xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๔๘)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ในการทำความเข้าใจขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม ควรเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเบลเยี่ยมมีที่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1831 มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1993 และแก้ไขครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2012 แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ระบอบการปกครองที่เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ แล้วว่า รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับ อันได้แก่ ฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากหลักการการปกครองของอังกฤษด้วย ที่ไม่เรียกว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่อังกฤษปกครองด้วยรัฐธรรมนูญตามจารีตประเพณี
ผู้เขียนได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1791 ไปแล้ว และเล่าค้างถึงรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 โดยรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝรั่งเศสกลับมามีสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ถูกล้มไปในปี ค.ศ. 1791 การกลับมาของสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1814 จึงมีความคล้ายคลึงกับการกลับมาของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษในปี ค.ศ. 1660 หลังจากที่อังกฤษปกครองโดยไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 11 ปี นั่นคือ ระหว่าง ค.ศ. 1649-1660 ช่วงเวลาที่มีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมานั้นเป็นที่รู้จักในทางประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ยุคแห่งการฟื้นฟู” หรือ the English Restoration ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1814 จึงเป็น the French Restoration

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมอังกฤษถึงต้องรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาทั้งๆ ที่ยกเลิกไปแล้ว คำตอบคือ ในช่วง 11 ปีที่อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐก็ดี การปกครองแบบสาธารณรัฐในความเป็นจริงก็ดี ไม่สามารถลงหลักปักฐานในสังคมอังกฤษได้ บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะสับสนอลหม่าน ใกล้อนาธิปไตย อังกฤษจึงจำเป็นต้องรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์นอกเหนือไปจากความต้องการของประชาชนโดยทั่วไปแล้วก็คือ  นายพลจอร์จ มองค์ (General Monck) 

 นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า กระแสส่วนใหญ่ของคนอังกฤษในช่วง ค.ศ. 1660 สนับสนุนให้มีการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับมา นั่นหมายถึง ไม่ต้องการให้อังกฤษมีการปกครองที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ยอมรับระบอบสาธารณรัฐนั่นเอง  

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอังกฤษสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้การปกครองของนายพันทหารบกที่ชื่อ  โอลิเวอร์ ครอมเวล  แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1658 ความสับสนวุ่นวายก็เกิดขึ้นทันที เมื่อบุตรชายที่สืบทอดอำนาจต่อจากเขาไม่ได้รับการยอมรับจนต้องลาออกจากตำแหน่งที่เรียกว่า the Lord Protectorate ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1659 และได้มีการเรียกประชุมสภาขึ้นในเดือนเดียวกันนั้น ต่อมาในเดือนตุลาคม กองทัพของฝ่ายสาธารณรัฐได้เข้ายึดอำนาจ และมีการประชุมสภาอีกครั้งในเดือนธันวาคม จากช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1659 กล่าวได้ว่า อังกฤษได้เข้าสู่สภาวะอนาธิปไตย ไม่รู้ว่าใครคือรัฐบาล ไม่รู้ว่าใครคือผู้มีอำนาจในการปกครอง

สภาพการณ์เช่นนี้ดำเนินไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 1660 ที่เกิดสภาวะจลาจล การประท้วง การยื่นหนังสือร้องเรียนมากมาย คนส่วนใหญ่ออกมาต่อต้านการปกครองของทหารและสภาของฝ่ายสาธารณรัฐ เรียกร้องให้มีสภาที่เป็นอิสระและมีการปกครองที่ถูกต้องตามจารีตประเพณี

สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อนายพลจอร์จ มองค์ ผู้บัญชาการกองทัพในสก็อตแลนด์ได้เคลื่อนกำลังพลเข้าเขตแดนของอังกฤษในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1660 และมุ่งหน้าเข้ากรุงลอนดอน เขาบังคับให้สภาต้องรับสมาชิกสภาจำนวนหนึ่งกลับเข้าสภา และบังคับให้มีการลงมติยุบสภาเพื่อปูทางไปสู่การเปิดการประชุมสมัชชาแห่งชาติในเดือนเมษายนเพื่อเตรียมการกราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์ให้กลับมาจากที่เสด็จลี้ภัยในต่างแดน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความต้องการของประชาชนที่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมาและยุติการปกครองแบบสาธารณรัฐ

จากเงื่อนไขดังกล่าว ในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1660 เมื่อมีการประกาศยอมรับ พระเจ้าชาร์ลสที่สอง  เป็นกษัตริย์ที่เมืองบอสตัน ลินคอ์ลนเชียร์ที่อยู่ทางเหนือลอนดอนประมาณ 100 ไมล์ บรรดาผู้คนในเมืองได้พากันปลดสัญลักษณ์ของพวกสาธารณรัฐและลากไปตามถนนหนทาง ทุบทำลาย บ้างก็ปัสสาวะและอุจจาระรดสัญลักษณ์เหล่านั้น และในที่สุดก็พากันเผาและแสดงความปีติที่พวกเขาได้พระมหากษัตริย์กลับคืนมา

 และเมื่อพระเจ้าชาร์ลสที่สองเสด็จกลับอังกฤษในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ผู้คนทั้งแผ่นดินต่างพากันปีติยินดีอย่างยิ่ง ในบันทึกประจำวันของเซอร์เอ็ดเวิร์ด เดอร์ริ่ง (Sir Edward Dering) บันทึกประจำวันของ เขากล่าวไว้ว่า เขาเชื่อว่า ทั้งในความรู้สึกและการแสดงออกให้เห็นของผู้คน ต่างปีติยินดีอย่างที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน นับตั้งแต่ที่พระเจ้าชาร์ลสได้เสด็จขึ้นฝั่งที่เมืองโดเวอร์ในวันที่ 25 จนถึงวันที่พระองค์เสด็จถึงกรุงลอนดอนในวันที่ 29 พฤษภาคม ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปทั้งสามอาณาจักร นั่นคือ อังกฤษ สก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ และในบันทึกอีกฉบับหนึ่งที่เขียนโดยชาวไอริช ได้กล่าวเปรียบการเสด็จกลับสู่ราชอาณาจักรของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองดังนายแพทย์ที่กลับมาดูแลรักษาบาดแผลของผู้คนทั้งสามอาณาจักรและให้ชีวิตที่เสรีกลับคืนสู่ผู้คน 


ในการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนสู่สามอาณาจักร พระเจ้าชาร์ลสที่สองพยายามที่จะให้พระองค์เป็นที่ยอมรับของทั้งสามอาณาจักรโดยการทำให้ทุกคนทุกฝ่ายพอใจ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะปีติยินดีพอใจกับการที่พระองค์พยายามประนีประนอมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในประเด็นทางศาสนาที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา

หลังจากที่อังกฤษกลับคืนสู่การปกครองภายใต้พระเจ้าชาร์ลสที่สองเป็นเวลาได้สิบกว่าปี  แอน เวนเวิร์ธ (Anne Wentworth)  นักเขียนผู้มีความเชื่อทางศาสนาอย่างรุนแรง ได้เผยแพร่ข้อเขียนของเธอ อันมีใจความบางตอนว่า เธอได้ยินเสียงอันน่าสะพรึงกลัวที่สุด ที่เตือนว่า ในไม่ช้า ประเทศนี้จะต้องเจอกับการพลิกผันอย่างรุนแรง อันจะทำให้ไม่สามารถทนอยู่ได้ยาวนานเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ เธอเชื่อว่า ด้วยความพิโรธของพระผู้เป็นเจ้าจะนำมาซึ่งการล่มสลายของประเทศต่างๆ ที่ทำในสิ่งที่ขัดต่อพระประสงค์ของพระองค์

 แน่นอนว่า ความเชื่อและข้อเขียนเช่นนั้นของเธอทำให้คนหาว่าเธอบ้า แต่กระนั้น สิ่งที่เธอพยากรณ์ก็มีส่วนจริง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปตามคำพยากรณ์ทั้งหมดของเธอก็ตาม เพราะในปี ค.ศ. 1677-1678 ยุคฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ (the English Restoration) ได้เข้าสู่สภาวะวิกฤต ไม่เฉพาะแต่อังกฤษ แต่รวมถึงสก็อตแลนด์และไอร์แลนด้วย อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษในปี ค.ศ. 1688 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สาเหตุที่ผู้เขียนเล่าเรื่องการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1660 เพราะฝรั่งเศสก็เดินตามรอยอังกฤษ โดยมีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศส (the French Restoration) ขึ้นในปี ค.ศ. 1814 หลังจากที่ถูกโค่นล้มไปเป็นเวลา 22 ปี และในการเข้าสู่ยุคฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝรั่งเศสได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองที่ให้ฝรั่งเศสมีการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ของฝรั่งเศสนี้เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับ (รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830) ที่เบลเยี่ยมใช้เป็นตัวแบบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1831 ของตนโดยผสมผสานเข้าหลักการการปกครองตามจารีตประเพณีของอังกฤษ

 เมื่อเปรียบเทียบการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสกับของอังกฤษ จะพบว่า การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตรย์ของอังกฤษได้เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตหลังจากผ่านไปได้เป็นเวลา 17 ปี แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ และสามารถรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มาได้จนถึงปัจจุบัน แต่ของฝรั่งเศสแม้ว่าจะไม่ได้เข้าสู่วิกฤตเร็วอย่างของอังกฤษ และรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ดำรงอยู่ได้เป็นเวลา 34 ปีโดยมีการแก้ไขในปี ค.ศ. 1830 แต่รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปี ค.ศ. 1848

ส่วนเบลเยี่ยมที่ผสมผสานรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับกับหลักการปกครองของอังกฤษ สถาบันพระมหากษัตริย์ของเบลเยี่ยมก็ยังดำรงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน 





กำลังโหลดความคิดเห็น