ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลับประเทศไทยและถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไม่ถึงวัน ดึกๆ ของคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ก็มีอันต้องส่งตัว “นักโทษชายหนีคดี” ที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ย้ายไปพำนักรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วยที่ “โรงพยาบาลตำรวจ”
ทั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของการส่งตัวผู้ป่วยจากเรือนจำมารักษาที่ รพ.ตำรวจ เป็นเรื่องปกติที่ได้ทำมาตลอด โดยมี MOU ระหว่างกรมราชทัณฑ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 แต่ก็มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าว่า โอกาสที่จะออก “หน้า” นี้ มีเปอร์เซ็นต์สูงยิ่ง ด้วยไม่มีใครเชื่อว่า “อดีตนายกรัฐมนตรี” ผู้นี้จะใช้ชีวิตเป็น “คนคุก” อยู่ในเรือนจำนาน ทว่า ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะ “เร็ว” เยี่ยงนี้
เรียกว่า “ติดคุก” อยู่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
แถมการที่ “นายทักษิณ” ถูกส่งตัวไปอยู่ที่ “หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง” ที่ห้อง 1401 ซึ่งเป็น “ห้องรอยัล สวีท” ทำให้เขากลายเป็น “นักโทษอภิมหาวีไอพี” ในสายตาของประชาชน ด้วยเป็นห้องพักขนาดใหญ่ ภายในห้องจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทีวีขนาดใหญ่ ตู้เย็น โซฟา โต๊ะรับประทานอาหาร เตียงผู้ป่วยอัตโนมัติ และมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่สำคัญคือ มี “สัญญาณ” ออกมาให้เห็นนับตั้งแต่มีการควบคุมตัวนายทักษิณจากศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ “กรมราชทัณฑ์” ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับระเบียบการรับตัวนายทักษิณไปคุมขัง โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญที่มีการแถลงออกมาด้วยก็คือ “อาการป่วย” ของนักโทษชายรายนี้
“นายสิทธิ สุธีวงศ์” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ และ “นพ.วัฒน์ชัย” มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการผู้ต้องขังเข้าใหม่ ทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพโดยแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ เบื้องต้นพบนายทักษิณอยู่ในกลุ่มเปราะบาง มีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และพบประวัติเป็นหลายโรค ได้แก่ 1. โรคหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 2. มีปัญหาปอด เนื่องจากมีประวัติเป็นปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 มีภาวะพังผืดในปอด ส่งผลทำให้มีความผิดปกติต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ทั้ง 2 โรคนี้ต้องได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์ 3. ความดันโลหิตสูง 4. ภาวะเสื่อมตามอายุ กระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ ตรวจด้วยระบบ MRI พบมีการกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้ปวดเรื้อรัง การเดินทรงตัวผิดปกติ ดังนั้น จึงได้แยกคุมขังเดี่ยวนายทักษิณที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง
ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ กรมราชทัณฑ์ยังระบุด้วยว่า รพ.ราชทัณฑ์ไม่มีแพทย์เฉพาะทางในการรักษาบางโรค จึงต้องรอสังเกตอาการต่อเนื่อง หากจำเป็นอาจพิจารณาส่ง รพ.ตำรวจ เป็นอันดับแรก
หลังส่งตัวนายทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารข่าวลงนามโดย “นายสิทธิ สุธีวงศ์” ว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่าเมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม พัศดีเวรได้รายงานว่านายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรค มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถาน
โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม
โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที หลังจากนั้น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้รับตัวไว้เพื่อทำการบำบัดรักษาเมื่อเวลา 00.20 น ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 โดยเรือนจำได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุม ตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์
ถ้าไล่เรียงจากเหตุการณ์ ก็สรุปได้ว่านักโทษชายทักษิณน่าจะไม่ได้ทันนอกในคุกเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่โทษที่เขาได้รับจากทั้ง 3 คดีนั้น รวมแล้วต้องจำคุกรวมกันเป็นเวลาถึง 8 ปีเลยทีเดียว
แน่นอน สังคมย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่า “ป่วยจริง” หรือ “ป่วยการเมือง” กันแน่ เพราะนับตั้งแต่นายทักษิณกลับประเทศไทย กระบวนการรับตัวนับตั้งแต่สนามบินจนถึงเรือนจำและส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจก็ล้วนแล้วแต่มี “ความพิเศษ” ในสายตาของสาธารณชน ออกไปในแนว “ซูเปอร์วีไอพี” จนแทบจะใช้คำว่า “ปูพรหมแดง” ต้อนรับเสียด้วยซ้ำไป โดยหนึ่งในผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก็คือนักร้องคนดังอย่าง “พี่ศรี-นายศรีสุวรรณ จรรยา”
นายศรีสุวรรณตั้งคำถามทั้งจากกรณีการต้อนรับเมื่อเดินทางมาถึงว่า ปกติแล้วเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาและเซ็นชื่อยอมรับโทษแล้ว จะต้องนำขึ้นรถราชทัณฑ์เดินทางไปเรือนจำทันที แต่นายทักษิณกลับนั่งรถเบาะนิ่มแอร์เย็นฉ่ำ มีรถตำรวจนำ มีรถยนต์ประกบตามเป็นขบวน ยังกับขบวนต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศ และกรณี “ป่วย” เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตรโพสต์การไปตรวจสุขภาพของโทนี่ว่า “แข็งแรงดี ลูกหลานก็ดีใจค่า” ขณะที่เมื่ออยู่ดูไบก็โชว์ฟิตปั๋งทั้งว่ายน้ำ เตะเป้า ยกดัมเบลล์ แต่พอมาถึงเมืองไทย ราชทัณฑ์กลับแถลงว่าป่วย
“คุณคิดว่าคนไทยกินแกลบ กินหญ้าหรือ? หรือเตรียมกันไว้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียดในการขอโอนไปรักษาตัวในห้องพิเศษได้นอนเบาะนุ่มๆ ในห้องแอร์เย็นฉ่ำของโรงพยาบาลตำรวจกันหรือไม่ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ฉบับล่าสุด 23 ส.ค. 2565 ระบุว่า นช.ชายทุกคนต้องไว้ผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 ซม. ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง ข้ออ้างว่าโทนี่เป็นผู้สูงวัยอายุมากแล้ว-เป็นผู้หลักผู้ใหญ่นั้น เขียนเป็นข้อยกเว้นเอาไว้ข้อไหนครับ ห้วง 10 วันแรกต้องกักโรค ให้อยู่ห้องขังเดี่ยวพอเข้าใจได้ แต่หลังจากนั้น จะยังคงมีอภิสิทธิ์อยู่ห้องเดี่ยว กินหรูอยู่สบาย ที่ผู้คนเขานินทาตลอดไปหรือไม่? ทั้งหมดนี้ นักโทษสูงวัยคนอื่นๆ ราชการไทยจะให้อภิสิทธิ์เยี่ยงนี้เหมือนกันทุกคนหรือไม่? หรือ “คุกมีไว้ขังเฉพาะคน…? ตกลง นช.โทนี่ เป็นนักโทษที่หนีคดีอาญาแผ่นดินไป 17 ปี หรือเป็นเทวดาที่เหล่าลูกช้างควรต้องศิโรราบกราบไหว้บูชาครับ” ศรีสุวรรณกล่าว
ขณะที่ “ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์” หนึ่งในแกนนำเสื้อหลากสีได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานและจริยธรรมทางการแพทย์ จึงขอเสนอให้ทางกรมราชทัณฑ์ เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์มาตรวจร่างกายนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีความจำเป็นต้องรับการรักษาโดยโรงพยาบาลภายนอกหรือไม่ และจำเป็นต้อง admit หรือไม่ เพราะจากที่ปรากฏทางสื่อโซเซียลของตัวนักโทษเอง พบว่าสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีหลายโรคก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาโดยสังคมทั่วไป และเพื่อป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องแพทย์กรมราชทัณฑ์ได้ในภายหลังในข้อหาช่วยเหลือผู้ต้องหาให้ได้รับความสะดวกสบายผิดจากข้อเท็จจริงทางการแพทย์
เช่นเดียวกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษกับนักโทษชายทักษิณ โดยใช้ข้ออ้างปัญหาสุขภาพ และการรักษาโรค ซึ่งขัดต่อความรู้สึก และการรับรู้ของประชาชนที่ได้เห็นผ่านสื่อต่างๆมาก่อนหน้านี้ของนายทักษิณ โดยขณะที่ มีการตั้งคำถามว่านักโทษสูงวัยรายอื่นๆ กรมราชทัณฑ์จะจัดการดูแลอย่างเท่าเทียมกันทุกรายหรือไม่ หรือจะให้อภิสิทธิ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นเฉพาะราย จนเกิดคำกล่าวขานว่า “คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน”
ด้าน “นายเดชา ศิริภัทร” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ โพสต์แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สำหรับนักโทษธรรมดาทั่วไปแล้ว ก็จะเป็นเรื่อง ที่เป็นไปไม่ได้เลย หากไม่เชื่อ ให้ลองย้อนไปดูช่วงที่ผ่านมาก็ได้ ว่านักโทษคนใหน ได้รับสิทธิพิเศษเช่นนี้บ้าง จึงไม่แปลกที่จะเกิดปฏิกิริยามากมาย จากคนไทยที่ทนเห็นการใช้สองมาตรฐานไม่ได้ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึก(ไม่เห็นหัว)ของคนไทย ผู้เคารพกฎหมายและความเป็นธรรม...คนไทยนั้น มีน้ำใจและยอมรับความแตกต่างได้ เพราะเป็นนิสัยประจำชาติ เมตตา ให้อภัย แต่ไม่ยอมให้มาทำอะไรที่ไม่เกรงใจ ไม่แยแส มองผู้อื่นเป็นหัวหลักหัวตอ จะทำอะไรก็ได้ และไม่รู้กาละเทศะ ถือตัวว่ามีอำนาจหน้าที่ นึกจะทำเมื่อไหร่ก็ทำไปเลย ไม่สนใจใครเลย..”
ดังนั้น สุดท้ายก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังย้ายมาพำนักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว นายทักษิณจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่กี่วัน และสมมติว่าอาการดีขึ้นแล้ว เขาจะถูกส่งกลับไปคุมขังตามปกติหรือจะย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลอื่นใดอีกหรือไม่ ด้วยตามระเบียบอนุญาตให้ไปรักษาใน “โรงพยาบาลเอกชน” ได้ เพียงแต่มีข้อจำกัดว่า สามารถรักษาได้เพียง 1 เดือน สุดท้ายก็ต้องส่งกลับมาที่ 2 โรงพยาบาลตำรวจหรือโรงพยาบาลของราชทัณฑ์เท่านั้น
ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า นี่คือสิ่งที่นายทักษิณทำให้ตัวเองเกิด “ภาพลบ” ในสายตาของประชาชน ทั้งๆ ที่ความจริงสังคมได้เปิดใจยอมรับการตัดสินใจกลับมารับโทษของเขาไปในทิศทางที่ดี ทว่า การที่นายทักษิณไม่ยอมที่จะติดคุกแม้เพียงแค่คืนเดียว ได้ทำให้ “ภาพบวก” มลายหายไปในทันที แม้จะมีคำยืนยันจากพล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ วอ้างเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ตามที
ที่สำคัญคือความ “ซูเปอร์วีไอพี” ของเขาได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มประชาชนลุกลามไปในวงกว้าง แถมยังส่งผลทำให้ “หน่วยงานรัฐต่างๆ” ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” และ “กรมราชทัณฑ์” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอื้ออำนวยความสะดวกจนเกินงาม กลายเป็นปัญหาธรรมาภิบาลและภาวะ “สองมาตรฐาน” จนนำไปสู่วิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ชนิดที่อาจทำให้ “บ้านเมืองลุกเป็นไฟ” ได้