xs
xsm
sm
md
lg

พลวัตของการเมืองไทย : การเคลื่อนตัวของความขัดแย้ง / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
 
สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงต้นปี 2566 ทั้งเรื่องความแปรผันของการเลือกตั้ง การต่อสู้ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล การจับมือกันของสองกลุ่มอำนาจการเมืองที่เคยเป็นปรปักษ์กันมาก่อน และการยุติของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เป็นสัญญาณว่าสังคมและการเมืองไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยเดิม และกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่มีภูมิทัศน์ทางการเมืองแตกต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ

ในการเลือกตั้งปรากฎการณ์ที่สำคัญคือ ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคฝ่ายค้านเดิมสองพรรคคือพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยที่มีต่อพรรคร่วมรัฐบาลเดิม พรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยการใช้วิสัยทัศน์ จุดยืนทางการเมือง และนโยบายประสบชัยชนะได้รับเลือกตั้งมากเป็นลำดับหนึ่ง ได้รับคะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 14.5 ล้านเสียง และระบบแบ่งเขตประมาณ 9.6 ล้านเสียง มีจำนวน ส.ส. รวม 151 คน เป็นชัยชนะที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่าได้มาอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมโดยปราศจากการซื้อเสียง ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในระบบแบ่งเขตถูกตั้งข้อสงสัยว่าใช้เงินอย่างมหาศาล

ชัยชนะที่ปราศจากการซื้อเสียงของพรรคก้าวไกลบ่งบอกว่าประชาชนไทยจำนวนมากมีการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมการซื้อขายเสียงและโครงสร้างอำนาจแบบระบบอุปถัมภ์อีกต่อไป หากแต่เลือกตั้งด้วยเจตจำนงอิสระบนพื้นฐานของความคิดสมัยใหม่ ที่ตัดสินใจโดยการผสมผสานระหว่างอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง และการพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง กล่าวได้ว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจำนวนพลเมืองตื่นรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ส่วนชัยชนะเป็นลำดับสองของพรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยที่คล้ายคลึงกับพรรคก้าวไกล แต่อีกส่วนหนึ่งมีความแตกต่างอยู่บ้าง การแข่งขันในระดับเขตหลายพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยมีการต่อสู้อย่างเข้มข้นกับพรรคการเมืองกลุ่มอำนาจนิยม ที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรสำหรับการแลกเปลี่ยนสิทธิการเลือกตั้งมาเป็นคะแนนเสียง ลำพังการใช้กระแสเชิงนโยบายไม่เพียงพอในการเอาชนะได้ ผู้สมัคร สส. เขตของพรรคเพื่อไทยจำนวนมากจึงพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส่วนเขตที่เอาชนะมาได้หลายเขตก็ต้องใช้วิธีการเดียวกับกลุ่มพรรคการเมืองอำนาจนิยม

ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงรวมกันประมาณร้อยละ 70 ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บ่งบอกว่า ประชาชนไทยประมาณ 3 ใน 4 แสดงเจตนารมณ์เพื่อให้การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งสองพรรคจึงก่อตัวเป็นพันธมิตรร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเล็กอื่น ๆ อีก 6 พรรค รวมเป็น 8 พรรค และมีการจัดทำ MOU ในกระบวนการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลพันธมิตร 8 พรรค มิได้ราบรื่นนักและอาจพลิกผันได้

 สัญญาณแรก  คือข่าวลือเรื่องดีลลับ 2 ข่าว ข่าวแรกเป็นดีลลับระหว่างผู้นำเงาของพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นข่าวที่มีมาก่อนการเลือกตั้งและต่อเนื่องมาจนถึงช่วงการรณรงค์หาเสียง เป็นข่าวที่ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยอย่างน้อย 3 คนคือ  นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค น.ส. แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน  แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต้องออกมาปฏิเสธหลายครั้งต่อสาธารณะ และประกาศว่าจะไม่ร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ สำหรับข่าวลือเรื่องดีลลับอีกเรื่องคือ ดีลลับลังกาวีที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมระหว่างกลุ่มอำนาจเดิม กลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงาน และแกนนำเงาพรรคเพื่อไทย สื่อมวลชนบางแห่งแสดงหลักฐานการบินไปเกาะลังกาวีของบุคคลที่ปรากฎในข่าว แต่ผู้ที่ตกเป็นข่าวก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง ทว่าไม่สามารถลบล้างความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนได้

 สัญญาณที่สอง การแสดงอาการโกรธเคืองที่เกินกว่าเหตุของนายชลน่าน ศรีแก้ว ต่อนายศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย หนึ่งในพรรคพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาล สืบเนื่องมาจากในวันที่มีการแถลงข่าวร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคการ นายศิธาเสนอให้ทำ Advanced MOU โดยขอให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม เพื่อไม่ให้การจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในเกมของกลุ่มอำนาจเก่าและเป็นการยกระดับประชาธิปไตย ในวันต่อมานายชลน่าน ได้ตำหนิว่า นายศิธาเสียมารยาทอย่างยิ่ง และกล่าวว่า  “ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว” 

 สัญญาณที่สาม การที่พรรคเพื่อไทยแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ตามบรรทัดฐานปกติของการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่เป็นแกนนำมักจะได้รับตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคลำดับสองยืนยันอย่างแข็งขันว่า ต้องการตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำไมตำแหน่งนี้สำคัญ นั่นเป็นเพราะประธานสภาผู้แทนฯ จะทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย และประธานรัฐสภาคือผู้กำหนดวาระการประชุมในการเลือกนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจในการตีความข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ดังนั้นพรรคใดได้ตำแหน่งประธานสภาฯมาครอบครองก็ย่อมสามารถสร้างเงื่อนไขบางอย่างในการกำหนดวาระของการเลือกนายกรัฐมนตรีได้

พรรคเพื่อไทยยื่นคำขาดต่อพรรคก้าวไกลว่า หากพรรคก้าวไกลเสนอชื่อคนขอตนเองเป็นประธานสภาฯ พรรคเพื่อไทยก็จะเสนอเข้าแข่งขันด้วย อันได้แก่นายวัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเคยอยู่พรรคเพื่อไทยและมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับแกนนำพรรคเพื่อไทย ในที่สุด พรรคก้าวไกลก็ต้องยอมประนีประนอมให้นายวันนอร์ เป็นประธานสภาฯ และนั่นเป็นสัญญาณสำคัญว่า โอกาสที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้สูญหายไปแล้ว

 สัญญาณที่สี่ การรณรงค์ต่อต้านการเลือกนายพิธา ของสมาชิกวุฒิสภา ทั้งในที่สาธารณะและในไลน์กลุ่ม และมีข่าวเรื่องสมาชิกวุฒิสภาหลายคนที่มีแนวโน้มว่าจะเลือกนายพิธาถูกข่มขู่ หรือถูกสั่งจากกลุ่มอำนาจมืดให้ยุติการสนับสนุน จนมี สว.บางคนลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถทนแรงกดดันได้ ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี 13 กรกฎาคม 2566 จึงมี สว. เพียง 13 คน เท่านั้นที่ยังยืนหยัดเลือกนายพิธา ภายใต้หลักการที่ว่า หากพรรคการเมืองใดสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็จะลงมติเลือกหัวหน้าพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

 สัญญาณที่ห้า  กลุ่ม สว.จับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยมหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาขึ้นมา และอ้างว่า การเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ ดังนั้นเมื่อตกไปแล้วก็ไม่สามารถเสนอซ้ำได้อีกในสมัยประชุมเดียวกัน การกระทำของสว.และพรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยมถูกวิจารณ์ว่า ทำให้ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้องตามระบบกฎหมาย แต่ประธานรัฐสภาและแนวร่วมอำนาจเก่ามิได้สนใจรับฟังข้อวิจารณ์ ยังคงเดินหน้าทำสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อไป

เมื่อนายพิธา ถูกกลุ่มอำนาจเก่าสกัดกั้นจนไม่อาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคก้าวไกลจึงส่งมอบหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลแก่พรรคเพื่อไทย แต่เพียงสัปดาห์เดียวพันธมิตร 8 พรรคก็ล่มสลาย เมื่อพรรคเพื่อไทยสลัดพรรคก้าวไกลทิ้งให้ไปเป็นฝ่ายค้าน และหันหน้าไปจับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยมที่เคยเป็นปกปักษ์กับตนเองมาก่อน ท่ามกลางข่าวการประกาศกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนให้ความนับถือประดุจเป็นผู้นำพรรคตัวจริง

 การจัดตั้งรัฐบาลดำเนินต่อไปตามเกมของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มอำนาจเก่า จนที่สุดก็สามารถเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จในช่วงเย็นวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ภายใต้การสนับสนุนจาก สว. ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันเดียวกัน ช่วงเช้าก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี นายกทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนักโทษหนีคดีอย่างยาวนานร่วม 17 ปี เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อถึงประเทศไทยนายทักษิณ ได้รับการรอรับจากบรรดานักการเมืองจำนวนมากของพรรคเพื่อไทย และได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐประดุจแขกอันทรงเกียรติ มิได้มีร่องรอยใดที่บ่งบอกถึงการเป็นนักโทษหนีคดีแม้แต่น้อย 

มากกว่านั้น นายทักษิณมิได้ถูกจำขังในเรือนจำเหมือนกับนักโทษคนอื่น ๆ แต่กลับอ้างเรื่องการเจ็บป่วยและถูกส่งไปพักรักษาตัวอยู่ในห้องพักที่หรูหราของโรงพยาบาลตำรวจ ไม่กี่วันถัดมานายทักษิณ ก็ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการลดโทษจาก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี โดยเวลาเพียง 10 วันนับจากวันที่เข้ามาในประเทศไทย และปัจจุบันนายทักษิณยังคงพำนักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ มิได้อยู่ในเรือนจำแต่ประการใด

ผลที่ตามมา นักการเมืองที่อยู่ฝ่ายเสื้อเหลืองเข้ม ซึ่งเคยต่อสู้และขับไล่นายทักษิณมาก่อนประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่ายอมรับความพ่ายแพ้แก่นายทักษิณ และมีนักวิชาการและประชาชนเสื้อเหลืองเข้มหลายคนประกาศเลิกสนใจการเมือง หันไปทำมาหากิน และชมนกชมไม้ต่อไป
 
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยเป็นตัวแทนของฝ่ายเสื้อเหลือง ตกต่ำจนแทบหมดสภาพความเป็นพรรค และ สส.เกือบทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็พร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย มีเพียง สส.เก่าแก่อดีตหัวหน้าพรรคสองคนเท่านั้นที่จุดยืนยังไม่เปลี่ยน

  กล่าวได้ว่า ยุคการเมืองเสื้อสี ซึ่งเป็นยุคแห่งความขัดแย้งที่ผสมผสานระหว่างความขัดแย้งส่วนบุคคลของกลุ่มชนชั้นนำ กับความขัดแย้งเรื่องจุดยืนระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการได้สิ้นสุดลง แต่ขณะเดียวกันร่องรอยของความขัดแย้งใหม่ก็ได้ก่อตัวขึ้นมา ยุคใหม่ทางการเมืองกำลังเกิดขึ้น เป็นยุคที่มีการต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่างวัฒนธรรมการเมืองเก่าแบบอำนาจนิยมกับวัฒนธรรมการเมืองใหม่แบบมีส่วนร่วม และเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม กับฝ่ายเสรีนิยมสังคมสมัยใหม่ 



กำลังโหลดความคิดเห็น