ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่าสร้างความแตกตระหนกไปทั่วโลก หลังรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ขณะที่นานาชาติเริ่มแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หวั่นเกรงสารปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีปะปนในอาหาร
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลจีน ประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมดแล้ว ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและประมงที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565
ขณะที่รัฐบาลฮ่องกงประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ 10 จังหวัดของญี่ปุ่น อาทิโตเกียว, ฟุกุชิมะและ ชิบะ เนื่องจากหวั่นวิตกในเรื่องความปลอดภัย หลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยฮ่องกงนับเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและประมงที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมามีมูลค่านำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยยังไม่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันไม่มีการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ไทยนับเป็นประเทศแรกที่ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น เมื่อปี 2561 หลังเกิดเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์ซัดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนทำให้เกิดหายนะครั้งใหญ่ รวมทั้ง การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในปี 2554
อย่างไรก็ตาม การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิลงทะเลของประเทศญี่ปุ่น เป็นไปตามแผนการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วนับจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2011 ซึ่งใช้เวลาบำบัด 12 ปี ก่อนจะทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเวลา 30 ปีนับจากวันที่ 24 ส.ค. 2566 ทว่า เป็นประเด็นใหญ่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลจากคนญี่ปุ่นในประเทศ รวมถึงประเทศใกล้เคียงในการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น
แม้รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันชัดจนว่าน้ำผ่านบำบัดปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัย อีกทั้ง ได้รับการรับรองจากหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แต่ก็มิได้สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและนานาชาติ เป็นประเด็นใหญ่เสทือนอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุนมูลค่า 3 หมื่นล้านเยน (7.2 พันล้านบาท) เพื่อชดเชยชาวประมงท้องถิ่นสำหรับความเสียหายต่อชื่อเสียง และ 5 หมื่นล้านเยน (1.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อแก้ไขผลกระทบใดๆ ต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยว่าเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง สำหรับมาตรการของทางการไทยต่อการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพราะย่อมกระทบร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งทางผู้ประกอบการอาจต้องลองปรับแหล่งวัตถุดิบ หรือออกเมนูโดยเพิ่มเนื้อสัตว์อื่นๆ แทน
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปี 2565 ไทยนำเข้าอาหารทะเลจากทั่วโลก 3,954 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยนำเข้าจากทั่วโลก 1,841 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8%
ทั้งนี้ ไทยนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น สัดส่วน 5% มูลค่านำเข้าปี 2565 เท่ากับ 182 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% และในช่วงครึ่งปีแรก 2566 นำเข้า 91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17% ซึ่งแหล่งนำเข้ารองลงมาคือ นอร์เวย์, อินเดีย, ไต้หวัน, จีน และเวียดนาม
สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นคือ ผลิตภัณณ์กลุ่มสัตว์น้ำแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาทิ ปลาทูน่าสด แช่เย็น แช่แข็ง ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นและแช่แข็ง และกลุ่มสัตว์น้ำอื่นๆ
สำหรับสถิติร้านอาหารญี่ปุ่นของเมืองไทย ปี 2565 พบว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนกว่า 5,325 ร้าน เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าจะเผชิญกับผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งแม้จะประกาศว่าอาหารจากญี่ปุ่นผ่านเกณฑ์ ผู้บริโภคก็มีข้อกังวลว่าอาจมีสารพิษสะสมในร่างกายหรือไม่ โดยมาตรการของไทยในการนำเข้าอาหารทะเลนั้น เจ้าหน้าที่ด่านประมง ของกรมประมง และด่านอาหารและยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหากพบจะผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที ส่วนตัวผลิตภัณฑ์จะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลายทันทีเช่นเดียวกัน
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. ร่วมกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำหนดมาตรการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น รับมือการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 กองด่านอาหารและยา อย. สุ่มตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,000 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสี ผลการตรวจไม่พบตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข”
สรุปได้ว่าประเทศไทยไม่ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะปล่อยน้ำเสียผ่านการบำบัดลงทะเล แต่มีแนวทางมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเป็นบรรทัดฐานความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในประเทศมานานแล้ว
“มีรายงานว่าบางประเทศห้ามนำเข้านั้นก็อยู่ที่บริบทที่ไม่เหมือนกัน แต่เราบอกแล้วว่า หากเป็นสินค้าที่มาจากพื้นที่เรดโซน (RED ZONE) มีการดักจับทุกกรณี โดยเก็บตัวอย่างตั้งแต่หน้าด่าน แล้วนำตัวอย่างส่งไปยังสำนักงานปรมาณูฯ ส่วนสินค้าที่เหลือก็จะถูกกักเอาไว้ ถ้าตรวจแล้วไม่มีอันตรายก็ปล่อยออกมา ถ้าเจออะไรที่เป็นอันตรายสินค้าเหล่านี้จะถูกทำลาย ดังนั้นไม่มีโอกาสที่จะรั่วไหลเข้ามาทำให้ประชาชนเป็นอันตราย นี่คือสิ่งที่เราดำเนินการกันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปประกาศว่าห้ามนำเข้า” เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าว
ขณะเดียวกัน ในมุมมองของนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่าน้ำบำบัดที่ญี่ปุ่นปล่อยสู่มหาสมุทร ทราบกันดีว่าเป็นน้ำกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้ว ค่าต่างๆ ก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น ในแง่ของมาตรฐาน ก็ไม่ได้เป็นน้ำที่ไม่ผ่านเกณฑ์แต่อย่างใด
ในส่วนของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น หน่วยงานของไทยเองก็มีการตรวจและรับรองการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีการตรวจหลายพันตัวอย่างก็พบว่าไม่มีปัญหาใดๆ แต่เพราะเป็นธรรมดาเพราะเรื่องของกัมมันตภาพรังสีจึงทำให้คนเกิดวิตก
ถามว่าทำต้องปล่อยน้ำบำบัดลงสู่มหาสมุทร ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ถูกคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ซัดเข้าใส่ จนทำให้เกิดความเสียหาย กระทั่งกลายเป็นการปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา ซึ่งหลังจากเกิดเหตุโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังคงผลิตน้ำเสียมาจากน้ำบาดาลและน้ำทะเล ที่ใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ ถึงวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งหมดจะผ่านการกรองและนำไปเก็บไว้ในแทงก์น้ำ ปัจจุบันปริมาณน้ำที่สะสมมาตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินั้นใกล้จะเต็มแล้ว คาดการณ์ว่าจะถึงขีดจำกัดในช่วงต้นปี 2024 ทำให้ต้องตัดสินใจปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเล
ทั้งนี้ น้ำที่ปนเปื้อนรังสีได้ผ่านระบบบำบัดจนขจัดสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ได้แล้ว ยกเว้น “ทริเทียม” ซึ่งทางญี่ปุ่นยืนยันว่าได้เจือจางน้ำเสียเหล่านี้ เพื่อลดระดับ “ทริเทียม” ให้เหลือประมาณ 1 ใน 7 ตามแนวทางความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดขั้นตอนทั้งหมดนี้ได้การอนุมัติจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แล้ว
สำหรับ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ” ดำเนินกิจการโดยบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tepco, เทปโก) ได้เริ่มปล่อยน้ำรอบแรกที่ผ่านการบำบัดผ่านอุโมงค์ใต้น้ำสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามอนุมัติเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักมีกระแสต่อต้านจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและนานาชาติ เริ่มตั้งแต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีของเทปโก ตั้งข้อสังเกตุว่าเทปโกดำเนินมาตรการไม่มากพอสำหรับการขจัดสารกัมมันตรังสี โดยแนะรัฐบาลญี่ปุ่นควรกักเก็บน้ำปนเปื้อนไว้ในแท็งก์น้ำต่อไป จนกว่าจะมีเทคโนโลยีการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีแบบใหม่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ต้องศึกษาถึงผลกระทบต่อพื้นมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตทางทะเลอย่างรอบคอบให้มากพอ
ขณะที่ เอมิลี แฮมมอนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ให้สัมภาษณ์ว่าแม้จะได้ค่าตามมาตรฐาน ต้องตระหนักว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานไม่ได้หมายความว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือมนุษย์เป็นศูนย์
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ดังนั้น เป็นสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกรับประทาน