xs
xsm
sm
md
lg

อายุของรัฐบาลเศรษฐา / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 รัฐบาลเศรษฐาเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลประมาณ 11 พรรค ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รวมกัน 314 คน จาก สส.ทั้งหมด 500 คนของสภาผู้แทนราษฎร หากดูตัวเลขจำนวน สส. ของพรรคร่วมรัฐบาล เราก็อาจคิดว่ารัฐบาลนี้มีเสถียรภาพสูง และสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีความมั่นคง ฝ่ายค้านคงไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้เป็นแน่


อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง การมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นหลักประกันอย่างมั่นคงว่า รัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ปราศจากอุปสรรค และอยู่ได้จนครบสี่ปีตามกำหนด เพราะมีปัจจัยท้าทายหลายประการที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล

รัฐบาลเศรษฐาถูกจัดตั้งขึ้นมาท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความชอบธรรม เรียกได้ว่า มีคะแนนติดลบตั้งแต่เริ่มต้นการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมิใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นลำดับหนึ่ง แต่เป็นพรรคการเมืองที่แพ้เลือกตั้ง โดยได้รับเลือกเพียงลำดับสอง ประสบความพ่ายแพ้แก่พรรคก้าวไกลทั้งในแง่คะแนนโดยตรงที่ได้รับจากประชาชน และจำนวน สส. ของพรรค แต่ด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง ทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถฉวยโอกาสจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย ทำลายพันธะสัญญากับพันธมิตรทางการเมือง 8 พรรคที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และอาศัยการตระบัดสัตย์ละเมิดจริยธรรมทางการเมืองที่ให้ไว้กับประชาชน โดยไปทำพันธะสัญญาและสยบยอมต่อกลุ่มอำนาจเดิมจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในเวลาต่อมา

การก้าวขึ้นไปมีอำนาจด้วยวิธีการแบบนี้ทำลายความไว้วางใจของประชาชนจำนวนมาก การสำรวจของสำนักแห่งหนึ่งบ่งชี้ว่า สัดส่วนการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยลดลงจากร้อยละ 29 ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นในปัจจุบัน หรือลดลงถึงร้อยละ 19 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากอย่างยิ่งสำหรับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการเปิดตัวบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อของรัฐบาลยิ่งตกต่ำลงไปอีก
 การจัดวางบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมได้อย่างชัดเจน เป็นการเมืองที่อยู่ภายใต้การผสมปนเประหว่างระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ ระบบตลาด และระบบโควตา โดยไม่เห็นร่องรอยแม้แต่น้อยนิดของการใช้ระบบคุณธรรม กล่าวได้ว่าเกือบทั้งหมดของบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีของแต่ละพรรคปราศจากวิสัยทัศน์ ความรู้ ความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ตนเองนั่ง อย่างกรณีพรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทย บุคคลที่เป็นรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดคือ กลุ่มคนที่ทำงานการเมืองรับใช้ตระกูลชินวัตรอย่างภักดีมายาวนาน บางคนมีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมอย่างโจ่งแจ้งจนเป็นที่รับรู้กันทั้งสังคม และบางคนเป็นคนในครอบครัวของนักการเมืองบ้านใหญ่ ส่วนรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน บางคนมาจากตระกูลทางการเมืองที่เคยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต หรือเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร บางคนก็เป็นตัวแทนกลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงานเข้ามาเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดอย่างชัดเจน

ความอัปลักษณ์ของบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีปรากฏชัดเสียจนกระทั่ง นักการเมืองบางคนที่เคยเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยมาก่อนไม่อาจทนรับได้ และออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า “การจัดสรรโควตารัฐมนตรีเหมือนหมาแย่งชามข้าว” และ “บางคนเป็นรัฐมนตรีที่มาจากการซื้อขาย” การที่ผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีมอบตำแหน่งให้แก่บุคคลที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวในทางลบ สะท้อนว่าชนชั้นนำไทยไม่สนใจความคิดและความรู้สึกของประชาชนแต่อย่างใด เข้าทำนองการลุแก่อำนาจประเภทที่ว่า  “จะทำเสียอย่าง ใครจะทำไม”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสายตาของประชาชนชาวบ้านทั่วไป ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเศรษฐาอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนายทุนผูกขาดและกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมจารีต ดังเห็นได้จากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่นายเศรษฐา ทวีสินไปเฉลิมฉลองและรับประทานอาหารค่ำด้วยกันอย่างชื่นมื่น สิ่งนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มีความเป็นไปได้สูงว่า ทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาลเศรษฐาจะตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดเป็นหลัก และเมื่อพิจารณากระทรวงเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยเลือกไว้ในการครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ คมนาคม ท่องเที่ยวและการกีฬา หรือดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ตาม ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจระดับสูงเป็นหลัก ส่วนกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนฐานรากอย่างกระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไม่อยู่ในการดูแลของพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่เลือกเอง หรืออาจไร้ความสามารถในการต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อดึงกระทรวงเหล่านั้นมาครอบครอง

นอกจากปมปัญหาข้างต้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาต้องเผชิญคือ คลื่นใต้น้ำภายในพรรคเพื่อไทย เพราะมี สส.จากภาคอีสานจำนวนมากที่ไม่พอใจการตัดสินใจเลือกกระทรวงของแกนนำพรรค คลื่นใต้น้ำนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตได้ อีกทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่า จะต้องเผชิญกับการตอบโต้ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งผิดหวังอย่างรุนแรงในการจัดตั้งรัฐบาล สัญญาณที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ การประกาศลาออกจากการเป็น สส. ของพลเอกประวิตร ซึ่งมีนัยว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลอีกต่อไป และการที่ “นักร้อง” ที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นเรื่องให้กรมสรรพากรตรวจสอบนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. และว่าที่รัฐมนตรีช่วยของพรรคภูมิใจไทยในเรื่องภาษีเงินได้ รวมทั้งมีข่าวว่ามีสมาชิกพรรคพลังประชารัฐบางส่วนที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียงระดับประเทศจะออกมาวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจและพลังงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นในอนาคตอันใกล้ เรียกได้ว่ารัฐบาลเศรษฐาต้องเผชิญทั้งคลื่นใต้น้ำภายในพรรคและคลื่นใต้น้ำนอกพรรค เช่นนี้แล้วเสถียรภาพของรัฐบาลย่อมสั่นคลอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะสร้างแรงกดดันแก่รัฐบาลเศรษฐาอย่างมหาศาลคือ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ซึ่งกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ทันทีที่เหยียบแผ่นดินไทย นายทักษิณ ได้รับการต้อนรับอย่างพิเศษจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบยุทธธรรม โดยเฉพาะตำรวจกับราชทัณฑ์ราวกับไม่ใช่นักโทษหนีคดี แต่เป็นดังบุคคลพิเศษที่มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนคนธรรมดาทั่วไป แทนที่จะถูกจำขังในคุกเยี่ยงนักโทษทั่วไป กลับได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมไทยด้วยการให้ไปพักอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เพียงแค่ครึ่งคืน จากนั้นได้รับการย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อรอการขอพระราชทานอภัยโทษ ท่ามกลางความสงสัยของประชาชนทั่วไปว่า แท้จริงแล้วนายทักษิณ ยังอยู่ที่โรงพยาบาล หรือว่ากลับไปอยู่ที่บ้านพักแล้ว

กลุ่มประชาชนจำนวนมากได้ออกมาตั้งคำถามหน่วยงานรัฐและรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณ เพื่อสาธารณจะได้ทราบว่าป่วยจริงหรือเป็นการจัดฉาก หลายฝ่ายแสดงการคัดค้านรัฐบาลในการดำเนินการเรื่องการขอพรัราชทานอภัยโทษแก่นายทักษิณ ดังนั้นหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาล ที่เอื้อประโยชน์และมอบอภิสิทธิ์ของนายทักษิณ จะขยายตัวออกเป็นในวงกว้าง และอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน

การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นเผือกร้อนอีกชิ้นของรัฐบาล เพราะนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมทั้งฉบับ ในหลายวาระ หลายโอกาส ว่าเป็นเรื่องแรกที่จะทำทันทีหลังเป็นรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลจริง ความจำเป็นเร่งด่วนของของการแก้ไขรัฐธรรมนูญพลันเยือกเย็นลง และนำเอาประเด็นทางเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้านมาเป็นข้ออ้างเพื่อกดทับเอาไว้ ดังเห็นจากเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม สส. พรรคเพื่อไทยลงมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระการพิจารณาเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลให้ขึ้นมาพิจารณาก่อน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่จะพิสูจน์ว่านายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยจะตระบัดสัตย์เรื่องนี้อีกเรื่องหรือไม่ ก็คงจะเห็นได้จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกว่า นายเศรษฐา จะผลักดันเรื่องการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ และหากผลักดันแล้วจะผ่านมติคณะรัฐมนตรีได้หรือไม่ หากนายเศรษฐาไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จ ก็เป็นอีกประเด็นที่เพิ่มความไม่พอใจแก่ประชาชน ซึ่งเป็นเสมือนการสะสมคลื่นพลังความไม่พอใจที่รอวันปะทุขึ้นมาในอนาคต และอาจตามมาด้วยการประท้วง ซึ่งจะสร้างความตึงเครียดให้แก่รัฐบาลมากยิ่งขึ้น

 ภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ ที่รุมเร้า อันได้แก่ การมีความชอบธรรมต่ำเพราะการไม่รักษาคำพูดของแกนนำพรรครัฐบาล การจัดสรรบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม ความขัดแย้งจากการแย่งชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ภายในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล แรงต่อต้านจากผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่ผิดหวังจากการแบ่งตำแหน่งในรัฐบาล แรงกดดันจากการต่อต้านการได้รับอภิสิทธิ์ของนายทักษิณ และความคาดหวังของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้รัฐบาลเศรษฐาล่มสลายภายในเวลาไม่นานนัก ดังนั้น หากรัฐบาลเศรษฐามีอายุเกิน 1 ปี ก็ถือว่ามีความสามารถสูงยิ่งในการบริหารการเมืองแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น