,970 คน เมื่อกางตัวเลขรายปี 5 ปีย้อนหลัง มีดังนี้

ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ.ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน, ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,054 อัตราปฏิบัติงานจริง 2,044 คน, ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน, ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน, ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ.ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน ซึ่งในแต่ละปีผลิตแพทย์ได้เพียง 2,000 - 3,000 คน ทำให้สัดส่วนของหมอ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้ 2,000 คน

 สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น นับเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องยกระดับวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ 


กำลังโหลดความคิดเห็น