xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Somewhere over the rainbow “เสี่ยนิด” นายกฯ คนที่30 “ลุงตู่” ป๋าดัน-“ลุงป้อม” หัวทิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นภาพอันชื่นมื่นระหว่าง “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 แล้ว ก็อดนึกถึง “ภาพรุ้ง 2 ชั้น” ที่ปรากฏเหนือทำเนียบรัฐบาลในวันก่อนหน้าว่า คงต้องมี “Somewhere over the rainbow” เป็นแน่แท้ ด้วยทั้งภาพ ทั้งเสียงและข้อความที่ทั้งสองฝ่ายสื่อสารออกมาล้วนแล้วแต่เต็มเปี่ยมไปด้วย “มิตรภาพ”
อย่างไรก็ดี กว่าที่นายเศรษฐาจะเดินทางมาถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า “ไม่ง่าย” หลังจาก “พรรคเพื่อไทย” รับไม้ต่อจาก “พรรคก้าวไกล” ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะจำต้อง “สลับขั้ว” เพื่อให้มีเสียงพอในการโหวตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ทุกอย่างจบลงในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 หลังที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้ “เสี่ยนิด-เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ด้วยคะแนนเห็นชอบ 482 ต่อ 165 เสียง รูดม่านมหากาพย์แย่งชิงบัลลังก์ “ตึกไทยคู่ฟ้า” ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน นับจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จบลงอย่างสวยงาม

พร้อมๆ กับบันทึกอีกหนึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยเป็นวันที่ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หลบหนีคดีไปอยู่ต่างแดนมานานกว่า 15 ปีเดินทางกลับมารับสถานะ “นักโทษชาย” เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รับโทษจำคุกจากคดีที่พิพากษาถึงที่สุดแล้ว 3 คดี รวมเป็นเวลา 8 ปี

แน่นอนว่า การที่พรรคเพื่อไทยคว้าสิทธิแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และส่ง “เศรษฐา” ขึ้นครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้น ต้องแลกมาด้วย “ทุกอย่าง” โดยเฉพาะการที่พรรคเพื่อไทยต้องถูกอัปเปหิออกจากความเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วยไปดึง “พรรค 2 ลุง” ทั้ง “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ และ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ มาเข้าร่วมรัฐบาล

อีกทั้งองค์ประกอบของรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง ถูกมองว่าล้วนแล้วแต่เป็น “ขั้วอำนาจเก่า” เพิ่มเติมแค่พรรคเพื่อไทย 141 เสียง ในฐานะแกนนำ

ท่ามกลางเพื่อนร่วมงานใหม่ ประกอบด้วย “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง, “ค่ายสุพรรณฯ” พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, “ค่ายด้ามขวาน” พรรคประชาชาติ 9 เสียง, “ค่ายแป้งมัน” พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง, “ค่ายโคราช” พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง บวกด้วยพรรคเล็ก พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง, พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง, พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง
เติมเต็มด้วย 40 เสียงของพรรคพลังประชารัฐ และ 36 เสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ
ขาดไปก็เพียง “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง ที่ตกรถต้องไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แม้ “ส่วนใหญ่” จะพยายามกระเสือกกระสนขึ้นรถเที่ยวสุดท้ายในวันลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีก็ตาม จนเปิดศึกห้ำหั่นเข้าใส่กันและมีแววว่า ในไม่ช้าคงต้อง “แตกหัก” เป็นแน่แท้

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่พ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของ “ขั้วอำนาจเก่า” โดยมีพรรคเพื่อไทยไปเข้าร่วมเป็น “นั่งร้าน” และถูกตราหน้าว่าเป็น “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” ตามที่ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล และองคาพยพ “ด้อมส้ม” รุมถล่มตั้งแต่วันที่ประกาศหย่าร้างกับพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ได้แต่ปัดป้องว่าเป็น “รัฐบาลพิเศษ” หรือ “รัฐบาลสลายขั้ว”
เพราะหากพิจารณาในแง่ “คณิตศาสตร์การเมือง” ก็ต้องยอมรับว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” เป็นอื่นจากนี้ไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขสำคัญที่ว่า ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล

เมื่อตัด 151 เสียงของพรรคก้าวไกลออก การจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ก็จำเป็นต้องรวบรวมแทบทุกพรรคการเมืองที่มีที่นั่ง สส.มาเข้าร่วม

เป็นเหตุให้ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาเอ่ยปาก “ขอโทษ” ที่ทำให้แฟนคลับผิดหวัง-เสียใจ แต่เนื่องจาก “เรา” ที่หมายถึงพรรคเพื่อไทย “แลนด์สไลด์” ไม่สำเร็จ จึงต้องเล่นตามเกมรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เสียงของ สมากชิกวุฒิสภา (สว.) ยังมีผลต่อการลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

“แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยมีต้นทุนที่ต้องจ่าย นั่นคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน เราขอน้อมรับ และจะก้าวข้ามผ่านสนามอารมณ์นี้ให้ได้”หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยว่าไว้ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี

เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่แม้จะรวมกันได้ 292 เสียงบวกกับอีก 6 พรรคการเมือง เป็น 312 เสียง สส.แล้วก็ตาม แต่ชื่อของ “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ก็ไม่ผ่านด่าน สว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก

แม้จะคะเนไม่ได้ว่า “ต้นทุน” ที่พรรคเพื่อไทยสูญเสียไปนั้นจะมูลค่ามหาศาลเพียงใด เพราะการวัดผลที่ดีที่สุดไม่พ้นสยามเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ที่ชัดเจนแล้วคือ “สิ่งตอบแทน” ที่ได้มากับการสนับสนุนของ “ขั้วอำนาจ 3 ป.” ที่ส่ง “นายกฯนิด” ถึงฝั่งฝัน

หรือจะพูดให้ถูกเป็นการสนับสนุนโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย ที่ทำให้การส่งไม้ต่อถึง “เศรษฐา” ในฐานะนายกรัฐมตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยลุล่วงไปได้
ด้วยมีการชำแหละผลการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ปรากฏว่า เห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง

จากผลการลงคะแนนดังกล่าวปรากฎว่า มี สส.ที่ลงมติเห็นชอบ 330 เสียง และมี สว.ที่ลงมติเห็นชอบจำนวน 152 เสียง

โดย 330 เสียง ก็มาจาก 314 เสียงของ 11 พรรครวมรัฐบาลที่ลงมติอย่างพร้อมเพรียง บวกกับ 16 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค และ สส.สงขลา

ที่เป็นประเด็นกว่า คงเป็น 152 เสียง สว. ที่ว่ากันว่าส่วนใหญ่เป็น “สว.สายลุงตู่” นำโดยหัวแถวเตรียมทหารรุ่น 12 รุ่นเดียวกับ “นายกฯ ตู่” อย่าง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ

ไม่เว้นกระทั่ง “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลงมติเห็นชอบด้วย

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เจ้าตัวไม่มาร่วมประชุม เช่นเดียวกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัขร วงษ์สุวรรณ น้องชาย ขณะที่ “สว.สายลุงป้อม” ส่วนใหญ่ลงมติงดออกเสียง

โดยมีกระแสข่าวเนืองมาตลอดสัปดาห์ก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า “บิ๊กป้อม” เปลี่ยนใจที่จะไม่สนับสนุน “เศรษฐา” แม้พรรคพลังประชารัฐ นำโดย “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค จะไปร่วมแถลงเปิดตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว หรือก่อนหน้านั้นที่ “ไผ่ ลิกค์” สส.กำแพงเพชร มือขวา ร.อ.ธรรมนัส จะประกาศว่า 40 เสียงของพรรคพลังประชารัฐพร้อมสนุบสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยก็ตาม




ทำให้ก่อนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี มีกระแสข่าว “บิ๊กป้อม” จะเบี้ยว และอาจถึงขั้นโหวตคว่ำ “เศรษฐา” ที่หากไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม หรือ 375 เสียง ก็จะตกร่องเดียวกับ “พิธา” ที่ไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกในสมัยประชุมนี้

เลื่องลือไปจนถึงขั้นปัดฝุ่นแผนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่จะมี “บิ๊กป้อม” เป็นนายกรัฐมนตรีออกมาพูดคุยกันอีกครั้ง

กระแสข่าวแรงจนถึง ช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า สว.คนสนิทของ พล.อ.ประวิตร เดิมล็อบบี้เพื่อน สว.ไม่ให้โหวตเห็นชอบ “เศรษฐา” ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของ “ทักษิณ” แลนด์ดิ้งลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ที่คล้ายกับเป็นอาณัติสัญญาณ “ไฟเขียว” สำหรับ “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่จะมี “เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรี สอดรับกับท่าทีของ “สว.สายลุงตู่” ที่ยืนยันว่า จะให้ความเห็นชอบชื่อ “เศรษฐา” ไม่ปล่อยฟรีโหวตอย่างที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์

แม้จะรู้ว่าแผนการ “พลิกกระดาน” นาทีสุดท้ายของ “สายลุงป้อม” ไม่สำเร็จ เพราะแม้แต่พรรคพลังประชารัฐก็ยังโหวตหนุน “เศรษฐา” หรือซี้ย่ำปึ้กอย่าง “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา สว. คนสนิทของ พล.อ.ประวิตร ก็ยังเดินล็อบบี้เพื่อน สว.ให้โหวตเห็นชอบ เพราะ “น้องอร” ประวีณ์นุช เลิศจิตติสุทธิ์ ที่วันนี้มีฐานะอดีตภรรยา พล.อ.นพดล เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยอยู่

แต่ “พี่ใหญ่” ก็ยังยืนกรานให้ สว.ในเครือข่ายลงมติงดออกเสียง เพื่อส่งสัญญาณความไม่พอใจต่อเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาล

รวมทั้งหวังลึกๆ ว่า “น้องตู่” อาจดีเห็นงามด้วยกับกลเกมตลบหลังพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็เป็นทราบกันแล้วว่า ฝันสุดท้ายของ “ลุงป้อม” ไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวเองที่หัวทิ่มเสียเอง

และคงพูดไม่ผิดหากจะบอกว่า “เศรษฐา” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมี “ลุงตู่” เป็นป๋าดัน

จนอาจพูดได้ว่าเป็นการรูดม่านปิดฉากขุมอำนาจ “บ้านป่ารอยต่อ” ที่ส่งต่อให้ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายของ พล.อ.ประวิตร ที่เตรียมเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาล พร้อมๆ กับเข้าไปรับบทนำในพรรคพลังประชารัฐ

ถือเป็นเรื่องราวหักมุมความสัมพันธ์ “พี่น้อง 3 ป.” ที่แม้มีข่าวมาตลอดว่า ระยะหลังความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่าง “ป.ประยุทธ์” กับ “ป.ป้อม” กระทั่งมีการแยกกันเดินผ่านพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยที่พี่กลาง “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ถือหางอยู่ข้าง “น้องตู่”

ที่เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ “ขั้ว 3 ป.” ไม่เข้มแข็งพอในการเลือกตั้ง 14 พฤกษาคม 25666 และต้องตกอยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ใครจะเชื่อว่า ที่สุด “ลุงป้อม” ที่มีกระแสข่าวซูเปอร์ดีลกับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด จะออกมาสะบั้นความสัมพันธ์ในนาทีสุดท้าย หลายเป็น “ลุงตู่” ที่แยกเขี้ยวสวนหมัดกับ “ค่ายดูไบ” มาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กลับมาเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้กับ “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรีจากค่ายเพื่อไทย

หลังจากที่ “เสี่ยนิด” เข้าพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในช่วงเย็นของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 และได้แถลงเปิดใจน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนให้คำมั่นในการทำหน้าที่ผู้นำประเทศอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเท ซื่อสัตย์สุจริต และทำ 4 ปีข้างหน้าเป็น 4 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้น ภารกิจแรกของ “เศรษฐา” ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ คือการเข้าพบ “นายกฯประยุทธ์” ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการระบุว่า ฝ่าย “เศรษฐา” ประสานขอเข้าพบเป็นการส่วนตัว เพื่อแนะนำตัว และขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน

อันถือเป็น “มิติใหม่” ของการเมืองไทยที่นายกรัฐมนตรี 2 คนมีการส่งมอบหน้าที่ และขอคำแนะนำระหว่างกัน เพราะโดยปกติแล้ว การผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มักเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ไม่มีการส่งมอบหน้าที่กัน หรือฝากฝังบ้านเมืองกันอย่างเป็นกิจลักษณะมาก่อน

โดย “เศรษฐา” เปิดเผยถึงการเข้าพบ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่า เป็นการไปเยี่ยมเยียนไปเคารพตามมารยาท ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ได้ฝากความเป็นห่วงบ้านเมือง ตนเองในฐานะที่เป็นผู้น้อย และพึ่งได้รับการแต่งตั้ง ก็ไปพบเพื่อปรึกษาหารือว่ามีเรื่องอะไรที่จะฝากฝังบ้านเมืองหรือไม่ เป็นการสนทนากัน มีการขอให้ใจเย็น อดทน และยึดมั่นในเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

“ท่านก็น่ารักที่พาชมทำเนียบรัฐบาล … ท่านอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง และความเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองด้วยความจริงใจ จึงต้องพยายามทำงานด้วยกันต่อไป” นายกรัฐมนตรีคนใหม่พูดถึงนายกรัฐมนตรีคนเก่า

ต้องยอมรับว่า การพบปะระหว่าง “นายกฯ ตู่-นายกฯ นิด” ทั้งการนั่งหารือกึ่งทางการ และการพาทัวร์ทำเนียบรัฐบาล มีการพูดคุยกันด้วยไมตรีจิต ถือเป็นภาพที่สวยงาม ที่ไม่แพ้ปรากฎการณ์รุ้งกินน้ำ 2 วงซ้อน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 สิงหาคม 66 ที่เป็นช่วงเดียวดับที่ “เศรษฐา” รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นปรากฎการณ์รุ้งกินน้ำ 2 วงซ้อน หลังฝนตกทั่วกรุง ที่แม้จะเห็นได้จากหลายพื้นที่ใน กทม. แต่หากยึดโยงเหตุการณ์บ้านเมืองแล้ว มุมที่ดูคลาสสิก และทรงพลังที่สุด ไม่พ้นบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ตีความต่อได้อีกว่า ด้วยความสัมพันธ์อันดีของขั้วอำนาจใหม่-เก่า อาจพูดได้ว่า การทำงานของ “นายกฯ นิด” จะมีรุ่นพี่อย่าง “นายกฯ ตู่” ที่แม้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีเครือข่ายคอย “คัดท้าย” ให้

นัยว่าฉากรุ้งกินน้ำเป็นฉากจบสุดแสนโรแมนติกของการต่อสู้ขั้วอำนาจใหม่-เก่า

อีกนัยก็เป็นฉากเปิดปฐมบทจุดเริ่มต้นที่ดีของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ด้วยความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล การได้มทาซึ่งอำนาจที่ไม่สง่าผ่าเผยเท่าที่ควร นำมาซึ่งเสียงก่นด่าสาปแช่งของ “ด้อมส้ม” ทำให้ดูแล้วอาจจะไม่มีช่วงฮันนีมูนเหมือนรัฐบาลใหม่ชุดอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรีภายใต้เงื่อนไข “รัฐบาลผสมข้ามขั้ว” ที่รายชื่อที่เริ่มหลั่งไหลออกมา ทั้งหัวหน้ามุ้ง-นอมินีนายทุน เริ่มมีเสียง “ยี้” คลอๆ ให้ได้ยินบ้างแล้ว จนดูจะห่างไกลจะสามารถเรียกขานว่า “ดรีมทีม” ท่ามกลางกระแสข่าวการแบ่งโควตา-แบ่งเค้ก ต่อรองผลประโยชน์การเมือง ที่ไม่อาจคุยได้ว่า เป็นการเมืองยุคใหม่

ออกตัวจากจุดสตาร์ทที่เสียงแช่งดังกว่าเสียงเชียร์

ตามสภาพการณ์เช่นนี้ “ผู้นำ” อย่าง “เศรษฐา ทวีสิน” ย่อมมีความสำคัญ ในการกระชากเรตติ้งความศรัทธาให้กับรัฐบาลชุดใหม่อย่างยิ่งยวด ซึ่งก็คงจะต้องจับตากันต่อไปว่าจะสามารถสร้างผลงาน “ให้ทัชใจ” ประชาชนได้หรือไม่.





กำลังโหลดความคิดเห็น