ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ห่างไกลคำว่า “ดรีมทีม” พอสมควร สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดแรกภายใต้การนำของ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ที่เรียกกันว่า “ครม.เศรษฐา 1” หรือ “ครม.นิด 1”
ด้วยชื่อ 35 ขุนพล “ว่าที่รัฐมนตรี” ใน “ครม.นิด 1” ที่ปรากฎผ่านหน้าสื่อ และได้รับการยืนยันในทางลับจาก “บิ๊กเพื่อไทย” แกนนำรัฐบาลแล้วว่า เป็นชื่อที่ตรงตามโผเป๊ะๆ นั้นนำมาซึ่งเสียง “ยี้” ระงมตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน จนฉุดแต้ม “นายกฯ นิด” ผู้มีโปรไฟล์สุดหรูให้ตกลงไปด้วย ซ้ำเติมกระแส “ติดลบ” ที่หลายฝ่ายยังรับไม่ได้กับ “รัฐบาลพิเศษสลายขั้ว”
ที่มวยหลักฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยต้องมาจับมือกับ “พรรค 2 ลุง” ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ
โดยเฉพาะคนที่ “เหาะเกินลงกา” มาแบบไม่คาดฝันอย่าง “พิชิต ชื่นบาน” หรือที่รู้จักกันในนาม “ทนายถุงขนม” จนเรียกขานกันสนุกปากว่า “รมต.ชั้น 14” ด้วยมิอาจมองเป็นอื่นได้ว่า เป็นโควตาพิเศษของ “นายใหญ่” ที่ย้ายมาพำนักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
ไล่เรียงให้เห็นภาพ “โผ ครม.เศรษฐา 1” ตามโควตาพรรคการเมือง ประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย 18 คน ได้แก่ 1.เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, 2.ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, 3.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, 4.สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, 5.นางพวงเพชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, 6. พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
7.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, 8.ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), 9.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, 10.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, 11.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 12.เสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
13.จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง, 14.นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย,15.นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 16.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, 17.สุรพงษ์ ปิยโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ 18.จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ
พรรคภูมิใจไทย 8 คน ได้แก่ 19.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, 20.พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, 21.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, 22.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และการพัฒนา
23.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, 24.ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, 25.สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ 26.นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
พรรคพลังประชารัฐ 4 คน ได้แก่ 27.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 28.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 29.สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ 30.ไผ่ ลิกค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน ได้แก่ 31.พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, 32.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, 33.อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 34.กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ 35.นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์
และ พรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ 36.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ครบถ้วนกระบวนความ 36 รายชื่อ “อย่างไม่เป็นทางการ” ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 1 กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีจำนวนไม่เกิน 36 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน
ตามรายชื่อที่ออกมา ถือเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรม “แบ่งเค้ก” จัดวางตามโควตาการเมืองทั้งภายในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล มีภาพ “นอมีนี” ของขาใหญ่การเมือง หรือกลุ่มทุน อย่างชัดเจน ที่สำคัญดูเหมือน “ว่าที่รัฐมนตรี” หลายคนไม่ตรงสเปกกับเก้าอี้ที่ได้รับ
ไม่เท่านั้นยังมีบรรดาประเภท “ตัวตึง-สายล่อฟ้า” พร้อมเรียก “คณะทัวร์” อยู่ด้วย
เริ่มกันที่พรรคแกนหลักอย่างพรรคเพื่อไทย แม้จะได้เก้าอี้กว่าครึ่ง ครม. แต่ก็เข้าทำนองไม่พอรองก้น เพราะมีขุนพลต่อแถวรอเป็นรัฐมนตรียาวเหยียด ตามประสาห่างหายจากวงจรอำนาจไปนาน ทั้งยัง “คลื่นใต้น้ำ” ไม่พอใจการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ที่เสียกระทรวงเกรดเอไปให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ยังมีประเภท “เด็กนาย” ที่เข้าวินคว้าเก้าอี้เสานาบดีไปหน้าตาเฉย จน “สส.แก่พรรษา-คนทำงาน” ที่ต่อแถวอยู่โวยกันเบาๆว่า “มันมาจากไหนวะ”
หรือรายของ “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะตรงสายอาชีพเดิม แต่ก็ไม่วายถูกถล่ม โทษฐานที่เคยประกาศจะไม่จับมือกับ 2 ลุง จนต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่พ้นถูกค่อนขอดว่า ลาออกไปเพื่อสิ่งที่ดีกว่าอยู่ดี
ที่กระแทกเบ้าตาแบบเต็มคาราเบล ทั้งคนในพรรค และสังคมภายนอก ไม่พ้น “ทนายถุงขนม” พิชิต ชื่นบาน มือกฎหมายตระกูลชินวัตร ที่มีชื่อเข้าป้ายในนาทีสุดท้ายกับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านกฎหมาย
เบียดผู้อาวุโสอย่าง “จารย์ชู” ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้า และ สส.บัญชีรายชื่อ ที่เดิมได้รับการวางตัวเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านกฎหมายตกขอบ โดยอ้างว่า เพื่อให้ “จารย์ชู” ดูแลเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคอย่างเต็มที่
เรียกว่า แม้เป็น “ชื่อสุดท้าย” ที่ปรากฏในโผคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” แต่ก็ต้องบอกว่า เป็น “ชื่อแรก” ที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก “นายกฯ เศรษฐา” ดังนั้น นี่จึงย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอน
ชื่อของ “พิชิต ชื่นบาน” รู้จักกันดีว่าเป็นมือกฎหมายคนสำคัญของตระกูลชินวัตร เป็นสายตรง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ดูแลทั้งคดีของ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร และ “นายปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทสรุป “แพ้คดี” ทั้งสิ้น
“พิชิต” โด่งดังที่สุด ครั้งเป็นทนายความของ “ทักษิณ” ในคดีที่ดินรัชดาภิเษก เมื่อปี 2551 กับการสร้างตำนาน “ถุงขนม 2 ล้านบาท” เมื่อปรากฎว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “พิชิต” ได้หิ้วถุงที่บรรจุเงินสด 2 ล้านบาท ขึ้นไปฝากเจ้าหน้าที่ธุรการศาล จนกลายเป็นสมญานาท “ทนายถุงขนม” มาจวบจนปัจจุบัน
ครั้งนั้น “พิชิต” ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังโดนถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี จากสภาทนายความ และจนปัจจุบันสภาทนายความก็ยังไม่ขึ้นทะเบียน “พิชิต” กลับมาเป็นทนาย
การเคยต้องโทษจำคุกของ “พิชิต” นำมาซึ่งคำถามว่า จะขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตาม มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งในมาตรา 160 (7) ที่ว่า “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”
หรือในมาตรา 98 (7) แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”
ซึ่งเมื่อพิจารณาตามมาตรา 98 (7) พบว่า “พิชิต” ถูกคำสั่งจำคุก 6 เดือนเมื่อปี 2551 ปัจจุบันผ่านมากว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นจึงพ้นโทษเกิน 10 ปี นั่นจึงไม่ติดคุณสมบัติข้อนี้ ขณะที่ตามมาตรา 160 (7) ก็ตีความว่า โทษของ “พิชิต” ไม่ใช่คดีอาญา จึงไม่เข้าข่ายการนำมาตรา 160 (7) มาบังคับใช้เช่นกัน
แต่ก็ยังมีการมองไปถึงคุณสมบัติรัฐมนตรีในมาตรา 160 (4) ที่ระบุว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ซึ่งก็คงไม่มี “มาตรวัด” มาชี้วัดในส่วนนี้ แม้จะเคยถูกสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเอมิดศาลมาก็ตาม
ดังนั้นเมื่อตีความตาม “ตัวอักษร” แบบเป๊ะ ๆ ก็คงต้องบอกว่า “พิชิต” มีสิทธิ์จะเป็นรัฐมนตรีได้
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า การที่นำคนที่มีประวัติอย่าง “พิชิต” มาไว้ในคณะรัฐมนตรี ถือเป็นการท้าทายสังคมอย่างรุนแรง ไม่สนกระแส ไม่แคร์สื่อ
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ เชื่อแน่ว่า การที่ “พิชิต” เบียดขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีได้นั้น ไม่ได้เป็นไอเดียของ “นายกฯเศรษฐา” หัวหน้าคณะรัฐบาล ที่รู้ดีว่าต้องกอบกู้ “กระแส” ตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาล คงไม่อยากหยิบ “คนมีตำหนิ” มาร่วมงานอย่างแน่นอน
ตามร่องรอยของ “พิชิต” ก็คงไม่พ้นได้รับการอุ้มชูหนุนส่งจาก “นายใหญ่” ที่วันนี้กลายเป็น “นักโทษ” อยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่ปรากฏต่อสาธารณชน และไม่ว่าจะใช้เหตุผลหรือตรรกะอันใดมาชี้วัด ก็ไม่อาจมองเป็นอื่นได้ด้วยไม่เคยปรากฏชื่อเขาให้ได้ยินได้ฟังมาตลอดนับตั้งแต่การโหวตนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ทางพรรคเพื่อไทยจัดสรรให้มาเป็นรัฐมนตรี
เป็นที่รับรู้กันว่า คนอย่าง “ทักษิณ” นั้น ชื่นชอบคนที่ทำงานแบบถวายหัว ยอมเจ็บยอมตายแทน และทำตัวประหนึ่งเป็น “เด็กในบ้าน” ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่จะมีการปูนบำเหน็จให้ “พิชิต” ขึ้นชั้นเสนาบดีเป็นครั้งแรกของชีวิต
และแน่นอนว่า ชื่อของ “พิชิต” ในโผ ครม. ก็เหมือน “เทวดา” โปรดลงมาจากชั้น 14 เฉกเช่นเดียวกับว่าที่รัฐมนตรีรายอื่นๆ ที่ว่ากันว่า ได้ “ไฟเขียว” จากชั้น 14 เช่นกัน
และว่ากันว่า การที่ “นายใหญ่” จำต้องย้ายสถานีพำนักรักษาตัวก็เพื่อวัตถุประสงค์เรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
ขณะที่ตัว “พิชิต” เองก็ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยโดยปฏิเสธว่า เป็นเรื่อง “ต่างตอบแทน”
“ถ้าจะคิดเรื่องตอบแทน ตอนน้องสาว (ยิ่งลักษณ์) เป็นรัฐบาล ทำไมผมไม่ได้เป็นไรเลย และนายกฯ ปูนี่เมตตาผมที่สุดแล้ว ทำไมไม่คิดกลับกันบ้างอะ ไม่มีหรอกครับ ‘ตั๋วนาย’ ไม่เกี่ยวกับท่าน (ทักษิณ) เลย”พิชิตว่าไว้อย่างนั้น
แต่ความจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ก็คือ “พิชิต” ได้เดินทางไปรอรับ “นายเก่า” ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาด้วยปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่ง “พิชิต” ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้กับบีบีซีไทยเช่นกันว่า “การปรึกษาหารือส่วนตัว กับการรับหน้าที่รัฐมนตรี เป็นคนละเรื่องนะ อย่าลืมว่าผมเคยทำหน้าที่ให้ท่านมาก่อน ถ้าท่านจะสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ท่านไว้วางใจ และผมคิดว่าผมก็แม่นกฎหมายระเบียบนะ”
และเรื่องที่ “ทักษิณ” เรียก “พิชิต” ไปพบในวันนั้นก็เป็นเรื่องเอกสารทางกฎหมาย และขั้นตอนกระบวนการเข้าเมือง
ถัดมาเป็น “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะไม่ได้มามีตำแหน่งด้วยตัวเอง และเตรียมลาโรงละครการเมือง ด้วยการลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ แล้วก็ตาม แต่ก็มี “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายคลานตามกันมาของ “พี่ป้อม” มารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาแม้ “บิ๊กป๊อด” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะซุ่มเป็น “มาสเตอร์มายด์” อยู่หลังฉากของ “บ้านป่ารอยต่อฯ” มาโดยตลอด เพิ่งยอมออกมาหน้าฉาก ร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งจัดขึ้น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อ 23 สิงหาคม 2566 นัยว่าเป็นการประกาศตัวเตรียมรับตำแหน่งในรัฐบาลชชุดใหม่
ที่ผ่านมาชื่อเสียงของ “พัชรวาท” ตกเป็นเป้าของเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร ด้วยมีการแอบอ้างชื่อไปในหลายวงการ ทั้งการเมือง การตำรวจ วงราชการ องค์กรอิสระ หรือกระทั่งวงการธุรกิจ
แล้วยังวีรกรรมสมัยเป็น “ผู้นำหมาต๋า” ช่วงปี 2551-2552 ที่ต้องเผชิญกับการชุมนุมทางการเมืองของมวลชน 2 สีเสื้อ ทั้งกลุ่ม “เสื้อเหลือง” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่ม “เสื้อแดง” แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน ของกลุ่ม พธม. เพื่อเปิดทางให้รัฐบาล “ชายจืด” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย
ในฐานะ ผบ.ตร. “พัชรวาท” จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และเป็น 1 ใน 4 บิ๊กเนมที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จนถูกปลดออกจากราชการในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และถูกนำคดีฟ้องต่อศาล ทว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยกฟ้อง รวมทั้งมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิกถอนการปลดออกจากราชการด้วย
นอกจากนี้ “บิ๊กป๊อด” ยังมีชื่อไปเกี่ยวพันกับคดี “บอส อยู่วิทยา” ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต โดยร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ทางทนายความของ “บอส อยู่วิทยา” ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม และถูกมองว่า เป็นจุดเปลี่ยนของคดี
ถัดมาเป็นรายของ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่อหวนคืนเก้าอี้เสนาบดีอีกครั้ง หลังสร้างวีรกรรม “กบฎผู้กอง” จนถูก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลดออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2564 ซึ่งครั้งนั้นก็พูดกันว่า “ป.ที่ 4” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังด้วย
การกลับมาของ “ธรรมนัส” ก็ไม่พ้นถูกขุดคดีความในอดีตขึ้นมาพูดถึง โดยเฉพาะคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เขามีต่อพรรคของนายใหญ่เนื่องจากเคยร่วมงานกันมาแต่เก่าก่อน
หากยังจำกันได้ “ทักษิณ” เคยพูดถึง “ผู้กอง” เมื่อครั้งเกิดกระแสข่าวการดีลกับ ร.อ.ธรรมนัส ให้เข้ามาอยู่พรรคเพื่อไทยเอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า “ถามว่ารู้จักไหมรู้จัก เพราะเป็นคนเหนือ เคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อน เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้อง”
อย่างไรก็ดี แม้ “พัชรวาท-ธรรมนัส” จะเข้าข่าย “สายล่อฟ้า” แต่ว่ากันตามตัวบทกฎหมายก็คงไร้ปัญหากับการไปนั่งเป็นรัฐมนตรีใน “รัฐบาลเศรษฐา” ส่วนจะมีแรงเสียดทานกับเรื่องในอดีตมากน้อยเพียงใด ก็เป็นเรื่องของอนาคต
หันมาที่ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่ถือเป็น “สายล่อทัวร์” อยู่แล้ว งวดนี้ไม่ได้กระทรวงคมนาคมมาดูแลเหมือนเดิม แต่ก็ได้กระทรวงมหาดไทยที่อยู่ในระดับเกรด “เอบวก” มาเชยชม โดยมี “หัวหน้าหนู” นั่งในตำแหน่ง มท.1 ตามรอย “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้เป็นบิดา ที่เคยเป็น มท.1 มาแล้วสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์
รอบนี้ “ค่ายเซราะกราว” ถูกวิพากษ์ทั้งในส่วนของ “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายของ “น้าเน” เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูจะผิดฝาผิดตัว เมื่อให้อดีตนายตำรวจมาดูแลกระทรวงเกี่ยวกับการศึกษา
อีกจุดที่ถือเป็นตำบลกระสุนตก เป็นรายของ “พี่หลา” ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกมองว่ามีภาพลักษณ์สีเทา และขนานนามกันว่าเป็น “เจ้าพ่อสะแกกรัง” อันเป็นเหตุให้ในรัฐบาลชุดที่แล้วต้องส่ง “มาดามแหม่ม” มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ไปกินโควตารัฐมนตรีแทนตัวเอง ส่วนตัว “พี่หลา” ก็ลุยหน้าที่ในสภาฯอย่างแข็งขัน
การปรากฎชื่อ “ชาดา” ในโผ ครม. ก็ทำให้สังคมออนไลน์นำคลิปอากัปกิริยาแปลกๆ ของเจ้าตัวมาแชร์ต่อกันพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ซึ่ง “พี่หลา” เคยอธิบายไว้ในรายการหนึ่งว่า ที่ต้องทำคองึกๆ งักๆ เพราะ “ก้านคอเอียง” จากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้ม
ทว่า ไม่พ้นสายตา ตัวแม่ค่ายส้มอย่าง “เจ๊เจี๊ยบ” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการ “ตรวจฉี่” ว่าที่รัฐมนตรีก่อนเข้ารับตำแหน่ง นัยว่าเพื่อตรวจสารเสพติด
เรื่องนี้ “ชาดา” ก็ออกมาแสดงความบริสุทธิ์ และท้าทายกลับในทันทีว่า พร้อมให้ตรวจทั้งปัสสาวะ หรือตรวจเลือด โดยละเอียด
นอกจากนี้ “ชาดา” ยังถูก “นักร้องคนดัง” เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องเรียนตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีด้วย
กลายเป็นว่า “รัฐบาลเศรษฐา” ออกตัวจากเส้นสตาร์ทด้วยแต้ม “ติดลบ” กับรายชื่อว่าที่รัฐมนตรี “ตัวตึง” ที่เฮโลกันมาแน่นคณะรัฐมนตรี
และกลายเป็นภาระหนักตั้งแต่ยังไม่เริ่มงานอย่างเป็นทางการของ “นายกฯนิด” ทำให้ต้องโชว์ฟอร์มระดับขั้นเทพ ประคับประคองรัฐนาวาให้ไปรอด ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชน และเสียงก่นด่าของ “กองแช่ง” รวมทั้งถูกจับตาด้วยว่า จะสามารถป้องกันการแทรกแซงของ “คนชั้น 14” ได้มากน้อยแค่ไหน