ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากประชาชนคนไทยถูกหลอกลวงให้ลงทุนสูญเสียเงินทองกันมโหฬาร นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพิ่งตื่นตัวประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการซื้อโฆษณาผ่าน Facebook หลอกประชาชนลงทุน รวมถึงการชักชวนลงทุน โดยแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และใช้สัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายชัยวุฒิแถลงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ดีอีเอส อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานจากผู้กระทำความผิดบนแพลตฟอร์ม Facebook เพื่อส่งศาลให้มีการปิดเฟซบุ๊กภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากเฟซบุ๊กได้รับรายได้จากมิจฉาชีพในการลงโฆษณาและหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อในการลงทุนและซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อลูกค้าหลงเชื่อและชำระค่าสินค้าแล้วกลับได้สินค้าไม่ตรงปก
“ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายจำนวนมากกว่า 200,000 รายหรือประมาณ 95% จาก 300,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท ถ้าเฟซบุ๊กไม่ช่วยเหลือประเทศไทย ถ้าอยากทำธุรกิจในประเทศไทย เขาต้องแสดงความรับผิดชอบกับสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสได้คุยกับเฟซบุ๊คตลอด แต่ทางเฟซบุ๊กกลับไม่สกรีนผู้มาลงโฆษณา ทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหายมากกว่า 100,000 ล้านบาท”
ตัวอย่างของการหลอกประชาชนลงทุน เช่น ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเทรดทองเริ่มต้น 1,999 บาท พร้อมระบุว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและได้กำไรร้อยละ 15-30 ต่อวัน หรือลงทุนผ่านบริษัท หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีลักษณะข้อความเชิญชวนลงทุนมีผลกำไรสูงให้ผลตอบแทนในลักษณะเป็นรายสัปดาห์
ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ก.ล.ต. ไม่มีการเสนอการลงทุนดังกล่าว เป็นข้อมูลปลอมที่มีการแอบอ้างชื่อและตราสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยข่าวสารที่เผยแพร่นั้น เป็นข่าวปลอมทั้งสิ้น เพื่อต้องการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อและร่วมลงทุนตามคำแนะนำของเพจต่าง ๆ เมื่อลงทุนไปแล้วก็จะไม่ได้รับเงินคืน ทั้งในส่วนของค่าตอบแทนหรือเงินต้น
ปัจจุบัน โจรไซเบอร์มักมีกลวิธีต่าง ๆ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินออกจากบัญชี เช่น การเทรดเหรียญดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ลงทุนเกี่ยวกับเหรียญคริปโตเคอเรนซี ลงทุนกับบริษัทปล่อยเงินกู้ผลตอบแทนสูง ลงทุนหุ้นทอง ร่วมลงทุนประมูลสินค้าเพื่อรับผลตอบแทนสูง ลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ และลงทุนหุ้นในเครือบริษัทชื่อดัง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการปลอมโปรไฟล์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเรื่องการเงินการลงทุน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง และเข้าหาผู้เสียหายผ่านการแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ โดยทางกระทรวงฯ ได้มีการส่งหนังสือขอให้บริษัท Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายโฆษณาบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และส่งข้อมูลให้เฟซบุ๊กทำการปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไปแล้วกว่า 5,301 โฆษณา/เพจปลอม
สำหรับข้อสังเกตว่าข้อความการเชิญชวนลงทุนเหล่านั้น จะใช่มิจฉาชีพหรือไม่ มีรูปแบบดังนี้ ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนมากมิจฉาชีพมักจะมีการโฆษณาชักชวนโดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงเกินจริง โดยใช้เวลาลงทุนไม่นานและง่ายดาย เป็นอีกรูปแบบที่ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเพราะคาดหวังในผลตอบแทนดังกล่าว เช่น เงินลงทุน 10,000 บาท ระยะเวลา 15 วัน จะได้รับกำไร 50% หรือการันตีผลตอบแทน โดยกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอน เช่น 30% ต่อสัปดาห์ หรือการการันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนแน่นอน หากลงทุนไม่เป็นก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยลงทุนให้ อีกทั้งยังอ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีการนำภาพของดารา ศิลปิน หรือนักธุรกิจชื่อดังต่าง ๆ มาแอบอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นก็ร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน
นอกจากนั้น ยังไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ หากมีการชักชวนให้ร่วมลงทุนแต่ไม่มีสินค้า ไม่มีแผนธุรกิจ หรืออ้างว่าแพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ ก็เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพได้ หรือเร่งรัดให้รีบตัดสินใจลงทุน โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะช่วงเวลาเหล่านั้นให้ เช่น หากไม่ลงทุนตอนนี้จะพลาดโอกาสที่ได้ผลตอบแทนดี ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รีบตัดสินใจลงทุน
สำหรับสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนมี พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ( 1 มกราคม – 16 มีนาคม 2566) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังจากมี พ.ร.ก. ฯ (17 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2566) รวม 80,405 คดี เฉลี่ย 591 คดีต่อวัน สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 199 คดี/วัน
ส่วนสถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ (1 มกราคม - 16 มีนาคม 2566 ) มีการขออายัด 1,346 ล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5 % ส่วนหลังจากมี พ.ร.ก.ฯ (17 มีนาคม - 31 กรกฎาคม 2566) มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็น 10.6 %
ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า รวม 364 ราย ดังนี้ บัญชีม้า รวม 254 รายซิมม้า รวม 43 ราย ซื้อขายบัญชีม้า รวม 14 ราย ซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ รวม 53 ราย
แอ็กชั่นขึงขังส่งท้ายก่อนลุกจากเก้าอี้ของนายชัยวุฒิ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะขอให้ศาลสั่งปิดเฟซบุ๊กในประเทศไทย นายฐิติรัตน์ กิณเรศ ผู้ดูแลเพจiMoD เพจข่าวสารในวงการ IT วิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะว่าเรื่องของการหลอกลวงออนไลน์ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นหลายๆ อย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเฟซบุ๊กอย่างเดียว ยังมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งก็จ่ายเงินค่าบริการให้กับค่ายมือถือ และตรงนี้ก็ถือเป็นรายได้เข้าบริษัท ถ้าจะฟ้องปิดบริการเฟซบุ๊กพวกค่ายมือถือเองก็ต้องโดนเหมือนกันหรือเปล่า
ผู้ดูแลเพจ iMoD ให้ความเห็นว่า ขั้นตอนก่อนเปิดเพจ หรือยิงแอดโฆษณา จะต้องมีการยืนยันตัวตนหลายอย่าง ทั้งข้อมูลส่วนตัว ธนาคาร บัตรเครดิตที่ใช้ ทางเฟซบุ๊กก็มีระบบที่ใช้ตรวจสอบ แต่มิจฉาชีพเขาจะโกงเขาก็ต้องพยายามหาวิธีโกงจนได้ ถ้ามองเหมือนเรื่องบัญชีม้า ไม่ได้ต่างกันเลย
“แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต่อให้ดีอีเอสผลักดันให้ เฟซบุ๊กปิดบริการในไทย เชื่อว่า พวกมิจฉาชีพก็จะย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น อาจจะไปอยู่ใน TikTok หรือ IG .... เหมือนแมวไล่จับหนู...” ผู้ดูแลเพจ iMoD กล่าว และยังบอกว่า การปิดเฟซบุ๊ก จะเกิดผลกระทบตามมา อย่าลืมว่า เฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางที่ผู้คนมาพบปะพูดคุยกัน อีกทั้งยังเป็นช่องทางทำมาหากินของ พ่อค้าแม่ค้า มีทั้งเพจทั่วไปหรือเพจของแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งหมดได้รับผลกระทบแน่นอน เหมือนการไปปิดเพื่อป้องกันจากกลุ่มคนส่วนน้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ก็ถูกปิดไปด้วย ขณะที่เพจมิจฉาชีพ ที่เป็นบัญชีปลอมเอาไว้หลอกลวงมีเป็นส่วนน้อยไม่ถึง 10%
ข้อมูลจากบริษัทตรวจสอบการใช้งานสื่อออนไลน์ทั่วโลก Meltwater พบว่าในเดือน มกราคม 2023 คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 61.21 ล้านคน จากจำนวนประชากร 71.75 ล้านคน โดย Social media ที่คนไทยนิยมมากที่สุด คือ Facebook มีสัดส่วน 91% มีผู้ใช้งาน 48.10 ล้านคน ของผู้ที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต รองลงมาก็คือ LINE และอันดับ 3 Facebook Messenger 80.8% โดย Facebook ยังเป็น Social media ที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุด รองลงมาก็คือ TikTok และ LINE
สำหรับประเทศที่ปิดกั้น Facebook ในโลกนี้ พบว่า มีประเทศ จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือและเติร์กเมนิสถานที่แบน Facebook จากประเทศของตัวเอง นอกจากนี้ยังเคยมีบางประเทศที่ปิดกั้น Facebook ในหลักวันหรือหลักเดือน เช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน เวียดนาม เมียนมา เป็นต้น
การเล่นเกมไล่จับหนู โดย ดีอีเอสเตรียมร้องต่อศาลสั่งปิดเฟซบุ๊ก เป็นการป้องปรามทางหนึ่ง แต่หลายประเทศกลับมองว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฎบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นจริงหรือเท็จอย่างไร เพราะถึงไม่มีเฟซบุ๊ก มิจฉาชีพก็อาละวาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงผู้ที่ไม่รู้เท่าทันอยู่เนืองนิตย์
กรณีตัวอย่างล่าสุด หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มิจฉาชีพก็ล่อลวงประชาชนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Digtial wallet เพื่อรับเงินดิจิทัล จำนวน 10,000 บาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งดีอีเอสตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นแอปพลิเคชั่นปลอม จึงได้แจ้ง google โดยล่าสุดได้ลบแอปออกจาก PlayStore เรียบร้อยแล้ว
Google ตอบสนองต่อปัญหาอย่างไว ขณะที่ Facebook อย่างช้า และไม่ยี่หระว่าประชาชนคนไทยจะถูกหลอกลวงกี่มากน้อย เกมไล่จับหนูกวาดล้างมิจฉาชีพไซเบอร์ คงเป็นอีกงานใหญ่ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ต้องจัดการให้ได้สมราคาคุยว่าจะเป็น “รัฐบาลดิจิทัล”